8 เม.ย. 2023 เวลา 13:54 • ไลฟ์สไตล์

- วาระสุดท้าย -

ญาติผู้ใหญ่ที่เคารพของผมกำลังป่วยเป็นโรคมะเร็งขั้นสุดท้ายที่รักษาไม่หาย นอนติดเตียงมาเป็นเวลาหลายเดือน ร่างกายไม่รับรู้และตอบสนองกับสิ่งภายนอกแต่อย่างใด มีเพียงแต่หัวใจที่ยังคงเต้นอยู่จากความช่วยเหลือทางการแพทย์ ซึ่งแน่นอนว่าย่อมต้องแลกมาด้วยกับค่ารักษาพยายาลที่สูงลิ่ว
ถ้าเราเป็นหนึ่งในสมาชิกของครอบครัวนั้นและต้องตัดสินใจลงความเห็นว่า ควรให้การรักษาต่อเพื่อยืดลมหายใจออกไปถึงแม้จะมีความหวังเพียงเล็กน้อย หรือควรหยุดการรักษาทุกอย่างเพื่อปล่อยให้เป็นไปตามวัฏจักรของสิ่งมีชีวิต เกิด แก่ เจ็บ ตาย... เราจะตัดสินใจเลือกทางไหน
ละครญี่ปุ่นที่ชื่อว่า Get Ready มีเนื้อหาเกี่ยวกับหมอผ่าตัดที่มีความชำนาญเป็นอย่างยิ่ง แต่กลับต้องเจอกฎระเบียบของโรงพยาบาลที่ค่อนข้างเข้มงวด เคสผ่าตัดไหนเสี่ยงก็จะพยายามเลี่ยงเพราะไม่อยากให้เสียชื่อเสียงของโรงพยาบาล จนสุดท้ายไม่สามารถรักษาชีวิตของเด็กหญิงคนไข้ตามที่เค้าได้เคยให้สัญญาไว้ หลังจากเหตุการณ์สะเทือนใจครั้งนั้น พระเอกได้ปลีกตัวหนีออกจากวงการแพทย์ และชื่อของเค้าก็หายไปจากทะเบียนราษฎรญี่ปุ่นโดยถูกแจ้งว่าเสียชีวิตในต่างประเทศ
แต่แล้วเริ่มมีเคสการผ่าตัดแปลกๆ ของผู้ป่วยขั้นรุนแรงซึ่งมักถูกปฏิเสธจากโรงพยาบาลใหญ่ๆ เพราะว่าเป็นเคสที่ค่อนข้างยากและเสี่ยงสูง แต่กลับสามารถผ่าตัดได้สำเร็จโดยทีมงานที่เรียกว่า 仮面ドクター (Kamen Doctor) หรือ ‘คุณหมอหน้ากาก’ ความเชี่ยวชาญของพระเอกภายใต้ ‘หน้ากาก’ พร้อมกับอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ทันสมัยที่สุดและทีมงานที่มีคุณภาพ ทำให้สามารถช่วยต่อลมหายใจของคนไข้ที่ได้ถูกวินิจฉัยจากระบบการแพทย์ในปัจจุบันว่า ‘ไม่สามารถมีชีวิตอยู่ต่อได้’
สิ่งที่น่าสนใจในบทละครก็คือ คุณหมอหน้ากากจะให้คนไข้อธิบายเหตุผลว่า ‘ทำไมควรได้รับการรักษาเพื่อมีชีวิตอยู่ต่อ’ โดยเฉพาะในกรณีที่เป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงในสังคม เช่น นักการเมือง นักธุรกิจ ฯลฯ ซึ่งถ้าคำตอบไม่สามารถอธิบายได้ชัดเจนผ่านพฤติกรรมการกระทำจริงในอดีตของคนเหล่านั้นแล้ว คงต้องพบกับวาระสุดท้ายของชีวิตเป็นอย่างแน่นอน
ไม่ต่างกับชีวิตคนเรา โครงสร้างทางวิศวกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ตึกอาคาร บ้านเรือน ถนน สะพาน ฯลฯ ก็มี ‘วาระสุดท้าย’ เช่นกัน ถึงแม้ว่าจะพยายามซ่อมแซมความเสียหายที่เกิดขึ้นตามสภาพอายุการใช้งานและเสริมกำลังโครงสร้างแล้ว แต่ค่าใช้จ่ายงานบำรุงรักษาก็ยังเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ และมีการประเมินผลแล้วว่า ‘น่าจะไม่คุ้มค่า’
การยอมทุบทิ้งโครงสร้างเก่าและก่อสร้างโครงสร้างใหม่ที่สามารถดูแลรักษาได้ง่ายกว่าน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดในการอำนวยความปลอดภัย (Safety) ให้กับผู้ใช้ทาง และในบางกรณียังสามารถช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในระยะยาว ซึ่งระบบทางด่วนหลายแห่งในญี่ปุ่นก็เริ่มมีการดำเนินงานผ่านโครงการที่เรียกว่า Renewal Project (โครงการทุบทิ้งแล้วสร้างใหม่)
โครงการที่น่าสนใจแห่งหนึ่งคือ Nihonbashi Renewal Project ในเขตกรุงโตเกียว โดยเป็นการรื้อถอนโครงสร้างเก่าซึ่งเป็นทางด่วนยกระดับแล้วสร้างโครงสร้างใหม่เป็นอุโมงค์ใต้ดินแทน เพื่อรื้อฟื้นและปรับปรุงทัศนียภาพพื้นที่เมือง (ที่ควรจะเป็น) โดยเฉพาะบริเวณสะพาน Nihonbashi (日本橋) ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่เก่าแก่ตั้งแต่สมัยเอโดะ (ปี ค.ศ. 1603) และมีความสำคัญทางจิตใจสำหรับประชาชนที่อาศัยอยู่รอบบริเวณนั้นเป็นอย่างยิ่ง แต่แล้วกลับมีทางด่วนยกระดับพาดผ่านข้างบนรวมไปถึงเสาตอม่อที่กีดขวางแม่น้ำลำคลอง
ที่มา https://www.shutoko.jp/ss/nihonbashi-tikaka/future/
ที่มา https://www.shutoko.jp/ss/nihonbashi-tikaka/future/
คำว่า ‘วาระสุดท้าย’ อาจจะฟังดูแล้วหดหู่และเศร้าโศกเพราะว่าเป็นสิ่งที่กำลังจะต้องดับสูญไป แต่จริงๆ แล้วเป็นสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นกับชีวิตคนเราทุกคน เมื่อมีจุดเริ่มต้นก็ย่อมมีจุดสิ้นสุด ซึ่งในบางกรณีกลับกลายเป็นแรงผลักดันให้เกิดสิ่งที่ดีกว่ากับชีวิตคนเรา เพียงแต่เราอาจจะต้องพยายามยอมรับและเข้าใจถึงสภาวะของวาระสุดท้ายที่ได้เกิดขึ้นแล้วจริง
EP034
Kenko2022
2023/04/08
โฆษณา