10 เม.ย. 2023 เวลา 17:32 • ศิลปะ & ออกแบบ

พระพิราพ

ว่ากันว่าเป็นคนธรรพ์ (สิ่งมีชีวิตในปรัมปราคติจากชมพูทวีปที่เก่งกาจในเชิงดนตรีการ) ชื่อ ‘ตุมพุรุ’ ที่ถูกสาปลงมาเป็นรากษส (คล้ายยักษ์แต่ดุร้ายกว่า และชื่นชอบในรสชาติของเนื้อสดๆ) อยู่ใน ‘ป่าทันฑกะ’
‘ตุมพุรุ’ ตามความเชื่อของพ่อพราหมณ์ทั้งหลายในอินเดียนั้น เป็นราชาแห่งคนธรรพ์ ผู้ขับกล่อมเพลงดนตรีได้ไพเราะที่สุดในสามโลก ในรามายณะเองก็อธิบายไม่ต่างนัก ส่วนในมหากาพย์ของอินเดียอีกเรื่องคือ มหาภารตะ พรรณนาว่าตุมพุรุคือหนึ่งในสี่คนธรรพ์ที่ยอดเยี่ยมที่สุด ตุมพุรุมักปรากฏตัวคู่อยู่กับพระนารทฤาษี ซึ่งในแวดวงดนตรีและการละคอนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องก็ถือเป็นครูของการดนตรีของไทยเช่นกัน
แถมชื่อของตุมพุรุไม่ได้ปรากฏอยู่เฉพาะเรื่องราวใน ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู เท่านั้น แต่ปรากฏในพระสูตรของศาสนาพุทธคือ สักกปัญหสูตร อีกด้วย พระสูตรดังกล่าวเรียก ‘ตุมพุรุ’ ว่า ‘ติมพรุ’ เป็นราชาแห่งคนธรรพ์ มีลูกสาวชื่อนางสุริยวัจฉสา และเป็นพ่อตาของพระปัญจสิขร คนธรรพ์ผู้ดีดพิณถวายพระพุทธเจ้า ณ ถ้ำอินทสาล พระปัญจสิขรนี้ก็เป็นครูทางดนตรีการ และนาฏศิลป์ที่คนไทยนับถือด้วยเช่นกัน
ชาวอุษาคเนย์ในชั้นหลังหลงลืมชื่อ ‘ตุมพุรุ’ ไปหมดแล้ว อย่างน้อยในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ รามเกียรติ์ฉบับรัชกาลที่ 1 ก็ไม่มีเรื่องของตุมพุรุเหลืออยู่ แต่หลักฐานว่าชาวอุษาคเนย์เคยมีการรู้จักชื่อตุมพุรุมีอยู่ในจารึกภาษาเขมร และสันสกฤตจากปราสาทสด๊กก็อกธม จังหวัดสระแก้ว ที่เรียกกันว่า จารึกสด๊กก็อกธม หลักที่ 2 สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1595 ปรากฏข้อความว่า "พักตร์ทั้งสี่ของตุมพุรุ"
ข้อความตอนดังกล่าวในจารึกสด๊กก็อกธมกำลังพรรณนาถึงการที่พราหมณ์หิรัณยทามะ ถ่ายทอดสรรพวิชาใน ‘ลัทธิเทวราช' ให้แก่พราหมณ์ศิวะไกวัลย์ ปุโรหิตคนสำคัญของพระเจ้าชัยวรมันที่ 2 หลังจากนั้นลัทธิเทวราชก็มั่นคงอยู่ในอาณาจักรขอมยุคเก่าก่อน ‘พักตร์ทั้งสี่ของตุมพุรุ’ ที่อ้างถึงก็คือสรรพวิชาที่พราหมณ์หิรัณยทามะถ่ายทอดต่อพราหมณ์ศิวะไกวัลย์
ข้อความตรงนี้สำคัญ เพราะบ่อยครั้งที่จารึกขอมโบราณกล่าวถึงพระอิศวรในฐานเทพผู้มี 4 พักตร์ และในหนังสือ โยคะวศิษฐ รามายณะ ที่เก่าแก่ก่อนจารึกสด๊กก็อกธมราว 200 ปีเศษนั้น ระบุว่า ‘ตุมพุรุ’ ก็คือ ‘รุทร’ หรือ ‘พระอิศวร’ (องค์เดียวกันกับพระศิวะ)
และนี่ก็ย่อมหมายความด้วยว่า ‘พระพิราพ’ นั้น ก็คือพระภาคหนึ่งของ ‘พระอิศวร’ ด้วยเช่นกัน
โฆษณา