Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
กฎหมายรอบตัวเรา
•
ติดตาม
26 เม.ย. 2023 เวลา 02:09 • ความคิดเห็น
มีคำถามว่า
"ขออนุญาตเรียนปรึกษา มีผู้บาดเจ็บไม่รู้สึกตัว เพื่อนนำส่งบอกปืนลั่นที่ลำคอ มาถึง CPR มีสัญญาณชีพ ขณะเปลี่ยนเสื้อผ้าพบยาบ้าและอุปกรณ์เสพยา"
คำถาม พยาบาลต้องแจ้งตำรวจในเคสที่บาดเจ็บจากอาวุธปืนมาตรวจรักษาที่รพ.ทุกรายหรือไม่ รึรายงานเฉพาะที่เสียชีวิต
ที่เป็นคำถามก็เพราะว่า คงมีความคิดที่จะแจ้ง เนื่องจากมีความสงสัยว่าจะเป็นคนร้ายอะไรทำนองนี้
ประเด็นคำถามต้องแยกเป็นสองเรื่อง คือ
1. พบคนถูกยิงต้องแจ้งตำรวจหรือไม่ และ
2. พบยาบ้าในผู้ป่วยต้องแจ้งตำรวจหรือไม่
ก่อนจะตอบคำถาม ต้องพิจารณาหน้าที่ของบุคลากรทางการแพทย์เสียก่อนว่า ขณะรักษาผู้ป่วยตนมีหน้าที่อะไรบ้าง และผู้ป่วยมีสถานะอะไร
ลองพิจารณากรณีคำถาม จะคล้ายๆกับกลุ่มของผู้ป่วยที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดกฎหมายอาญา เช่น เป็นผู้กระทำความผิด ผู้ต้องสงสัย ผู้ต้องหา หรือนักโทษ หรือผู้เสียหายจากการกระทำความผิด เช่น
● ผู้ป่วยทำแท้งมาแล้วติดเชื้อ (Infected criminal abortion, self-induced abortion) แพทย์จะแจ้งตำรวจหรือไม่ว่ามีการทำแท้งผิดกฎหมาย
● ผู้ป่วยอายุ 13 ปี มาฝากครรภ์ (teenage pregnancy) แพทย์จะแจ้งตำรวจหรือไม่ เพราะการตั้งครรภ์ในเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีนั้น ฝ่ายชายผิดกฎหมายอาญาแน่นอน ไม่ว่าจะมีการยินยอมมีเพศสัมพันธ์หรือไม่
● ผู้ได้รับบาดเจ็บจากการจราจร แจ้งว่าตนขับขี่จักรยานยนต์ล้มเอง และแพทย์ตรวจพบว่าน่าจะเมาสุรา แพทย์จะแจ้งตำรวจเพราะผู้ป่วยกระทำผิด พ.ร.บ. จราจรทางบกหรือไม่ (กรณีตำรวจไม่ขอให้ตรวจแต่แรก)
● แพทย์ควรแจ้งข้อมูลการเจ็บป่วยของนักโทษให้กับผู้คุมนักโทษในเรือนจำหรือไม่
ผู้รับบริการในสถานพยาบาลส่วนมากเป็นผู้ป่วยที่แท้จริง คือ มีอาการของการเจ็บป่วยทางกายหรือทางจิตใจ ส่วนอีกจำพวกหนึ่งมีลักษณะเป็นผู้ป่วยคดี คือ ผู้ที่มาตรวจเพื่อความถูกต้องสมบูรณ์ของกระบวนการยุติธรรม ไม่ว่าจะเป็นการแสวงหาพยานหลักฐานหรือกฎหมายบัญญัติไว้ในขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่ง
เช่น ผู้ต้องหาเสพสารเสพติดถูกส่งมาตรวจหาสารเสพติดในร่างกาย ผู้ได้รับการบำบัดรักษาจากการเสพสารเสพติดที่ถูกส่งมาตรวจสารเสพติดในร่างกายเพื่อติดตามการรักษาและควบคุมความประพฤติ ผู้หลบหนีเข้าเมืองถูกส่งมาพิสูจน์อายุเพื่อฟ้องคดี เด็กและเยาวชนที่กระทำความผิดแล้วต้องรับโทษในสถานพินิจและคุ้มครองเด็กถูกส่งมาตรวจประเมินภาวะสุขภาพ หรือเป็นผู้ป่วยที่เกี่ยวข้องในกระการกระทำความผิดอาญา ดังกรณีตัวอย่างข้างต้นด้วย
นอกจากนั้น อาจมีผู้รับบริการประเภทอื่นๆอีกบ้าง เช่น โรงงานส่งมาตรวจสุขภาพประจำปี (อาจยังไม่ป่วย) หรือตรวจสุขภาพเพื่อขอใบรับรองแพทย์เพื่อใช้ในโอกาสต่างๆ ทั้งนี้ไม่ว่าเป็นผู้ป่วยประเภทใด โดยหลักการแล้ว ข้อมูลสุขภาพหรือการเจ็บป่วยของผู้รับบริการทางการแพทย์ย่อมต้องถูกรักษาไว้เป็นความลับ จะเปิดเผยได้ต่อเมื่อผู้ป่วยยินยอม
สำหรับผู้ป่วยที่ยกตัวอย่างมาข้างต้นนั้นแม้ยังไม่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมทางอาญา แต่เข้าข่ายเป็นผู้ป่วยคดีแล้ว ดังนั้น จะมีแต่แพทย์ บุคลากรทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้อง และผู้ป่วยเท่านั้นที่ทราบว่าผู้ป่วยเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดทางอาญา ในกรณีนี้ แพทย์จะลำบากใจอย่างยิ่งในระหว่างการทำหน้าที่สองอย่าง (dual royalty) คือ หน้าที่แพทย์ต่อผู้ป่วย (รักษาผู้ป่วยและข้อมูลความลับของผู้ป่วย) และหน้าที่พลเมืองดีในสังคม (เห็นการกระทำความผิดควรแจ้งความ)
ซึ่งหลักในการพิจารณาควรยึดถือเรื่องความยินยอมเป็นหลักก่อน แม้ผู้ป่วยเป็นนักโทษในเรือนจำที่มีอิสรภาพจำกัดก็ตาม เพราะเป็นหน้าที่แพทย์โดยตรง (direct duty) ที่ต้องปกป้องข้อมูลผู้ป่วย และถือเป็นสิ่งที่แพทย์ต้องคำถึงสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับผู้ป่วยก่อน (the best interest) ส่วนหน้าที่พลเมืองดีนั้น ถือเป็นหน้าที่ทั่วไป (general duty) ซึ่งไม่สามารถลบล้างหน้าที่โดยตรงของแพทย์ได้
นอกจากนี้ การที่แพทย์แจ้งความกับตำรวจจะทำให้ความไว้วางใจจากผู้ป่วยต่อแพทย์ลดลง อาจทำให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดี เช่น ผู้ป่วยที่ทำแท้งมาอาจไม่กล้ามาพบแพทย์ จึงทำให้เสียชีวิตที่บ้าน ผู้ป่วยวัยรุ่นตั้งครรภ์ไม่ยอมฝากครรภ์ ทำให้เด็กที่คลอดออกมาเสียชีวิต หรือน้ำหนักน้อย เป็นภาระต่อครอบครัวและประเทศชาติในอนาคต
การจัดการปัญหาผู้ป่วยประเภทที่กล่าวมา ต้องเน้นการป้องกันมากกว่าการลงโทษทางกฎหมาย ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ต่อตัวผู้ป่วยเอง วงการแพทย์ และประเทศชาติด้วย แต่สำหรับข้อมูลของผู้ป่วยคดีที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมแล้ว เช่น เป็นผู้ต้องหา จำเลย หรือผู้ต้องขังในเรือนจำ ฝ่ายกฎหมายย่อมมีอำนาจในการรับรู้ข้อมูลโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายที่มี
แต่อาจมีผู้ป่วยอีกประเภท ที่มีทั้งการเจ็บป่วยด้วย และมีความผิดที่บุคลากรทางการแพทย์ตรวจพบด้วย เช่น ขณะตรวจผู้ป่วย พยาบาลบังเอิญไปเจอยาบ้าหรือยาเม็ดที่คล้ายยาบ้าในเสื้อผ้าหรือร่างกายผู้ป่วย แบบนี้จะให้ทำอย่างไร ?
กลับมากรณีปัญหาที่ถาม ทั้งกรณีพบคนถูกยิงและการพบยาบ้าในตัวผู้ป่วย รวมถึงตรวจปัสสาวะผู้ป่วยแล้วพบเมทแอมเฟตามีนด้วย ปกติแพทย์ก็ไม่แจ้งความ แต่ต้องบันทึกข้อมูลไว้ในเวชระเบียน
มีข้อพึงระวังที่สำคัญว่า แม้ไม่มีกฎหมายระบุให้ต้องแจ้งความกรณีพบเห็นกรณีดังกล่าว แต่ต้องคำนึงถึง เรื่อง การปกปิดความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 189 ดังนี้
"ผู้ใดช่วยผู้อื่นซึ่งเป็นผู้กระทำความผิด หรือเป็นผู้ต้องหาว่ากระทำความผิด อันมิใช่ความผิดลหุโทษ เพื่อไม่ให้ต้องโทษ โดยให้พำนักแก่ผู้นั้น โดยซ่อนเร้น หรือโดยช่วยผู้นั้นด้วยประการใดเพื่อไม่ให้ถูกจับกุม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"
การไม่แจ้งตำรวจ ฝ่ายกฎหมายอาจจะมองว่าเป็นการช่วยผู้นั้นด้วยประการใดเพื่อไม่ให้ถูกจับกุม ลองนึกดู หากบุคคลนั้นเรารู้จักด้วยแล้ว ยิ่งเสี่ยงมาก
ให้ดูตัวอย่างฎีกาที่พิพากษามาตรานี้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2449/2522
อัยการสิงห์บุรีโจทก์
นายลำดวน ชมภูศรีจำเลย
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 189
ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 189 บัญญัติถึงการกระทำเพื่อช่วยเหลือมิได้ผู้กระทำความผิดต้องรับโทษโดยมิให้ถูกจับกุมเมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยถีบรถจักรยานให้ บ. ซึ่งเป็นผู้กระทำผิดนั่งซ้อนท้ายพาออกจากที่เกิดเหตุไปในขณะที่ยังไม่มีผู้มีอำนาจจับกุมคนใดจะจับกุม บ. และยังได้ความอีกว่า จำเลยถีบรถจักรยานพา บ. นั่งซ้อนท้ายไปบ้าน จึงส่อให้เห็นเจตนาว่าไม่ใช่เพื่อหลบหนีหรือเพื่อไม่ให้ถูกจับกุมอีกด้วย การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามบทมาตราดังกล่าว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2521 เวลากลางวัน นายบรรจง หรือจงได้ใช้พลั่วเป็นอาวุธตีนางสาวเสงี่ยมโดยเจตนาฆ่า จำเลยนี้รู้เห็นเหตุการณืดังกล่าวได้ช่วยนำนายบรรจงหรือจงนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานสองล้อหลบหนีไปจากที่เกิดเหตุ ทั้งนี้เพื่อช่วยเหลือนายบรรจงหรือจงไม่ให้ต้องรับโทษ และเพื่อไม่ให้ถูกจับกุม ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 189
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า หลังจากที่นายบรรจงจำเลยทำร้ายนางสาวเสงี่ยมผู้ตายแล้ว จำเลยถีบรถจักรยานยนให้นายบรรจงนั่งซ้อนท้ายออกจากที่เกิดเหตุไปบ้าน ซึ่งในขณะนั้นนางประเสริฐน้องผู้ตายอยู่ในที่เกิดเหตุ ร้องขอความช่วยเหลือและวิ่งหนีไปในทุ่งนามีชาวบ้านคนหนึ่งเดินมาถึงยืนเฉยอยู่ในบริเวณที่เกิดเหตุ มิได้เข้าช่วยเหลือจับกุมและไม่มีบุคคลใดอีกที่จะเข้าทำการจับกุมนายบรรจง แล้ววินิจฉัยในปัญหาว่าการกระทำของจำเลยเป็นการช่วยเหลือมิให้นายบรรจงถูกจับกุม เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 189 หรือไม่ว่า
ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตราดังกล่าวบัญญัติถึงการกระทำเพื่อช่วยเหลือมิให้ผู้กระทำความผิดต้องรับโทษโดยมิให้ถูกจับกุม เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยถีบรถจักรยานให้นายบรรจงซึ่งเป็นผู้กระทำความผิดนั่งซ้อนท้ายออกจากที่เกิดเหตุไปในขณะที่ยังไม่มีผู้มีอำนาจจับกุมคนใดจะจับกุมนายบรรจงและยิ่งกว่านั้นยังได้ความว่าจำเลยถีบรถจักรยานพานายบรรจงนั่งซ้อนท้ายไปบ้านจึงส่อให้เห็นเจตนาว่าไม่ใช่เพื่อหลบหนีหรือเพื่อไม่ให้ถูกจับอีกด้วย การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามมาตราดังกล่าว
ตามหลักกฎหมายและคำพิพากษาศาลฎีกา ความผิดตามมาตรานี้ ต้องมีเจตนา การทำหน้าที่ของบุคลากรทางการแพทย์แบบทั่วไป แม้ไม่แจ้ง โดยหลักก็ไม่ถือว่าเจตนาปกปิดความผิด นอกจากนั้น ศาลฎีกายังดูถึงขั้นตอนการจับกุมกับผู้กระทำความผิดด้วย คือ หากตำรวจยังไม่ได้ทราบเรื่องหรือมีการคิดจะจับกุมคนกระทำความผิด ก็ยังไกลจากคำว่า เจตนาเพื่อให้ให้คนร้ายหลบหนีความผิด ทั้งๆที่รู้อยู่ว่ามีการกระทำความผิด
มีความเห็นเพิ่มเติมว่า
1. กรณีพบยาเสพติด หากผู้ป่วยไม่ยอมเอากลับไป หรือพบตามสถานที่ต่างๆใน รพ. เช่นห้องน้ำ (อาจมีคนมาซ่อนไว้) กรณีนี้ต้องแจ้งนะครับ เพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่มาเก็บเอาไปพิสูจน์และจัดการต่อไป รพ.ไม่ควรเก็บของเหล่านั้นไว้
2. หากไม่ได้ทำหน้าที่เป็นบุคลากรทางการแพทย์ หรืออยู่นอกเวลางานแล้วไปพบยาบ้ากับตัวใคก็ตาม กรณีนี้ควรแจ้งความนะครับ เพราะถือเป็นพลเมืองดี การแจ้งความกรณีนี้ไม่ผิดแน่นอน ในทางตรงข้าม ภาครัฐยังรณรงค์ให้ประชาชนแจ้งเบาะแสยาเสพติด้วยซ้ำ
และในทางที่ดี โรงพยาบาลควรประกาศนโยบายไปเลยว่า หากพบยาเสพติดในตัวผู้ป่วย ต้องแจ้งความทุกราย เพื่อเป็นการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด
นอกจากนั้น ยังมีฎีกาที่น่าสนใจอีก คือ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 207/2517 ทำให้มีประเด็นเพิ่มเติมว่า ใคร คือ คนตัดสินว่า เป็นผู้กระทำผิด หรือเป็นผู้ต้องหาว่ากระทำผิด ?
ในฎีกานี้ จำเลยถูกศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องแล้ว แต่ยังอยู่ระหว่างอุทธรณ์ จึงถือว่า จำเลยยังไม่มีความผิด (ไม่ได้สนใจว่า ก่อนถูกฟ้องเค้าทำผิดอะไร จึงถูกฟ้อง ซึ่งเลยขั้นตอนกรณีฎีกาแรกมาแล้ว) การหลบหนีไประหว่างอุทธรณ์ยังไม่ผิด มาตรา 189 เลย
ตามฎีกาดังกล่าว แน่นอนว่า ผู้พิพากษาเป็นผู้ตัดสินว่า คนนั้นผิดหรือไม่ เมื่อเข้าสู่ศาลแล้ว แต่หากยังไม่เข้าสู่ศาล ย่อมต้องอาศัยหลักทั่วไปที่ว่า บุคคลใดก็ตาม ย่อมต้องรู้ว่าการกระทำใดเป็นความผิดที่เรียกว่า ผิดโดยชัดแจ้ง (mala in se) ไม่สามารถอ้างไม่รู้กฎหมายได้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 64 เช่น ความผิดฐานทำร้ายร่างกาย ฆ่าคนตาย ครอบครองยาเสพติดให้โทษ เป็นต้น
สรุปว่า การชี้ว่า ใคร คือ คนตัดสินว่า เป็นผู้กระทำผิด หรือมีการกระทำความผิด ต้องดูว่า อยู่ในขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรมใดด้วย หากศาลตัดสินแล้วให้ยกฟ้อง แม้ยังอุทธรณ์อยู่ ก็ต้องถือว่า จำเลยบริสุทธิ์ ไม่มีทางผิดมาตรา 189 ได้ แต่หากเป็นขั้นตอนก่อนพิพากษา ก็ต้องพิจารณาตามหลักกฎหมายทั่วไป ที่ว่า บุคคลธรรมดาทั่วไปย่อมต้องพิจารณาเองได้ ว่า รู้หรือควรรู้ว่าใครเป็นผู้กระทำความผิด
อ้างอิง
-รัฐสภาสาร ฉบับเดือน กรกฎาคม - สิงหาคม 2562 หน้า 89-91
-ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 189
-credit ภาพ Photo by Isaac Quesada on Unsplash
บันทึก
5
3
5
3
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย