Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
คุยกับนักเศรษฐศาสตร์
•
ติดตาม
13 เม.ย. 2023 เวลา 15:04 • หุ้น & เศรษฐกิจ
ปุจฉา วิสัชนา ว่าด้วย “เงินสกุลดิจิทัลของธนาคารกลาง”
เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา มีหลายท่านนำข้อความที่ส่งต่อกันในไลน์และมีการอ้างอิงถึงบทความที่ผมเคยเขียนเกี่ยวกับ “สกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลาง” ซึ่งเขียนไว้ตั้งแต่เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2563 (ในสมัยที่ยังมีแนวคิดการออกลิบร้า ซึ่งดับสูญไปแล้วในปัจจุบัน!) ไปผสมปนเปกับนโยบายพรรคการเมืองที่กำลังเป็นที่ถกเถียงอย่างมากในสังคมปัจจุบัน ผมจึงต้องขอเรียนว่า บทความดังกล่าวไม่มีความเกี่ยวข้องใด ๆ ทั้งสิ้นกับข้อความนั้นหรือนโยบายพรรคการเมืองใด
12
วันนี้จึงขอนำบทความดังกล่าวมา repost เพื่อให้ท่านผู้ติดตามได้รับทราบอีกครั้งดังต่อไปนี้ครับ
คงปฏิเสธไม่ได้ว่า วิกฤตโควิด-19 ได้เร่งให้ทั่วโลกก้าวเข้าสู่สังคมดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ โดยเฉพาะวงการการเงินที่กำลังมุ่งหน้าสู่สังคมไร้เงินสดมาก่อนเกิดวิกฤตอยู่แล้ว จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่า ธนาคารกลางทั่วโลกต่างเร่งศึกษาและพัฒนาเงินสกุลดิจิทัลของตนเอง (Central Bank Digital Currency: CBDC) ไม่ว่าจะเป็นการใช้ในระบบการชำระเงินระดับสถาบันการเงิน (Wholesale) ซึ่งช่วยให้การทำธุรกรรมทางการเงินมีต้นทุนถูกลง และมีประสิทธิภาพสูงขึ้น
2
โดยเฉพาะในเทคโนโลยีแบบกระจายศูนย์ (Distribution Ledger Technology: DLT) หรือบล็อกเชน (blockchain) ที่ช่วยสนับสนุนให้เกิดการสร้างสรรค์นวัตกรรมทางการเงินอย่างหลากหลาย และการใช้ในระดับรายย่อย (Retail) หรือก็คือ การนำมาจับจ่ายใช้สอยในชีวิตประจำวันของเรา ๆ ท่าน ๆ นั่นเอง
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ถือเป็นธนาคารกลางอันดับแรก ๆ ที่ได้เริ่มศึกษาและพัฒนา CBDC ซึ่งเริ่มต้นทดสอบระบบการชำระเงินต้นแบบในระดับสถาบันการเงินมาตั้งแต่ปี 2561 ภายใต้ชื่อโครงการ “อินทนนท์”
2
โดยในปัจจุบันคืบหน้าไปมาก และอยู่ในขั้นตอนการต่อยอดศึกษา ออกแบบและพัฒนา CBDC ในภาคธุรกิจ ซึ่งการศึกษาครั้งนี้ จะทำให้ ธปท. เข้าใจรูปแบบ ผลกระทบ รวมถึงข้อจำกัดต่าง ๆ และเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการใช้ในระดับรายย่อยต่อไป หลายท่านอาจยังมีคำถามที่ฉงนอยู่ในใจ วันนี้จึงขออาสาตอบประเด็นข้อสงสัยสำคัญเกี่ยวกับเงินสกุลดิจิทัลของธนาคารกลาง โดยเฉพาะในระดับรายย่อยกันครับ
1
CBDC คืออะไร?
1
Central Bank Digital Currency คือเงินสกุลดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลางของประเทศนั้น ๆ พูดง่าย ๆ ในกรณีของไทย ก็เหมือนเงินบาทหรือธนบัตรที่ออกโดยแบงก์ชาติ เพียงแต่อยู่ในรูปแบบ “ดิจิทัล”
2
ทำไมธนาคารกลางสนใจออก CBDC สำหรับรายย่อยด้วย?
สาเหตุสำคัญคือ การเข้าถึงบริการทางการเงินที่สูงขึ้น แม้ว่าประชาชนคนนั้นจะไม่มีบัญชีกับธนาคารพาณิชย์ (ธพ.) ก็ตาม การเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนของระบบการเงินทั้งระบบของประเทศ ส่วนปัจจัยเร่งสำคัญคือ การพัฒนาเงินสกุลดิจิทัลที่ออกโดยภาคเอกชน ซึ่งอาจลดทอนประสิทธิภาพในการดำเนินนโยบายการเงินและเสถียรภาพระบบการเงินของประเทศได้
1
CBDC ต่างจากเงินสกุลดิจิทัลที่ออกโดยภาคเอกชน เช่น คริปโทเคอร์เรนซี (cryptocurrency) และสเตเบิลคอยน์ (stable coin) อย่างไร?
2
ความแตกต่างสำคัญคือ “ผู้ออกใช้” และ “คุณสมบัติความเป็นเงิน” โดย CBDC ออกโดย “ธนาคารกลาง” ของแต่ละประเทศ และเข้าข่ายนิยามความเป็นเงินอย่างครบถ้วน คือ
2
1) เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน และสามารถชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย
2) เป็นที่เก็บรักษามูลค่า คือมีมูลค่ามั่นคง และ
3) เป็นหน่วยวัดมูลค่าของทั้งสินค้าและบริการ
ในทางตรงกันข้าม คริปโทเคอร์เรนซี เช่น บิทคอยน์ คือ สินทรัพย์ดิจิทัลที่สร้างขึ้นด้วย “เทคโนโลยีบล็อกเชน” โดยมุ่งหวังเป็นสื่อกลางการแลกเปลี่ยนแทนที่เงินสกุลปกติ แต่ไม่เข้าข่ายคุณสมบัติความเป็นเงินและไม่มีกฎหมายรองรับให้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย ขณะที่สเตเบิลคอยน์ เช่น ลิบร้า คล้ายกับคริปโทเคอร์เรนซี คือ ออกโดยเทคโนโลยีบล็อกเชน และไม่มีกฎหมายรองรับให้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมายเช่นกัน แต่มีเงินสกุลปกติ หลักทรัพย์ หรือทรัพย์สิน (เช่น ทองคำ) ค้ำประกันให้มูลค่ามีความไม่แน่นอนลดลงบ้าง
3
แล้วพร้อมเพย์ และ e-Money ล่ะ?
พร้อมเพย์ คือ ระบบการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ โดยเป็นการโอนเงินที่เรา ๆ ท่าน ๆ ฝากไว้ระหว่างตัวกลางคือ “ธพ.” ด้วยกัน ขณะที่ e-Money คือ เงินอิเล็กทรอนิกส์ที่ออกโดยตัวกลางคือ “หน่วยงานเอกชน” (ไม่ว่าจะเป็น ธพ. และผู้ขออนุญาตอื่น ๆ) เช่น บัตรเติมเงินทางด่วน ทรูมันนี่
2
ดังนั้น ภาระหนี้ที่เกิดขึ้นเวลาเราเอาเงินบาทไปฝากที่ ธพ. หรือซื้อ e-Money จะตกอยู่ที่ตัวกลาง ได้แก่ “ธพ.” และ “บริษัทเอกชน” นั้น ๆ กล่าวคือ เวลาเราต้องการถอนเงินฝากออกจาก ธพ. ใช้บริการด้วย e-Money หรือแลกคืนจากบริษัทเอกชน ผู้รับผิดชอบที่จะต้องเอาเงินบาทมาคืนให้เราหรือให้บริการ คือ ธพ. และบริษัทเอกชน ในทางตรงกันข้าม CBDC ซึ่งเปรียบเสมือนเงินสดหรือธนบัตรแต่อยู่ในรูปแบบดิจิทัล ภาระหนี้จะไม่ได้อยู่ที่ตัวกลาง แต่อยู่ที่ธนาคารกลางโดยตรง ซึ่งถือว่าไม่มีความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้เลย
3
แล้วอย่างนี้ ธพ. จะยังมีบทบาทอยู่หรือไม่?
โมเดลในหลายประเทศ เช่น เงินหยวนดิจิทัลของจีน ไม่ได้เปลี่ยนแปลงระบบนิเวศการเงินเดิม โดย ธพ. จะยังคงมีความสำคัญอยู่ เพียงแต่บทบาทอาจจะเปลี่ยนแปลงไปบ้าง นั่นคือ การกระจาย CBDC จากธนาคารกลางไปยังประชาชนผ่าน ธพ. และไม่มีการให้ดอกเบี้ยจากการถือ CBDC (เหมือนเงินสดที่ไม่ได้ดอกเบี้ยในการถือ) จะยังทำให้มีเงินฝากใน ธพ. และถือ CBDC ในส่วนน้อย (แทนเงินสด)
1
เมื่อไหร่จะได้ใช้ CBDC ระดับรายย่อยในไทย?
การจะนำ CBDC มาใช้ในระดับรายย่อย จำเป็นต้องใช้เวลาศึกษาและพิจารณาผลกระทบในมิติต่าง ๆ อย่างรอบคอบ อาทิ ข้อกฎหมาย เสถียรภาพของระบบการเงิน ความปลอดภัยในการใช้งาน และความพร้อมด้านเทคโนโลยีของผู้ใช้ เป็นต้น ดังนั้น การเดินหน้าศึกษาและระดมสมองร่วมกับภาคเอกชนไว้แต่เนิ่น ๆ เพื่อให้เข้าใจข้อดีและข้อจำกัดต่าง ๆ อย่างรอบด้าน จึงมีความสำคัญมาก... การจะนำ CBDC มาใช้จริง จึงไม่ได้อยู่ที่ “ความรวดเร็ว” ว่าต้องออกใช้นำหน้าประเทศอื่น ๆ แต่จุดสำคัญอยู่ที่ “ความพร้อม” มากกว่าครับ!
4
การจะนำ CBDC มาใช้จริง จึงไม่ได้อยู่ที่ “ความรวดเร็ว” ว่าต้องออกใช้นำหน้าประเทศอื่น ๆ แต่จุดสำคัญอยู่ที่ “ความพร้อม” มากกว่าครับ!
9
*บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัด*
สุพริศร์ สุวรรณิก
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์
2
เศรษฐกิจ
ธนาคารกลาง
cbdc
14 บันทึก
29
2
56
14
29
2
56
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย