15 เม.ย. 2023 เวลา 03:58 • ความคิดเห็น

สิ่งที่เกิดขึ้นหลังอ่าน Four Thousand Weeks ครบ 1 ปี

Four Thousand Weeks เป็นหนังสือที่เขียนโดย Oliver Burkeman ชาวอังกฤษ ตีพิมพ์เมื่อปี 2021
1
Four Thousand Weeks ได้รับการแปลเป็นไทยโดยอมรินทร์ How to ภายใต้ชื่อ "ชีวิตเรามีแค่สี่พันสัปดาห์" เมื่อปลายปี 2022 และติดอันดับ Bestseller อย่างรวดเร็ว
ซึ่งถือเป็นเรื่องน่ายินดีที่คนไทยได้อ่านหนังสือเล่มนี้กันมากขึ้น เพราะตอนที่ผมคิดจะอ่าน Four Thousand Weeks ฉบับภาษาอังกฤษ ผมหาซื้อในเมืองไทยไม่ได้ ต้องสั่งออนไลน์จากเว็บ Book Depository และต้องรออยู่หลายเดือนกว่าหนังสือจะมาส่ง
1
ผมอ่าน Four Thousand Weeks จบภายใน 2 สัปดาห์เมื่อเดือนมีนาคม 2022 และใช้เวลาอยู่นานนับเดือนกว่าจะตกผลึกพอที่จะเขียนบทความ "17 บทเรียนจาก Four Thousand Weeks หนังสือเปลี่ยนชีวิตแห่งปี 2022"
2
เวลาล่วงเลยมา 1 ปีแล้ว มีเวลาว่างช่วงหยุดสงกรานต์ จึงนึกครึ้มอกครึ้มใจอยากเขียนรีวิว
1
ไม่ใช่รีวิวหนังสือ แต่รีวิวชีวิตตัวเอง เพื่อให้ผู้ติดตาม Anontawong's Musings ได้พอเห็นภาพว่า Four Thousand Weeks นั้นได้เปลี่ยนมุมมองและการกระทำของผมไปอย่างไรบ้างในรอบ Fifty Two Weeks ที่ผ่านมาครับ
1.กระบวนการ "ถอนพิษ" ที่บังคับให้เราสบตากับความจำกัดของชีวิต
คนที่ควรอ่านหนังสือเล่มนี้เป็นอย่างยิ่ง คือคนที่หลงใหลหรือหมกมุ่นกับการเป็นคน productive เพื่อจะได้มี work-life balance ที่ดี
ถ้าคุณอ่านหนังสืออย่าง Eat That Frog, Getting Things Done, The 7 Habits of Highly Effective People, Atomic Habits คุณควรอ่าน Four Thousand Weeks มากกว่าใครเพื่อน
3
เพราะมันจะช่วย "ถอนพิษ" และเป็น "ปรับสมดุล" ให้กับมายด์เซ็ตของคุณ
3
เพื่อนร่วมงานชาวสิงคโปร์ของผมคนหนึ่งเป็นคนอ่านหนังสือเยอะมาก ตอนที่เขามาเริ่มงานใหม่ๆ ผมเล่าให้เขาฟังว่าผมเพิ่งอ่าน Four Thousand Weeks จบ เพื่อนร่วมงานคนนี้บอกว่าเขาก็ได้อ่านแล้วเหมือนกัน
1
แล้วเขาก็เอ่ยประโยคหนึ่งที่ผมจำได้ไม่มีวันลืม:
"He's basically saying that everything you know about time management is wrong."
6
อาจฟังดูโอเวอร์ไปนิด แต่ก็เป็นบทสรุปรวบยอดที่เหมาะสมสำหรับหนังสือ Four Thousand Weeks
1
Oliver Burkeman ผู้เขียนหนังสือชี้ให้เราเห็นว่า ที่เราพยายามจะ productive กันอยู่นี้ เพราะว่าเราไม่อยากสบตากับความจริงที่ว่าสักวันหนึ่งเราต้องตาย
ความจริงของชีวิตคือความจำกัดของมัน (finitude) แต่เราไม่สบายใจกับความจริงข้อนี้ เราเลยพยายามสร้างความไม่จำกัด (infinite) ด้วยการหาวิธีทำอะไรให้ได้เยอะที่สุด ภายในเวลาที่น้อยที่สุด
1
.
2.เกิดอาการ "ช็อคน้ำ"
ประเด็นที่ทำให้ผม "สลดใจ" ในหนังสือเล่มนี้ ก็คือเมื่อเราพยายามใช้เวลาให้คุ้มค่า ไม่ว่าจะกับเรื่องงานหรือเรื่องส่วนตัวก็แล้วแต่ เราก็กำลัง "ใช้ชีวิตเพื่อวันพรุ่งนี้" อยู่
สำหรับคน productive ที่พยายามใช้เวลาไปกับ "สิ่งสำคัญแต่ไม่เร่งด่วน" (Q2) ทุกอย่างที่เราทำในวันนี้ ก็เพื่อให้เรามีอนาคตที่ดียิ่งขึ้น เราทำงานเพื่อจะได้เก็บเงินสร้างอนาคต เราซ้อมวิ่งเพื่อจะทำลายสถิติเดิม เราอ่านหนังสือเพื่อที่จะได้พัฒนาตัวเอง เราใช้เวลากับลูกเพื่อให้เขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดี
แต่เมื่อเราทำทุกอย่างเพื่อวันพรุ่งนี้ตลอดเวลา เราก็กำลังตัดโอกาสที่ตัวเองจะได้มีความสุขในวันนี้เช่นกัน
2
เหมือนคนอดเปรี้ยวไว้กินหวานจนเคยตัว ทุกวันของชีวิตเขาเลยอดเปรี้ยวไปเรื่อยๆ พอวันสุดท้ายมาถึง คิดจะกินหวานก็ไม่ทันการแล้ว
2
ที่ผมสลดใจ เพราะว่าผมใช้ชีวิตแบบนี้มาโดยตลอด พยายามสร้าง routine/habits ที่ลงตัวที่สุด หา time management system ที่ดีที่สุดเพื่อจะได้ทำงานอย่าง productive และจะได้สร้างอนาคตที่ดีอย่างที่วาดภาพเอาไว้
2
"วันนี้" จึงกลายเป็นเพียงเครื่องมือของการสร้าง "วันพรุ่งนี้" ที่ดีกว่าเรื่อยไป - จนกว่าเราจะไม่มีวันพรุ่งนี้เหลืออีกแล้ว
5
เมื่ออ่านหนังสือเล่มนี้จบใหม่ๆ ผมจึงมีอาการ "ช็อคน้ำ" อยู่ร่วม 2 เดือน - routine และ time management techniques ต่างๆ ที่ผมเคยมั่นใจ ผมทิ้งมันไปเกือบหมด
1
ถ้าจะเปรียบชีวิตช่วงนั้นให้เห็นภาพก็น่าจะเหมือนคนตกงานที่ไม่โกนหนวดโกนเครา ไม่ออกจากบ้าน นอนแฉะๆ สั่งจั๊งก์ฟู้ดมากินทุกมื้อ (อันนี้แค่เปรียบเปรยนะครับ ไม่ได้ทำจริงๆ) ทำงานแต่ละวันอย่างสะเปะสะปะ และความ productive ลดลงอย่างเห็นได้ชัด ใช้เวลาหลายสัปดาห์กว่าจะกลับมาเป็นปกติ
เมื่อมองย้อนกลับไป ผมว่ามันเป็นกระบวนการหนึ่งที่ผมต้องผ่าน มันคือการถอนรากถอนโคนสิ่งที่ผมเคยยึดมั่นถือมั่น เป็นการทุบตัวเองทิ้งให้แหลกละเอียดเป็นผุยผงเพื่อก่อร่างสร้างตนขึ้นมาใหม่
1
.
