5 เม.ย. 2023 เวลา 02:55 • ธุรกิจ

ชายที่ทำเงิน 3,000 ล้าน จากการปั้นแอป แบบเดิม ซ้ำ 2 ครั้ง

เป็นเรื่องธรรมดาที่ เมื่อธุรกิจสตาร์ตอัป เริ่มประสบความสำเร็จจนถึงจุดหนึ่ง
ก็มักจะถูกซื้อกิจการไปโดยบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ อย่าง Alphabet, Microsoft, Meta Platforms
แต่ไม่ใช่เรื่องธรรมดาที่
คนคนเดิม จะสร้างธุรกิจแบบเดิม แล้วถูกซื้อไปถึง 2 ครั้ง
แม้จะไม่ใช่เรื่องที่เรามีโอกาสเห็นได้บ่อย
แต่เรื่องนี้ได้เกิดขึ้นจริง และได้ทำเงิน ให้กับผู้ก่อตั้งบริษัทอย่างคุณ Nikita Bier ไปแล้วกว่า 3,400 ล้านบาท
1
เขาทำได้อย่างไร ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
เรื่องทั้งหมดนี้ เริ่มขึ้นในปี 2010
เมื่อคุณ Nikita Bier นักธุรกิจชาวอเมริกัน
ได้ก่อตั้งบริษัท Midnight Labs ขึ้นมา เพื่อประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการพัฒนาแอปพลิเคชัน
โดยบริษัท Midnight Labs ได้ลองผิดลองถูก ในการสร้างแอปพลิเคชันอยู่หลายครั้งด้วยกัน
ไม่ว่าจะเป็น แอปบริหารจัดการเงินส่วนบุคคล, แอปแช็ตสำหรับนักเรียน
แต่สุดท้าย โปรเจกต์เหล่านี้ก็ล้มเหลวทั้งหมด
จนกระทั่งในปี 2017 บริษัทได้เปิดตัวแอปพลิเคชันที่ชื่อว่า “tbh” ซึ่งย่อมาจากคำว่า “to be honest”
โดย tbh เป็นแอปโซเชียลเน็ตเวิร์ก ที่สร้างขึ้นมาสำหรับกลุ่มเด็กนักเรียน ซึ่งบริษัทตั้งใจพัฒนา tbh ให้เป็นแอปโซเชียลเน็ตเวิร์ก แนวส่งต่อพลังบวก ไม่มีเรื่องดรามา ไม่มีเรื่อง Toxic เพราะต้องการส่งเสริมสุขภาพจิต ให้กับกลุ่มเด็กนักเรียน
โดยผู้ใช้งาน tbh จะสามารถตั้งโพลล์คำถาม ให้เพื่อน ๆ เข้ามาโหวตเลือกคำตอบกันได้ โดยไม่ต้องระบุตัวตน
ซึ่งระบบจะมีการคัดกรอง เนื้อหาให้เป็นไปในเชิงบวก เพื่อป้องกันบรรยากาศที่ Toxic
โดยคุณ Bier และทีมงาน ได้โปรโมต tbh ด้วยการเข้าไปกดติดตามบัญชี Instagram ของนักเรียนในโรงเรียน และมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมาย จากนั้นทำการส่งข้อความเชิญชวน ให้มาทดลองใช้แอปพลิเคชัน
 
ปรากฏว่า พอเริ่มมีคนเล่นแอป ก็ทำให้เกิดการบอกต่อกันแบบปากต่อปากในหมู่เพื่อน ส่งผลให้ tbh ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว
ผ่านไปเพียง 9 สัปดาห์ tbh ขึ้นมาเป็นแอปพลิเคชันอันดับ 1 ของ App Store ในสหรัฐอเมริกา มียอดดาวน์โหลดมากกว่า 5 ล้านครั้ง และมีจำนวนผู้ใช้งานมากถึง 2.5 ล้านรายต่อวัน
และแล้ว ชื่อเสียงอันโด่งดังในชั่วข้ามคืน ก็ไปเตะตาเจ้าตลาดโซเชียลมีเดียอย่าง “Facebook”
ทำให้ต่อมา Facebook ตัดสินใจขอซื้อกิจการของ tbh ซึ่งคาดว่ามีมูลค่าประมาณ 3,400 ล้านบาท
รวมทั้งรับคุณ Bier และทีมงาน เข้าไปทำงานที่บริษัท เพื่อดูแลแอปพลิเคชันต่อด้วย
1
โดยมีการพ่วงเงื่อนไขเพิ่มเติม คือ คุณ Bier จะต้องไม่มีการพัฒนาแอปพลิเคชันในลักษณะเดียวกันออกมาแข่งขัน ภายในระยะเวลา 5 ปี หลังจากดีลนี้
อย่างไรก็ตาม tbh ภายใต้ Facebook กลับไม่ได้มุ่งเน้นกลยุทธ์การตลาดแบบเดิมที่เคยได้ผล
ทำให้จำนวนผู้ใช้งานไม่เติบโตเท่าไรนัก จนสุดท้าย tbh ก็ถูกปิดบริการไปในปี 2018
แล้วหลังจากนั้น เส้นทางของคุณ Nikita Bier เป็นอย่างไรต่อ ?
หลังจากสัญญาห้ามแข่งขันที่ทำไว้กับ Facebook หรือ Meta Platforms ได้สิ้นสุดลงในปี 2022
คุณ Bier ได้เริ่มพัฒนาแอปพลิเคชันโซเชียลเน็ตเวิร์กแนวพลังบวกอีกครั้ง
โดยในเดือนสิงหาคม ปี 2022 เขาได้ทำการเปิดตัวแอปพลิเคชันชื่อว่า “Gas”
โดย Gas ย่อมาจากคำว่า Gas me up ซึ่งเป็นศัพท์วัยรุ่น หมายถึง การชื่นชมใครคนหนึ่ง
แอป Gas มีลักษณะแบบเดียวกันกับ tbh คือ ผู้ใช้งานสามารถตั้งโพลล์คำถามเชิงบวก เพื่อให้เพื่อน ๆ เข้ามาโหวตคำตอบกันได้ โดยไม่ต้องระบุตัวตน
1
แต่จะมีจุดแตกต่างคือ Gas มีโมเดล การสร้างรายได้ที่ชัดเจนกว่า
โดย Gas จะมีฟีเชอร์ Subscription ที่เรียกว่า God Mode ในราคา 240 บาทต่อสัปดาห์
โดยคนที่จ่ายค่าสมาชิก จะสามารถมองเห็นรายชื่อคนที่ตอบคำถามเราได้
หลังจากได้ทำการเปิดตัวแอปพลิเคชัน คุณ Bier ก็ได้ใช้วิธีการเดิมในการโปรโมต
ซึ่งก็คือการเข้าไปกดติดตามบัญชีโซเชียลมีเดียของกลุ่มนักเรียน และแนะนำให้ใช้แอป Gas
ปรากฏว่า มันก็ได้ผลลัพธ์ดีเช่นเดิม เพราะ Gas ได้รับความนิยมในหมู่วัยรุ่น Gen Z มาก
เพียงไม่กี่เดือน Gas ก็มียอดดาวน์โหลดกว่า 5 ล้านครั้ง ขึ้นมาครองอันดับ 1 ของ App Store ในสหรัฐอเมริกา เมื่อเดือนตุลาคม ปี 2022 แซงหน้าแม้กระทั่ง TikTok
โดยคุณ Bier เปิดเผยว่า Gas สามารถสร้างรายได้มากถึง 34 ล้านบาท ภายใน 10 วัน แม้มีทีมงานแค่ 4 คน และล่าสุดสามารถทำเงินสะสมไปได้สูงกว่า 240 ล้านบาทแล้ว
ซึ่งนั่นทำให้เจ้าของแอปแช็ตชื่อดังในวงการเกมอย่าง “Discord” เกิดความสนใจใน Gas ขึ้นมา
และต่อมา ในเดือนมกราคม ปี 2023 ทาง Discord ก็ได้ขอซื้อกิจการแอป Gas และรับคุณ Bier กับทีมงาน เข้าไปเป็นพนักงานของ Discord ด้วย
แม้ไม่ได้มีการเปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับมูลค่าของดีลนี้ แต่เชื่อว่ามูลค่าคงไม่แตกต่างจาก tbh สักเท่าไร
แล้วเราสามารถเรียนรู้อะไร จากเรื่องนี้ได้บ้าง ?
เราจะเห็นว่า จากผลสำเร็จทั้ง 2 ครั้ง
เป็นเพราะว่าคุณ Nikita Bier เน้นทำธุรกิจ ที่อยู่ในอุตสาหกรรมที่ตัวเองเชี่ยวชาญ
บางครั้งในการทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ ไม่ใช่แค่เพียงการมองออกไปภายนอกว่า
ตลาดกำลังต้องการอะไร ? เทรนด์การทำธุรกิจตอนนี้ไปถึงไหน ?
การมองกลับมาที่ตัวเอง ว่าจริง ๆ แล้ว เรามีจุดแข็งอะไร ตัวเราอินกับธุรกิจแบบไหน ก็เป็นเรื่องสำคัญเหมือนกัน
1
เหมือนอย่างคุณ Nikita Bier ที่รู้ว่าตัวเอง ถนัดในการสร้างธุรกิจโซเชียลมีเดีย
1
ทำให้เขาลงมือสร้างมันขึ้นมา จนประสบความสำเร็จถึง 2 ครั้งด้วยกัน
อย่างไรก็ตาม การทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ ยังมีปัจจัยอื่น ๆ อีกมากที่เข้ามาเกี่ยวข้อง
ซึ่งก็คงไม่มีใครรู้ว่า หากคุณ Nikita Bier ลงมือสร้างแอป
โซเชียลมีเดียขึ้นมาเป็นครั้งที่ 3 เขาจะประสบความสำเร็จเหมือนที่ผ่านมาหรือไม่ ?
แต่ที่รู้แน่ ๆ คือ จาก 2 ครั้งที่ผ่านมา ได้ทำเงินให้กับเขาและทีมงานไปแล้วกว่า 3,400 ล้านบาท เป็นที่เรียบร้อย..
หากเราอยากร่วมเป็นเจ้าของหุ้นต่างประเทศ หรือ ลงทุนในกองทุนรวมจากบลจ. ชั้นนำ ขั้นต่ำเพียง 50 บาท สามารถเปิดบัญชีกับ Dime! ได้ที่ https://link.dime.co.th/Longtunman
ผู้ที่สนใจ สามารถศึกษารายละเอียด และ เงื่อนไขเพิ่มเติมได้ที่ https://dime.co.th/en/articles/dime-x-ltman
คำเตือน : ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไข ผลตอบแทน และความเสี่ยง ก่อนตัดสินใจลงทุน
โฆษณา