Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
MONEY LAB
ยืนยันแล้ว
•
ติดตาม
18 เม.ย. 2023 เวลา 03:30 • หุ้น & เศรษฐกิจ
รู้จัก วิศวกรการเงิน ผู้ขับเคลื่อน โลกการเงิน ด้วยนวัตกรรม
เมื่อพูดถึงอาชีพวิศวกรแล้ว ภาพในหัวของเรามักจะนึกถึง ผู้คนที่สร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ เช่น ตึกรามบ้านช่องที่แข็งแรง หรือผู้ที่คิดค้นเครื่องยนต์กลไก อันสลับซับซ้อน
แต่เมื่อไม่นานมานี้ ความเป็นวิศวกรนั้น ไม่ได้อยู่เพียงแค่การก่อสร้าง และการประกอบเครื่องยนต์กลไกเท่านั้น เพราะในปัจจุบันนี้ แนวคิดของวิศวกร ได้ถูกนำมาใช้ในโลกของการเงิน จนเกิดเป็นอาชีพ “วิศวกรการเงิน”
ซึ่งในวันนี้ BillionMoney จะย่อยให้เข้าใจ ว่าอาชีพวิศวกรการเงิน คืออะไร และมีความสำคัญอย่างไร ต่อโลกการเงินบ้าง
หน้าที่หลักของวิศวกรการเงิน หรือ Financial Engineer ก็คือการคิดค้น และสร้างสรรค์แบบจำลอง รวมถึงเครื่องมือทางการเงิน ในการแก้ปัญหาให้กับบริษัทต่าง ๆ
โดยผลิตภัณฑ์ทางการเงินหลายอย่าง ที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบัน รวมถึงเครื่องมือทางการเงิน ซึ่งหลาย ๆ บริษัทใช้ในการบริหารความเสี่ยงนั้น ก็เป็นผลผลิตจาก การคิดค้นของวิศวกรการเงิน ยกตัวอย่างเช่น
- สูตรประเมินมูลค่า Options
หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ Black-Scholes Model ซึ่งถูกคิดค้นเมื่อปี 1973 โดย 3 นักเศรษฐศาสตร์อย่าง Fischer Black, Myron Scholes และ Robert C. Merton ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นวิศวกรการเงินคนแรกของโลกด้วย
เนื่องจากในเวลานั้น สัญญาทางการเงินที่ชื่อว่า Options เป็นสิ่งที่ซับซ้อนมาก จนทำให้ผู้คนไม่กล้าที่จะเข้าไปลงทุน เพราะไม่ทราบมูลค่าที่แท้จริง
แต่หลังจากที่มี Black-Scholes Model ออกมา ก็ทำให้ผู้คนเริ่มมั่นใจที่จะลงทุนใน Options มากขึ้น จนทำให้ปริมาณการซื้อขาย ในตลาดซื้อขาย Options ชิคาโก เพิ่มขึ้นจาก 35,000 สัญญา เป็น 1.5 ล้านสัญญา ในระยะเวลาเพียงแค่ 3 ปี
และทำให้การใช้ Options เพื่อการลงทุน เป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย จนแม้แต่นักลงทุนระดับตำนานอย่าง Warren Buffett ก็ยังหันมาใช้เลยทีเดียว และยังทำให้นักเศรษฐศาสตร์ทั้ง 3 คน ได้รับรางวัลโนเบลอีกด้วย
- การโอนความเสี่ยง ระหว่างบริษัท
ในช่วงปี 1991 บริษัท Apache ผู้ขายแก๊สธรรมชาติรายใหญ่ ไม่สามารถตกลงเรื่องการซื้อบริษัท MW Petroleum ซึ่งเป็นบริษัทลูก ของบริษัท Amoco ผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ได้
เนื่องจากในตอนนั้น ราคาน้ำมันกำลังพุ่งสูง จากสถานการณ์สงครามอ่าวในตะวันออกกลาง ทำให้บริษัท Amoco ตั้งราคาของบริษัท MW Petroleum ไว้ค่อนข้างสูง เนื่องจากบริษัทกำลังทำกำไรได้ดี
แต่ทางบริษัท Apache นั้น ไม่ต้องการจ่ายเงินซื้อบริษัทด้วยราคาที่สูงมาก เพราะกังวลว่าราคาน้ำมันจะตกลงในอนาคต และจะไม่มีเงินจ่ายหนี้ ให้กับธนาคารที่กู้เงินมา เพื่อซื้อบริษัท MW Petroleum
เมื่อตกลงกันไม่ได้แบบนี้ จึงเป็นหน้าที่ของวิศวกรการเงิน ที่จะเข้ามาแก้ปัญหา ด้วยการสร้างสัญญา เพื่อกระจายความเสี่ยงให้กับทั้ง 2 บริษัท
โดยถ้าหากราคาน้ำมันตกลง ทางบริษัท Amoco จะจ่ายค่าชดเชยให้กับบริษัท Apache แต่ถ้าราคาน้ำมันยังพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง บริษัท Apache ก็จะจ่ายเงินซื้อกิจการเพิ่มให้กับบริษัท Amoco
จึงทำให้ดีลการซื้อกิจการครั้งนี้ จบลงได้ด้วยดี และส่งผลให้บริษัท Apache กลายเป็นผู้ผลิตน้ำมันและแก๊สธรรมชาติชั้นนำ ของสหรัฐอเมริกาได้ จนถึงปัจจุบัน
- CDO ผลิตภัณฑ์สำหรับเก็งกำไร
ในช่วงก่อนที่จะเกิดวิกฤติซับไพรม์ มีผลิตภัณฑ์ทางการเงินชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นที่นิยมในช่วงเวลานั้น ชื่อว่า CDO
โดย CDO จะเป็นการนำหนี้ดี ซึ่งจ่ายดอกเบี้ยต่ำ เนื่องจากเสี่ยงที่จะผิดนัดชำระหนี้ต่ำ มามัดรวมกันกับหนี้เสีย ที่แม้จะมีความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้สูง แต่ดอกเบี้ยสูง เพื่อสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ทางการเงินขึ้นมา
ซึ่งผู้ที่จะคำนวณว่า ต้องนำหนี้ดีมามัดรวมกับหนี้เสีย ในอัตราส่วนเท่าไร จึงจะช่วยลดความเสี่ยงลง ในขณะที่ผลตอบแทนก็ยังน่าดึงดูดอยู่ ก็คือเหล่าวิศวกรการเงิน ที่มีความรู้ทางด้านการเงิน และคณิตศาสตร์ในระดับสูงนั่นเอง
นอกจากสิ่งที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ก็ยังมีอีกหลายสิ่ง ที่เป็นผลงานของวิศวกรการเงิน ไม่ว่าจะเป็น การออกแบบกองทุนด้วยคณิตศาสตร์, การวิเคราะห์ความเสี่ยงสินเชื่อ และการให้สินเชื่อแบบดอกเบี้ยลอยตัว เป็นต้น
จากเว็บไซต์ Glassdoor เงินเดือนของอาชีพวิศวกรการเงิน ในประเทศที่เป็นศูนย์กลางการเงินของโลก พบว่า
- เงินเดือนวิศวกรการเงิน ในสหรัฐอเมริกา เฉลี่ยแล้วอยู่ที่เดือนละ 232,700 บาท
- เงินเดือนวิศวกรการเงิน ในสหราชอาณาจักร เฉลี่ยแล้วอยู่ที่เดือนละ 108,900 บาท
- เงินเดือนวิศวกรการเงิน ในสิงคโปร์ เฉลี่ยแล้วอยู่ที่เดือนละ 215,000 บาท
ส่วนในประเทศไทยนั้น เงินเดือนเฉลี่ยของอาชีพวิศวกรการเงิน ก็ยังมากถึงเดือนละ 45,000 บาท เลยทีเดียว
1
โดยปัจจุบันนี้ ก็มีมหาวิทยาลัยในประเทศไทย มากถึง 4 แห่ง ที่ได้เปิดสอนสาขาวิชาวิศวกรรมการเงิน ให้กับผู้ที่สนใจ ได้แก่
มหาวิทยาลัย ที่เปิดสอนทั้งในระดับปริญญาตรี และปริญญาโท ได้แก่
- มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
- หลักสูตรร่วม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง-นิด้า
มหาวิทยาลัย ที่เปิดสอนระดับปริญญาโทอย่างเดียว ได้แก่
- จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
จะเห็นได้ว่าอาชีพวิศวกรการเงินนั้น นอกจากจะเป็นอาชีพที่น่าสนใจ และท้าทายความสามารถแล้ว ยังเป็นอาชีพที่ให้ค่าตอบแทนค่อนข้างดีอีกด้วย
ซึ่งในสถานการณ์โลกการเงินในปัจจุบัน ที่กำลังหมุนไปข้างหน้าอย่างรวดเร็วแบบนี้ ก็เป็นไปได้ว่า อาชีพวิศวกรการเงิน น่าจะเป็นอีกหนึ่งอาชีพ ที่เป็นที่ต้องการในตลาด ในอนาคตอันใกล้นี้..
References
-
https://ca.indeed.com/career-advice/finding-a-job/what-does-financial-engineering-do
-
https://www.jstor.org/stable/2330518
-
https://corporatefinanceinstitute.com/resources/commercial-lending/financial-engineering/
-
https://www.investopedia.com/terms/f/financialengineering.asp
-
https://ca.indeed.com/career-advice/finding-a-job/what-does-financial-engineering-do
-
https://www.glassdoor.com/
-
https://campus.campus-star.com/education/81996.html
เศรษฐกิจ
13 บันทึก
23
25
13
23
25
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย