11 เม.ย. 2023 เวลา 02:49 • การศึกษา

โครงการศึกษาพ.ศ. 2464

โครงการศึกษาพ.ศ. 2464 เป็นโครงการที่ดัดแปลงมาจากโครงการศึกษาพ.ศ. 2456 และฉบับแก้ไขพ.ศ. 2458 ฉะนั้นจึงมีข้อความและสาระสำคัญต่างๆคล้ายคลึงกัน  เน้นหนักไปทางให้ประชาชนทุกคนได้รับการศึกษาตามควรแก่อัตภาพ ไม่ใช่ไม่เรียนเลย  หรือเลือกเรียนแต่วิชาสามัญให้สูงขึ้นไปด้านเดียว  มุ่งหวังจะเป็นข้าราชการ โดยมิได้พิจารณาถึงกำลังทรัพย์หรือกำลังปัญญาของตนเอง
ในประเทศไทยยังมีอาชีพอย่างอื่นอีกหลายอาชีพด้วยกัน  เช่น  การกสิกรรม  การค้าขาย และการช่างต่างๆ  ถ้าหากแต่จะยึดเอาอาชีพราชการไปอย่างเดียวแล้วการเศรษฐกิจของชาติก็จะตกอยู่ในมือของต่างด้าว  เพราะฉะนั้นจึงต้องวาง  “การศึกษาสำหรับชาติ”  (National Education)  ขึ้นไว้ให้ประชาชนทุกคนได้รับการศึกษาตามควรแก่อัตภาพ
ให้มีวิชาสามัญศึกษาอันเป็นการศึกษาสำหรับไปประกอบอาชีพในระดับต่างๆ เพื่อให้ได้ศึกษาเล่าเรียนตามกำลัง และสติปัญญา  เป็นการป้องกันมิให้นักเรียนได้รับการศึกษาสายสามัญเพียงครึ่งๆกลางๆ  จะไปรับราชการก็เป็นข้าราชการที่มีความรู้งูๆ  ปลาๆ  จะไปทำอาชีพอื่นก็ไม่ได้ศึกษาเล่าเรียนมา เป็นการสูญเปล่า  หรือได้ผลตอบแทนโดยไม่คุ้มค่า
เมื่อเปรียบเทียบแผนผังโครงการศึกษาพ.ศ. 2458 กับ พ.ศ. 2464 และจะเห็นได้ว่าโครงร่างเหมือนกันผิดกันอยู่แต่การเรียกชื่อเช่นโครงการศึกษาพ.ศ. 2464 ใช้คำว่ามหาวิทยาลัย ชั้นปริญญา และชั้นประกาศนียบัตรแทนคำอุดมศึกษาชั้นสูงและชั้นต่ำตามลำดับ  ตลอดจนการแบ่งตอนของชั้นมัธยม  นอกนั้นไม่ผิดอะไรกัน
ในโครงการศึกษาพ.ศ. 2464 ได้แสดงรายละเอียดไว้อย่างชัดแจ้ง ดังนี้
1)  การจำแนกประเภทโรงเรียน  จำแนกเป็น
1.1 โรงเรียนรัฐบาล  ได้แก่โรงเรียนที่กระทรวงศึกษาธิการเป็นผู้จัดใช้เงินงบประมาณแผ่นดิน
1.2 โรงเรียนกระทรวง  ได้แก่โรงเรียนที่กระทรวงอื่นจัดขึ้นเพื่อผลิตคนไปทำราชการในกระทรวงนั้นโดยเฉพาะ  ใช้จ่ายจากเงินงบประมาณแผ่นดิน
1.3 โรงเรียนประชาบาล  ได้แก่โรงเรียนที่ประชาชนในหมู่บ้านหนึ่งหรือตำบลหนึ่งสมัครใจออกเงินจัดตั้งขึ้นอยู่ในความอำนวยการของเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง  ใช้จ่ายจากเงินที่เรี่ยรายจากประชาชน  หรือเงินที่รัฐบาลเก็บจากประชาชนในท้องที่นั้น
1.4 โรงเรียนราชษฎร์
2)  การกำหนดชั้นวิชา
2.1 โรงเรียนรัฐบาลในกรุงเทพฯ  มีเปิดสอนทั้งชั้นประถม และชั้นมัธยม  ตั้งแต่ชั้นประถมปีที่ 1ถึงชั้นมัธยมปีที่ 8 กระทรวงศึกษาธิการเป็นผู้กำหนดว่าให้โรงเรียนใด  จะเปิดสอนได้ถึงฉันใด
2.2 โรงเรียนรัฐบาลหัวเมือง  โรงเรียนประจำมณฑลให้เปิดสอนได้ตั้งแต่ชั้นประถมปีที่ 1 ถึงมัธยมปีที่ 6  โรงเรียนประจำจังหวัด เปิดสอนได้ถึงชั้นมัธยมปีที่ 3  และโรงเรียนประจำอำเภอเปิดสอนได้ถึงชั้นประโยคประถมบริบูรณ์
2.3 โรงเรียนประชาบาล  ให้สอนอนุโลมตามหลักสูตรประถมศึกษา
3)  กำหนดจำนวนนักเรียนที่ครูคนหนึ่งต้องสอน
3.1 นักเรียนประถม 30 คน ต่อครู 1 คน
3.2 นักเรียนมัธยม 25 คน ต่อครู 1 คน
อย่างไรก็ดี  จะเห็นได้ว่าโครงการศึกษาพ.ศ. 2464 ยังไม่สามารถจะป้องกันไม่ให้คนหันไปนิยมอาชีพข้าราชการได้เช่นเดียวกัน  แต่ประชาชนก็ได้มีโอกาสกว้างขวางยิ่งขึ้นอีกที่จะเลือกเรียนวิชาชีพชั้นกลาง โดยไม่ต้องเรียนทางสามัญศึกษาสูงขึ้นไปจนจบชั้นมัธยมปีที่ 6  จึงจะมีวิชาสามัญศึกษาให้เลือกเรียน
ประมวล/สรุปจาก..พงศ์อินทร์ ศุขขจร(ประวัติการศึกษาไทย, 2512)
Cr. เจ้าของภาพ
โฆษณา