10 เม.ย. 2023 เวลา 02:30 • ธุรกิจ

รู้จัก สตาร์ตอัปหัวใส ที่สร้างสิ่งทดแทน “โฟม เครื่องหนัง เนื้อสัตว์”

จาก “เห็ด” จนระดมทุนได้ 3,700 ล้าน
- โฟม วัสดุที่ทุกคนต่างรู้ว่า อาจต้องใช้เวลาตั้งแต่ 100-1,000 ปี กว่ามันจะย่อยสลาย
- เครื่องหนัง ไม่ว่าจะหนังแท้หรือหนังเทียม กระบวนการผลิตของมัน ก็ไม่ได้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากนัก
- ในขณะที่ เนื้อสัตว์ กว่าจะมาถึงขั้นตอนสุดท้าย ให้เราได้บริโภค ก็สร้างผลกระทบต่อโลก ไปไม่รู้เท่าไร
ที่กล่าวไปทั้งหมด กำลังบอกเราว่า ไม่ว่าจะอุตสาหกรรมไหน ก็ย่อมส่งผลต่อโลกและสิ่งแวดล้อมเหมือนกัน
แต่แทนที่จะหาว่าใครสร้างผลเสียต่อโลกมากน้อยกว่ากัน
กลับมีสตาร์ตอัปในสหรัฐฯ ชื่อว่า “Ecovative” ตั้งใจที่จะช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้ทั้งหมด
ด้วยการนำ “เห็ด” มาสร้างเป็นวัสดุทดแทน ทั้งโฟม เครื่องหนัง และเนื้อสัตว์
เพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือกใหม่ ในฉบับที่ยั่งยืน และเป็นมิตรต่อโลกมากกว่า
ที่น่าสนใจคือ Ecovative ได้รับความสนใจจากทั้งนักลงทุนและองค์กรต่าง ๆ เช่น 3M
จนสามารถระดมทุนไปได้แล้วหลายรอบ โดยได้รับเงินทุนรวมกันสูงถึง 3,700 ล้านบาท
แล้ว Ecovative มีวิธีเปลี่ยน “เห็ด” ให้เป็น “โฟม หนัง และเนื้อสัตว์” ได้อย่างไร ?
และจะต่อยอดนวัตกรรมนี้ ได้น่าสนใจแค่ไหน ?
ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
Ecovative ก่อตั้งขึ้นในปี 2007 หรือเมื่อ 16 ปีที่แล้ว โดยคุณ Eben Bayer และคุณ Gavin Mcintyre
ทั้งสองคนเป็นเพื่อนร่วมชั้นกัน สมัยที่เรียนปริญญาตรี ในสาขาวิศวกรรมเครื่องกลและนวัตกรรม
โดยทั้งคู่ต่างมีความต้องการที่ตรงกัน คืออยากจะสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์เรื่องความยั่งยืน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ผ่านการใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์
ซึ่งไอเดียเริ่มต้นของ Ecovative ถูกจุดประกายขึ้นในคลาสเรียน เกี่ยวกับการค้นหาวัสดุ ที่สามารถเข้ามาช่วยผู้คน และโลกไปพร้อมกันได้
โดยในตอนนั้นคุณ Bayer ได้ฉุกคิดไปถึงสิ่งใกล้ตัวอย่างหนึ่ง นั่นคือ “เห็ด”
เหตุผลที่คุณ Bayer นึกถึงเห็ด เนื่องจากเขาเคยศึกษามาว่า เห็ดมีเส้นใยที่เรียกว่า ไมซีเลียม (Mycelium) หรือกลุ่มเส้นใยที่พบในราก ที่อยู่ใต้ดินของเห็ด
เมื่อเส้นใยเหล่านี้เติบโตขึ้น พวกมันจะเริ่มแตกแขนงเชื่อมต่อกัน และแผ่ขยายออกไปใต้ดิน จนกลายเป็นเครือข่ายของไมซีเลียมขนาดใหญ่ ที่แข็งแรง
ดังนั้นคุณ Bayer จึงคิดว่า จะเกิดอะไรขึ้น ? ถ้าเพาะไมซีเลียม แล้วเอาไปใช้ทำเป็นสิ่งทดแทนวัสดุต่าง ๆ
เพราะนอกจากไมซีเลียมจะแข็งแรงแล้ว เมื่อเราใช้เสร็จ มันก็จะย่อยสลายได้ทางชีวภาพ ในระยะเวลาไม่ถึงปี ซึ่งช่วยลดผลกระทบเรื่องขยะด้วย
จากคอนเซปต์นี้เอง ที่ทำให้คุณ Bayer และคุณ Mcintyre เริ่มทดลองเปลี่ยนเห็ด ให้เป็นวัสดุทดแทน
โดยผลิตภัณฑ์ชิ้นแรกของ Ecovative คือ Mushroom® Packaging หรือบรรจุภัณฑ์กันกระแทก ที่ตั้งใจสร้างขึ้นมาทดแทนโฟม นั่นเอง
แล้ววิธีเปลี่ยน “เห็ด” ให้เป็น “โฟมวีแกน” นั้น ทำอย่างไร ?
ขั้นตอนหลัก ๆ คือการเพาะเลี้ยงไมซีเลียมในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ในแปลงแม่แบบ แล้วให้เศษไม้ เปลือกข้าวโพด และน้ำ ลงไป เพื่อเป็นสารอาหาร สำหรับการเติบโต
จากนั้นใช้เวลาประมาณ 7 วัน เส้นใยเหล่านี้ก็จะเจริญเติบโต จับตัวกันเป็นก้อนหนา ๆ พร้อมที่จะไปเข้าสู่กระบวนการผลิตต่อไป ซึ่งก็คือ การทำให้แห้ง และตกแต่งให้ได้ขนาดตามที่ต้องการ
และสิ่งที่ได้ออกมาก็คือ วัสดุที่สามารถใช้แทนโฟมได้จริง ๆ เพราะก้อนโฟมจากไมซีเลียม มีความแข็งแรงและทนทานมากพอ
แถมยังเป็นวัสดุที่สร้างขึ้นจากธรรมชาติ จึงสามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ
เมื่อค้นพบนวัตกรรมทางเลือกใหม่ ที่ตอบโจทย์เรื่องความยั่งยืน และใช้ประโยชน์ได้จริง ทั้งในเชิงธุรกิจและชีวิตประจำวัน
ทำให้บรรดาบริษัทรายใหญ่ที่ใส่ใจโลก อย่างเช่น IKEA และ Dell ต่างก็สนใจและเริ่มหันมาใช้โฟมวีแกนของ Ecovative เป็นแพ็กเกจจิงในการขนส่ง
และไม่ใช่แค่โฟมวีแกนเท่านั้น เพราะ Ecovative ยังได้ต่อยอดไอเดีย ไปสู่นวัตกรรมอื่น ๆ อีก
แต่ทั้งหมดยังคงใช้พื้นฐานเดียวกันจาก “เส้นใยไมซีเลียม”
อย่างเช่น AirMycelium™ หรือหนังเทียม ที่สามารถทำเป็นเสื้อผ้า กระเป๋า หรือรองเท้า ก็ได้ ซึ่งนวัตกรรมนี้ทาง Ecovative ก็ได้ต่อยอดไปไกลกว่านั้น
ด้วยการไปเป็นซัปพลายเออร์ให้กับ Bolt Threads สตาร์ตอัปที่พัฒนาหนังที่ทำมาจากเห็ด ทำผลิตภัณฑ์ชื่อว่า Mylo™ เพื่อใช้เป็นต้นแบบในการผลิตเสื้อผ้าและกระเป๋า ให้กับแบรนด์แฟชั่นรักษ์โลกชื่อดัง อย่าง Stella McCartney ในปี 2018
อีกทั้งในปี 2021 บริษัทยังได้จับมือกับ PANGAIA หรือแบรนด์เสื้อผ้าแฟชั่น ที่ชูจุดเด่นด้านความยั่งยืน มาแต่ไหนแต่ไร
เพื่อร่วมกันพัฒนาวัสดุชีวภาพใหม่จากเห็ด สำหรับเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในอุตสาหกรรมแฟชั่น และเครื่องแต่งกายอีกด้วย
มากไปกว่านั้น Ecovative ยังเดินหน้ารุกเข้าสู่อุตสาหกรรมอาหาร ด้วย My™Forest Foods ซึ่งเป็น
เนื้อเบคอนเห็ด ที่ทำจากเส้นใยไมซีเลียม 100%
และหลายคนอาจสงสัยว่า เนื้อจากเห็ด มันจะอร่อยเท่าเนื้อสัตว์จริง ๆ หรือไม่
ก็ต้องบอกว่า ทาง Ecovative ได้พยายามเพาะเส้นใยไมซีเลียม ให้มีขนาดเส้นใยบางเพียง 30 ไมครอน ซึ่งใกล้เคียงกับขนาดเส้นใยของกล้ามเนื้อสัตว์มากที่สุด อีกทั้งยังปรับแต่งเนื้อสัมผัส และปรุงรส ให้ใกล้เคียงกับรสชาติของเบคอนจริง ๆ
ถึงแม้จะไม่สามารถยืนยันความอร่อยจากของจริงได้ แต่ที่แน่ ๆ เนื้อเบคอนจากเห็ด ใช้เวลาเพาะไม่นาน ก็ได้เส้นใย ที่พร้อมนำมาเข้าสู่กระบวนการผลิตเป็นเนื้อเทียม
เปรียบเทียบกับการเลี้ยงสัตว์ ที่ต้องใช้เวลาหลายปี อีกทั้งในกระบวนการผลิต ก็ใช้น้ำน้อยกว่ามาก แถมยังลดการเบียดเบียนชีวิตสัตว์ด้วย
ด้วยนวัตกรรมของ Ecovative นี้เอง ที่สามารถต่อยอด “เห็ด” ไปสู่ผลิตภัณฑ์ทดแทน “โฟม เครื่องหนัง และเนื้อสัตว์” ซึ่งถือเป็นแนวทางใหม่ ในการค้นพบวัสดุที่ยั่งยืน
ก็ทำให้บริษัท เป็นที่ถูกจับตามองจากนักลงทุน จนสามารถดึงดูดเม็ดเงินลงทุนได้กว่า 3,700 ล้านบาท
อีกทั้งบริษัทยังได้รับความสนใจจากพันธมิตรทางธุรกิจ ที่กำลังมองหาทางเลือกใหม่ ๆ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากกว่า วัสดุแบบดั้งเดิม
อ่านมาถึงตรงนี้ ต้องยอมรับว่า จากความตั้งใจในชั้นเรียน ที่อยากสร้างนวัตกรรมที่ยั่งยืน และเป็นมิตรกับโลก มาถึงวันนี้ Ecovative สามารถบรรลุเป้าหมายของพวกเขา ได้แล้ว
ที่สำคัญพวกเขายังทำให้เห็นว่า สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า “เห็ด” ก็สามารถเซฟโลก ให้เราได้อย่างไม่น่าเชื่อ
และแน่นอนว่า วิธีการของ Ecovative เป็นเพียงอีกหนึ่งทางเลือกเท่านั้น
แต่อย่างน้อย ก็เป็นทางเลือก ที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นไปได้ต่าง ๆ ในการช่วยโลก
และเป็นสิ่งที่ทำให้เราเริ่มฉุกคิดว่า
เราสามารถทำอย่างไรได้บ้าง ? เพื่อส่งต่อโลกใบเดิมที่ดีกว่า ให้กับในคนรุ่นถัดไป..
Presented by กลุ่มบริษัทธนจิรากรุ๊ป (TANACHIRA) เป็นผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายสินค้าไลฟ์สไตล์ แฟชั่นแบรนด์ชั้นนำจากต่างประเทศได้แก่ Pandora (แพนดอร่า), Marimekko (มารีเมกโกะ), Cath Kidston (แคท คิดสตัน) และเจ้าของผลิตภัณฑ์เพื่อดูแลผิวพรรณ สปาแบบองค์รวมรายแรกในไทยภายใต้แบรนด์ HARNN (หาญ), VUUDH (วุฒิ), HARNN Heritage Spa (หาญ เฮอริเทจสปา) และ SCape by HARNN (เอสเคป บาย หาญ) มีสาขาอยู่ทั่วประเทศและในภูมิภาคกว่า 165 สาขา ภายใต้แนวคิด “Bring the Best of the Brand to the Best of Thailand”
โฆษณา