Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Bnomics
•
ติดตาม
10 เม.ย. 2023 เวลา 12:24 • การเมือง
ไฟป่า เพื่อนบ้าน และเกษตรกร ในกรณีของประเทศอินโดนีเซีย
“ปัญหาไฟป่า” เป็นปัญหาที่สามารถสร้างผลกระทบเป็นวงกว้างและรุนแรงต่อประชาชนทั้งด้านสุขภาพ สังคม และเศรษฐกิจ อันตัวประชาชนเองยากจะหนีพ้นได้ เพราะผลกระทบลอยมากับอากาศที่อยู่ทุกหนทุกแห่ง
โดยนอกจากไทยที่ได้รับผลกระทบจากไฟป่าอยู่ในปัจจุบัน ยังมีกรณีศึกษาที่น่าสนใจจากประเทศในภูมิภาคอาเซียนของพวกเราเอง ที่ต้องต่อสู้กับปัญหาไฟป่ามาอย่างยาวนานเช่นเดียวกัน ประเทศนั้น ก็คือ “ประเทศอินโดนีเซีย”
ซึ่งกรณีของไฟป่าของอินโดนีเซียมีความพิเศษและน่าสนใจไม่น้อยทีเดียว เพราะมันมิได้ส่งผลกระทบแค่กับคนในประเทศเขาเท่านั้น แต่ยังแพร่กระจายไปปกคลุมประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียงด้วย โดยเพื่อนบ้านที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ก็ได้แก่ สิงคโปร์และมาเลเซีย
แต่ก่อนเราจะไปถึงจุดนั้น เราขอพาทุกท่านเข้าไปสำรวจลักษณะเฉพาะของไฟป่าที่เกิดขึ้นในอินโดนีเซียก่อน
📌 ไฟป่าในอินโดนีเซีย
หลายคนน่าจะทราบกันดีว่า เมื่อเกิดไฟป่าขึ้นมาแล้ว การจะดับให้สนิททำได้ยากมาก เพราะป่าเป็นเชื้อเพลิงชั้นดีของตัวไฟที่กำลังลุกโหม และยิ่งในกรณีของสภาพภูมิประเทศของอินโดนีเซียยิ่งทำได้ยากเข้าไปใหญ่
เหตุผลมาจากการที่ว่า พื้นที่ป่าของพวกเขาจำนวนมากเป็น “ป่าพรุ (peatland)” ซึ่งเป็นป่าดิบชื้นประเภทหนึ่ง ที่มีแอ่งน้ำจืดขังอยู่เป็นเวลานาน
ลักษณะแบบนี้ทำให้ดินของป่าพรุ มีการสั่งสมแร่ธาตุจากกิ่งไม้หรือซากสัตว์ต่างๆ มากกว่าดินในป่าทั่วไป และมีปริมาณคาร์บอนสูงอย่างมาก ทำให้เวลาเกิดไฟป่าขึ้นมา ก็จะรุนแรง ยาวนาน และดับได้ยากกว่าไฟป่าทั่วไป
และยิ่งหากเกิดขึ้นในช่วงที่สภาพภูมิอากาศแห้งแล้งเป็นพิเศษ (ช่วงเอลนีโญ) ปัญหาไฟป่าก็จะยิ่งรุนแรงและดับได้ยากเข้าไปอีก
2
โดยตัวอย่างในอดีตที่ปัญหาไฟป่าในอินโดนีเซียมาเกิดขึ้นในช่วงที่ภูมิอากาศแห้งแล้ว ก็กลายเป็นปัญหาไฟป่าครั้งรุนแรงที่สุดในอินโดนีเซีย และใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในโลกที่มีการบันทึกกันไว้ เกิดขึ้นในค.ศ. 1997
ครั้งนั้นไฟป่าลามเป็นพื้นที่กว่า 10 ล้านเฮกเตอร์ ส่งผลต่อสุขภาพคนทั้งชาวอินโดนีเซียและเพื่อนบ้านกว่า 75 ล้านคน และความเสียหายต่อเศรษฐกิจเป็นวงกว้าง
1
ปัญหาที่เกิดขึ้นสร้างความไม่พอใจให้กับประเทศเพื่อนบ้านของอินโดนีเซียด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สิงคโปร์และมาเลเซีย ที่ได้รับกระทบจากไฟป่าครั้งนี้อย่างหนัก
ซึ่งการออกมาเรียกร้องจากทั้งสองประเทศก็กลายเป็นข่าวโด่งดังในหน้าสื่อของหลายประเทศ จนทางอินโดนีเซียต้องเริ่มออกมาจริงจัง สืบสาวว่าสาเหตุของไฟป่าคืออะไร
คำตอบที่ได้ออกมา ก็พบว่า “สาหตุส่วนใหญ่เกิดมาจากฝีมือมนุษย์” ที่ใช้วิธีการจุดไฟเผาเพื่อบุกเบิกและเตรียมสถานที่เพาะปลูกนั่นเอง
📌 เพื่อนบ้าน
อย่างที่กล่าวไป ปัญหาไฟป่าในอินโดนีเซียสร้างความไม่พอใจให้กับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิงคโปร์และมาเลเซีย โดยหากศึกษาลงไปในประวัติศาสตร์ของทั้ง 2 ชาติ ก็จะยิ่งเข้าใจมากขึ้นถึงความไม่พอใจที่เกิดขึ้น
โดยส่วนสำคัญมาจากการที่ทั้ง 2 ประเทศเอาจริงเอาจังกับการสร้างอากาศที่สะอาดให้กับประชาชนในประเทศตนเองอย่างมาก และก็ประสบความสำเร็จทั้งคู่ด้วย
ในส่วนของสิงคโปร์ ปัญหาคุณภาพอากาศเป็นวาระสำคัญที่รัฐบาลสนใจมาตั้งแต่ยุค 1970 มีการออกกฎห้ามเผาสิ่งของในที่แจ้ง ทำให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีจัดการของเสียที่ออกมาทางอากาศอย่างก้าวกระโดด
และก็มีการออกแผนการจัดการฝุ่นควันระดับชาติใช้ชื่อว่า “National Haze Action Plan” ซึ่งกลายเป็นส่วนหนึ่งของแนวปฏิบัติในระดับอาเซียนด้วย
2
ความจริงจังในคุณภาพอากาศนี้ ทำให้ในตอนปี 1997 ที่เกิดไฟป่าจากอินโดนีเซีย ทางผู้เชี่ยวชาญและผู้เกี่ยวข้องในสิงคโปร์ส่วนหนึ่ง เรียกร้องให้มีการเรียกเก็บเงินจากผู้ที่ก่อให้เกิดฝุ่นควัน (polluter pays principle) ไฟป่าในอินโดนีเซียด้วย
แต่สุดท้ายก็ไม่ได้มีการนำบังคับใช้ ด้วยหลักการของอาเซียนที่จะไม่เข้าไปแทรกแซงการปกครองของประเทศในกลุ่ม
มาเลเซียก็เป็นอีกหนึ่งประเทศที่ต้องเผชิญกับปัญหามลภาวะทางอากาศ จนนำมาซึ่งการออกกฎหมาย ในปี 1974 ใช้ชื่อว่า “Environmental Quality Act” และก็มีพัฒนาการทางกฎหมายสิ่งแวดล้อมเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง
จากที่ในช่วงแรกก็เน้นควบคุมการปล่อยฝุ่นควันในโรงงานและยานพาหนะก่อน ต่อมาก็มีการขยายการควบคุมไปสู่ภาคเกษตรกรรมด้วย ซึ่งมีการกำหนดโทษสำหรับผู้ฝ่าฝืนทั้งโทษปรับและโทษจำคุกสูงสุดถึง 5 ปี
ความเอาจริงเอาจังทางด้านกฎหมายของมาเลเซียนำไปสู่การปรับเปลี่ยนวิถีการทำเกษตรกรรมของมาเลเซีย สู่การเป็นผู้นำในอาเซียนที่เตรียมดินผ่านวิธีการที่ไม่ต้องเผา
1
ซึ่งกระบวนการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อมในทั้งสองประเทศ ก็เกิดขึ้นไปพร้อมๆ กันการขึ้นของข้อตกลงด้านสิ่งแวดล้อมระดับอาเซียนที่ใช้ชื่อว่า “The ASEAN Haze Agreement”
แต่ในกรณีของประเทศอินโดนีเซียนั้น แม้จะมีความพยายามในการปฏิรูปและจัดการปัญหาด้านคุณภาพอากาศมาอย่างยาวนาน แต่ความสำเร็จที่เกิดขึ้นก็อาจจะยังไม่เท่ากับในสองประเทศที่เรายกตัวอย่างไป
1
📌 เกษตรกร
ที่จั่วหัวประเด็นมาว่า “เกษตรกร” ไม่ได้หมายความว่า เกษตรกร คือ ปัญหาที่ทำให้อินโดนีเซียจัดการไฟป่าและควันไฟไม่ได้
แต่แท้จริงแล้ว พวกเขาคือคนสำคัญที่สุดที่ทางภาครัฐต้องทำความเข้าใจและออกแบบนโยบายให้เหมาะสมกับพวกเขา
1
มีงานศึกษาที่เผยแพร่เมื่อปี 2019 ในบทความของคุณ Laely Nurhidayah ที่ลงใน The Conversation ชี้ถึงปัญหาและแนวทางการแก้ไขปัญหาผ่านการลงไปสัมภาษณ์ชาวบ้านแล้ว ได้อย่างน่าสนใจทีเดียว
โดยในบทความได้ชี้ให้เห็นว่า ชาวบ้านที่เป็นเกษตรกรส่วนมากไม่เห็นด้วยกับการห้ามจุดไฟเผาเพื่อเตรียมพื้นที่ในการเพาะปลูกจากทางรัฐบาล
เพราะว่าพวกเขามองว่า การกระทำแบบนี้เป็นวิถีปฏิบัติและเป็นแนวทางที่มีต้นทุนน้อย ไม่ให้เขาทำแบบนี้แล้วจะให้ทำอย่างไร
นอกจากนี้ แนวนโยบายที่ต้องการทำการฟื้นฟูป่าพรุที่ถูกเผาให้กลับมาชุ่มน้ำอีกครั้งอย่างถาวร จะได้เป็นตัวป้องกันไฟป่าได้ ก็ไม่ได้รับความร่วมมือจากชาวบ้านมากเท่าที่ควรด้วย
