6 เม.ย. 2023 เวลา 03:00 • ประวัติศาสตร์
ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร

อดีต ปัจจุบัน และอนาคต ของศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร

ในอนาคต อาจเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นกับศาลาว่าการกรุงทพมหานคร จากเดิมที่เป็นศูนย์กลางการบริหารเมืองหลวงของประเทศไทย สู่พิพิธภัณฑ์เมืองกรุงเทพนคร แต่กว่าจะมาถึงจุดนี้ พื้นที่บริเวณศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ผ่านการเปลี่ยนแปลงอย่างมากมายตลอด 240 ปีของกรุงรัตนโกสินทร์
ตลาดเสาชิงช้า, โบสถ์พราหมณ์ และวัดสุทัศน์
เมื่อครั้งสร้างรัตนกรุงรัตนโกสินทร์ในปี ค.ศ.1782 พื้นที่แห่งนี้เป็นเทวสถาน(โบสถ์พราหมณ์) เพื่อใช้ประกอบพิธีและเก็บรักษาเทวรูปตามคติความเชื่อศาสนาพรหมณ์ รวมไปถึงเป็นที่ตั้งของเสาชิงช้า ซึ่งใช้ในพิธีตรียัมปวาย
ต่อมาในปี ค.ศ.1807 ได้มีการก่อสร้าง “วัดมหาสุทธาวาส” เพื่อให้เป็นวัดใหญ่ใจกลางพระนคร และได้อัญเชิญพระศรีศากยมุนีจากเมืองสุโขทัยมาประดิษฐานในวิหาร การก่อสร้างวัดมหาสุทธาวาสแล้วเสร็จในสมัยรัชกาลที่ 3 (ค.ศ.1824-1851) และพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานนามวัดใหม่เป็น “วัดสุทัศน์เทพวราราม”
การสร้างโบสถ์พราหมณ์, เสาชิงช้า และวัดสุทัศน์ ทำให้เกิดชุมชนขนาดใหญ่ เช่น ชุมชนทำดินสอพอง (ถนนดินสอ), ชุมชนชาวตะนาวศรี (ถนนตะนาว), ชุมชนทำทอง (ถนนตีทอง) และตรอกหม้อ โดยศูนย์กลางอยู่ที่ตลาดเสาชิงช้า ซึ่งขึ้นชื่อในเรื่องเครื่องทองเหลือง ประเภท สร้อย กำไล ตุ้มหู จนขึ้นชื่อว่า “ทองเสาชิงช้า”
โรงแก๊สเพิ่มแสงสว่างแก่พระนคร
เมื่อกรุงรัตนโกสินทร์ต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงจากการเดินทางของชาวยุโรป ตลาดเสาชิงช้ากลายเป็นตึกแถวสถาปัตยกรรมแบบตะวันตกเพื่อเจริญของบ้านเมือง พื้นที่บางส่วนตรงข้ามวัดสุทัศน์ปรับเปลี่ยนเป็นโรงแก๊ส ตั้งแต่ ค.ศ.1874 เพื่อทำหน้าที่กระจายแสงสว่างไปทั่วพื้นที่ของเมือง
โรงแก๊ส เป็นอาคารมีปล่องสูงล้อมรอบด้วยกำแพงทึบทั้งสี่ด้าน ด้านในมีสระขนาดใหญ่เลี้ยงจระเข้ให้ประชาชนเข้าชม ต่อมามีการจ่ายกระแสไฟฟ้าได้รับการพัฒนามากขึ้น จึงได้รื้อโรงแก๊สลงปี ค.ศ. 1901
แผนที่กรุงเทพมหานคร ค.ศ.1896 ระบุตำแหน่งโรงแก๊ซ
กำเนิดใหม่ตลาดเสาชิงช้า
หลังจากที่รื้อโรงแก๊สลง ได้ทำการสร้างอาคารแบบตะวันตก 4 ด้าน ล้อมรอบพื้นที่ตรงกลาง จัดทำเป็นตลาดจำหน่ายสินค้าทั้งจีนทั้งฝรั่งในตอนกลางวันและเปิดโรงบ่อนตอนกลางคืน
แผนที่กรุงเทพมหานคร ค.ศ.1910
แผนที่กรุงเทพมหานคร ค.ศ.1932
ที่ทำการเทศบาลนครกรุงเทพ สู่ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร
เมื่อมีการประกาศพระราชบัญญัติว่าด้วยระเบียบราชการบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม และพระราชบัญญัติจัดระเบียบเทสบาล ใน ค.ศ.1933 ทำให้เทศบาลนครกรุงเทพฯถือกำเนิดขึ้นมาในปี ค.ศ.1937 โดยมีที่ตั้งเทศบาลแห่งแรกอยู่ที่บ้านคุณหญิงลิ้นจี่ สุริยานุวัตร ถนนกรุงเกษม (สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติในปัจจุบัน)
เมื่อบ้านคุณหญิงลิ้นจี่ เริ่มคับแคบ นายกเทศมนตรีนครกรุงเทพฯ จึงเสนอรัฐบาลในการจัดหาสำนักงานแห่งใหม่ รัฐบาลจึงเลือกพื้นที่บริเวณตลาดเสาชิงช้าเป็นสำนักงานแห่งใหม่ โดยรื้ออาคารด้านตรงข้ามวัดสุทัศน์เทพวรารามและเสาชิงช้าออก กลายเป็นอาคาร 3 ด้าน มีลานสำหรับทำกิจกรรมอยู่ด้านหน้า โดยอาคารเริ่มเปิดใช้งานในปี ค.ศ.1941
อาคารเทศบาลนครกรุงเทพฯ ใช้การได้ไม่นาน เกิดการทรุดโทรมและสร้างอาคารเทศบาลแห่งใหม่ ออกแบบโดยหม่อมเจ้าสมัยเฉลิม กฤดากร โดยเป็นอาคารที่ผสมผสานระหว่างสถาปัตยกรรมสมัยใหม่กับไทยประยุกต์ โดยเปิดใช้งานในปี ค.ศ.1959
เมื่อเทศบาลนครกรุงเทพฯ ควบรวมกับเทศบาลนครธนบุรีกลายเป็น “กรุงเทพมหานคร” ในปี ค.ศ.1972 สำนักงานเทศบาลนครกรุงเทพฯ จึงเปลี่ยนศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร
แหล่งเรียนรู้แห่งใหม่ในเกาะรัตนโกสินทร์
ในปี ค.ศ.1992 สมัยร้อยตำรวจเอกกฤษฎา อรุณวงษ์ ณ อยุธยา เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มีโครงการสร้างศาลาว่าการกรุงเทพมหานครแห่งที่ 2 ที่ถนนมิตรไมตรี เขตดินแดง แต่อาคารสร้างเสร็จสมบูรณ์ในปี ค.ศ.2017 สมัยพลตำรวจเอกอัศวิน ขวัญเมืองเป็นผู้ว่าราชการ
ด้วยความที่กรุงเทพมหานครมีศาลาว่าการ 2 แห่ง จึงทำให้การบริหารและการติดต่อระหว่างหน่วยงานไม่ได้รับความสะดวก จึงมีแผนที่จะย้ายหน่วยงานทั้งหมดไปอยู่ที่ดินแดง และให้ศาลาว่าการกรุงเทพมหานครที่เสาชิงช้ากลายเป็นพิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้แห่งใหม่ในพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ โดยกำหนดการคาดว่าสำเร็จในสิ้นปี ค.ศ.2023 แต่คาดว่าคงล่าช้าอย่างน้อย 1-2 ปี เพื่อให้การเตรียมการสถานที่และโยกย้ายข้าราชการเสร็จสิ้นเรียบร้อยเสียก่อน
ที่มา
-ชาตรี ประกิตนนทการ และกรรณิการ์ สุธีรัตนาภิรมย์. Revitalizing Bangkok ฟื้นชีวิตกรุงเทพฯ. นนทบุรี: ภาพพิมพ์, 2565.
โฆษณา