9 เม.ย. 2023 เวลา 12:00 • ประวัติศาสตร์

“เฮเกสเตรโตส” ชายซึ่งโกงเงินประกันเป็นคนแรกในประวัติศาสตร์

หากกล่าวถึงเดือนเมษายน นอกจากนึกถึงสภาพอากาศที่ร้อนอบอ้าวแทบขาดใจและเทศกาลปีใหม่ไทยที่ทุกคนเฝ้ารอจะได้หยุดยาวอย่างสงกรานต์ อีกหนึ่งวันที่เป็นตัวเปิดความสนุกสนานและความโกลาหลให้แก่เราในช่วงเดือนเมษายนนั่นก็คือ วันโกหกสากลโลก หรือที่เรารู้จักในนาม April Fools’ Day
วันที่ถูกละเลงไปด้วยมุกตลกจากคำโกหก เรื่องราวจอมปลอมเพื่อความสำราญ ซึ่งในหลายครั้งนั้นการโกหกนำไปสู่การกำเนิดของคดีเด็ดดังที่ถูกจารึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์โลก
พบกันทุกวันอาทิตย์กับ Bnomics blockdit original ของเมษายนนี้ เชิญพบกับเคสดังเล่าสู่กันฟัง ว่าด้วยเรื่องราวของการโกหก หลอกลวง สร้างเรื่องในหน้าประวัติศาสตร์ที่ทั้งปั่นป่วนและชวนศึกษาไปพร้อมๆกัน
📌 การฉ้อฉลประกัน คือ อะไร?
การฉ้อฉลเงินประกัน หรือ การโกงประกันนั้นนั้น นิยามได้ว่า การโกหกหรือกระทำบางอย่างเพื่อให้ได้เงินประกันมาชดใช้ความเสียหายที่ตนสร้างให้เกิด ไม่ใช่เพราะอุบัติเหตุ ดังเช่นที่เห็นโดยทั่วไปในข่าว ไม่ว่าจะเป็นการแกล้งล้มตัดหน้ารถยนต์เพื่อเรียกค่าสินไหม หรือ เผาบ้านตัวเองเอาเงินประกัน
แต่หากจะกล่าวถึงผู้ที่กระทำการลักษณะนี้เป็นคนแรกของประวัติศาสตร์ต้องขอพาผู้อ่านย้อนกลับไปถึง 300 ปีก่อนคริสตศักราช ณ กรีซ ที่ซึ่งเป็นจุดกำเนิดของสัญญากฎหมายฉบับหนึ่งที่เป็นจุดแรกเริ่มของการประกันภัยเรือเรียกว่า “สัญญาบอตตอมรี” (Bottomry)
📌 สัญญาบอตตอมรี (Bottomry) ก้าวแรกของประกันภัยเรือ
ในปัจจุบันการประกันภัยทางทะเลเป็นสิ่งที่ถูกจัดการไว้อย่างมีระบบเรียบร้อยแล้ว แต่ในอดีตยังไม่มีการประกันภัยทางทะเลอย่างชัดเจนเท่าใดนัก สิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตคือ หากเจ้าของเรือต้องการจะส่งสินค้าไปขายยังเมืองอื่นที่อยู่ห่างไกล แต่ขาดเงินทุนในการซื้อสินค้าและค่าใช้จ่ายในการเดินเรือ เจ้าของเรือจำเป็นต้องกู้เงินจากนายทุนเงินกู้ เพื่อนำเงินไปเป็นทุนในการค้าขายก่อนแล้วค่อยนำมาคืนพร้อมดอกเบี้ยทีหลัง
เจ้าของเรือที่มีเรือเป็นของตนเองสามารถนำเรือของตนมาเป็นหลักประกันเงินกู้และมีเงื่อนไขสัญญาว่าถ้าเรือสินค้ากลับมาจากการขายสินค้าแล้วจะต้องชดใช้เงินกู้พร้อมดอกเบี้ย
หากผิดสัญญานายทุนเงินกู้สามารถยึดเรือเพื่อชดใช้หนี้เงินกู้ได้ แต่มีข้อยกเว้นหนึ่งที่สามารถมองเป็นจุดโหว่ได้คือ ถ้าเรือสินค้าลำดังกล่าวประสบภัยระหว่างทางหรือไม่สามารถกลับมายังเมืองท่าต้นทาง นายทุนเงินกู้ก็ไม่สามารถมาเรียกร้องให้เจ้าของเรือชดใช้หนี้สินได้ในทุกกรณี
📌 เฮเกสเตรโตส พ่อค้ากรีกหัวใส กับ แผนฮุบเงินประกันเรือ
ชายหัวหมอที่มองเห็นช่องโหว่นั้นคือพ่อค้าชาวกรีกนามว่า เฮเกสเตรโตส (Hegestratos) เขามองเห็นโอกาสทำรายได้สองชั้นจากกฎหมายข้อนี้เลยคิดรวยทางลัดด้วยการสร้างแผนฉ้อฉลขึ้นมาโดยการกู้เงินมาในจำนวนมาก
แทนที่จะนำผลผลิตไปส่งให้ถึงที่เอเธนส์เพื่อนำเงินมาคืน เขากลับคิดจะนำผลผลิตไปขายลูกค้าอีกราย แล้วตัดสินใจจะจมเรือที่ไร้ซึ่งสินค้าของตัวเองลงกลางทะเล ระหว่างเดินทางจากซิซิลีไปเอเธนส์ ให้เหมือนกับว่าเรือเกิดอุบัติเหตุ จะได้ไม่ต้องจ่ายเงินกู้และดอกเบี้ยคืน เทียบเท่ากับว่าเขาได้เงินสองรอบจากการประกันและการขายผลผลิตเข้ากระเป๋าเต็มจำนวน
📌 ลงมือ!
เฮเกสเตรโตสอาศัยจังหวะยามดึกย่องลงไปเจาะท้องเรือให้แตก โดยที่มีซีโนเธมิส (Xenothemis, Zenothemis) เพื่อนรักของเขาคอยเป็นหูเป็นตาดูต้นทางให้ แต่การลงมือทำไม่ง่ายอย่างที่วางแผนไว้ ท่ามกลางค่ำคืนกลางทะเลเงียบสงัด เสียงเจาะไม้ประหลาดๆ ปลุกลูกเรือให้สะดุ้งตื่นขึ้นมาเพราะนึกว่าเรือกำลังเสียหายจากแรงคลื่น แต่ดันได้มาเห็นแผนการล่มเรือสุดชั่วร้ายของเขาแทน
เหล่าลูกเรืออีกหลายชีวิตต่างแตกตื่นและแน่นอนว่าพวกเขาจะไม่ยอมให้เฮเกสเตรโตสล่มเรือแล้วร่วมลอยเท้งเต้งกลางทะเลไปด้วยกันกับเขาแน่ๆ คนบนเรือช่วยกันยื้อยุดเฮเกสเตรโตสจนกระทั่งถึงฝั่ง และเมื่อคู่ค้าทางธุรกิจได้ตรวจสอบบนเรือแล้วไม่พบผลผลิตเลยสักนิด หลังจากที่แผนหวังฮุบเงินประกันของชายผู้นี้ถูกเปิดโปง
จึงทำให้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกลายเป็นเรื่องราวการฉ้อฉลประกันภัยที่เก่าแก่ที่สุดที่มีการบันทึกลงในประวัติศาสตร์ โดยปรากฎเป็นลายลักษณ์อักษรในหนังสือรวบรวมคำกล่าวจากนักพูดชื่อดัง ชาวกรีก “The Public Orations of Demosthenes”
“λαμβάνοντες δὲ τὰ χρήματα, οἴκαδ᾽ ἀπέστελλον εἰς τὴν Μασσαλίαν, καὶ οὐδὲν εἰς τὴν ναῦν εἰσέφερον. οὐσῶν δὲ τῶν συγγραφῶν, ὥσπερ εἰώθασιν ἅπασαι, σωθείσης τῆς νεὼς ἀποδοῦναι τὰ χρήματα, ἵν᾽ ἀποστερήσαιεν τοὺς δανείσαντας, τὴν ναῦν καταδῦσαι ἐβουλεύσαντο. ὁ μὲν οὖν Ἡγέστρατος, ὡς ἀπὸ τῆς γῆς ἀπῆραν δυοῖν ἢ τριῶν ἡμερῶν πλοῦν, καταβὰς τῆς νυκτὸς εἰς κοίλην ναῦν διέκοπτε τοῦ πλοίου τὸ ἔδαφος. οὑτοσὶ δ᾽, ὡς οὐδὲν εἰδώς, ἄνω μετὰ τῶν ἄλλων ἐπιβατῶν διέτριβεν.
ψόφου δὲ γενομένου, αἰσθάνονται οἱ ἐν τῷ πλοίῳ ὅτι κατόν τι ἐν κοίλῃ νηὶ γίγνεται, καὶ βοηθοῦσι κάτω. ὡς δ᾽ ἡλίσκεθ᾽ ὁ Ἡγέστρατος καὶ δίκην δώσειν ὑπέλαβεν, φεύγει καὶ διωκόμενος ῥίπτει αὑτὸν εἰς τὴν θάλατταν, διαμαρτὼν δὲ τοῦ λέμβου διὰ τὸ νύκτ᾽ εἶναι, ἀπεπνίγη. ἐκεῖνος μὲν οὕτως, ὥσπερ ἄξιος ἦν, κακὸς κακῶς ἀπώλετο, ἃ τοὺς ἄλλους ἐπεβούλευσε ποιῆσαι, ταῦτα παθὼν αὐτός.”
📌 จุดจบของพ่อค้าจอมโลภมาก
กฎหมายในเอเธนส์นั้นมีการระบุไว้อย่างชัดเจนว่า “การฉ้อฉลกฎหมาย bottomry (τὸ ναυτικόν, τόκοι ναυτικοί, or ἔκδοσις) หรือ การฉ้อโกงการทำธุรกรรมทางการเงินใดๆ อาจมีบทลงโทษขั้นรุนแรงถึงประหาร” ในตอนจบของเรื่องราวนั้น เมื่อเฮเกสเตรโตสรู้ตัวว่าตนถูกจับได้คาหนังคาเขาก็อาศัยจังหวะชุลมุนกระโจนทะเลหนี ดีกว่าต้องมาสู้คดีที่อาจมีบทลงโทษเป็นความตายนี้
ทิ้งตำแหน่งคนซวยให้เป็นของซีโนเธมิสเพื่อนรักที่ไม่ได้กระโดดทะเลหนีไปด้วย ต้องโดนพิพากษาแทนไปเต็มๆ
ในปัจจุบันโชคยังดีที่บทลงโทษสำหรับการฉ้อฉลประกันนั้นได้ถูกลดหย่อนลงไม่ร้ายแรงถึงชีวิต แต่การเรียกสินไหมโดยไม่สุจริตจากประกันภัยนั้นเป็นการกระทำที่ไม่คุ้มค่าเป็นอย่างยิ่ง นอกจากเจ็บตัว สูญเสียทรัพย์สินไปโดยที่อาจจะไม่ได้รับเงินชดเชย ยังจะนำไปสู่กระบวนการทางกฎหมายซึ่งมีตั้งแต่ ปรับ จำคุก หรือทั้งจำทั้งปรับได้
ผู้เขียน : นัยนา ภูมิลำเนา Content creator Intern, Bnomics
ภาพประกอบ : พันกร อรียพิพัฒน์ Graphic Design Intern, Bnomics
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
References:
โฆษณา