7 เม.ย. 2023 เวลา 01:00 • ไลฟ์สไตล์

กระแสแฟชั่น Athleisure ปี 2023

ตั้งแต่ปี2021 ถึง 2026 เสื้อผ้าสไตล์ Athleisure หรือ เสื้อผ้าที่ออกแบบมาสำหรับออกกำลังกายและสามารถสวมใส่ในชีวิตประจำวันได้ด้วย ซึ่งในบางสื่อเรียกว่า ชุดกีฬาลำลอง กำลังครองสัดส่วนในตลาดโลกเป็นมูลค่ากว่า 2.48 แสนล้านเหรียญสหรัฐและคาดว่าจะเติบโตในอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ร้อยละ 6.54 ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาอุตสาหกรรมเครื่องแต่งกายต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญจากการเริ่มต้นของเทคโนโลยีใหม่ๆ แนวโน้มความชอบของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป และผลกระทบของการระบาดใหญ่ของโควิด-19
ในปี 2023 ถือว่าเป็นปีที่ท้าทายอย่างมากสำหรับอุตสาหกรรมเครื่องแต่งกาย เนื่องจากแบรนด์ต่างๆ ต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอนและภาพรวมของตลาดที่เปลี่ยนแปลงไปทั้งในสหรัฐอเมริกาและตลาดโลก บทความนี้ได้สรุปปัจจัยที่กำลังเข้ามากำหนดรูปแบบอุตสาหกรรมเครื่องแต่งกายในปีนี้โดยอ้างอิงจากรายงานการวิจัยตลาด ล่าสุดจากแบรนด์ในวงการแฟชั่นชั้นนำหลายแห่ง ดังนี้
1. ความท้าทายของอุปสรรคทางเศรษฐกิจ
ตามรายงานจาก The State of Fashion 2023 โดยบริษัท McKinsey & Company พบว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมาอุตสาหกรรมเครื่องแต่งกายเผชิญกับความท้าทายในการต่อสู้กับสถานการณ์การระบาดใหญ่ของโควิด-19 ที่ส่งผลให้ปริมาณการค้าปลีกลดลงและห่วงโซ่อุปทานต้องหยุดชะงัก แม้ว่าวิกฤตโควิดจะคลี่คลายลง แต่ในปัจจุบันอุตสาหกรรมเครื่องแต่งกายก็ยังคงเผชิญกับอุปสรรคและข้อจำกัดอีกหลายประการ อาทิ ผลกระทบจากอัตราเงินเฟ้อ ผลกระทบจากปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์และอุปสงค์ของผู้บริโภคที่ลดลง
การที่ผู้ประกอบการจะประสบความสำเร็จในภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้แบรนด์ต่างๆ จะต้องมีความคล่องตัวและต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์เพื่อให้แบรนด์ของตนโดดเด่นในตลาด มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่องและเพิ่มช่องทางการขายสินค้าให้ตอบสนองความต้องการของลูกค้า รวมทั้งการให้บริการได้อย่างรวดเร็วและสะดวกสบายที่สุด
Suki Waterhouse
2. ความยั่งยืนในอุตสาหกรรมเครื่องแต่งกาย
ความยั่งยืน Sustainability กำลังมีบทบาทสำคัญต่อผู้บริโภคในทุกอุตสาหกรรม รวมทั้ง อุตสาหกรรมเครื่องแต่งกาย ผู้บริโภคเริ่มตระหนักถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นและต้องการเสื้อผ้าที่ทำจากวัสดุยั่งยืนและการผลิตด้วยวิธีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แบรนด์ต่างๆตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคด้วยการผสมผสานวัสดุที่ยั่งยืนเข้ากับผลิตภัณฑ์ของตนผ่านกระบวนการผลิตที่ลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศมากที่สุด
ตัวอย่างเช่น Patagonia บริษัทแบรนด์เสื้อผ้าและอุปกรณ์กีฬาเอาท์ดอร์ซึ่งมีรูปแบบการดำเนินธุรกิจแบบ Green Business เป็นผู้นำด้านความยั่งยืนมายาวนานเกือบกว่า 40 ปีประกาศที่จะสนับสนุนการทำงานขององค์กรพิทักษ์สิ่งแวดล้อมระดับชุมชนอย่างเต็มที่เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม รวมทั้งวางแผนการสนับสนุนให้กว้างขึ้น พร้อมทั้งเร่งสร้างเครือข่ายองค์กรให้มีประสิทธิผลมากขึ้นกว่าเดิมภายในปี 2025
Bella & Gigi Hadid
ปัจจุบันแบรนด์แฟชั่นอื่นๆ อีกหลายแบรนด์นอกเหนือจาก Patagonia อาทิแบรนด์ Allbirds แบรนด์ Reformation และแบรนด์ Vuori ต่างได้รับ “Climate Neutral Certified” แปะอยู่บนสินค้าของพวกเขา ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่บ่งบอกว่าสินค้าตัวนี้ผ่านการรับรองว่าเป็นกลางทางคาร์บอนช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมให้กับโลก
อย่างไรก็ตามในขณะที่ผู้บริโภคเรียกร้องและมีความต้องการเครื่องแต่งกายที่ยั่งยืนมากขึ้น แบรนด์ต่างๆ ถึงแม้ต้องการตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคมากแค่ไหน แต่จากข้อมูลของ the market research firm Global Data บริษัทวิจัยตลาดและอุตสาหกรรมพบว่า แบรนด์เหล่านี้ต้องถูกจำกัดด้วยต้นทุนที่มีราคาสูง
Jourdan Dunn
3. ความนิยมของตลาดแบบ Direct to consumer (DTC)
Direct-to-consumer (DTC) คือ การขายสินค้าแบบปลีกผ่านช่องทางการขายเฉพาะที่ผู้ประกอบการ ดำเนินการขายและนำเสนอสินค้าเองแบบครบวงจร โดยไม่ขายผ่านแพลตฟอร์ม e-Marketplace ที่เป็นตัวกลาง ซึ่งเป็นเทรนด์ที่กำลังได้รับความนิยมในอุตสาหกรรมเครื่องแต่งกาย เนื่องจากช่วยลดต้นทุนของราคาสินค้า เพราะสามารถตัดค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากตัวกลางลงไปได้และผู้บริโภคก็ได้รับประสบการณ์การช็อปปิ้งที่เป็นส่วนตัวและสะดวกสบายมากขึ้น
Gigi Hadid
แบรนด์ต่างๆ กำลังข้ามผ่านช่องทางการค้าปลีกแบบดั้งเดิม โดยการแสดงผลิตภัณฑ์ของตนบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย อย่าง Instagram และ TikTok มากขึ้น
4. ความท้าทายในยุค Digital Transformation
ปัจจุบันเทคโนโลยีดิจิทัลกำลังเข้ามามีบทบาทต่ออุตสาหกรรมแฟชั่น ส่งผลให้แบรนด์เครื่องแต่งกายยอมรับเทคโนโลยีดิจิทัลมากขึ้น การมีเทคโนโลยีดิจิทัลช่วยให้ธุรกิจมองภาพได้ชัดขึ้น สามารถวิเคราะห์ข้อมูลของกลุ่มลูกค้าเพื่อรับข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับความชอบและพฤติกรรมการซื้อ รวมทั้งยังสามารถที่จะรวบรวมข้อมูลเพื่อทำการประเมินได้รวดเร็วและครอบคลุมมากขึ้น แบรนด์ต่างๆ กำลังใช้เทคโนโลยีนี้ เพื่อเพิ่มความคล่องตัวในการดำเนินงานและพัฒนาผลิตภัณฑ์และกลยุทธ์ทางการตลาด
Hailey Baldwin
โควิด-19 ได้แสดงให้เห็นถึงความสำคัญและบทบาทของโลกดิจิทัลในการดำเนินชีวิตในประเทศต่างๆ เช่น ประเทศจีน มีการจัดแฟชั่นโชว์ออนไลน์และการ Live Stream ที่แพร่หลายมากขึ้นเรื่อยๆ อีกทั้งยุคดิจิทัลยังช่วยให้แบรนด์เครื่องแต่งกายสามารถดำเนินกิจการได้เมื่อเผชิญกับการล็อกดาวน์และการขาดแคลนพนักงาน
