9 เม.ย. 2023 เวลา 00:00 • ท่องเที่ยว
คาบสมุทรสแกนดิเนเวีย

Road Trip : Finland-Norway : ไปล่าแสงเหนือกัน(เอง)เถอะ

“แสงเหนือ” ในความคิดผมก่อนหน้านี้คือไกลเกินกว่าที่จะกล้าฝันมาก ด้วยข้อมูลที่ผ่านหูผ่านตามา คือมันคงเป็นไปได้ยากมาก คงต้องจ่ายในราคาที่แพงเกินเอื้อม และใช่ว่าจะได้เห็นง่าย ๆ
2
แต่หลังจากที่ผมสามารถถ่ายภาพแสงเหนือภาพแรกในชีวิตได้ด้วยตัวเอง ความคิดนั้นก็เปลี่ยนไปทันที จนตอนนี้ต้องกลับมาคิดว่า... ไปล่าแสงเหนือกัน(อีก)เถอะ
2
ภาพแสงเหนือที่ถ่ายเองภาพแรกในชีวิต
ทริปตามหาแสงเหนือของผมเริ่มต้นแบบไม่คาดคิดมาก่อน เกิดจากการรวมตัวของกลุ่มเพื่อน ตามคำชวนให้ไปเยี่ยมญาติที่ฟินแลนด์ของเพื่อนอีกคน และก็ตอบตกลงกันง่ายๆ ด้วยคิดกันว่าแค่หาตั๋วเครื่องบิน บินไปให้ถึงฟินแลนด์ แล้วไปแจมทริปกับญาติเพื่อนที่นู่น ซึ่งน่าจะเป็นจังหวะและโอกาสดีที่สุดแล้วที่เราจะได้ไปดูแสงเหลือแบบสะดวกกายสบายกระเป๋า
แต่สุดท้ายพอแผนได้ถูกวาง ตั๋วเครื่องบินได้ถูกจอง เพื่อนคนที่เป็นตัวตั้งตัวตีก็มาเทพวกเราเอาดื้อๆ เราไม่มีญาติมาคอยรับที่ฟินแลนด์แล้ว เราต้องเที่ยวกันเอง วางแผนกันเอง และถ้าอยากเจอแสงเหนือ ก็ต้องออกล่ากันเอง นี่จึงเป็นที่มาของทริป “ไปล่าแสงเหนือกัน(เอง)เถอะ”
ทริปนี้ พ่อหนีครอบครัว ไปตะลอนทัวร์กับผองเพื่อน
ด้วยเหตุผลเรื่องราคา เราเลือกตีตั๋วเครื่องบินจากสิงคโปรไปลงที่ Helsinki เพราะเมื่อรวมราคาตั๋วจากไทยไปสิงคโปร์ด้วยแล้ว ยังถูกกว่าบินตรงจากไทยตั้งเยอะ พอลงเครื่องที่ Helsinki เราก็ต่อเครื่องภายในประเทศไปที่ Rovaniemi ทันที เพราะแผนที่เราวางไว้คือต้องการใช้เวลาในแถบ Arctic Circle ให้มากที่สุด เพื่อเพิ่มโอกาสในการได้เจอปรากฏการณ์แสงเหนือให้มากขึ้นด้วย
1
แผนการคร่าวๆ คือ เราเช่ารถจาก Rovaniemi ขับขึ้นไปทางเหนือเรื่อย ๆ ก่อนข้ามพรมแดนไปเข้าไปในนอร์เวย์ แล้ววนลูปกลับมาบรรจบเป็นวงรอบ Road Trip ที่ Rovaniemi อีกครั้ง ใช้เวลาในช่วงนี้ 6 วัน 5 คืน
บินไปฟินแลนด์ด้วยสายการบิน Finnair
ความท้าทายของทริปนี้เริ่มต้นจากการที่ต้องเช่ารถขับในยุโรปเป็นครั้งแรก เป็นพวงมาลัยซ้าย และขับชิดขวา ซึ่งผมรับหน้าที่เป็นพลขับตลอดทั้งทริป ต้องใช้เวลาปรับตัวอยู่พักใหญ่ถึงจะชิน
อีกเรื่องที่ต้องวางแผนให้ดีคือที่พักและการกิน เราจองที่พักเน้นเป็นบ้านและมีครัวให้ประกอบอาหาร ซึ่งเราขนเสบียงทั้งข้าวสาร อาหารสำเร็จรูปส่วนหนึ่งไปจากไทย และไปหาซื้อเพิ่มตามซุปเปอร์มาเก็ตในเมืองต่าง ๆ แล้วก็มาทำอาหารทานเองในทุกมื้อ และเมื่อต้องมาร่วมทริปกันจริง ๆ ผมและเพื่อน ๆ รวม 6 คน ต่างก็ทำหน้าที่สอดประสานกันได้เป็นอย่างดี ทั้งพลขับ คนนำทาง เด็กรถ แม่ครัว แม่บ้าน ทำให้ทริปนี้ดูง่ายและลงตัวขึ้นมาก
ความเป็นอยู่ระหว่างเดินทาง Road Trip
ภารกิจสำคัญ ที่ถือว่าเป็นเป้าหมายหลักของการเดินทางในครั้งนี้คือการตามล่าปรากฏการณ์ Aurora หรือในที่นี้เราจะเรียกว่าแสงเหนือ และต้องเป็นการออกล่าด้วยตัวเอง โดยที่ไม่มีไกด์ท้องถิ่นนำทาง ไม่มีคนบอกหรือชี้ให้ดูว่าแสงเหนืออยู่ตรงไหน ไม่มีประสบการณ์ใด ๆ ทั้งสิ้นในเรื่องนี้เลย การหาข้อมูลให้มากที่สุดจึงเป็นสิ่งที่เราต้องเตรียมตัวก่อนเดินทาง เพื่อให้รู้ถึงปัจจัยต่าง ๆ ที่จะเพิ่มโอกาสให้เราได้เห็นปรากฏการแสงเหนือ
ถ้าจะให้เขียนถึงปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้ ในภาษาง่าย ๆ ที่ไม่ต้องอธิบายด้วยหลักวิทยาศาสตร์เชิงลึก ก็พอจะบอกได้ว่า โอกาสที่เราจะได้เห็นแสงเหนือขึ้นอยู่กับ 1.) พิกัด สถานที่ 2.) ค่าพายุแม่เหล็ก ( KP) 3.) ฤดูกาล และสภาพอากาศ
บรรยากาศระหว่างเดินทาง
พิกัดหรือสถานที่ในโลกนี้ที่เราจะสามารถเห็นปรากฏการ Aurora ได้ มี่แค่บริเวณใกล้กับขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้ โดยถ้าเกิดใกล้ขั้วโลกเหนือเราจะเรียก แสงเหนือ (aurora borealis) ส่วนถ้าเกิดใกล้ขั้วโลกใต้เราจะเรียก แสงใต้ (aurora australis) ในทริปของเราเดินทางในพื้นที่ทางตอนเหนือของฟินแลน์ และนอร์เวย์ จึงเป็นทริปล่าแสงเหนือนั่นเอง
จากข้อมูลที่เรามี ถ้าเราอยากเห็นแสงเหนือ เราต้องไปอยู่ใกล้ขั้วโลกเหนือให้มากที่สุด นั่นจึงเป็นเหตผลว่า ทำไมเราต้องวางแผนให้เวลากับการเดินทางในแถบ Arctic Circle ให้มากที่สุด เพราะเป็นบริเวณพื้นที่ที่อยู่เหนือสุดของประเทศ และสามารถสังเกตปรากฏการแสงเหนือได้ง่ายกว่าบริเวณอื่นของทั้งฟินแลนด์และนอร์เวย์
1
แผนการเช่ารถขับจึงเริ่มต้นจาก Rovaniemi ขับขึ้นเหนือไปนอนที่ Inari หนึ่งคืน ก่อนข้ามพรมแดนไปฝั่งนอร์เวย์ แล้วขึ้นเหนือไปจนถึง แหลมเหนือ (North Cape) และพักที่เมืองเล็ก ๆ อย่าง Skarsvåg แล้วขับย้อนลงใต้ ไปพักที่เมือง Alta เป็นคืนส่งท้ายในนอร์เวย์ ก่อนข้ามพรมแดนมาปักหลักพักใกล้ๆ Levi Ski Resort ในเมือง Sirkka อีกสองคืน ก่อนขับกลับมาคืนรถเช่าที่ Rovaniemi แล้วค่อยบินกลับ Helsinki
สภาพเส้นทางขับรถล่าแสงเหนือ
อย่างที่บอกว่า เรายิ่งขึ้นเหนือไปอยู่ใกล้ขั้วโลกเหนือมากเท่าไรก็ยิ่งมีโอกาส ได้รับชมแสงเหนือมากขึ้น แต่นั่นก็เป็นแค่ปัจจัยหนึ่ง เพราะความเป็นจริงแล้ว ปรากฎการณ์แสงเหนือนั้นจะมีโอกาสปรากฏขึ้นตามค่าพายุแม่เหล็ก หรือเรียกสั้นๆ ว่า KP โดยค่า KP มีค่าจาก 0 – 9 ซึ่งสามารถตรวจสอบได้จากเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันในมือถือ โดยแสดงได้ทั้งค่า KP ในขณะนั้น ๆ (real time) และการพยากรณ์ล่วงหน้าเป็นชั่วโมง เป็นวัน หรือเป็นสัปดาห์ แต่ความแม่นยำก็จะแตกต่างกันไป
สิ่งที่นักล่าแสงเหนือต้องรู้คือ ยิ่งตำแหน่งที่เราอยู่ ใกล้ขั้วโลกเท่าไหร่ ค่า KP ที่จะทำให้เห็นแสงเหนือได้ก็น้อยลงไปด้วย ยกตัวอย่าง เช่น ถ้าเราอยู่ที่ประเทศอังกฤษ เราก็มีโอกาสเห็นแสงเหนือได้ แต่ต้องรอให้ค่า KP ขึ้นไปไม่น้อยกว่า 7 หรืออาจจะต้องถึง 9 แต่ถ้าเราอยู่ทางตอนใต้ของฟินแลนด์ อย่าง Helsinki หรือ Oslo ของนอร์เวย์ เราสามารถเห็นแสงเหนือได้ถ้าค่า KP ตั้งแต่ 5 ขึ้นไป
ในขณะที่ถ้าเราขึ้นเหนือไปอยู่แถบ Arctic Circle ทางตอนเหนือของทั้งฟินแลนด์และนอร์เวย์ เราสามารถเห็นแสงเหนือได้แม้ค่า KP แค่ 1 หรือ 2 และถ้าค่า KP สูงขึ้นมากกว่า 3 ความชัด ความแรง ความสวย ความอลังการของแสงเหนือก็ยิ่งมีมากขึ้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น สภาพอากาศต้องเป็นใจ ท้องฟ้าต้องใสไร้เมฆมาบดบัง และไร้แสงรบกวน การเลือกช่วงฤดูกาลในการตามหาแสงเหนือจึงสำคัญ การหาข้อมูลสถิติฤดูกาล สภาพภูมิอากาศ ช่วงเวลากลางวันกลางคืนของแต่ละพื้นที่ที่เราจะไปจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องรู้เป็นข้อมูลก่อนวางแผนเดินทาง
North Cape แหลมเหนือ จุดเหนือสุดในในทริปนี้
ในทริปนี้ เราเดินทางกันในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน เป็นช่วงต้นฤดูหนาว เวลากลางคืนจะยาวนานกว่ากลางวัน แต่ตั้งแต่เรานั่งเครื่องบินเข้าน่านฟ้าประเทศฟินแลนด์ และตลอดช่วงสองวันแรกในการขับรถตามหาแสงเหนือ ท้องฟ้าถูกปกคลุมไปด้วยเมฆหนาทึบตลอดทั้งกลางวันกลางคืน มีหิมะตกเป็นบางช่วง
ความหวังที่เราจะได้เห็นแสงเหนือริบหรี่มาก แต่สิ่งหนึ่งที่พอจะเยียวยาความหวังของเราได้บ้าง คือบรรยากาศความงดงามของภูมิประเทศตลอดสองข้างทางที่เราขับรถผ่าน ประกอบกับหิมะที่โปรยปรายลงมาปกคลุม เป็นภาพบรรยากาศที่น่าประทับใจสุด ๆ จนทำให้เราลืมเรื่องแสงเหนือไปชั่วขณะ บางครั้งเรายังคุยกันเลยว่า ต่อให้ทริปนี้ไม่เห็นแสงเหนือ แต่สิ่งที่เราได้เห็นอยู่กับตาตรงนี้ก็คุ้มเกินคุ้มแล้ว
วิวสองข้างทางที่ทำให้รู้สึกคุ้มค่ากับการเดินทางมากๆ
นอกจากความพยายามแล้ว “โชค” ก็เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องพกมาด้วย ในคืนที่สอง ที่เราขับรถจากฟินแลนด์ ข้ามพรมแดนมาที่นอร์เวย์ แล้วขับขึ้นไปจนเกือบถึงแหลมเหนือ เราแวะพักที่เมืองเล็ก ๆ แห่งหนึ่งที่ชื่อ Skarsvåg
หลังจากจัดแจงเก็บสัมภาระเข้าบ้านพักเรียบร้อยแล้ว เราเดินออกมาลานโล่งด้านนอกตัวบ้านพัก มองขึ้นไปบนท้องฟ้า เพื่อพยามมองหาแสงสีเขียวที่เราคาดหวังว่าจะเห็นให้ได้ซักครั้งในชีวิต ซึ่งคืนนี้ท้องฟ้าโปร่ง มีเมฆลอยอยู่ราง ๆ เห็นดาวอยู่หลายดวงเหมือนกัน แต่ไม่เห็นแสงสีเขียวที่เราจินตนาการไว้เลย แต่แล้วผมก็เอะใจบางอย่าง ว่าทำไมเมฆที่ลอยอยู่ มันเคลื่อนไหวแปลก ๆ ไม่เหมือนเมฆทั่วไป
ผมจึงหยิบกล้องขึ้นมา ตั้งบนขาตั้งกล้อง เซ็ตค่า และก็กดชัตเตอร์ และไม่นานก็มีภาพแสดงที่หน้าจอ LED ทำเอาผมมือสั่น แล้วตะโกนบอกให้เพื่อนมาดู ใช่แล้ว...!! ที่เรามองเห็นเป็นเหมือนเมฆจางๆ เคลื่อนที่ไปมาอยู่บนท้องฟ้า เมื่อถ่ายภาพออกมาถึงเห็นเป็นสีเขียว เพราะนี่คือ แสงเหนือที่เราตามหา และนั่นก็คือภาพแสงเหนือภาพแรกที่ผมถ่ายได้เองในชีวิต
ภาพแสงเหนือในคืนแรกในชีวิตที่ได้เจอกัน
บางที... มองด้วยตาเปล่า เราจะแทบมองไม่ออกเลยว่าอันไหนคือแสงเหนือ เพราะถ้าค่าแสงไม่แรงมากพอ มันจะมองเหมือนเป็นก้อนเมฆบางๆ สีขาวขุ่นๆ แต่เมื่อเราหยิบกล้องขึ้นมาถ่ายนั่นแหละ ถึงจะรู้ว่าจริงๆ แล้วมันเป็นสีเขียว และมันคือ แสงเหนือ ที่เราตามหาอยู่นั่นเอง
นักล่าแสงเหนือด้วยตัวเอง
1
มองด้วยตาเปล่า ด้านซ้ายกับด้านขวา ไม่มีความแตกต่าง แต่เมื่อถ่ายภาพออกมาถึงได้รู้ว่าด้านหนึ่งเป็นแสงสีเขียว ซึ่งนั่นก็คือแสงเหนือ
ถือเป็นความสำเร็จเกิดคาด กับการออกล่าแสงเหนือครั้งแรก และเป็นการล่ากันเองด้วยประสบการณ์ครั้งนี้เราได้เรียนรู้อย่างหนึ่งว่า แสงเหนือที่เราเห็นด้วยตาเปล่า บางครั้งมันไม่ได้เหมือนในภาพถ่ายที่เราเคยเห็น เพราะสิ่งที่เราคิดว่ามองไม่เห็นไม่ได้แปลว่ามันไม่มีเสมอไป
เป็นทริปแห่งความประทับใจที่ยากจะอธิบายจริง ๆ การออกเดินทางแบบไม่คาดฝัน การเตรียมตัวแบบเร่งด่วน ประสบการณ์แปลกใหม่ ความงดงามของสถานที่ เรื่องเล่า บรรยากาศ มิตรภาพ และฝันที่เป็นจริง สิ่งเหล่านี้ล้วนกระตุ้นให้ไฟในการเป็นนักเดินทางของผมยังแรงกล้าอยู่เสมอ...
โฆษณา