3.ทำเรื่อง "ไร้สาระ" มากขึ้น
ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าสิ่งแรกๆ ที่ผมทำหลังอ่าน Four Thousand Weeks จบคือโหลดเกม Championship Manager 01/02 มาเล่น
เกมนี้อายุยี่สิบกว่าปีแล้ว มันคือการสวมบทบาทผู้จัดการทีมฟุตบอลที่สามารถซื้อ-ขายนักเตะ เพื่อสร้างทีมที่เราอยากเห็น แล้วให้เกมมัน simulate ว่าทีมเราชนะทีมคู่แข่งได้รึเปล่า คนที่เล่มเกมนี้จะรู้จักตัวเทพๆ อย่าง Maxim Tsigalko หรือ Arjen Robben เป็นอย่างดี
1
เหตุผลที่ผมกลับมาเล่นเกมนี้ใหม่ เพราะสำนึกได้ว่าผมห้ามตัวเองไม่ให้มีความสุขมานานเกินไป ก็เลยคิดว่าควรทำสิ่งที่เคยสร้างความสุขให้ตัวเองอีกครั้ง แม้มันจะไม่ค่อยมีสาระก็ตาม
อีกอย่างที่ผมเริ่มทำ คือดูซีรี่ส์เกาหลีในเน็ตฟลิกซ์กับแฟน ไม่ว่าจะเป็น Extraordinary Attorney Woo (อูยองอู ทนายอัจฉริยะ), Business Proposal (นัดบอดวุ่น ลุ้นรักท่านประธาน) รวมถึงเรื่องดังล่าสุดอย่าง The Glory
2
การทำสิ่ง "ไร้สาระ" หรือเรื่องไม่สำคัญและไม่เร่งด่วน (Q4) คือการถอนพิษของคนที่พยายาม productive ตลอดเวลา
การเล่นเกมหรือการดูซีรี่ส์ ไม่ได้ทำไปเพื่อสร้างอนาคตที่ดีขึ้น แต่เป็นการทำเพื่อความสุขในวันนี้ล้วนๆ
ไม่ได้หมายความว่าการเล่นเกมนานๆ หรือดูซีรี่ส์ติดกันหลายๆ ตอนเป็นเรื่องที่ดีนะครับ เพียงแต่มันเป็นสิ่งที่มีประโยชน์และจำเป็นสำหรับผมที่คุ้นเคยกับการใช้ชีวิตแบบมีสาระมานานเกินไปเท่านั้นเอง
.
4.ไม่รีรอที่จะทำความดี เล็กๆ น้อยๆ
แม้จะไม่ใช่หนังสือแนว How To ทั่วไป ในบทท้ายๆ ของหนังสือ Oliver Burkeman ก็ยังใจดีให้ tips & tricks สำหรับการจัดการเวลาในแบบฉบับ Four Thousand Weeks
เช่นการ 'อย่า' ทำทีละหลายโปรเจ็คพร้อมกัน (serialize, serialize, serialize) หรือการตัดสินใจล่วงหน้าไปเลยว่าเราจะล้มเหลวในเรื่องอะไร (decide in advance what you want to fail at) เช่นถ้าตอนนี้เรามีลูกเล็ก ก็บอกตัวเองเลยว่าเราจะไม่พยายามจัดบ้านให้เรียบร้อยแบบ KonMari (ขนาด Marie Kondo ยังทำไม่ได้เลย)
1
แต่คำแนะนำที่ดูผิดที่ผิดทางที่สุด คือคำแนะนำที่ว่า ถ้าอยากทำเรื่องดีๆ เล็กๆ น้อยๆ ให้ทำมันตอนนี้เลย
2
เช่น เราอ่านหนังสือเล่มนี้แล้วชอบมาก ให้หาอีเมลหรือเพจของผู้เขียนและส่งข้อความสั้นๆ ไปขอบคุณเขาได้เลย
1
เพราะสิ่งที่เรามักจะทำกัน คือเราจะรอให้มีเวลาก่อน จะได้บรรจงเขียนข้อความอย่างตั้งใจให้สมน้ำสมเนื้อกับความรู้สึกขอบคุณที่เรามีต่อเขา
1
แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือ เราจะหาเวลาแบบนั้นไม่ได้ และข้อความขอบคุณของเราก็ไม่เคยถูกส่งหาผู้เขียนหนังสือเลย
ดังนั้น ถ้ารู้สึกอยากทำเรื่องดีๆ ที่เรารู้ว่าจะสร้างความชุ่มชื่นให้หัวใจ ก็จงทำมันเสียตอนนี้ อย่ารอให้พร้อม เพราะวันที่พร้อมมักไม่เคยมาถึง
1
ผมลองทำตามคำแนะนำนี้แล้วมันเวิร์คจริงๆ เขียนไปขอบคุณหรือชมคนหลายคนโดยที่เขาไม่ได้คาดหวัง ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือตัว Oliver Burkeman ด้วย
5.จ้องหน้าลูกนานขึ้น
นิสัยอย่างหนึ่งของคน productive คือเราจะมีชีวิตที่ "มุ่งไปข้างหน้า" ตลอดเวลา
เมื่อสายตาจับจ้องที่จุดหมายเราจึงละเลยคนข้างกายอยู่เสมอ (แล้วก็มารู้สึกผิดทีหลัง)
1
เมื่อได้อ่าน Four Thousand Weeks มันทำให้ผมลดการ "ทำทุกอย่างเพื่อวันพรุ่งนี้" มาเป็นคนที่หัด "ทำบางอย่างเพื่อวันนี้-ตอนนี้"
2
เมื่อชีวิตไม่ได้เอาแต่รุดไปข้างหน้า ก็เลยสังเกตสังกามากขึ้น
พฤติกรรมหนึ่งที่เปลี่ยนไป คือผมมีเวลาพินิจพิเคราะห์หน้าตาของลูก
ทั้งดวงตา รูปหน้า คิ้ว ใบหู ขี้แมลงวัน หรือแม้กระทั่งโพรงจมูก
3
ดูแล้วก็เพลินดี ว่านี่คือสิ่งมีชีวิตที่เราสร้างขึ้นมาเองกับมือ
เมื่อเราหยุดมุ่งไปข้างหน้า เราอาจจะทำอะไรได้น้อยลงกว่าเดิมก็จริง แต่เราจะได้ทำในสิ่งที่เราไม่เคยทำ และเราจะทำมันได้ "ลึก" กว่าเดิม
2
6.เลิกเขียนบล็อกทุกวัน
ผมคิดว่าการเขียนบล็อกทุกวัน หรือการตั้งเป้าว่าจะอ่านหนังสือให้ได้เท่านั้นเท่านี้ คือหนึ่งในอาการของการทำตัวให้ infinite เพื่อจะได้ไม่ต้องสบตากับ finitude ในตัวเรา
เราพยายามจะทำสถิติ เราพยายามจะ beat yesterday เพื่อบอกตัวเองว่าเราดีกว่านี้ได้ เราสามารถเป็นคนที่เข้าใกล้ความสมบูรณ์แบบกว่านี้ได้
การพยายามเขียนบล็อกทุกวัน ถ้ามองให้ลึกลงไปมันคือการพยายามสร้างความประทับใจให้กับคนที่ผมไม่รู้จัก คือการโหยหาการยอมรับและคำชมเชย
3
แต่การทำอย่างนั้นมันสร้างความตึงเครียดให้ชีวิต วันไหนที่ผมคิดหัวข้อบล็อกไม่ออกผมจะอารมณ์ขุ่นมัวไปทั้งวัน และการคาดคั้นกับตัวเองมากเกินไปอาจจะนำไปสู่การ compromise สิ่งที่สำคัญกว่าสถิติ นั่นคือคุณภาพของงานที่เราผลิตออกมา
1
เมื่อตอนต้นปีนี้ ผมเลยประกาศไปว่าจะไม่เขียนบล็อกทุกวันแล้ว แต่จะเขียนบล็อก "เกือบ" ทุกวันแทน
การทำอะไรเกือบทุกวัน Oliver Burkeman เรียกมันว่า "dailyish"
เพราะเราไม่ใช่หุ่นยนต์ที่จะสร้างงานทุกชิ้นออกมาได้มาตรฐานแบบสายพานการผลิต
1
เราเป็นมนุษย์ที่เต็มไปด้วยความไม่เพอร์เฟ็กต์ บางวันก็ทำได้ดี บางวันก็ทำได้แย่ เราจึงควรยอมรับ finitude ที่เรามี และล้มเลิกความคิดที่จะสร้างมาตรฐานอันสูงส่งเกินกว่าที่มนุษย์คนหนึ่งจะทำได้
3
Eigenzeit เป็นภาษาเยอรมัน มีความหมายว่า “เวลาที่จำเป็นต้องใช้โดยธรรมชาติสำหรับงานหรือกิจกรรมนั้นๆ”
แทนที่จะคาดคั้นว่าจะต้อง "ได้งาน" ภายในเวลานั้นเวลานี้ หากเราเลือกได้ เราควรปล่อยให้สิ่งต่างๆ ใช้เวลาอย่างที่มันควรจะเป็นน่าจะดีกว่า
เมื่อล้มเลิกความตั้งใจที่จะต้องเขียนบล็อกทุกวัน ผมสังเกตว่ามีความผ่อนคลายกว่าเดิม มีเรื่องที่อยากจะเขียนมากขึ้น และพอใจกับผลงานของตัวเองมากกว่าเดิมด้วย
1
ส่วนวันไหนไม่มีเรื่องจะเขียน หรือไม่มีเวลาจะเขียน ผมก็ถือโอกาสพักโดยไม่รู้สึกผิดเหมือนแต่ก่อน
7.มองผ่านเลนส์วิเศษ
หนึ่งในคุณูปการที่สำคัญที่สุดของหนังสือ Sapiens - A Brief History of Humankind ของ Yuval Noah Harari ก็คือมันชี้ให้เราเห็นว่าอะไรเป็นของจริง และอะไรคือสิ่งสมมติ
คน สัตว์ ต้นไม้ เป็นของจริง ส่วน เงิน บริษัท ประเทศชาติ เป็นสิ่งสมมติที่มนุษย์สร้างขึ้นเองจากจินตนาการร่วม
3
สิ่งสมมตินั้นมีประโยชน์ เพราะมันทำให้เราร่วมมือกันในระดับที่ไม่เคยมีสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ใดทำได้มาก่อน แต่มันก็มีโทษหากเราเอาเป็นเอาตายกับมันมากเกินไป
3
การอ่าน Sapiens จึงทำให้เราได้เลนส์พิเศษ ที่ส่องเห็นความเป็นสมมติของสิ่งต่างๆ รอบตัว ทำให้เราไม่ take things too seriously.
2
หนังสือ Four Thousand Weeks ก็มีคุณูปการคล้ายๆ กับ Sapiens ในแง่ที่มันได้มอบเลนส์พิเศษที่ทำให้เรามองเห็นสิ่งเดิมๆ ด้วยสายตาที่เปลี่ยนไป
"5 วิธีลดอาการผัดวันประกันพรุ่ง" "ทำให้น้อยลงแต่เสร็จมากขึ้น" "วิธีจดโน้ตที่ช่วยให้จำได้ไม่ลืม"
บทความเหล่านี้ล้วนมีเป้าประสงค์ที่ดี แต่เมื่อมองจากเลนส์ Four Thousand Weeks เราก็จะเห็นว่าบทความทั้งหมดนี้ตั้งอยู่บนสมมติฐานเดียวกัน
สมมติฐานที่ว่าหากเรารู้จักเครื่องมือและเทคนิคต่างๆ มากพอ วันหนึ่งเราจะได้มาซึ่งชีวิตที่จัดการทุกอย่างได้อยู่หมัด ทำงานเสร็จแบบไม่มีอะไรค้างคา แถมยังมีเวลาเหลือให้ทำในทุกสิ่งที่อยากทำ
แต่สถานการณ์แบบนั้นจะไม่มีวันมาถึง เพราะชีวิตเราเต็มไปด้วยข้อจำกัดและเรื่องไม่คาดฝัน
1
เมื่อเราล้มเลิกความคิดที่จะ "เอาอยู่" ในทุกๆ เรื่อง เราก็จะปลดปล่อยตัวเองจากความคาดหวังที่เป็นไปไม่ได้ และกลับมาใช้ชีวิตอยู่กับปัจจุบันและความเป็นจริงมากยิ่งขึ้น
2
ที่เขียนอย่างนี้ใช่ว่าจะให้ปฏิเสธทุกเรื่องราวของความ productive นะครับ เพียงแต่ถ้าเราเข้าใจเรื่อง finitude อย่างถ่องแท้ เราแค่จะเห็นบทความเหล่านี้ในแบบที่มันเป็น ไม่ใช่ในแบบที่เราอยากให้เป็น ดังคำสอนที่ว่า
“ก่อนเรียนรู้เซน ภูเขาคือภูเขา แม่น้ำคือแม่น้ำ
ขณะเรียนรู้เซน ภูเขาไม่ใช่ภูเขา แม่น้ำไม่ใช่แม่น้ำ
หลังถ่องแท้ในเซน ภูเขาคือภูเขา แม่น้ำคือแม่น้ำ”
1
กล่าวโดยสรุป - Four Thousand Weeks เป็นหนังสือที่ดีที่สุดเล่มหนึ่งที่ผมได้อ่านในชีวิต และเชื่อว่าจะได้กลับมาอ่านซ้ำอีกหลายครั้งในอีกประมาณ 2000 สัปดาห์ที่เหลือครับ
โฆษณา