Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Kenko2022
•
ติดตาม
5 เม.ย. 2023 เวลา 14:54 • ไลฟ์สไตล์
- ราคาที่ต้องจ่ายจริง -
บางท่านน่าจะเคยมีประสบการณ์เลือกซื้อของใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น รองเท้า เข็มขัด โดยเน้นที่มีราคาถูกกว่า แต่พอใช้งานจริงกลับพบว่าไม่ทนทานและต้องซื้อเปลี่ยนบ่อยครั้ง ในทางกลับกันของที่มีราคาสูงกว่าอาจจะมีคุณภาพการผลิตที่ดีกว่าและสามารถใช้งานได้ทนนานกว่า... แล้วโครงสร้างพื้นฐานสาธารณูปโภคต่างๆ เช่น ถนน สะพาน นั้นเป็นอย่างไร
1
โครงสร้างทางวิศวกรรมต่างๆ ในญี่ปุ่นนั้นโดยเฉลี่ยค่อนข้างเก่าและมีอายุการใช้งานมานาน เช่น ระบบรางรถไฟใต้ดินในกรุงโตเกียวบางแห่งได้เปิดใช้งานมาเกิน 100 ปี หรือสายทางด่วนในเขตเมืองที่เก่าที่สุดก็มีอายุเกิน 60 ปีแล้ว ซึ่งโครงสร้างยิ่งเก่าก็เหมือนกับร่างกายคนเราที่ยิ่งแก่
ปัญหาเรื่องความเสียหายของชิ้นส่วนโครงสร้างต่างๆ ทั้งที่เกิดจากการเสื่อมสภาพตามอายุการใช้งานของวัสดุหรือตามสภาพการใช้งานในภาวะที่ไม่ปกติ เช่น แผ่นดินไหว รถบรรทุกน้ำหนักเกิน ฯลฯ จะเริ่มแสดงอาการออกมาให้เห็นคล้ายๆ กับการเจ็บป่วยของร่างกายคนเราตามอายุขัยหรือได้รับบาดเจ็บเพราะเจออุบัติเหตุที่ไม่คาดคิด
หลังจากที่ญี่ปุ่นออกกฎหมายบังคับว่า ทุกๆ 5 ปี ต้องมีการตรวจสอบโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานทุกแห่ง พฤติกรรมความเสียหายของโครงสร้างเหล่านั้นก็เริ่มเป็นที่เข้าใจกันมากขึ้น โครงสร้างบางแห่งเกิดความเสียหายบ่อยถึงแม้จะใช้งานได้เพียงไม่นาน ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่ที่พบก็คือ มีการก่อสร้างที่ไม่ได้มาตรฐานและใช้วัสดุที่ไม่มีคุณภาพได้ตามที่ออกแบบไว้
หรือโครงสร้างบางแห่งมีการออกแบบโดยไม่ได้คำนึงถึงสภาพการใช้งานจริง เช่น ไม่สามารถเข้าใกล้โครงสร้างเพื่อไปตรวจสอบสภาพความเสียหายได้หรืออาจจะต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงเพราะว่าต้องใช้อุปกรณ์หรือเครื่องมือพิเศษในการดำเนินงานตรวจสอบโครงสร้าง
คำว่า Life Cycle Cost หรือ ‘ค่าใช้จ่ายตลอดอายุการใช้งาน’ เป็นคำศัพท์ที่มีใช้ในทุกแวดวงวิชาชีพเพื่อทำการประเมินค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นจริงทั้งหมดตลอดอายุการใช้งาน โดยไม่พิจารณาเฉพาะ ‘ค่าใช้จ่ายเบื้องต้น’ ซึ่งอาจจะเป็นเพียงส่วนเล็กน้อย... ค่าออกแบบและก่อสร้างทางด่วนหรือสะพานตัวใหญ่ซึ่งไม่น่าจะเกิน 5 ปี อาจจะดูเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างสูง แต่ค่าบำรุงรักษาทั้งการตรวจสอบและซ่อมแซมความเสียหายตลอดอายุการใช้งาน 50 ปี หรือ 100 ปี น่าจะเป็นตัวเลขที่สูงกว่ามากจนเทียบไม่ได้
ในญี่ปุ่นนั้น แนวคิดเรื่องการออกแบบโครงสร้างที่สามารถบำรุงรักษาได้ (Maintainable Structure) หรือบำรุงรักษาได้ง่าย (Easy-to-Maintain Structure) เป็นประเด็นสำคัญไม่น้อยในขั้นตอนการออกแบบ ตัวอย่างเช่น มีบันไดปีนติดตั้งในทุกเสาตอม่อเพื่อสามารถไปตรวจสอบที่รองรับสะพานซึ่งเป็นชิ้นส่วนที่สำคัญ
