15 เม.ย. 2023 เวลา 06:47 • ประวัติศาสตร์

600℃ รู้ช่วงเวลาซากุระบาน (ตอนจบ)

นอกจาก “ซากุระ” ที่ทุกคนได้ชื่นชมความงดงามช่วงต้นฤดูใบไม้ผลิแล้ว ยังมีซากุระอีกหลายสายพันธุ์ที่ผลิดอกเผยความงดงามในช่วงเวลาที่แตกต่างกันออกไป
เพราะซากุระไม่ได้บานแค่ช่วงใบไม้ผลิ
ทราบหรือไม่ว่า แม้จะพลาดโอกาสในการชมซากุระในช่วงต้นฤดูใบไม้ผลิ แต่ยังมีอีกหลายสายพันธุ์ที่ผลิดอกบานในฤดูกาลอื่นอย่าง ช่วงใบไม้เปลี่ยนสีในฤดูใบไม้ร่วง หรือแม้แต่ในฤดูหนาว
จูกัตสึซากุระ เครดิตภาพ : https://media.mk-group.co.jp/entry/sakura-hinshu-akizaki/
จูกัตสึซากุระ – 十月桜 : ซากุระที่ได้รับการขนานนามว่า “งดงาม” ที่สุดในบรรดาซากุระที่บานในช่วงฤดูใบไม้ร่วงและฤดูหนาว เป็นสายพันธุ์ที่พัฒนามาจากซากุระป่ามาเมะซากุระ (豆桜) กับเอโดะฮิกัง (エドヒガン)
กลีบดอกเรียวยาวสีชมพูอ่อนระเรื่อของจูกัตสึซากุระที่ตัดกับสีเหลืองแดงของใบไม้ในช่วงเดือนพฤศจิกายนซึ่งถือเป็นเดือนที่สิบตามปฏิทินจันทรคติ (แบบเก่า) จึงมีชื่อเรียกกันว่า “ซากุระเดือนสิบ” นิยมปลูกภายในบริเวณวัดพุทธนิกายนิชิเรน เช่น วัดอิเคกะมิฮงมงจิ ไดฮงซัง โตเกียว วัดเอชินอิน วัดเมียวเรนจิ เกียวโต เป็นต้น
ฟูยุซากุระ เครดิตภาพ : https://media.mk-group.co.jp/entry/sakura-hinshu-akizaki/
ฟูยุซากุระ – 冬桜 : อีกหนึ่งสายพันธุ์เก่าแก่ที่มีมาตั้งแต่ยุคเอโดะ เป็นลูกผสมระหว่างโอชิมะซากุระ (大島桜) กับมาเมะซากุระ (豆桜) กลีบดอกสีขาวนวลมีความคล้ายคลึงกับชิขิซากุระ (四季桜) ทว่าฟูยุซากุระจะมีฐานรองดอกทรงกระบอกสีแดงเห็นเด่นชัด
ฟูยุซากุระเป็นสายพันธุ์ที่มีความพิเศษตรงที่เป็นซากุระที่ผลิดอกสองครั้งคือ ฤดูหนาวและฤดูใบไม้ผลิ ซึ่งถือเป็นความมหัศจรรย์ที่ยังไม่สามารถอธิบายได้ สามารถชื่นชมความงดงามได้ในช่วงปลายฤดูใบไม้ร่วงจนเข้าฤดูหนาว ที่วัดจิองอิน วัดคงไคโคเมียวจิ ศาลเจ้าคุรุมะซากิ เกียวโต
สีชมพูระเรื่อของชิขิซากุระตัดกับสีแดงเข้มของใบเมเปิ้ลภายในสวนซากุระโอบาระ เครดิตภาพ : https://aichinagoya.mediajapan.jp/obarashikizakura1-koyo/
ชิขิซากุระ – 四季桜 : มีการคาดการณ์กันว่าซากุระสายพันธุ์นี้เกิดจากการกลายพันธุ์ระหว่างมาเมะซากุระ (豆桜) กับเอโดะฮิกัง (エドヒガン) ที่ยืนต้นใกล้กัน และเนื่องจากมียีนส์ของมาเมะซากุระเหมือนกับฟูยุซากุระ ทำให้ทั้งสองสายพันธุ์มีลักษณะดอกที่คล้ายคลึงกันเป็นอย่างมากหากมองแบบผิวเผิน
ชิขิซากุระจะผลิดอกเบ่งบานตั้งแต่กลางเดือนพฤศจิกายนไปจนถึงต้นเดือนธันวาคม จุดชมชิขิซากุระที่มีชื่อเสียงได้แก่ สวนซากุระโอบาระ เมืองโทโยตะ จังหวัดไอจิ ตระการตาด้วยซากุระสายพันธุ์ชิขิที่มีมากถึงหนึ่งหมื่นต้น โดยเฉพาะสัปดาห์สุดท้ายของเดือนพฤศจิกายนจะมีการจัดงานเทศกาลซากุระเป็นประจำทุกปี
โคบุขุซากุระภายในสวนสาธารณะนิโจ จังหวัดเกียวโต เครดิตภาพ : https://media.mk-group.co.jp/entry/sakura-hinshu-akizaki/
โคบุขุซากุระ – 子福桜 : เป็นซากุระกลีบซ้อนขนาดเล็กซึ่งเกิดจากการพัฒนาสายพันธุ์ระหว่างคารามิซากุระ (唐実桜) กับโคฮิกัง (小彼岸) ดอกมีสีขาวอมชมพูอ่อน ลักษณะพิเศษของซากุระสายพันธุ์นี้คือมีเกสรตัวเมียจำนวนมาก เมื่อติดลูกจึงเกิดผลเชอรี่เป็นจำนวนมากด้วยเช่นกัน จึงได้ชื่อว่า “โคบุขุซากุระ” หมายถึง ซากุระลูกดก นั่นเอง
สามารถชื่นชมความงามของโคบุขุซากุระได้ตั้งแต่ปลายเดือนตุลาคมไปจนถึงต้นธันวาคม โดยสถานที่ซึ่งขึ้นชื่อเรื่องความงดงามของซากุระสายพันธุ์นี้ได้แก่ สวนสาธารณะนิโจ ศาลเจ้าฟูชิมิอินาริ ไทฉะ วัดโทจิ สวนพฤกษศาสตร์เกียวโต ทั้งหมดอยู่ในจังหวัดเกียวโต
แอคโคเลดชมพูพาสเทลภายใน Yokohama English Garden เครดิตภาพ : https://www.y-eg.jp/post/333
แอคโคเลด – アーコレード : ซากุระสายพันธุ์เก่าแก่ที่มีชื่อเป็นภาษาอังกฤษ เนื่องจากมีการนำต้นพ่อแม่พันธุ์อย่าง โอยามะซากุระ (オオヤマザクラ) และโคฮิกัง (小彼岸) ไปผสมใหม่และปลูกในประเทศอังกฤษโดยนักพฤกษศาสตร์ที่มีนามว่า Collingwood “Cherry” Ingram หลังประสบความสำเร็จจึงนำกลับมาขยายพันธุ์ต่อในญี่ปุ่นจึงมีชื่อเป็นคำทับศัพท์ของคำว่า Cerasus ‘Accolade’
ความพิเศษของซากุระสายพันธุ์นี้ยังมีอีกอย่าง นั่นก็คือ เมื่อเติบโตในประเทศอังกฤษจะออกดอกเฉพาะในฤดูใบไม้ร่วงเท่านั้น ทว่าในญี่ปุ่นแอคโคเลดสามารถผลิดอกได้ตามธรรมชาติทั้งในฤดูใบไม้ร่วงและฤดูใบไม้ผลิ กลีบดอกมีขนาดใหญ่สีขาวอมชมพูระเรื่อ เริ่มผลิบานตั้งแต่เดือนกันยายนถึงเดือนพฤศจิกายน และออกดอกบานอีกครั้งช่วงต้นเดือนเมษายน ชื่นชมความงดงามได้ที่ Yokohama English Garden จังหวัดคานากาวะ สวนพฤกษศาสตร์เกียวโต สวนพฤกษศาสตร์เมืองอุจิ จังหวัดเกียวโต
ฟุดันซากุระอายุมากกว่า 600 ปี ยืนต้นอยู่ภายในเขตวัดโคยาสุคันโนนจิ เครดิตภาพ : https://www.bunka.pref.mie.lg.jp/bunkazai/da/daItemDetail?mngnum=730795
ฟุดันซากุระ – 不断桜 : เป็นอีกหนึ่งสายพันธุ์ที่มีลักษณะเฉพาะตัวตามชื่อ “ฟุดัน” ในภาษาญี่ปุ่นมีความหมายว่า ไม่ขาดตอน, ไม่เว้นช่วง ฟุดันซากุระจึงเป็นซากุระที่ออกดอกอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ฤดูใบไม้ร่วงไปจนถึงฤดูใบไม้ผลิ เป็นซากุระไม่กี่สายพันธุ์ที่ออกดอกในช่วงปีใหม่ จึงมีชื่อเรียกอีกอย่างว่า “โชกัตสึซากุระ – ซากุระปีใหม่”
ทว่าดอกซากุระที่ผลิบานในช่วงที่อากาศหนาวเย็นจะมีขนาดเล็กกว่าดอกที่บานในฤดูใบไม้ผลิ ต้นซากุระสายพันธุ์นี้ที่เก่าแก่ที่สุดมีอายุมากกว่า 600 ปี ยืนต้นอยู่ภายในวัดโคยาสุคันโนนจิ (子安観音寺) จังหวัดมิเอะ และได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นพรรณไม้สงวนตามกฎหมาย ดอกสีขาวอมชมพูอ่อนตัดกับบรรยากาศหม่น ๆ ในฤดูหนาวทำให้ผู้ที่เดินทางมาชมดอกซากุระรู้สึกกระปี้กระเป่ามีชีวิตชีวา
การพยากรณ์ซากุระไม่ได้มีไว้เพื่อการชมดอกไม้!
ปลายฤดูหนาวจะเข้าฤดูใบไม้ผลินอกจากข่าวสารที่เราจะเห็นผ่านตาตามช่องโทรทัศน์หรือแม้แต่ในโลกออนไลน์ ก็จะมีข่าวพยากรณ์การผลิบานของดอกซากุระทั่วประเทศโดยไล่จากเกาะคิวชูและชิโกกุซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของญี่ปุ่นขึ้นไปทางโทโฮขุกระทั่งถึงเกาะฮอกไกโด ลักษณะคล้ายแผนผังแสดงสภาพอากาศ ในภาษาญี่ปุ่นจึงเรียกว่า “ซากุระเซ็นเซ็น – 桜前線”
ภาพเส้นทางพยากรณ์การบานของซากุระ (ซากุระเซ็นเซ็น) ที่คนญี่ปุ่นคุ้นชิน      เครดิตภาพ : http://www.greenlife-inc.co.jp/2023/03/31/%E6%A1%9C%E5%89%8D%E7%B7%9A2023/
โดยสายพันธุ์ที่ใช้ในการพยากรณ์ก็คือ โซเมโยชิโนะ ซึ่งมีจำนวนมากกว่า 80% ของสายพันธุ์ทั้งหมด ทว่าฮอกไกโดและโอกินาว่ามีสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวยต่อการเติบโตของโซเมโยชิโนะ จึงใช้การสังเกตซากุระสายพันธุ์ฮิกังซากุระ (彼岸桜) ในโอกินาว่าและสายพันธุ์เอโซยามะซากุระ (エゾヤマザクラ) ในฮอกไกโดแทน
การสังเกตุสิ่งรอบตัวนำไปสู่การพยากรณ์สภาพภูมิอากาศ
เนื่องจากเกิดปัญหาสภาพภูมิอากาศแปรปรวนอย่างหนักในช่วงปลายยุคเมจิถึงต้นยุคไทโช อากาศเย็นในฤดูร้อนก่อให้เกิดผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตร จึงเกิดการค้นคว้าวิจัยและการสังเกตทางปรากฏการณ์วิทยา ได้แก่ การเก็บรวบรวมข้อมูลเสียงร้องครั้งแรกของจั๊กจั่นในต้นฤดูร้อน การเปลี่ยนสีใบของต้นแปะก๊วยและเมเปิ้ลในฤดูใบไม้ร่วง การผลิบานของซากุระต้นฤดูใบไม้ผลิ เป็นต้น
ในที่สุดเกิดเป็นหน่วยงานพยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตรขึ้นในปีไทโชที่ 15 (ค.ศ. 1926) โดยการเก็บรวบรวมข้อมูลการผลิบานของซากุระบริเวณรอบกรุงโตเกียว รวมทั้งพัฒนาการวิเคราะห์คำนวณข้อมูลอย่างเป็นระบบเรื่อยมา จนกระทั่งปีโชวะที่ 26 (ค.ศ. 1951) สำนักงานอุตุนิยมวิทยาจึงออกประกาศการพยากรณ์ซากุระเผยแพร่แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรกโดยเริ่มจากภูมิภาคคันโต และขยายขอบเขตไปทั่วประเทศในปีโชวะที่ 30 (ค.ศ. 1965)
บรรยากาศการชมดอกซากุระสวนอุเอโนะในอดีต เครดิตภาพ : http://sakuragawamj.com/?page_id=2070
การพยากรณ์ซากุระจะใช้การสังเกตการณ์จากต้นมาตรฐานที่สำนักงานอุตุนิยมวิทยาเป็นผู้กำหนด โดยเลือกจากต้นซากุระที่อยู่ใกล้หอสังเกตการณ์สภาพอากาศของแต่ละจังหวัด โตเกียวจะใช้ต้นมาตรฐานที่ยืนต้นอยู่ภายในศาลเจ้ายาสุคุนิ หน้าที่ในการพยากรณ์ซากุระบานของสำนักงานอุตุนิยมวิทยาสิ้นสุดลงในปี ค.ศ. 2009 หลังจากนั้นเป็นต้นมา การรายงานการพยากรณ์ซากุระเผยแพร่โดยหน่วยงานพยากรณ์อากาศเอกชน
จากการสังเกตการณ์และเก็บรวมรวมข้อมูลอย่างต่อเนื่องทำให้เข้าใจถึงกลไกการออกดอกและผลิบานของซากุระจนนำมาซึ่งการคาดการณ์และพยากรณ์โดยอาศัยการคำนวณด้วยอุณหภูมิสูงสุดในแต่ละวัน
ตาดอกของต้นซากุระในฤดูร้อนจะกลายเป็นดอกซากุระในฤดูใบไม้ผลิปีถัดไป เครดิตภาพ : https://media.mk-group.co.jp/entry/sakura-aki/
ซากุระเป็นต้นไม้ที่มีความพิเศษ หลังจากดอกบานและร่วงโรยไป จะแตกใบอ่อนออกมาและเจริญเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อเข้าหน้าร้อนใบซากุระจะมีสีเขียวเข้มซึ่งหากสังเกตให้ดีจะพบตาดอกงอกออกมาที่ขั้วของก้านใบลักษณะเป็นตุ่มเล็ก ๆ สีน้ำตาลเข้ม ส่วนมากจะออกเป็นกลุ่มมีจำนวนมากกว่าใบ
เมื่อฤดูร้อนผ่านพ้นไป ระยะเวลากลางวันที่แดดส่องถึงเริ่มลดลงในฤดูใบไม้ร่วง ช่วงเวลานี้ต้นซากุระจะหลั่งฮอร์โมนที่เรียกว่า กรดแอบไซซิก ออกมาเพื่อหยุดการเจริญเติบโตของตาดอก ผลัดใบทิ้ง แล้วเข้าสู่สภาวะจำศีลในฤดูหนาว ระหว่างการจำศีลนั้นต้นซากุระจะค่อย ๆ ลดการหลั่งกรดแอบไซซิกลง
กลไกการผลิดอกของซากุระตั้งแต่จำศีลในฤดูใบไม้ร่วง - สะดุ้งตื่นปลายฤดูหนาว - ผลิบานต้นฤดูใบไม้ผลิ เครดิตภาพ : https://tenki.jp/sakura/column/d_tokuno/2021/03/12/30255.html
เมื่อแสงสว่างช่วงเวลากลางวันเพิ่มสูงขึ้นในปลายฤดูหนาวประกอบกับการอยู่ในสภาวะที่มีอุณหภูมิต่ำกว่า 8 องศาเซลเซียสเป็นเวลารวมกัน 1,000 ชั่วโมง ซากุระจะเริ่มผลิตจิบเบอเรลลินซึ่งเป็นฮอร์โมนที่กระตุ้นให้พืชเจริญเติบโต ส่งผลให้ต้นซากุระตื่นจากการจำศีล ตาดอกจะค่อย ๆ กลายเป็นดอกตูมแล้วผลิบาน
โดยกรมอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่นได้กำหนดให้วันที่ 1 กุมภาพันธ์ เป็นวันที่ซากุระตื่นจากการจำศีล แล้วเริ่มต้นสะสมข้อมูลอุณหภูมิสูงสุดในแต่ละวัน นำมารวมกันเรื่อย ๆ จนครบ 600 องศาเซลเซียส ทำให้สามารถพยากรณ์ล่วงหน้าได้ว่า ซากุระจะบานในช่วงเวลาใด
จากการที่กรมอุตุนิยมวิทยาใช้วิธีการดังกล่าวบันทึกผลมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1988 – 2017 ทำให้ได้ค่าเฉลี่ยอุณหภูมิสะสมอยู่ที่ 628 องศาเซลเซียส โดยในปี ค.ศ. 1993, 1997, 2003, 2014 ซากุระบานตรงตามวันที่พยากรณ์เมื่อมีอุณหภูมิครบ 600 องศาเซลเซียสพอดี มีเพียงแค่ปี ค.ศ. 2013 เท่านั้นที่บานเมื่อมีอุณหภูมิสะสมอยู่ที่ 550 องศาเซลเซียส และปีที่เหลือบานห่างจากวันพยากรณ์ (บวก-ลบ) ไม่เกิน 3 วัน
ตัวแทนเจ้าหน้าที่กรมอุตุนิยมวิทยา บรรดานักข่าวสำนักต่าง ๆ และประชาชนทั่วไปที่มารอชมการประกาศซากุระบานอย่างเป็นทางการ ที่ศาลเจ้ายาสุคุนิ - โตเกียว เครดิตภาพ : https://www.sankei.com/article/20230315-2V6MW6SEDZLLDH4YTWBNGIPDZM/photo/FZUCEYGSBFKTLPAKCAWXT7ZYD4/
ส่วนการประกาศซากุระบานอย่างเป็นทางการ ยังคงเป็นหน้าที่ของกรมอุตุนิยมวิทยา ซึ่งใช้การสังเกตด้วยสายตาของเจ้าหน้าที่ เช่น ในโตเกียวกำหนดให้เจ้าหน้าที่ 10 คนผลัดกันไปสังเกตการณ์ที่ต้นซากุระมาตรฐานในศาลเจ้ายาสุคุนิ วันละ 2 ครั้งคือ ช่วงเช้าและบ่าย โดยพิจารณาจากดอกแรกที่มีกลีบดอกบานออกมามากกว่า 5 กลีบ จึงจะประกาศอย่างเป็นทางการ
หลังการประกาศอย่างเป็นทางการ ประชาชนทั่วไปจะสามารถคาดการณ์ช่วงเวลาบานเต็มที่ของซากุระได้ โดยภูมิภาคคิวชู โทไก และคันโต ซากุระจะบานเต็มที่หลังการประกาศไปแล้วประมาณ 7 วัน ภูมิภาคโทโฮขุและโฮขุริขุ 5 วัน และฮอกไกโดจะบานเต็มที่หลังการประกาศ 4 วัน
กลีบซากุระที่ร่วงหล่นเสมือนย้อมสีน้ำในคลองให้เป็นสีชมพู เครดิตภาพ : https://unsplash.com/ja/%E5%86%99%E7%9C%9F/Wxe3ii9wEm4
เมื่อคาดเดาได้คร่าว ๆ แล้วก็ทำให้สามารถตระเตรียมเวลาเพื่อการชมดอกซากุระได้ใกล้เคียงที่สุด นอกจากช่วงเวลาบานเต็มที่ ที่เรียกในภาษาญี่ปุ่นว่า “มังไค – 満開” จะเป็นที่นิยมในการชมดอกซากุระแล้ว อีกช่วงที่ไม่ควรพลาดก็คือ ช่วงเวลาที่ซากุระร่วงหล่น (หลังการประกาศอย่างเป็นทางการ 10-14 วัน) เพราะซากุระต้องลมที่ร่วงหล่นเป็นสาย เรียกในภาษาญี่ปุ่นว่า “ซากุระฟุบุขิ – 桜吹雪” ก็มีความงดงามไม่แพ้กัน
โฆษณา