12 เม.ย. 2023 เวลา 03:04 • ปรัชญา
เป็นคำถามที่ยากชะมัด และผมก็ยังไม่มีคำตอบให้กับตัวเองที่ตายตัว แต่แนวความเข้าใจในตอนนี้เป็นอย่างนี้
.
ผมเคยอ่านนิทานชาดกเรื่องหนึ่ง ที่เล่าถึงเจ้าชายสามคน(รึสี่คนไม่แน่ใจ แต่ช่างเถอะ)ที่เคยเห็นต้นทองกวาวในเวลาที่ต่างกัน แล้วเถียงกันว่า ต้นทองกวาว "จริงๆ" มันสีอะไร โดยคนหนึ่งเคยเห็นต้นทองกวาวตอนหน้าแล้งที่มันถูกไฟป่าเผา จึงบอกว่ามันมีสีดำ อีกคนเคยเห็นตอนที่มันผลิใบเต็มต้นจึงบอกว่ามันมีสีเขียว ส่วนอีกคนเคยเห็นตอนที่มันออกดอกสะพรั่งอยู่จึงบอกว่าต้นทองกวาวมีสีแดง (สงสัยเจ้าชายพวกนี้คงเห็นมันแค่จากที่ไกล ๆ และขี้เกียดมากที่จะเดินเข้าไปดูใกล้ ๆ และแยกแยะความแตกต่างระหว่างลำต้น ใบ และดอก)
เมื่อพวกเขาเถียงกันให้ลงกันไม่ได้ จึงนำเรื่องนี้ไปถามพระพุทธเจ้าเพื่อให้พระพุทธเจ้าตัดสิน พระพุทธเจ้าไม่ได้ตัดสินว่าความรู้ของใครถูกของใครผิด แต่บอกว่า(อันนี้เป็นความที่ผมเข้าใจและเก็บมาได้) คนที่รู้จักต้นทองกวาวโดยความเป็นต้นทองกวาวทั้งหมดจึงจะถือว่าเป็นคนที่รู้จักต้นทองกวาวจริง ๆ (ความหมายของ "ทั้งหมด" ในนิทานนั้นดูจะไม่ได้มีอะไรมากไปกว่ารู้ว่าบางทีที่ต้นทองกวาวถูกไฟไหม้มันก็จะมีสีดำ ผลิใบก็จะมีสีเขียว เมื่อออกดอกก็จะมีสีแดง)
โดยนัยนี้เห็นได้ว่า "ความรู้" ดูจะมีอยู่สองแบบ คือ 1) ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับเวลา 2) ความรู้ที่ไม่เกี่ยวข้องกับเวลา
ฉะนั้น หากเราต้องการรู้ "ปัจจุบัน" ของความรู้ชนิดแรก ก็ดูจะจำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องรู้จักอดีตของมัน เพราะไม่งั้นเราก็จะรู้ไม่ได้ว่ามันเป็นอย่างงี้ในตอนนี้ได้ยังไง โดยที่ไม่รู้ว่ามันเคยเป็นอะไรมาก่อน
แต่หากเป็นความรู้ชนิดที่สอง ก็ดูเหมือนว่าไม่มีความจำเป็นใด ๆ ที่เราจะต้องใช้อดีตของมันมาทำความเข้าใจมัน หรือในอีกแง่หนึ่ง มันไม่มีทั้งอดีต ปัจจุบัน และอนาคต มันแค่เป็นอยู่อย่างงั้น ตัวอย่างเช่น ความรู้เรื่องสัดส่วนของเส้นรอบวงกับเส้นผ่านศูนย์กลางของวงกลง แต่ว่ามันก็พูดยากอยู่นั่นแหละ เพราะเราจะแน่ใจได้ยังไงว่าความรู้เหล่านี้จะไม่ใช่แค่สีอีกสีหนึ่งของต้นทองกวาว ยิ่งไปกว่านั้นเรื่องนี้ยังนำไปสู่อีกปัญหาที่ว่า "เราจะรู้มันได้ยังไง?"
.
ยังมีคำถามที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้อีกว่า ที่ว่า "อดีต ๆ" นั้น คืออดีตของอะไรกันแน่ อดีตของผู้รู้? หรืออดีตของสิ่งที่ถูกรู้? ต่อให้ความรู้ชนิดที่สอง เป็นความรู้ที่ไม่มีเวลา แต่มันก็ดูจะชัดเจนว่าความรู้ของคนเรานั้นเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องอย่างมากกับเวลา (ผมปฏิเสธเรื่องความรู้ที่มีอยู่ก่อนประสบการณ์) ฉะนั้นมันจึงมีปัญหาทั้งว่า ในความรู้เรื่องวงกลมของเรา การที่มันเป็นแบบนั้น เพราะมันเป็นแบบนั้นจริง ๆ หรือเพียงแค่มันอยู่ในสมัยที่จะเป็นแบบนั้นจึงเป็นแบบนั้น ?
หรือเหตุผลที่มันเป็นแบบนั้นเพราะเราเอาความเข้าใจในสิ่งอื่นที่เคยเห็นมาแล้วมาทำความเข้าใจมัน มันจึงเป็นแบบนั้น?
.
สรุปก็คือ ผมไม่รู้หรอกว่า "ถ้าอยากรู้ปัจจุบัน จะต้องรู้อดีตก่อน?" จริงหรือเปล่า? แต่ที่คิดว่าแน่ ๆ ก็คือ การรู้อดีตนั้น สำคัญพอ ๆ กับการรู้ปัจจุบันนั่นแหละ
โฆษณา