13 เม.ย. 2023 เวลา 08:26 • การศึกษา

โรงเรียนประจำเพื่อชาติ

เป็นโจทย์อยู่ในใจผมอยู่นานว่า ทำอย่างไรจึงจะทำให้เด็กและเยาวชนของพ่อแม่ที่ไม่พร้อมซึ่งเป็นเด็กและเยาวชนส่วนใหญ่ของประเทศนี้ให้ก้าวออกมาจากสภาพแวดล้อมที่ไม่ส่งผลดีต่อการเติบโตของพวกเค้าไม่ว่าจะเป็นทั้งทางกาย ทางใจ และทางสมอง
ผมคิดถึงทางแก้โจทย์นี้อยู่นาน เพราะเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปแล้วว่า อนาคตของคนรุ่นผมและของประเทศนี้ อยู่ที่คนกลุ่มนี้ เพราะพวกเค้าต้องเติบโตกลายเป็นกำลังหลักของประเทศและเป็นคนทำเงินเลี้ยงคนรุ่นผม รุ่นก่อนหน้าเค้า และประเทศนี้ต่อไปอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ แต่ก็ยังไม่มีรัฐบาลไหนเลย หรือพรรคการเมืองไหนเลยที่จะเสนอนโยบายได้อย่างโดนใจในการที่จะทำให้คนกลุ่มนี้เกือบทั้งหมด ที่เกิดมาใหม่ปีละประมาณ 500,000 คน ทุกปี ได้ถูกพัฒนาให้กลายเป็นกำลังหลักของประเทศอย่างจริงจัง
จนกระทั่งเมื่อวาน ผมตั้งคำถามกับตัวเองว่า คนที่มีฐานะ หากเค้าพบว่าลูกเค้ากำลังจะมีปัญหาส่วนใหญ่เค้าแก้ไขอย่างไร คำตอบที่ผมเห็นอยู่บ่อยๆ รวมถึงได้มีโอกาสสัมผัสกับหลายคนที่รู้จักเป็นการส่วนตัว คือ ส่งลูกเข้าโรงเรียนประจำ ทั้งในและต่างประเทศ ในประเทศที่ดังๆ ก็มีเช่น อัสสัมชัญศรีราชา ส่วนต่างประเทศก็มีจำนวนมากที่เป็นที่นิยมของทั้งเจ้าของประเทศและคนมีฐานะจากประเทศต่าง ๆ ซึ่งผลที่ปรากฏออกมาก็เป็นที่ประจักษ์ว่า ได้ผลดีพอสมควร
ผมจึงตั้งคำถามต่อทันทีว่า แล้วเป็นไปได้หรือไม่ ที่เด็กๆ ยากจน พ่อแม่ไม่มีฐานะทางการเงินที่อย่าว่าแต่จะส่งเข้าโรงเรียนประจำเลย แม้แต่จะส่งให้เข้าโรงเรียนปกติทั่วไปก็ยังจะไม่สามารถหาเงินมาส่งให้ลูกเรียนได้อยู่แล้ว
คำตอบคือ ถ้าผมสามารถกำหนดได้ ผมจะทำแบบนั้นทันที โดยใช้หลักของความจริงที่ว่า เด็กไทยทุกคน เป็นลูกของคนไทยทุกคน เหมือนกับที่ผมเคยได้ยินจากที่ไหนซักที่ ที่เค้าบอกว่า คนญี่ปุ่นก็ปลูกฝังกันมาในทำนองนี้
และนี่ไม่ใช่แค่เพียงมุมมองในแง่ของ romantic side แต่เป็นมุมมองในแง่ realistic side เลยทีเดียว เพราะภาษีส่วนใหญ่ที่รัฐบาลในอนาคตจะเก็บได้และนำมาใช้ในการดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของคนทุกคนทุกวัยในประเทศ ก็มาจากเด็กๆ ในวันนี้เมื่อเค้าเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในวัยทำงาน
เมื่อจับหลักได้ดังนี้ สิ่งที่ผมจะทำก็คือ
1. ด้าน demand, ประกาศเชิญชวนให้พ่อแม่ ปู่ย่าตายาย ผู้ปกครองที่ต้องรับภาระเลี้ยงดูเด็กๆ ที่มีฐานะยากจน และรู้ตัวดีว่า หากให้ลูกอยู่กับตัวเองอาจจะมีผลกระทบต่ออนาคตของลูก รวมถึงเด็กๆ เอง ที่หากอยู่กับพ่อแม่ ปู่ย่าตายาย หรือผู้ปกครอง แล้วประสบกับปัญหาชีวิต สามารถร้องขอเข้ามาอยู่ในโรงเรียนประจำที่รัฐจัดหาให้ และออกค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมดจนกระทั่งเติบโตและจบการศึกษา
2. ด้าน supply, ประกาศเชิญชวนเอกชน โรงเรียนของรัฐ (ซึ่งผมเสนอไว้ก่อนหน้าว่าให้แปรรูปเป็นนิติบุคคลเพื่อให้เกิดการแข่งขันอันจะนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพการให้การศึกษาที่ทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลก) ที่มีความสนใจทำโรงเรียนประจำสำหรับเด็กและเยาวชนกลุ่มดังกล่าว เข้ามาสมัครร่วมโครงการ
การดำเนินการแบบนี้มีข้อดีคือ
1. รัฐไม่ต้องลงทุนทำโรงเรียนใหม่ แต่มีหน้าที่สองประการคือ 1. จ่ายค่าเล่าเรียนให้กับเด็ก และ 2. คอยวัดผลการให้การศึกษาของแต่ละโรงเรียนผ่านคุณภาพที่ตัวเด็กทุกภาคการศึกษา (ซึ่งจะมีวิธีอย่างไร ต้องลงรายละเอียดในขั้นตอนต่อไป)
2. พ่อแม่ ผู้ปกครอง และเด็กๆ เอง สามารถเลือกโรงเรียนได้ตามใจชอบ (หากมีจำนวนผู้ต้องการเข้า มากกว่าจำนวนที่นั่ง ก็ให้สอบเข้า และหากไม่ได้ ก็เลื่อนไปอยู่ในโรงเรียนอื่นตามลำดับที่เลือกไว้) ซึ่งกระจายอยู่ทั่วประเทศและไม่เป็นปัญหาในการเดินทาง เนื่องจากเป็นโรงเรียนประจำ แต่หากไกลเกินไปจนเป็นปัญหาในการเดินทางมาพบกันระหว่างพ่อแม่และเด็ก รัฐอาจช่วยค่าใช้จ่ายในการเดินทาง
3. หากโรงเรียนใดไม่ผ่านการประเมิน (ประเมินที่ผล ไม่ต้องประเมินวิธีการ) ก็ต้องถูกยกเลิก และย้ายเด็กไปยังโรงเรียนอื่น หรือ โรงเรียนอื่นสามารถเข้ามา take over เพื่อบริหารจัดการแทนผู้บริหารชุดเดิม เพื่อทำให้เด็กๆ ไม่ถูกลอยแพ และได้รับการแก้ไขอย่างทันท่วงที
4. กลไกตลาดจะทำงานและผลักดันให้โรงเรียนที่ไม่มีคุณภาพต้องออกจากตลาดไป ในขณะที่โรงเรียนที่มีคุณภาพจะเข้าสู่ตลาดหรือกินส่วนแบ่งตลาดมากขึ้นเรื่อย ๆ
5. ทำให้โรงเรียนและมหาวิทยาลัยจำนวนมาก ที่จำนวนนักเรียนน้อยลงตามจำนวนการเกิดของเด็กๆ รุ่นใหม่ มีทางออก และยังดำเนินกิจการต่อไปได้ ซึ่งรัฐสามารถสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพของโรงเรียนเพื่อให้เป็นโรงเรียนที่เข้ามาในโครงการดังกล่าวนี้ได้
หากทำเช่นนี้ได้ ผมเชื่อว่า เด็กๆ จำนวนมากที่เกิดในครอบครัวไม่พร้อมและเป็นเด็กส่วนใหญ่ของประเทศนี้ จะกลับมาเป็นพลังที่สำคัญของการขับเคลื่อนประเทศนี้ในอนาคตได้อย่างแน่นอน
โฆษณา