7 เม.ย. 2023 เวลา 12:00 • ไลฟ์สไตล์

ติดโทรศัพท์เกินไปหรือเปล่า? 4 วิธีเว้นระยะห่างจากจอ เพื่อตามหาความสุขในชีวิตจริง

เคยได้ยินเรื่องของ CEO เจ้าของแบรนด์อาหารสุนัขที่ทาน “อาหารสุนัข” เองไหม?
เรื่องที่ลือกันนี้มีอยู่ว่าเมื่อนักธุรกิจเจ้าของแบรนด์อาหารสุนัขท่านนี้เข้าประชุมครั้งใหญ่ประจำปี เขาจะนำอาหารสุนัขติดมือเข้าไปด้วย 1 กระป๋องและรับประทานเสียเอง ที่ทำเช่นนี้เพราะภรรยาของเขาบอกว่าไว้ “ถ้าอาหารนี้ดีพอสำหรับเรา ก็เท่ากับว่าดีพอสำหรับสัตว์เลี้ยงของเราด้วย”
พูดง่ายๆ คือเรื่องเล่าที่วนเวียนในโลกธุรกิจนี้ต้องการจะสื่อว่า P แรกในหลักการ 4P หรือ Product (สินค้า) นั้นต้องดีเสียก่อน ถ้าหากอยากขายให้คนอื่นใช้และประสบความสำเร็จ
แต่แน่นอนว่าความจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้นเสมอไป
1
ในเดือนมกราคมปี 2010 เมื่อ Apple ได้ออก IPad เป็นสินค้าใหม่ พร้อมคำโฆษณาจากสตีฟ จอบส์ ว่าเป็นนวัตกรรมที่น่าทึ่งและให้ประสบการณ์ที่สุดยอด หลายคนอดคาดหวังไม่ได้ว่า ผู้อยู่เบื้องหลังสินค้าและผู้ที่เกี่ยวข้องคงได้ลองใช้ IPad กันหมดแล้ว ถ้าสินค้าดีขนาดที่ว่าก็คงจะแนะนำให้คนรอบตัวใช้แล้ว จริงไหม
นักข่าวจาก The New York Times ที่ได้สัมภาษณ์สตีฟ จอบส์ ก็คงคิดแบบนั้นเช่นกัน เพราะเขาได้ถามสตีฟ จอบส์ ออกไปว่า
“ลูกๆ ของคุณต้องชอบเจ้า IPad นี่มากแน่ๆ ใช่ไหม”
แต่คำตอบที่ได้กลับทำให้หลายคนงงไปตามๆ กัน เพราะเขาตอบว่า
“พวกเขายังไม่เคยใช้ IPad เพราะเราจำกัดการใช้เทคโนโลยีในบ้าน”
ไม่ใช่แค่สตีฟ จอบส์ที่ทำเช่นนี้ ผู้ปกครองหลายๆ คนที่ทำงานเกี่ยวกับเทคโนโลยีใน Silicon Valley ก็จำกัดการใช้หน้าจอของลูกๆ เช่นกัน โรงเรียน The Waldorf School of Peninsula ที่เด็กกว่า 75% ในโรงเรียนนั้นมีพ่อแม่ทำงานใน Silicon Valley ไม่ให้เด็กใช้หน้าจอจนกว่าจะอายุ 13-14 ปี หรือประมาณช่วงมัธยมศึกษาปีที่ 2 (Eighth Grade)
ประเด็นที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ทำให้นักจิตวิทยา อดัม แอตเลอร์ (Adam Atler)  ได้ค้นคว้าหาข้อมูลเรื่องการใช้เทคโนโลยีและผลกระทบ ก่อนจะมาบอกเล่าใน Ted Talk ของเขาที่ชื่อ “Why Our Screens Make Us Less Happy?” (ทำไมหน้าจอถึงทำให้เรามีความสุขน้อยลง)
เขาพบว่าคนใช้เวลาจำนวนมากไปกับแอปพลิเคชันที่ทำให้ตัวเองรู้สึกแย่ เช่น โซเชียลมีเดีย แอปฯ หาคู่ หรือแอปฯ ข่าวสาร และสาเหตุที่ทำให้เราติดหน้าจอเป็นเพราะข้อมูลที่มีอย่างไม่จำกัด ทำให้เราเลื่อนเพื่อเสพไปได้เรื่อยๆ ต่างกับในอดีตที่ต้องมีการพักบ้าง (เช่น โฆษณาที่มาคั่นละคร หรือการที่ละครฉายเพียงสัปดาห์ละครั้ง)
เพียงแค่ปลายนิ้วปัดขึ้น ก็เจอกับความบันเทิงนับไม่ถ้วนที่ต่อแถวรอเรารับชมอยู่
อดัมเปรียบเทียบการใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ว่าเหมือนกับการขับรถไปเรื่อยๆ บนถนนที่วิวรอบข้างสวย แต่เราทำเพียงแค่ถ่ายรูปแว็บเดียวขณะที่รถวิ่งอยู่ ก่อนจะถามผู้ชมว่า..
‘จะดีกว่าไหมหากเราจอดรถไว้ริมทาง ออกจากรถ ถอดรองเท้า ก้าวไปยังชายหาดให้ใต้เท้าได้สัมผัสทราย ก้าวลงทะเลและปล่อยให้คลื่นซัดที่ข้อเท้า ชีวิตของเราจะรุ่มรวยและมีความหมายมากขึ้น เพราะเราได้ดื่มด่ำกับประสบการณ์.. และเพราะเราทิ้งโทรศัพท์ไว้บนรถ’
Ted Talk ของเขาถูกปิดท้ายด้วยเสียงปรบมือเกรียวกราว
ผ่านไป 5 ปี วิดีโอดังกล่าวมีผู้เข้าชมมากกว่า 7 แสนครั้ง และเมื่อค้นหาก็จะพบว่าโลกออนไลน์มีบทความและวิดีโอลักษณะคล้ายๆ กันมากมาย ต่างคนต่างชวนกันให้ลดการใช้เทคโนโลยีและออกมาใช้ชีวิตให้มากขึ้น
แต่พฤติกรรมของมนุษย์เราก็ไม่ได้เปลี่ยนไปนัก เรายังใช้โทรศัพท์เป็นประจำและเหมือนจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เสียด้วย ผลสำรวจจาก App Annie พบว่า คนใช้เวลาไปกับการเล่นโทรศัพท์เฉลี่ยอยู่ที่ 4.8 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งก็คือราวๆ 1 ใน 3 ของชั่วโมงที่เราลืมตาตื่น
แน่นอน เราเกือบทุกคนรู้ว่าการติดหน้าจอมากไปก็ไม่ดี โดยเฉพาะการใช้เพื่อเล่นโซเชียลมีเดีย “Social Media Detox” จึงเป็นประเด็นที่หลายคนให้ความสนใจ คนจำนวนไม่น้อยได้ทดลองเลิกเล่นไปเลย (หรือที่เรียกกันว่าหักดิบ) แต่ก็ดูจะไม่ใช่วิธีที่ยั่งยืนนัก เพราะหลายๆ ด้านในชีวิตเราผูกพันกับเทคโนโลยี พอกลับมาใช้ด้วยความจำเป็นก็เสี่ยงที่จะติดอีกครั้ง
พอจะมีวิธีที่ยั่งยืนกว่านี้ไหม? วันนี้เราจะพามาดูอีก 4 วิธีสร้างระยะห่างระหว่างหน้าจอ จากบทความ How to Improve Your Relationship With Your Phone จากสำนักข่าว The Washington Post ที่ไม่ได้ชวนให้เลิกเล่นเสียทีเดียว แต่จะชวนให้เราเข้าใจตัวเองและปรับพฤติกรรมทีละนิด  มาดูกันว่าทำได้อย่างไรบ้าง
1) ระบุช่วงเวลาที่เป็นปัญหา
เวลาไหนบ้างหรือสถานการณ์ใดบ้างที่เรารู้สึกว่าการใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ทำให้เรารู้สึกแย่? ตอนที่เราเล่นโซเชียลมีเดียไปเรื่อยๆ จนนอนดึกหรือเปล่า? ตอนที่เราเอาแต่สนใจโทรศัพท์แม้จะทานข้าวอยู่กับครอบครัว? หรือตอนที่เราต้องทำงานแต่เริ่มไม่ได้สักทีเพราะมัวแต่ไถฟีด? ลองลิสต์สัก 2-3 ช่วงเวลาออกมาดู
2) ตามหาสิ่งที่เราต้องการจริงๆ
หลังจากได้ช่วงเวลาที่เป็นปัญหาออกมาแล้ว ให้ถามตัวเองว่าที่เราทำแบบนี้ เราทำเพื่ออะไร? เราต้องการอะไรจากการเล่นโซเชียลในสถานการณ์ดังกล่าว? คำตอบอาจมีหลากหลาย เช่น
[ ] เรารู้สึกเบื่อ ไม่มีอะไรทำ
[ ] รู้สึกว่าเล่นแล้วสนุก/มีความสุข
[ ] เป็นเพราะความเคยชิน
[ ] อยากรู้ว่าคนรอบตัวทำอะไรกันอยู่
[ ] ต้องการติดตามข่าวสาร
3) ทำด้วยวิธีอื่น
หากเรารู้แล้วว่าเราทำไปเพื่ออะไร ลองถามตัวเองต่อว่าทำด้วย “วิธีอื่น” ได้ไหม เช่น 
[ ] หากเราเล่นเพราะรู้สึกเบื่อ ลองหาอะไรอย่างอื่นทำดูไหม เช่น ออกกำลังกาย หรืออ่านหนังสือ
[ ] หากเราเล่นเพราะความเคยชิน ลองวางโทรศัพท์ไว้ไกลๆ และแทนด้วยกิจกรรมอื่นได้ไหม
[ ] หากเราอยากรู้ว่าเพื่อนทำอะไรอยู่ ลองเปลี่ยนจากการตามสตอรี่ทุกวัน เป็นนัดกินข้าวกันทุกๆ เดือนเพื่ออัปเดตแทนได้ไหม
4) วิธีอื่นๆ ที่อาจช่วยเปลี่ยนพฤติกรรม
[ ] เตรียมสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม :: หากเราอยากอ่านหนังสือให้มากขึ้นแทนการเล่นโทรศัพท์ การวางหนังสือไว้ใกล้หัวเตียง และชาร์จโทรศัพท์ไกลๆ ก็อาจช่วยลดโอกาสในการหยิบโทรศัพท์น้อยลงและโอกาสในการหยิบหนังสือเพิ่มขึ้น
[ ] เริ่มเล็กๆ และลองให้หลากหลาย :: ลองกิจกรรมอื่นๆ ที่ทำได้ง่ายหลายๆ กิจกรรม เพื่อทดลองดูว่ากิจกรรมไหนเราทำแล้วสนุกจนสามารถแทนการใช้เวลาไปกับโทรศัพท์ได้
[ ] ตั้งกฎ “งดใช้โทรศัพท์” กับบางช่วงเวลา เช่น ขณะกินข้าวกับเพื่อนหรือครอบครัว
การเลิกใช้เทคโนโลยีไปเลยไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันที่เทคโนโลยีพัฒนามาไกล และหลายด้านในชีวิตของเราผูกพันกับมันจนแยกยาก แต่ยังมีหนทางที่เราพอจะควบคุมช่วงเวลาในการใช้งานได้ และ 4 วิธีเหล่านี้ก็อาจช่วยให้เราตระหนักมากขึ้นและทวงคืนเวลาชีวิตของตัวเองมาได้อีกครั้ง
ลองถอยห่างจากโลกออนไลน์ที่เต็มไปด้วยความวุ่นวายมาทำกิจกรรมอื่นบ้าง บางทีเราอาจพบความสุขอันเรียบง่ายที่เราเคยมีโดยไม่ต้องพึ่งเทคโนโลยีก็ได้นะ :)
อ้างอิง
- People devote third of waking time to mobile apps - BBC : http://bit.ly/3LSkSHY
- Why our screens make us less happy | Adam Alter : http://bit.ly/3KdcvWw
- How to manage your screen time without a complete digital detox - The Washington Post : http://bit.ly/3KbryzV
#selfdevelopment
#inspiration
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
โฆษณา