ทำให้พวกเขานำเสนอ 4 ขั้นตอนที่ทางภาครัฐสามารถทำได้ เพื่อสร้างความร่วมมือจากเกษตรกรและชาวบ้านมากขึ้น
โดยขั้นตอนที่ 1.เริ่มจากการหางบสนับสนุนการรักษาสภาพป่าให้สมบูรณ์ (Provide maintenance funds) ในปัจจุบันงบประมาณที่ลงมา เป็นงบที่ลงมาสร้างสิ่งของที่จำเป็นในการฟื้นฟูป่าเท่านั้น แต่ไม่มีงบที่ใช้สำหรับการดูแลให้มันคงทน ซึ่งสุดท้ายก็ทำให้ไม่สามารถรักษาสภาพป่าให้สมบูรณ์เป็นเวลานานได้
1
2. ให้รางวัลและลงโทษอย่างเหมาะสม (Reward and punishment) หากเกษตรกรคนไหนเข้าร่วมโครงการกับทางภาครัฐก็ควรจะได้รับรางวัลตอบแทน ซึ่งอาจจะมาในรูปของเงินช่วยเหลือ หรือแรงจูงใจอื่นก็ได้
2
ส่วนคนที่ยังสร้างมลภาวะก็ต้องถูกลงโทษ ซึ่งอาจจะเป็นการปรับเงินก็ได้ โดยเงินที่ได้มาก็สามารถนำมาใช้กับโครงการฟื้นฟูป่าได้
3. ตัดกฎเกณฑ์ที่ไม่จำเป็น (Cut red tape) ในการบรรเทาภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในอินโดนีเซียหลายครั้งยังติดปัญหากฎเกณฑ์ที่ไม่จำเป็นอยู่มากทีเดียว ทำให้ปัญหามันลุกลามกว่าที่ควรจะเป็น พร้อมทั้งการจัดเตรียมอุปกรณ์ที่ต้องมี ก็อาจจะยังไม่เพียงพอต่อสถานการณ์ด้วย
นอกจากนี้ การออกนโยบายบางครั้ง ก็ต้องเปิดโอกาสให้บุคลากรหน้างานที่ใกล้ชิดกับชาวบ้านมากกว่าได้เป็นผู้ตัดสินใจด้วย ซึ่งส่วนนี้เป็นอีกหนึ่งปัญหาสำคัญที่ทำให้นโยบายที่ออกมาหลายครั้งไม่ตอบโจทย์ปัญหา
และขั้นตอนสุดท้ายขั้นตอนที่ 4. แนะนำและส่งเสริมเทคนิคการเตรียมดินแบบไม่ต้องเผา ที่ราคาถูกและน่าเชื่อถือ (Promoting cheap and reliable no-burning technology) มีตัวอย่างเทคนิคที่น่าสนใจอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านอย่างเช่นในมาเลเซีย ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับอินโดนีเซียพอสมควร โดยเฉพาะ การปลูกปาล์มน้ำมัน ที่เป็นพืชเศรษฐกิจหลักเหมือนกัน
ซึ่งการส่งเสริมเทคนิคแบบใหม่ให้เกษตรกร เป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้พวกเขายอมที่จะทำตามแนวนโยบายจากภาครัฐได้ เพราะพวกเขาก็จะยังสามารถทำมาหากินได้อยู่ด้วย แตกต่างจากปัจจุบัน ที่มีแต่การห้ามอย่างเดียวโดยไม่แนะนำวิธีทางเลือก เกษตรกรจึงไม่เห็นด้วยอย่างที่เห็น
1
ผู้เขียน : ณัฐนันท์ รำเพย Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
References:
●
https://www.globalforestwatch.org/blog/fires/indonesian-fires-create-hazardous-levels-of-air-pollution-in-singapore/
●
https://journals-sagepub-com.chula.idm.oclc.org/doi/epdf/10.1177/1070496506288369
●
https://theconversation.com/4-steps-the-indonesian-government-can-take-to-ensure-locals-help-put-out-forest-fires-126330#:~:text=The%20Indonesian%20government%20introduced%20a,Peatland%20Restoration%20Agency%20(BRG).&text=Restoring%20peatland%2C%20a%20distinct%20ecosystem,way%20to%20prevent%20forest%20fires
.
อินโดนีเซีย
ข่าวรอบโลก
25 บันทึก
32
1
59
25
32
1
59
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย