15 เม.ย. 2023 เวลา 05:20 • ประวัติศาสตร์

น้องชายข้า ใครอย่าแตะ กับการทลายกำแพงที่ปิดกั้นความกล้า

สมัยก่อนผู้เขียนบ้านอยู่หลังตลาดสวนหลวง ตรงข้ามศูนย์เยาวชนปทุมวันและศูนย์สาธารณสุข(ปัจจุบันคือ สวนหลวงสแควร์) จะมีสนามบาสพื้นปูนกลางแจ้ง อยู่ 2 สนาม แต่พวกเราเอามาเล่นบอลพลาสติก โกลรูหนูกัน โดยเอาเชือกฟางมาล้อมโครงเหล็กของแป้นบาสทำเป็นประตูโกลรูหนู
แป้นบาสโครงเหล็กแบบนี้ ขอบคุณภาพประกอบจาก winnersports2504
แบ่งทีมฝั่งละ 3 คน แพ้ออก โดยมีเดิมพันนอกสนามเท่าไรก็แล้วแต่ตกลงกัน 5-10-20 บาท หรือมากกว่านั้น จะมารวมตัวกันตอนเย็นหลังทำการบ้านเสร็จ
การเตะบอล บางครั้งก็เกิดความผิดพลาดบ้าง คือเตะบอลไปโดนกระจกของศูนย์สาธารณสุข ที่อยู่หลังสนามบาส แตก ดังเพล้ง!! ก็วิ่งสิครับ รออะไร ตัวใครตัวมัน ถ้ามีกล้องแบบในสมัยนี้คงไม่รอด ไม้เรียวในมือแม่สั่นรอเลย..ฮ่าฮ่า🤣
เล่นกันตั้งแต่ช่วงบ่ายแก่ๆคาบเกี่ยวกับช่วงเย็น จนมืดค่ำ สมาชิกจะทะยอยลดและหายไปทีละคน ตามแต่แม่ของใครตะโกนตามจากฝั่งตึกแถวตรงข้ามศูนย์
อาลั้นโอย (หรือชื่ออื่นๆ) หอตึ๋งไหล ไหล่เจียะปึ่งเหลี่ยว
แปลไทยได้ว่า กลับบ้านมากินข้าวได้แล้ว
จะมีแก๊งจิ๊กโก๋ขาใหญ่ซึ่งเป็นเด็กโต คนพื้นที่ดั้งเดิมในย่านนั้น แต่แถวบ้านจะเป็น ตึ่ง หนั่ง เกี้ย 唐人仔 Tángrén zaǐ หรือลูกคนจีน เกือบทั้งหมด ก็จะทำทีมบอล 3 คนแข่งด้วย
ผู้เขียนก็มีทีมไปแข่งกับพวกเขา แต่ไม่ค่อยชนะเพราะเล่นไม่เก่ง แพ้เป็นเรื่องปกติ แป๊ปๆออกมารอข้างสนามอีกละ วนไป แค่ขอให้มีทีมลงเตะเพื่อหน้าตาในสังคมเด็กหลังตลาด มีรุ่นน้องอยู่คนนึงชื่อ ซี่ตี๋ ว่องไว เตะบอลเก่ง พวกจิ๊กโก๋หลังตลาดก็จะชอบและซูฮก 输服 Shū fú จนเหมือนได้อยู่ในก๊วนขาใหญ่นั้น
ซี่ตี๋ซึ่งน่าจะอายุน้อยกว่าผู้เขียน 1-2 ปี พูดง่ายๆคือเด็กรุ่นหลัง แต่ไม่สนิทกัน ก็จะเริ่มซ่าเริ่มข่มพวกเรา ผู้เขียนก็พยายามหลีกเลี่ยง เพราะแถวหลังตลาดจะมีพวกจิ๊กโก๋เจ้าถิ่นอยู่หลายกลุ่ม ทั้งกลุ่มตลาด หน้าห้องน้ำ กองหวาย เราเป็นอาตี๋มังกรน้อย พ่อแม่ก็จะพร่ำสอนไม่ให้ไปยุ่งเกี่ยวกับพวกนักเลงหรือเกี๋ยวกุ้ย เหล่านั้น ซึ่งมีทั้ง การพนัน บุหรี่ เหล้า และยาเสพติด จนเหตุการณ์มาเกิดขึ้นตอนผู้เขียนเรียน ป.6 ที่ ส.พ.ช. พลับพลาชัย ซึ่งซี่ตี๋ก็สามารถสอบเข้ามาเรียน ป.5 ได้เช่นกัน
ภาพระหว่างปี 2518-2519 เด็กนักเรียนชั้น ป.6 และ ป.7 ช่วงพักเที่ยง นักเรียนหญิงตั้งวงเล่นรับส่งวอลเลย์บอล อยู่กลางสนามตึกใหญ่
ส่วนตัวผู้เขียนในวัยเด็ก ช่วงเรียนประถมต้นที่ จ.ฟ. จนเข้าประถมปลายที่ ส.พ.ช. ไม่ใช่สายบู๊จะหนักไปทางวิ่งเล่นกับเพื่อนผู้หญิง จนเพื่อนๆที่มาเจอกันตอนโต ยังเล่าให้ฟังว่า..
ผู้เขียนเป็นคนเงียบๆพูดน้อย
วันๆเที่ยวล้อเที่ยวแกล้งเพื่อนผู้หญิง
แล้ววิ่งหนีฝ่ามือกับกรงเล็บของพวกหล่อน แถมที่บ้านเป็นร้านเสริมสวย หรือ เตี่ยง หม่อ โผ่ว เลยไปกันใหญ่จนเพื่อนยังนึกว่าเป็นแต๋วซะด้วยซ้ำ เพราะหน้าตาผู้เขียนตอนเด็กก็กระเดียดไปทางเด็กหญิง ตาโต ตาสองชั้น ขนตางอน ต่างจากเพื่อนๆที่ส่วนมากออกตี๋ๆ ตาชั้นเดียว
ด.ช. สุชาย แซ่ลิ้ม ชื่อจีน 林錫坤 Línxīkūn หลิน ซิ คุน หรือ หลิ่ม เซียะ คุง ในสำเนียงแต้จิ๋ว มีชื่อเล่นที่อาแหมะตั้งให้ว่า อาลั้น ตอนเด็กๆหัวตัวมาก ครูหว่องซึ่งเป็นครูใหญ่ ตั้งฉายาให้ว่า 大頭 Dàtóu หรือ ตั่ว เท้า
ครั้งแรกที่มาเจอซี่ตี๋ที่โรงเรียน ก็ตกใจเล็กน้อย ด้วยผู้เขียนก็ไม่ทราบมาก่อน มาเห็นตอนที่ตัวเองขึ้นชั้น ป.6 แล้ว ราวปี 2516-2517 ด้วยความที่โดนข่มมาจากแถวบ้านอยู่แล้ว ก็เลยไม่เคยพูดคุยกัน ปะหน้าก็จะเดินเลี่ยงไป แต่ด้วยความที่เรียนแยกตึกกัน ป.5 ห้อง 1-12 จะอยู่ตึกเล็ก ส่วนอีก 2 ห้องคือ 13 และ 14 จะอยู่ตึกใหญ่ร่วมกับ ป.6 และ ป.7 ตอนอยู่โรงเรียนเราเป็นรุ่นพี่ แต่พอกลับบ้าน เตะบอลเขาจะซ่าและโชว์เก๋ากว่าทันทีเพราะมีพวกเด็กถิ่นที่โตกว่าหนุนหลังเข้าข้าง จนวันหนึ่ง..
เฮีย เฮีย อั๊วโดนซี่ตี๋ ตบหัว ที่ตลาด
น้องชาย
น้องชาย ซึ่งมีอายุห่างกัน 6 ปี มาฟ้อง ผู้เขียนพอทราบดังนั้น ถึงกับกัดฟันกรอด😡..พืมพำกับตัวเองในใจ
แกล้งอั๊ว ข่มอั๊ว ไม่เป็นไร ทนได้
แต่มารังแกน้องชาย ยอมไม่ได้
linxikun
ตอนเย็นหลังเลิกเรียนของวันรุ่งขึ้น ผู้เขียนไปรอซี่ตี๋ที่ป้ายรถเมล์ประจำตรงข้ามไต่ฮงกง ซึ่งปกติเวลาเลิกเรียนกลับบ้าน ก็จะกลับทางเดียวกัน รถสายเดียวกัน แต่เวลาไม่ตรงกัน จะเจอกันบ้าง ไม่เจอบ้าง แต่วันนั้น..ผู้เขียนตั้งใจรอซี่ตี๋โดยเฉพาะ.. เมื่อรถโกโก้ สาย 55 มาถึง ซี่ตี๋เหมือนรู้ตัว พอเห็นผู้เขียนขึ้นประตูหลัง เขาเลี่ยงไปขึ้นประตูหน้า จนรถมาถึงป้ายปากซอยสวนหลวง 2 จุดหมายของเราทั้ง 2 คน ผู้เขียนลงก่อน ซี่ตี๋ลงตามมาด้านหลัง
ซอยมังกร ทางเดินประจำของผู้เขียน ทั้งขาไป-กลับโรงเรียน ด้วยรถเมล์โกโก้ สาย 55 วงกลมอำนวยสงคราม-สามแยก
ตรงตึกสีชมพูสมัยนั้นมีป้ายรถเมล์โกโก้(ศิริมิตร) สาย 49 บางซ่อน-สามแยก กับสาย 55 วงกลมอำนวยสงคราม ปัจจุบันไม่มีรถเมล์ผ่านแล้ว เนื่องจากการปรับเปลี่ยนระบบเดินรถในถนนหลวง
ผู้เขียนเดินนำหน้าซี่ตี๋ไปเล็กน้อย ใจเต้นตึกตัก ก่อนจะรวบรวมความกล้าหันกลับมาเผชิญหน้ากับซี่ตี๋ เราหยุดยืนประจันหน้ากัน สตั้นไป 5 วิ เขาคงนึกไม่ถึงว่าผู้เขียนจะกล้าเยี่ยงนี้..ก่อนที่จะตะโกนถามออกไปว่า
ลื้อตบหัวน้องอั๊วเหรอ
linxikun
พร้อมกัดฟันกรอดและกำหมัดแน่น หน้าตาขึงขังเอาจริงเอาจังมากๆ ซี่ตี๋ตกใจหน้าถอดสี สายตาเลิ่กลั่ก เพราะคงไม่คิดว่าผู้เขียนจะฮึดสู้ และเอาจริงขนาดนี้ เขารีบตอบละล่ำละลักแบบหน้าเสียว่า..
เฮ่ย..เฮ่ย..อั๊วป่าวทำนะ
ซี่ตี๋
เขาปฏิเสธเสียงสั่น ตอนนั้น รู้สึกเหมือนหัวใจ❤️ส่งพลังงานบางอย่างออกมา..
แต่น้องอั๊วมาฟ้องว่าถูกลื้อตบหัวที่ตลาด
linxikun
หน้าซี่ตี๋ซีดเผือด ผงะถอยหลังไปเล็กน้อย ผู้เขียนจึงจ้องหน้าเขาสักพัก ซี่ตี๋ได้แต่หลบตายืนก้มหน้า ผู้เขียนจึงกล่าวทิ้งท้ายแบบสั่งลาว่า..
อย่าให้น้องอั๊วมาฟ้องอั๊วอีกนะ
linxikun
ซี่ตี๋พยักหน้ารับคำ ผู้เขียนจ้องหน้าเขาอย่างผู้กำชัย และเดินหันหลังกลับเพื่อเดินเข้าตรอกที่ทะลุหลังตลาด ทีแรกตอนหันหลังประจันหน้า ใจยังนึกหวั่นๆอยู่เหมือนกัน ว่าถ้าเกิดเขาสู้ คงชกกันชุลมุน เนื้อตัวมอมแมม กลับถึงบ้านแม่คงเอาไม้เรียวหวดน่องลายแน่ ด้วยที่ศักดิ์ศรีตัวเราไม่เท่าไร แต่ด้วยความที่เป็นพี่ชาย หน้าที่คือต้องปกป้องน้องชายไม่ให้ใครมารังแก
ตั้งแต่วันนั้น ทุกครั้งที่เจอกัน ซี่ตี๋ก็ไม่กล้าข่มหรือแม้แต่มองหน้าผู้เขียนอีกเลย
ป.ล.ซี่ตี๋ ซึ่งเรียน ส.พ.ช. หลังผู้เขียน 1 รุ่น ยังไม่เคยเจอกันอีกเลยจนถึงปัจจุบัน หลังจากจบประถมปลาย จนช่วงวัยทำงานวัยหนุ่มที่ผู้คนเริ่มทะยอยย้ายออกจากย่านตลาดสวนหลวง เนื่องจากใกล้หมดสัญญาเซ้ง ที่เล่าเหตุการณ์มานั้น มิได้ติดใจหาความใดๆเพียงแต่ต้องขอบคุณ ซี่ตี๋ ด้วยซ้ำ ที่ทำให้ผู้เขียนก้าวข้ามความกลัว กล้าจะทำในสิ่งที่ถูกต้อง ปกป้องคนที่ถูกรังแก
เรื่องสมัยในวัยเด็ก ความขัดแย้งต่างๆ พอโตขึ้นมา มองย้อนกลับไปอาจเป็นเรื่องสนุกและมีความสุข แต่ถ้าเกิดขัดแย้งกันตอนโต มิตรภาพที่จริงใจสดใสในอดีต จะถูกทำลายไปอย่างไม่มีวันหวลคืน ขออภัย🙏🏻ซี่ตี๋ไว้ ณ โอกาสนี้ ที่กล่าวถึงเพื่อเป็นเครื่องเตือนใจให้กล้าเพื่อหลุดพ้นจากความกลัว และกล้าที่จะเผชิญสิ่งท้าทาย และทลายกำแพงที่ปิดกั้นตัวเอง
เรากลับไปแก้ไขอดีต..ไม่ได้
แต่
เราทำวันนี้ให้ดีที่สุด..ได้
Linxikun
*ภาพหน้าปก คือภาพถ่ายที่แลกกันกับเพื่อนตอนจบ ป.7 ในปี 2519 ก่อนแยกย้ายไปตามหนทางของแต่ละคน
อาลั้นเด็กหลังตลาด/เตี่ยงหม่อโผ่วตาโปวเกี้ย
โฆษณา