11 เม.ย. 2023 เวลา 03:30 • หุ้น & เศรษฐกิจ

รู้จัก หลักการหาหุ้น 10 เด้ง ของ กวี ชูกิจเกษม นักวิเคราะห์หุ้นคุณค่า

หนึ่งในนักวิเคราะห์หุ้นที่มีชื่อเสียงที่สุดของไทย คือ คุณกวี ชูกิจเกษม ที่อยู่คู่วงการตลาดหุ้นไทย มาแล้วกว่า 28 ปี
โดยคุณกวี สามารถสร้างอิสรภาพทางการเงินได้ ด้วยวิธีการลงทุนแบบเน้นคุณค่า ผ่านการลงทุนในตลาดหุ้น
จากประสบการณ์ที่ยาวนานเกือบ 30 ปีนี้เอง ก็ได้ทำให้คุณกวี ค้นพบหลักการค้นหาสุดยอดหุ้น ที่มีศักยภาพในการเติบโตของราคาหุ้น เพิ่มขึ้นได้ถึง 1,000% หรือก็คือ หุ้น 10 เด้ง นั่นเอง
หลักการของคุณกวี ในการหาหุ้น 10 เด้ง คืออะไร
BillionMoney จะมาสรุปให้เข้าใจ แบบง่าย ๆ
คุณลักษณะของบริษัท ที่มีศักยภาพในการเป็นหุ้น 10 เด้ง
ของคุณกวี มีดังต่อไปนี้
1. เป็นบริษัทที่มีรายได้และกำไร เติบโตอย่างสม่ำเสมอ ในระยะยาว
คุณกวี พบว่า หุ้นของบริษัทที่จะกลายเป็นหุ้น 10 เด้งได้นั้น
จะมีรายได้และกำไร เพิ่มขึ้นอย่างสม่ำเสมอ ในระยะยาว
ถึงแม้ว่า อาจไม่จำเป็นต้องเพิ่มขึ้นทุกปี โดยบางปีอาจจะมีการผันผวน ลดลงบ้างเล็กน้อย ตามวัฏจักรทางเศรษฐกิจ
แต่ในระยะยาวแล้ว รายได้และกำไร จะต้องอยู่ในทิศทางที่เติบโตขึ้น เคียงคู่กันไป
ซึ่งการจะพบหุ้นที่มี รายได้และกำไร ที่จะเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องนั้น เราก็จำเป็นต้องศึกษา และทำความเข้าใจธุรกิจ ของแต่ละบริษัท ก่อนที่จะลงทุน
จึงเป็นเรื่องสำคัญมาก ที่เราต้องเข้าใจโมเดลธุรกิจของบริษัท เพื่อให้เราสามารถคาดการณ์ การเติบโตของบริษัทได้
2. เป็นบริษัทที่มีอำนาจในการต่อรองสูง และมีความสามารถในการแข่งขันได้อย่างยั่งยืน
เราสามารถใช้เทคนิค Five Forces Model มาช่วยในการวิเคราะห์ได้ ดังนี้
- การตรวจสอบ Barriers to Entry ของอุตสาหกรรมที่บริษัทกำลังทำธุรกิจอยู่ โดยตรวจสอบว่า ในอุตสาหกรรม ที่บริษัททำธุรกิจอยู่นั้น คู่แข่งหน้าใหม่จะสามารถเข้ามาแข่งขันด้วย ได้ง่ายหรือยาก
- ตรวจสอบความสามารถในการต่อรองกับลูกค้า ว่าบริษัทกำลังพึ่งพาลูกค้าน้อยรายเกินไปหรือไม่
หากบริษัทพึ่งพาลูกค้าเจ้าใดเจ้าหนึ่งมากเกินไป ก็จะทำให้บริษัทมีความสามารถในการต่อรองกับลูกค้าได้ต่ำ ส่งผลให้มีศักยภาพในการตั้งราคา เพื่อทำกำไรได้ต่ำ ตามไปด้วย
- ตรวจสอบความสามารถในการต่อรองกับซัปพลายเออร์ โดยดูว่า ทางบริษัทพึ่งพาซัปพลายเออร์เจ้าใดเจ้าหนึ่ง มากเกินไปหรือไม่
หากพบว่ามากเกินไป ก็แปลว่า ทางซัปพลายเออร์ จะมีความสามารถในการต่อรองกับทางบริษัทสูงเกินไป
- ตรวจสอบสภาพการแข่งขัน ในอุตสาหกรรม ว่ามีการแข่งขันกันเข้มข้นแค่ไหน และบริษัทอยู่ในจุดไหนของการแข่งขันนี้
- ตรวจสอบเรื่องปัจจัยสินค้าทดแทน เพื่อดูว่า โอกาสที่ลูกค้าจะเปลี่ยนไปใช้สินค้าของคู่แข่งมีมากน้อยแค่ไหน
และบริษัทมีการเตรียมการรับมือไว้อย่างไรบ้าง
1
หากบริษัทที่เราตรวจสอบนั้น ผ่านคุณสมบัติทั้ง 5 ข้อดังกล่าว ก็จะแปลว่า เป็นบริษัทที่มีความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืน
1
3. เป็นบริษัทที่เป็นผู้นำในธุรกิจ และทำธุรกิจที่ตัวเองถนัด
บริษัทที่มีคุณภาพสูง จะเป็นบริษัทที่มีสินค้าเป็นที่น่าจดจำของลูกค้า ตัวอย่างเช่น
- หากเรานึกถึงแฮมเบอร์เกอร์ เราจะนึกถึง McDonald’s
- หากเรานึกถึงเครื่องดื่มโคล่า เราก็จะนึกถึง Coca-Cola
1
บริษัทเหล่านี้ นับเป็นผู้นำในอุตสาหกรรม ที่ตัวเองทำธุรกิจอยู่ ซึ่งบริษัทผู้นำเหล่านี้ก็มักจะครองส่วนแบ่งทางธุรกิจ สูงกว่าคู่แข่ง
1
อีกทั้งยังมีความสามารถในการผลิต มากกว่าคู่แข่ง ทำให้มีต้นทุนในการผลิตสินค้าต่ำ
ดังนั้น เราก็ควรมองหา บริษัทที่มีศักยภาพสูงในการจะก้าวขึ้นมาเป็น ผู้นำธุรกิจในด้านอุตสาหกรรมนั้น ๆ
นอกจากนี้ บริษัทที่เราจะนำเงินไปลงทุน ก็ควรจะต้องทำธุรกิจที่บริษัทมีความเชี่ยวชาญเป็นอย่างดี ไม่ไปจับธุรกิจที่ตนเองไม่ถนัด มากจนเกินไป
เพราะแทนที่จะทำออกมาแล้วได้ผลกำไร แต่สุดท้าย บริษัทอาจจะประสบกับการขาดทุน จากการทำธุรกิจที่ไม่ถนัด จนส่งผลเสียต่อสถานะทางการเงินของบริษัทได้
4. เป็นบริษัทที่มีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง
สามารถตรวจสอบได้จาก การดูอัตราส่วนทางการเงินของบริษัท เช่น
- อัตราส่วนทุนหมุนเวียน ซึ่งใช้ในการตรวจสอบความสามารถในการชำระหนี้ระยะสั้นของบริษัท
3
- อัตราส่วนหนี้สินระยะยาวต่อกำไรสุทธิ เพื่อดูว่าบริษัทต้องใช้ระยะเวลากี่ปีในการทำธุรกิจ จึงจะสามารถจ่ายคืนเงินกู้ระยะยาวได้หมด
- อัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น ใช้ตรวจสอบว่า บริษัทมีหนี้สินเป็นกี่เท่าของส่วนของผู้ถือหุ้น
1
บริษัทที่มีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง มักจะมีหนี้สินที่น้อยกว่าส่วนของผู้ถือหุ้น และมีหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยจ่าย ที่น้อยด้วย
2
ทั้งนี้ ในกรณีที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจ จนรายได้ของบริษัทปรับตัวลดลง บริษัทที่มีหนี้สินน้อย ก็มักจะสามารถผ่านเหตุการณ์เลวร้ายไปได้ง่ายกว่าบริษัทที่มีหนี้สินมาก
เพราะบริษัทที่มีหนี้สินน้อย มีภาระด้านหนี้สินที่ต้องชำระคืนในเวลาที่กำหนด น้อยกว่า ทำให้ยังสามารถรักษาสภาพคล่อง ในการทำธุรกิจได้ดีกว่า
นอกจากนี้ การที่บริษัทมีหนี้สินน้อย ก็จะทำให้สามารถถือเงินสดที่ได้จากการทำธุรกิจได้เยอะ ต่างกับบริษัทที่มีภาระหนี้สินสูง ที่มีความเสี่ยงด้านสภาพคล่องสูง
5. เป็นบริษัท ที่ไม่จำเป็นต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก ในอนาคต
บริษัทจะต้องสามารถทำธุรกิจให้เติบโตอย่างต่อเนื่องต่อไปได้ โดยใช้เงินลงทุนเพิ่มในแต่ละปีน้อย
โดยบริษัทต้องสามารถขยายธุรกิจต่อไปได้ ด้วยกำไรจากการทำธุรกิจเอง โดยไม่จำเป็นต้องออกหุ้นเพิ่มทุน หรือกู้หนี้เพิ่ม เพื่อมาใช้ในการลงทุน
บริษัทเหล่านี้ ต่อให้มีหนี้สินเยอะในช่วงที่เริ่มต้นทำธุรกิจ เพราะกู้เงินมาลงทุน ก็ยังสามารถทำธุรกิจจนสร้างกระแสเงินสดได้อย่างสม่ำเสมอในระยะยาว จนสามารถชำระหนี้สินให้หมดได้
นอกจากนี้ บริษัทเหล่านี้ก็จะมีกำไรสะสมเพิ่มพูนขึ้นเรื่อย ๆ จนทำให้มูลค่าบริษัทเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย
1
6. เป็นบริษัทที่มีผู้บริหารที่มีฝีมือ และมีธรรมาภิบาล
เราควรตั้งคำถามว่า
- ผู้บริหารของบริษัทที่เราจะนำเงินไปลงทุนนี้ มีประสบการณ์ในการทำงาน มากน้อยแค่ไหน และที่ผ่านมาประสบความสำเร็จ หรือล้มเหลว อย่างไร ?
- ชื่อเสียงของผู้บริหาร เป็นอย่างไร และเคยมีปัญหา เคยถูกแจ้งความดำเนินคดี หรือเคยโดน ก.ล.ต. สั่งลงโทษมาก่อนหรือไม่ ?
นอกจากนี้ เราก็ต้องระวัง บริษัทที่พึ่งพาผู้บริหารคนใดคนหนึ่ง มากจนเกินไป
เพราะถึงแม้ว่าบริษัทจะมีผู้บริหารที่เก่งกาจมากแค่ไหน
แต่วันหนึ่ง ผู้บริหารคนนั้นก็ต้องเกษียณอยู่ดี
ดังนั้นแล้ว ผู้บริหารที่ดี จะต้องสามารถสร้างระบบ เพื่อส่งไม้ต่อให้คนรุ่นถัดไปมาบริหาร ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ไม่แพ้คนรุ่นก่อน
2
สรุปแล้ว คุณกวี ชูกิจเกษม ได้แนะนำหลักการในการหาหุ้นบริษัทที่มีศักยภาพสูง มาทั้งหมด 6 ข้อ โดยบริษัทนั้นจะต้องมีคุณสมบัติดังนี้
- มีรายได้และกำไร เติบโตอย่างสม่ำเสมอในระยะยาว
- มีอำนาจในการต่อรองสูง และสามารถแข่งขันอย่างยั่งยืน
- เป็นผู้นำในธุรกิจ และทำธุรกิจที่ตัวเองถนัด
- มีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง
- ไม่จำเป็นต้องใช้เงินลงทุนขยายธุรกิจสูง ในอนาคต
- มีผู้บริหารที่มีฝีมือ และมีธรรมาภิบาล
1
ทั้งนี้ ทุกครั้งก่อนที่เราจะลงทุนไปกับอะไรก็ตาม เราก็ควรต้องเข้าใจ ในสิ่งที่เราจะนำเงินไปลงทุนเป็นอย่างดีก่อน
1
ดังนั้น หากเราสนใจที่จะลงทุนในบริษัทไหน เราก็จะต้องรู้จักตัวธุรกิจของบริษัทในเชิงลึก ผ่านการอ่านรายงานประจำปี และตรวจสอบงบการเงินของบริษัท ให้เข้าใจ อย่างถ่องแท้ด้วย..
References
-หนังสือ เพาะหุ้นเป็น เห็นผลยั่งยืน หนทางสู่อิสรภาพทางการเงิน ที่ไม่ว่าใครก็ทำได้ (2013) โดย กวี ชูกิจเกษม
-หนังสือ One Up On Wall Street: How To Use What You Already Know To Make Money In The Market (2000) โดย Peter Lynch และ John Rothchild
โฆษณา