จากรายงานของ Digital Transformation in Fashion: Lessons from China ผ่าน Euromonitor International พบว่าเมื่อปี 2022 จากการระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ประเทศจีนต้องปิดประเทศ ผู้ผลิต ผู้ค้าปลีก และแบรนด์ต่างก็ตระหนักถึงความสำคัญของเทคโนโลยีดิจิทัลที่นำไปสู่ความคล่องตัวของธุรกิจ ส่งผลให้เกิดการลงทุนใน AI และเทคโนโลยีอื่นๆเพื่อช่วยในการดำเนินงานของธุรกิจมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น การกำหนดราคา การจัดการสต็อกแบบเรียลไทม์และแม้แต่การผลิตตามความต้องการของฐานลูกค้า
5. ความต้องการที่เพิ่มมากขึ้นของเสื้อผ้า Athleisure Athleisure
เป็นคำกำจัดความของเสื้อผ้าที่ออกแบบมาสำหรับออกกำลังกายและสามารถสวมใส่ใน ชีวิตประจำวันได้ด้วย กำลังเป็นเทรนด์ที่มาแรงในอุตสาหกรรมเครื่องแต่งกาย ผู้ซื้อต้องการเสื้อผ้าที่สวมใส่สบายและมีความหลากหลาย สามารถสวมใส่ได้ทุกโอกาส แบรนด์ต่างๆ พยายามตอบสนองด้วยการนำเสนอเครื่องแต่งกายในหมวดนี้ให้มีตัวเลือกมากขึ้น ตั้งแต่เสื้อกีฬา กางเกงโยคะ เสื้อฮู้ด เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดที่กำลังเติบโตนี้
จากผลสำรวจของ Global Athleisure Market และการคาดการณ์โดย Mordor Intelligence พบว่า ผู้บริโภคมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมหันมาใส่ใจสุขภาพและตนเองมากขึ้น ซึ่งนอกจากพวกเขาจะเลือกรับประทานอาหาร ที่ดีมีประโยชน์แล้ว ยังมีความปรารถนาที่จะมีรูปร่างที่ดูดีมากขึ้น จึงเป็นส่วนกระตุ้นให้ผู้บริโภคหันมาเล่นกีฬาและออกกำลังกายในชีวิตประจำวันมากขึ้นและเป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนธุรกิจเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายแบบ Athleisure ในปัจจุบัน
Kendall Jenner
ความคิดเห็นของสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ นิวยอร์ก
ด้วยปัจจัยจากภาพรวมของเศรษฐกิจโลกที่มีความผันผวน ทั้งจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยืดเยื้อต่อเนื่อง ปัญหาเงินเฟ้อในแต่ละประเทศที่สูงขึ้นจนต้องมีการปรับอัตราดอกเบี้ยส่งผลต่อกำลังซื้อของผู้ริโภคที่ลดลงหรือปัญหาเรื่อง ต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นและสถานการณ์ของตลาดที่ยังคงไม่แน่นอนเหล่านี้ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมเครื่องแต่งกายทั่วโลก
ดังนั้น ในปี 2023 อาจเป็นปีที่แห่งความท้าทาย แต่ในขณะเดียวอาจจะเป็นปีแห่งโอกาสสำหรับอุตสาหกรรมที่มีการปรับตัว ด้วยเช่นกัน ผู้ประกอบการไทยควรใช้โอกาสนี้พัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อให้แบรนด์ของตนโดดเด่นในตลาด พิจารณาในการเพิ่มช่องทางการขายสินค้าให้ตอบสนองความต้องการของลูกค้า เพื่อสามารถเข้าถึงลูกค้าได้มากที่สุดด้วย
Reference
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ นิวยอร์ก
ภาพจาก : marieclaire.co.uk
โฆษณา