หรือมีการติดตั้ง ‘นั่งร้านแบบถาวร (Permanent Scaffolding)’ ใต้โครงสร้างสะพานหรือทางด่วนที่ไม่สามารถตรวจสอบได้ง่าย เช่น ทางคร่อมผ่านทางรถไฟ เพื่อทำให้เจ้าหน้าที่สามารถตรวจสอบความเสียหายโครงสร้างได้ทุกเวลาโดยไม่ต้องขออนุญาตจากหน่วยงานอื่น เป็นต้น
ที่มา https://www.yokogawa-bridge.co.jp/service/bp_alumi/cusa.html
ค่าใช้จ่ายตลอดอายุการใช้งานของโครงสร้างนั้น ถ้ามองในแง่ ‘ค่ารักษาพยาบาลตลอดอายุขัย’ ของชีวิตคนเราก็น่าจะไม่แตกต่างกัน ท่านที่มีร่างกายสมบูรณ์แข็งแรงโดยกำเนิด (ต้นทุนดี) แต่ไม่รู้จักหมั่นคอยบำรุงรักษาให้อยู่ในสภาพดีแล้ว ค่าใช้จ่ายที่น่าจะเกิดขึ้นเนื่องจากต้องรักษาโรคภัยต่างๆ ย่อมไม่น้อยทีเดียว
ในทางกลับกันท่านที่หมั่นคอยตรวจร่างกายประจำปีและดูแลสุขภาพร่างกาย ถึงแม้จะเจอโรคภัยที่ไม่คาดคิดก็น่าจะสามารถแก้ไขได้ทันล่วงหน้า และทำให้ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงน้อยกว่าท่านที่จำเป็นต้องแบกหามเข้าสู่ห้อง ICU
นอกเหนือจากโครงสร้างสะพานทางด่วนและร่างกายคนเราแล้ว ระบบอาคารจอดรถแบบ Mechanical Parking ที่เป็นโครงเหล็กหลายชั้นแบบขยับหมุนได้ เพื่อช่วยเพิ่มปริมาณจำนวนที่จอดรถในพื้นที่บริเวณที่จำกัด ซึ่งเป็นระบบที่ใช้กันมากในญี่ปุ่นและเริ่มเป็นที่นิยมในบ้านเรา แต่แล้วค่าซ่อมเปลี่ยนแปลงอุปกรณ์ระบบโซ่ซึ่งมีอายุการใช้งานที่จำกัดไม่น่าจะเกิน 10 ปีนั้น อาจจะมีราคาถึงครึ่งหนึ่งของระบบทั้งหมด เรื่องนี้คล้ายๆ กับกรณีรถยนต์ไฟฟ้าบางรุ่นที่มีราคาค่าซ่อมแบตเตอรี่สูงจนเกือบเท่ากับราคารถที่ซื้อใหม่
หรือสินค้าของใช้บางอย่างนั้นราคาต้นค่อนข้างถูกและดูน่าสนใจ แต่พอได้ใช้งานจริงแล้วมีค่าใช้จ่ายอื่นตามมาอีกไม่น้อย ซึ่งอาจจะมากกว่าราคาเริ่มต้นหลายเท่า ดังนั้นการคำนึงถึงค่าใช้จ่ายรวมทั้งหมดที่จะเกิดขึ้นจริงตลอดช่วงอายุการใช้งานเป็นสิ่งที่สำคัญไม่น้อย
หนังสือ Atomic Habits (เพราะชีวิตดีได้กว่าที่เป็น) เขียนโดย James Clear ได้ให้แนวคิดไว้อย่างน่าสนใจว่า นิสัยคนเราที่ดีแม้จะเป็นเพียงสิ่งเล็กๆ แต่ถ้าสามารถปรับปรุงให้ดีขึ้นแค่เพียง 1 เปอร์เซ็นต์ทุกๆ วันตลอดระยะเวลา 1 ปีนั้น จะทำให้พฤติกรรมเหล่านั้นดีขึ้นกว่าเดิมถึง 37 เท่า...
แค่หมั่นออกกำลังกายวันละ 10 นาที หมั่นเขียนบทความวันละ 1 ย่อหน้า ทำสิ่งที่ดีสำหรับชีวิตเราแม้เพียงวันละเล็กน้อยอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน ‘ผลตอบแทนที่จะได้รับจริง’ ในอนาคตจะเพิ่มทวีคูณโดยที่ตัวเราเองอาจจะไม่รู้ตัว เพราะว่าได้กลายเป็น ‘นิสัย’ ติดตัวเราไปเรียบร้อยแล้ว
‘ราคาที่ต้องจ่ายจริง’ ของสิ่งต่างๆ ที่เราต้องพบเจอในชีวิตประจำวันนั้น ควรต้องพิจารณาถึงองค์ประกอบทางด้านอายุการใช้งานของสิ่งเหล่านั้นหรือมิติของ ‘เวลา’ ซึ่งน่าจะเป็นปัจจัยที่สำคัญในการประเมินว่าค่าใช้จ่ายที่เราต้องเสียไปนั้นคุ้มค่ากับสิ่งที่เราต้องการหรือไม่
EP033
Kenko2022
2023/04/05
Revised 2023/04/06
พัฒนาตัวเอง
ปรัชญา
1 บันทึก
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย