6 เม.ย. 2023 เวลา 15:00

ดัชนีค้าปลีกไตรมาส 1 “น่ากังวล” ลดลงต่อเนื่อง 3 เดือน

ดัชนีค้าปลีกไตรมาส 1 ยังน่ากังวล หลังปรับลดลงถึง 13.5 จุด แม้ปัจจัยบวกเพียบทั้งปีใหม่ ตรุษจีน ช้อปดีมีคืน รวมถึงทัวริสต์พุ่ง ไม่สามารถต้านราคาสินค้าที่ปรับตัวสูง ค่าครองชีพพุ่งได้
ผลสำรวจความเชื่อมั่น (Retail Sentiment Index) ของผู้ประกอบการค้าปลีกประจำไตรมาสหนึ่ง ปี 2566 จัดทำโดยสมาคมผู้ค้าปลีกไทย ร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย ที่พบว่า ลดลง 13.5 จุด แม้จะมีปัจจัยบวกหลากหลาย อาทิ วันหยุดในช่วงเทศกาลปีใหม่-ตรุษจีน มาตรการกระตุ้นจากภาครัฐ “ช้อปดีมีคืน” รวมถึงนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้น
1
แต่ยังไม่สามารถส่งแรงหนุนได้มากพอ เนื่องจากกำลังซื้อฐานรากที่อ่อนแอชัดเจน, ต้นทุนค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นจากราคาสินค้าที่ปรับตัวเพิ่มสูง, ค่าสาธารณูปโภค ขณะที่ดัชนี RSI ระยะ 3 เดือนจากนี้ (เม.ย.-มิ.ย.) ทรงตัว สะท้อนถึงความไม่มั่นใจต่อสถานการณ์หลังการเลือกตั้งซึ่งส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของธุรกิจต้องใช้เวลานานขึ้น รวมทั้งค่าแรงและค่าครองชีพที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นสวนทางกับกําลังซื้อที่ยังซบเซา กลายเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการ
นายฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ รองประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า ในภาพรวมพบว่า ดัชนี RSI (QoQ) ไตรมาสหนึ่ง 2566 เมื่อเทียบกับไตรมาสสี่ 2565 มีความ “น่ากังวล” เนื่องจากปรับลดลงถึง 13.5 จุด ในขณะที่ดัชนียอดขายสาขาเดิม SSSG (Same Store Sale Growth) QoQ , ยอดใช้จ่ายต่อครั้ง (Spending Per Bill หรือ Per Basket Size) และ ความถี่ในการจับจ่าย (Frequency on Shopping) ต่างพากันปรับตัวลดลง
สะท้อนถึงผู้บริโภคฐานราก กำลังซื้อยังอ่อนแออยู่มาก รวมทั้งภาระค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นทั้งค่าสาธารณูปโภค ค่าโดยสาร ส่งผลให้ผู้บริโภคมุ่งเน้นซื้อสินค้าที่จำเป็น อีกทั้งยังมีแนวโน้มที่ผู้บริโภคลดกิจกรรมนอกบ้านเพิ่มขึ้น ด้วยความกังวลฝุ่นควัน PM 2.5 ที่เพิ่มขึ้นและโรคฮีทสโตรกหรือโรคลมแดดจากอากาศที่ร้อนจัด
เมื่อพิจารณาดัชนีตามภูมิภาคพบว่าความเชื่อมั่นต่อยอดขายสาขาเดิมทรงตัวทุกภูมิภาค ยกเว้นภาคอีสานที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัด บ่งบอกถึงธุรกิจยังคงฟื้นตัวไม่สมดุล เห็นได้ว่าพื้นที่ท่องเที่ยวจะฟื้นตัวได้เร็วกว่าพื้นที่อื่น ทางด้านธุรกิจห้างสรรพสินค้า, แฟชั่น, สุขภาพและความงาม มีการฟื้นตัวขึ้นอย่างช้าๆ ส่วนร้านสะดวกซื้อ, ซูเปอร์มาร์เก็ต, ร้านจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง มีการชะลอตัว และร้านค้าส่ง ไฮเปอร์มาร์เก็ตยังคงไม่ฟื้นตัว
สมาคมจึงมีความเห็นว่าหลังการเลือกตั้ง ควรรีบจัดตั้งรัฐบาลโดยเร็ว เพื่อเร่งกำหนดนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจอัดฉีดเม็ดเงินเข้าระบบผ่านการสร้างงาน การจ้างงาน และลดภาระค่าครองชีพซึ่งต้องมีมาตรการหลากหลาย มุ่งเป้าให้ตรงกลุ่มต่างๆ ไม่ซ้ำซ้อน เน้นการเพิ่มกำลังซื้อแก่ผู้บริโภคฐานรากที่ยังอ่อนแอเพื่อกระตุ้นการจับจ่าย ในขณะที่ผู้บริโภคระดับบน, ผู้มีรายได้ประจำที่มีกำลังซื้อต้องใช้มาตรการต่างชุดกัน โดยเน้นย้ำว่ารัฐต้องคลอดมาตรการที่ต่อเนื่องและระยะยาวจนกว่าจะเห็นการฟื้นตัวของธุรกิจที่ชัดเจน
ทั้งนี้ยังมีบทสรุปประเด็นสำคัญเกี่ยวกับ “ประเมินการใช้จ่ายของผู้บริโภคและการฟื้นตัวของธุรกิจค้าปลีก” ของผู้ประกอบการที่สำรวจ 3 ช่วง ระหว่างวันที่ 17 มกราคม – 26 มีนาคม 2566 ดังนี้
1. การประเมิน ต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ต่อการปรับราคาสินค้า
ผู้ประกอบการร้อยละ 79 ระบุว่า ที่ผ่านมาธุรกิจต้องแบกรับต้นทุนการดำเนินการที่เพิ่มขึ้นแต่สามารถส่งผ่านต้นทุนไปสู่ราคาสินค้าได้บางส่วนเท่านั้น
ร้อยละ 21 ส่งผ่านต้นทุนทั้งหมดเข้าสู่ราคาสินค้าแล้ว
ร้อยละ 40 ส่งผ่านต้นทุนเข้าสู่ราคาสินค้าไม่เกิน 10%
ร้อยละ 31 ส่งผ่านต้นทุนเข้าสู่ราคาสินค้า 10-20%
ร้อยละ 7 ส่งผ่านต้นทุนเข้าสู่ราคาสินค้า 21-30%
2. แนวโน้มในการปรับราคาสินค้าเพื่อให้สอดรับกับราคาสินค้าในอีก 3 เดือนข้างหน้า
ร้อยละ 24 ไม่ปรับราคาเพิ่ม
ร้อยละ 43 ปรับเพิ่มขึ้นไม่เกิน 5 %
ร้อยละ 26 ปรับเพิ่มขึ้น 6-10%
ร้อยละ 7 ปรับเพิ่มขึ้น 11-20%
3. ปัจจัยที่มีผลต่อการปรับราคาสินค้า
อันดับ 1 ต้นทุนสินค้าเพิ่มสูงขึ้น
อันดับ 2 ส่งผ่านต้นทุนที่เพิ่มขึ้นไม่ได้ทั้งหมด
อันดับ 3 ราคาสินค้า / บริการอื่นที่ไม่ใช่ต้นทุนปรับสูงขึ้น
อันดับ 4 คู่แข่งปรับขึ้นราคา
อันดับ 5 รักษากำไร
อันดับ 6 อุปสงค์ดีขึ้น
นอกจากนี้ผู้ประกอบการได้มีประเมิน โครงการ “ช้อปดีมีคืน” (ระหว่าง 1 ม.ค. – 16 ก.พ.66) มีผลดังนี้
ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ ประเมินว่า โครงการ “ช้อปดีมีคืน” จะช่วยให้ยอดขายเพิ่มขึ้น
ร้อยละ 43 ยอดขายเท่าเดิม-ไม่เพิ่มขึ้น
ร้อยละ 50 ยอดขายเพิ่มขึ้นไม่เกิน 10%
ร้อยละ 7 ยอดขายเพิ่มขึ้น 10% -20%
“ภาพรวมการค้าปลีกไทย มีการฟื้นตัวที่ไม่เท่ากัน (K-Shaped Recovery) กำลังซื้อโดยรวมยังเปราะบาง โดย เฉพาะกลุ่มฐานรากที่อ่อนแอ ปัญหาค่าแรงแพง และแรงงานขาดแคลน นับเป็นปัญหาหลักของภาคค้าปลีกและบริการ รัฐบาลใหม่จึงต้องเร่งแก้ปัญหาเรื่องการเพิ่มรายได้ของกลุ่มฐานราก
และเพิ่มการใช้จ่ายของกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง โดยการกระตุ้นให้เกิดการจับจ่ายและท่องเที่ยวภายในประเทศ ด้วยการร่วมมือกับทุกภาคส่วนช่วยกันขับเคลื่อนโครงการต่างๆ เพื่อผลักดันภาพรวมของค้าปลีกไทยกลับมาเข้มแข็งอีกครั้ง”
โฆษณา