9 เม.ย. 2023 เวลา 05:00 • ความคิดเห็น

เศรษฐกิจบนความสนใจ Attention Economy

ผมเรียนจบปริญญาตรีเศรษฐศาสตร์มาก็จริง แต่ความรู้เก้าสิบกว่าเปอร์เซ็นต์ก็ได้คืนอาจารย์ไปหมดแล้ว จะจำได้ก็แค่หลักการพื้นฐานอยู่สองเรื่อง เรื่องแรกก็คือเส้นดีมานด์ตัดกับซัพพลาย ถ้าสินค้าใดมีอุปสงค์มากอุปทานน้อยก็จะแพงและมีค่า อุปสงค์น้อยอุปทานมากก็จะถูก กับอีกเรื่องก็คือเศรษฐศาสตร์เป็นเรื่องของการใช้ทรัพยากรที่มีจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด …จำได้แค่นี้เองจริงๆ
1
แต่ไหนแต่ไรมา อะไรที่ขาดแคลนมากๆก็จะมีค่าเสมอ ตั้งแต่สมัยโบราณนานมายุคมนุษย์เริ่มทำการเกษตร พื้นที่ราบลุ่มอุดมสมบูรณ์ก็จะมีค่ามาก การแย่งชิงพื้นที่เหล่านั้นก็จะดุเดือด เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดสงครามอยู่บ่อยครั้ง
ต่อมาในยุคอุตสาหกรรม แรงงานราคาถูกกับทรัพยากรที่หายากในยุคนั้นก็ทำให้เกิดลัทธิจักรวรรดินิยม การล่าเมืองขึ้นเพื่อเอาทรัพยากรไม่ว่าจะเป็นทอง จนถึงเครื่องเทศ กับแรงงานราคาถูกเช่นแรงงานทาสก็เกิดขึ้น พอเข้ามายุคใกล้ๆตัวเรา ตอนผมทำงานใหม่ๆ ข้อมูลข่าวสาร Information Technology ก็เริ่มมีความสำคัญและแพง การแย่งชิงก็อยู่แถวๆนั้น
แล้วยุคปัจจุบัน โลกยุคโซเชียลมีเดีย สมาร์ทโฟน อะไรคือทรัพยากรที่มีค่าและมีจำกัด ใครได้ครอบครองแล้วจะมั่งคั่งเล่า?
1
ในยุคที่มีข่าวสารข้อมูลล้นเกิน มาทุกทิศทุกทาง (Demand) มีคนชวนให้ดูนั่น กดนี่ ซื้อโน่น ไปนี่ตลอดเวลา ตั้งแต่ไถ TikTok เล่น FB ดู Netflix จะหยิบจะจับอะไรก็จะเจอโฆษณาที่แม่นยำรู้ใจไปหมด มีพลังของอุปสงค์ที่ต้องการความสนใจของผู้บริโภคมากขึ้นทวีคูณตั้งแต่เข้ายุคโซเชี่ยล
1
แต่ในฝั่งอุปทาน (Supply) กลับไม่เพิ่มและเพิ่มไม่ได้ด้วยซ้ำ อุปทานที่ว่าก็คือเวลาของเราที่มีแค่ 24 ชั่วโมง การแย่งชิงความสนใจ (Attention) จากเราจึงดุเดือดมาก เพราะยิ่งทำให้ผู้บริโภคสนใจได้มากก็มีโอกาสทำเงินมาก ไม่ว่าจากการค้าขาย การโฆษณา หรือข้อมูลที่ได้ไปทำมาหากินทางอ้อม อย่างเช่นเอา Data ไปปล่อยกู้เป็นต้น
1
วิธีคิดในเรื่องนี้ที่เรียกว่าระบบเศรษฐกิจที่เกิดบนความสนใจของผู้บริโภค (Attention Economy) นั้น เริ่มมาจากนักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกันชื่อคุณเฮอเบิร์ต อเล็กซานเดอร์ ไซมอน ซึ่งอธิบายไว้ตั้งแต่ปี 1971 ไว้ว่า
1
“ในยุคของการท่วมท้นของข้อมูลข่าวสารนี้ จะนำมาถึงจุดจบของบางเรื่อง เป็นความขาดแคลนของอะไรบางอย่างที่ข้อมูลข่าวสารสูบเข้าไป
สิ่งที่ข้อมูลข่าวสารมาสูบไปนั้นค่อนข้างชัด ก็คือความสนใจของผู้เสพนั่นเอง (It consumes the attention of its recipients) ดังนั้นแล้วความมั่งคั่งของข้อมูลข่าวสารจะทำให้เกิดความเหือดแห้งของ Attention และจะนำมาถึงความจำเป็นของการจัดสรร Attention ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นเพื่อรับมือกับข้อมูลข่าวสารที่พยายามจะสูบเรา”
นี่ขนาดคุณไซมอนเขียนไว้ปี 1971 นะครับ หลังจากนั้นข้อมูลข่าวสารที่มาพร้อมสมาร์ทโฟนกับโซเชียลมีเดียนั้นเพิ่มจากยุคที่คุณไซมอนบอกไม่รู้อีกกี่ร้อยกี่พันเท่า ในขณะที่เวลาของพวกเรายังมีเท่าเดิมไม่มีเปลี่ยนก็คือ 24 ชั่วโมงไม่ว่าจะยากดีมีจน จะรวยแค่ไหนก็เพิ่มอุปทานตรงนี้ไม่ได้
3
ประกอบกับวิธีการหาสตางค์จาก “ความสนใจ” โดยการเอาไปแปลงเป็น Data จนมีคนถึงกับพูดว่า Data is the new oil ยิ่งทำให้เกิดการแข่งขันแย่งชิงความสนใจกันทุกรูปแบบ ซีอีโอ Netflix ถึงกับบอกว่าคู่แข่งของ Netflix คือเวลานอน ยิ่งนอนน้อย Netflix ยิ่งชนะ ยิ่งรวยขึ้น ผู้บริหาร Adidas ก็บอกว่าคู่แข่งของ Adidas คือ Netflix เพราะถ้าดู Netflix แล้วก็จะไม่ไปออกกำลัง จะซื้อของ Adidas น้อยลง
7
เศรษฐกิจในยุคสมัยนี้จึงไม่ใช่ต้องไปรบกันยึดพื้นที่อีก แต่เป็นการรบกับจิตใจและความสนใจของมนุษย์ ใครยึดได้มาก็ยิ่งรวยมาก ไปดูรายชื่อบริษัทใหญ่ๆหรือพวกยูนิคอร์นก็จะเห็นได้ชัดเจน
แล้วใครยุคเศรษฐกิจบนความสนใจจนถึงปัจจุบัน ใครที่กำลังพ่ายแพ้กันบ้าง ที่แพ้ไปแล้วก็มีไม่น้อย หนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ ก็เป็นตัวอย่างที่ดีที่แพ้เพราะไม่สามารถแย่งชิงความสนใจของผู้บริโภคได้อีก แต่ที่แพ้แบบชัดๆและน่าจะเป็นกันทุกบ้านก็คือสถาบันครอบครัว เวลาที่อยู่พร้อมหน้าพร้อมตาพูดคุยกันนั้นไม่สามารถสู้กับการดึงดูดความสนใจของสิ่งที่อยู่ในจอได้อีก ลองสังเกตเวลากินข้าวประจำเดือน หรือกินข้าวในครอบครัวก็จะชัดเจนมากว่าใครชนะใครแพ้ในเรื่องนี้
2
หลักเศรษฐศาสตร์เบื้องต้นที่ทำงานอยู่อย่างเข้มข้นในตอนนี้ หลักแรกก็คืออุปสงค์ของ Attention นั้นพุ่งขึ้นสูงหลายพันเท่า ในขณะที่อุปทานคือเวลาของเรานั้นจำกัด ทำให้ “ราคา” ของเวลานั้นสูงขึ้นมากๆ เวลาของเราจึง “แพง”ขึ้นมาก
2
หลักที่สองก็คือ แล้วเราจะทำอย่างไรถึงจะสามารถจัดการเวลาแพงๆของเราให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้ แทนที่จะเอาไปให้คนอื่นทำสตางค์เสียหมดด้วยการไถ TikTok หรือเล่นไลน์ตลอดเวลา
วิธีการชวนคิดอย่างแรกนั้น ผมได้มาจากตอนน้ำท่วมปี 54 ในตอนนั้นเรามีทรัพยากรที่จำกัดคือพื้นที่ เพราะต้องขนของที่สำคัญเท่านั้นหนีน้ำไปกับรถยนต์ส่วนตัว ของสำคัญรองลงมาก็จะเก็บไว้ชั้นสอง ที่เหลือก็วางไว้ชั้นหนึ่งทำใจถ้าน้ำท่วมมาก็คงพัง ของที่ใส่รถไปแต่ละคนนั้นไม่เหมือนกัน บางคนก็เอาสัตว์เลี้ยง รูปภาพ แก้วแหวนเงินทอง ตามความสำคัญที่ให้
1
แต่เหตุการณ์นั้นทำให้เราได้คิดทบทวนว่าอะไรสำคัญ พี่จุ้ย ศุ บุญเลี้ยง เคยแต่งเพลง “อะไรที่สำคัญกว่า” ถึงเรื่องนี้ไว้ด้วย การเริ่มด้วยการทบทวนว่าอะไรสำคัญกับเรา เราควรจะใช้เวลาซึ่งมีค่ามากๆในยุคปัจจุบันไปกับอะไรแล้วเรียงลำดับความสำคัญไว้ก็น่าจะเป็นเครื่องเตือนใจเป็นอย่างแรกว่าจะใช้ทรัพยากรที่มีค่าของเราให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้อย่างไร เรียงแล้วอาจจะเป็น ครอบครัว รายได้ สุขภาพ ฯลฯ หรืออะไรก็ได้แล้วแต่ความรู้สึกของแต่ละคน
1
เมื่อจัดลำดับความสำคัญแล้ว ถ้ากำหนด Daily Routines ขึ้นมาแล้วตั้งใจล็อคเวลาบางช่วงไว้เพื่อใช้กับสิ่งที่สำคัญก็น่าจะเป็นการเริ่มต้นที่ดีในการเริ่มใช้เวลากับสิ่งสำคัญ ไม่ปล่อยไหลใช้ฟุ่มเฟือยตามแต่บริษัทที่อยากหาเงินจากเราพยายามหลอกล่อ
ตอนมีลูกใหม่ๆ ผมเคยอ่านบทความของพี่จิก ประภาส ชลศรานนท์ว่าพี่จิกตอนมีลูก พี่จิกให้ความสำคัญกับลูกมากก็เลยตั้งใจพยายามเคลียร์งานแล้วกลับบ้านให้ทันไปตบก้นลูกเข้านอนให้ได้ทุกคืน
ผมก็เลยตั้งใจไว้เป็น Daily Routine ในตอนนั้นเช่นกัน ถึงแม้ว่าอาจจะทำไม่ได้ทุกวันแต่ก็เกือบ ซึ่งทำให้ไม่เสียดายเวลาในช่วงนั้นแม้ตอนนี้ลูกจะโตไปเป็นผู้ใหญ่แล้วก็ตาม
สุดท้ายก็คงเป็นเรื่องที่พูดง่ายแต่ทำยากที่สุด แต่ถ้าไม่ฝึกฝนและตั้งใจ โอกาสที่เราจะพลาดอะไรด้วยการเผาเวลาอันมีค่าไปก็จะมีสูงมาก มีคนเคยถามวู้ดดี้ วุฒิธร มิลินทจินดา ในคลาสเอบีซีหลังจากเขากลับจากการบวชเรียนว่า อะไรที่สำคัญที่สุดและใครสำคัญที่สุดสำหรับเขา วู้ดดี้ตอบว่าสถานที่ที่สำคัญที่สุดของเขาคือห้องบรรยายและบุคคลที่สำคัญที่สุดก็คือผู้ฟังในตอนนี้
1
สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือบทสนทนากับนักเรียนในตอนนี้ เป็นคำตอบของการใช้ทรัพยากรที่จำกัดอย่างเวลาให้มีค่าที่สุด ก็คือการใช้กับปัจจุบันขณะ กับคนที่อยู่ตรงหน้านั่นเอง
พอรู้อย่างนี้แล้ว อย่าให้คนอื่นมาร่ำรวยจากเศรษฐกิจบนความสนใจ (Attention Economy) ของเราโดยที่เราจนลงๆโดยไม่พยายามทำอะไรเลยนะครับ เสียเวลาไปเปล่าๆ เวลายุคนี้สมัยนี้ยิ่งมีค่ากว่าสิ่งอื่นใดด้วยนะครับ
โฆษณา