15 เม.ย. 2023 เวลา 14:00 • ประวัติศาสตร์

พรรณนาไปเรื่อย กับ หนังสือ “เจน เจคอบส์ นักคิดผู้ผลิตชีวิตเมือง”

เอาจริงๆ ผมไม่รู้จักเจน จาคอบส์ เลย แต่ก็พอจะมีความสนใจในเรื่องผังเมืองอยู่บ้าง (ด้วยผมทำงานที่กรมโยธาธิการและผังเมือง อยู่ฝ่ายจัดการทั่วไป) แล้วบวกกับผมติดเกม Cities skyline แบบติดหนึบ จนช่วงนึงเล่นตั้งแต่เที่ยงยันตีหนึ่งก็มี มันก็เลยเก็บความสนใจในเรื่องผังเมืองเอาไว้ จนกระทั้งนำทางมาพบเจอกับหนังสือที่ผมจะรีวิวในวันนี้
จำได้ว่าตอนงานหนังสือที่สามย่านมิดทาว์นเมื่อกลางปี 2565 กะจะไปหาหนังสือมาอ่าน จากที่ไม่ได้ไปงานหนังสือที่จัดที่สถานีกลางบางซื่อ (หรือเรียกว่ากรุงเทพฯอภิวัฒน์ อะไรนี่แหละ ไม่รู้จะตั้งให้ยากทำไม? 555+ ) ก็ไปเจอซุ้มหนังสือของสำนักพิมพ์เคล็ดไทย ที่มีหนังสือจากสำนักพิมพ์สามย่านมาลงด้วย ก็เหลือบไปเห็นชื่อหนังสือ “เจน เจคอบส์ นักคิดผู้ผลิตชีวิตเมือง” ก็เห็นว่ามันน่าจะเกี่ยวกับเรื่องเมืองที่เรากำลังสนใจ ก็เลยซื้อมาอ่าน
เนื้อหาหนังสือก็จะพูดถึงประวัติของเจน จาคอปส์ หรือเจน เด็ดเกอร์ บัตซ์เนอร์ หญิงสาวผู้ดื้อรั้นและมีความเป็นตัวของตัวเอง เธอแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างต่อครูอาจารย์จนเคยถึงขั้นพักการเรียน เธอชื่นชอบในการเขียน เธอมักจะส่งต้นฉบับบทความไปตามที่สำนักพิมพ์ต่างๆ จนกระทั้งเมื่อเธอย่างเข้าสู่วัยรุ่น เจนก็ได้เดินทางเพื่อที่จะหางานทำและสัมผัสกลิ่นอายของมหานครที่ใหญ่ที่สุดในโลก ณ เวลานั้น “มหานครนิวยอร์ก”
เจน ได้เข้าทำงานเป็นเลขาประจำบริษัทต่างๆ เขียนบทความส่งสำนักพิมพ์ และเรียนชั้นเรียนเสริมของมหาวิทยาลัยโคลอมเบีย ในช่วงภาคค่ำ ระหว่างที่อยู่ในนิวยอร์ก เธอจะใช้เวลาในการเดินสำรวจเมือง มองชีวิตที่เดินผ่านไปผ่านมา และดำเนินไปจนกระทั้งเธอได้เจอสถานที่นึงที่ทำให้เธอตัดสินใจบอกพี่สาวเธอ เบ็ตตี้ ให้ตัดสินไปอยู่ที่นั้นเพื่อลดค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิต
“Greenwich Village” ย่านชุมชนที่ต่อมาเป็นจุดเริ่มต้นการต่อสู่ของเจน จาคอบส์
จากนั้นหนังสือก็จะเล่าว่าชีวิตของเจนในช่วงหลังจากเข้าไปอยู่ใน Greenwich Village โดยในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เธอได้เขียนบทความช่วยเหลือเมือง Scranton เมืองเกิดของเธอ โดยการสนับสนุนให้รัฐบาลสหรัฐฯ และบริษัทต่างๆ สร้างโรงงานผลิตอาวุธให้กองทัพ เพื่อทดแทนการจ้างงานของคนในเมืองจากการปิดเหมืองถ่านหินแอนทราไซต์ (ปากกาคมกว่าดาบจริงๆ นั้นแหละ)
กระทั้งเธอได้พบกับบ๊อบ เจคอปส์ หนุ่มสถาปนิก ผู้ที่เจนได้พบและต่างหลงรักกันตั้งแต่แรกพบ จนกระทั้งทั้งสองตกลงปลงใจที่จะแต่งงานกัน และอาศัยอยู่ที่ Greenwich Village ตอนนี้เธอได้เปลี่ยนนามสกุลเป็น เจน จาคอปส์
เจนได้ก้าวสู่การเป็นแม่คน เมื่อเธอให้กำเนิดลูกสองคนแรก จิมมี่ และเน็ต เธอจะใช้เวลาเลี้ยงลูกอยู่บ้านและทำงานของเธอไปด้วย จนเจนได้เริ่มทำงานเขียนบทความ ให้กับนิตยสารสถาปัตยกรรม Architectural forum ซึ่งในตอนนั้นเธอไม่ได้มีความรู้เรื่องสถาปัตยกรรมเลย แต่ด้วยนิสัยความอยากเรียนรู้เรื่องใหม่ๆ บวกกับบ๊อบ สามีของเธอสอนให้เธออ่านแบบพิมพ์เขียวแปลนบ้าน ทำให้เธอเรียนรู้เรื่องสถาปัตยกรรมได้อย่างรวดเร็ว
นับว่าเป็นช่วงประจวบเหมาะจริงๆ เมื่อเธอทำงานเขียนให้ Architectural forum เมืองนิวยอร์กกำลังเข้าช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการเปลี่ยนแปลง จากการที่เมืองนิวยอร์กเริ่มมีประชากรที่เข้ามาอยู่อาศัยมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มคนผิวสี และผู้คนจากหลายเชื้อชาติต่างๆ ทั้งจากแถบละตินอเมริกา ยุโรป และเอเชีย โดยได้เข้ามาอาศัยอยู่ในย่านชุมชนตึกในเมืองนิวยอร์ก ที่แต่ก่อน ชนชั้นระดับกลางจะเคยอยู่อาศัยในเมือง แต่ได้ย้ายออกไปอยู่ในแถบชุมชนบ้านจัดสรรย่านชานเมือง
บวกกับความเป็นอยู่ของคนผิวสี และคนเชื้อชาติต่างๆ ไม่สู้ดีนัก ทั้งการทำงานที่ได้รายได้น้อย และการเลือกปฏิบัติต่อพวกเขาของคนผิวขาว และการไม่ดูแลปล่อยปละละเลยไม่ซ่อมแช่มตึกของเจ้าของตึก ก็ยิ่งทำให้ชุมชนเริ่มเสื่อมโทรมลง เป็นแหล่งรวมของอาชญากรรม และกลายสภาพเป็นสลัมไป
ผลที่เกิดขึ้น ทำให้บรรดาผู้บริหารของเมือง ทั้งนายกเทศมนตรีเมือง กลุ่มนายธนาคาร กลุ่มทุนห้างสรรพสินค้า กลุ่มนักผังเมือง ก็ออกความเห็นว่าต้องทำการปรับปรุงและบูรณะพื้นที่ชุมชนดังกล่าว โดยการทุบตึกเก่าและจัดการชุมชนที่สุดโทรม และสร้างบล็อกตึกที่ใหม่เอี่ยมกว่ามาแทน กระบวนการนี้เรียกว่า กระบวนการฟืนฟูเมือง (Urban Renewal)
เจนเลยได้เขียนบทความเกี่ยวกับเรื่องผังเมืองและเรื่องการฟื้นฟูเมืองมากขึ้น ทั้งได้ลงไปดูพื้นที่ พบปะผู้คน ซึ่งพบว่าชุมชนตึกที่อยู่อาศัยใหม่นั้น มีลักษณะเป็น Super block หรือชุมชนเคหะขนาดใหญ่ และมีการพบปะกันของผู้คนน้อยกว่า และปัญหาอาชญากรรมที่แย่ลง เพราะพื้นที่ชุมชนไม่เอื้อต่อการสอดส่องของคนในชุมชน เมื่อเทียบกลับชุมชนแบบเก่า ที่จะเป็นตึกติดๆ กัน และผู้คนในชุมชนมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกัน และมีความสนิทสนมมากกว่าชุมชนแบบ Super block
ยิ่งได้สำรวจมากขึ้นๆ เจนก็เริ่มมีแนวคิดต่อต้านกระบวนการฟืนฟูเมืองของบรรดาผู้บริหารเมือง และเสนอแนวคิดที่ชุมชนเมืองต้องเป็นพื้นที่ที่ผู้คนได้ทำกิจกรรมร่วมกัน ที่ผู้คนต่างมีส่วนร่วมในการดูแล สอดส่องความปลอดภัยซึ่งกันและกันได้ และได้สร้างสรรค์สังคมร่วมกัน
แต่เจนก็ได้เจอเหตุการณ์ที่ทำให้เธอต้องหยุดงานเขียนกลางคัน เมื่อเธอทราบถึงแผนการสร้างถนนทางหลวงสี่เลน ซึ่งมันตัดผ่าน วอชิงตัน สแควร์ ปาร์ค ซึ่งเป็นประตูชัยหินอ่อน และมีน้ำพูอยู่ตรงกลาง และเป็นสัญลักษณ์ของ Greenwich Village มาตลอด เจนจึงได้โอกาสนำองค์ความรู้ที่สั่งสมมามาใช้ในการปกป้องชุมชนของเธอ ซึ่งเธอได้พาชาวชุมชนประท้วงการสร้างทางหลวงนี้จนสามารถหยุดการสร้างได้ แม้จะเพียงชั่วคราว
การต่อสู้ของเจน เจคอปส์ นั้นยังไม่จบเฉพาะแค่ชุมชน Greenwich Village แต่ยังรวมไปถึงชุมชนต่างๆ ที่อยู่ทั่วอเมริกา โดยเฉพาะในนิวยอร์ก เจนก็ได้เข้าไปมีส่วนในการต่อสู้ยับยั้งการปรับปรุงพื้นที่และก่อสร้างทางหลวง ที่เกิดจากความไม่ใส่ใจประชาชนของบรรดาผู้บริหารเมือง นักธุรกิจนายทุน หรือแม้กระทั้งนักผังเมืองที่พยายามนำแนวคิดทางผังเมืองของตัวเองมาเสนอ แต่กลับไม่สามารถตอบสนองต่อการอยู่อาศัยของผู้คน
ในส่วนของผม อยากให้ผู้อ่านได้เข้าไปหาลองหาอ่าน “เจน เจคอบส์ นักคิดผู้ผลิตชีวิตเมือง” ซึ่งเราสามารถเอามาเปรียบเทียบกับภาพของเมือง โดยเฉพาะกรุงเทพมหานครฯ ที่ต้องยอมรับกันตรงๆ ว่า เมืองไม่ได้ถูกออกแบบให้มีความ “ลงตัว” เหมือนดังคอนเซปส์ “ชีวิตดีๆ ที่ลงตัว”เลย
เมืองกรุงเทพฯ ถูกบีบบังคับให้เจริญในด้านวัตถุมากขึ้น การสร้างห้างสรรพสินค้าที่เริ่มเบียดพื้นที่ชุมชนผู้อยู่อาศัยเก่าให้ออกไป การสร้างคอนโดที่เริ่มบดบังแสงชุมชนด้านล่าง และปัญหาอื่นๆ อีกมากมายนับไม่ถ้วน ที่แม้แต่ชัชชาติก็แก้ไม่หมดภายใน 4 ปี
นอกจากนี้ทั้งการทุบตึกอาคารเก่าที่มีความสำคัญทางจิตใจและแทนที่ด้วยการสร้างตึกใหม่แทน อย่างกรณีของการทุบโรงหนังสกาล่า ที่เคยเกิดขึ้นเมื่อ 2 ปีก่อน และแทนที่ด้วยการสร้างเป็นคอมมูนิตี้มอล์ล และพื้นที่ที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ที่ไม่ได้พูดถึงอีกมากมาย มันยิ่งทำให้เรารู้สึกว่าถูกพรากบางสิ่งบางอย่างที่สำคัญไป โดยไม่รู้ตัว มันทำให้เราย้อนกลับไปคิดว่า “เราน่าจะทำอะไรบ้าง เราอยากจะมีใครสักคนออกมานำพวกเราหรือปลูกความกล้าให้เราต่อสู้ แล้วบอกให้คนของรัฐและกลุ่มทุนหยุดการกระทำนั้นเสีย”
แต่เราก็พบกับความจริงที่ว่า ทั้งกลไกของกฎหมาย และอำนาจของรัฐ กลับกลายเป็นเครื่องมือในการสร้างความชอบธรรมของบรรดาผู้บริหารหัวใส ที่ก็ไม่ได้สนหรอกว่า สถานที่นั้นๆ มันจะมีค่าต่อผู้คนมากแค่ไหน ตราบใดที่มันไม่สามารถทำกำไรต่อเขาได้ ก็ช่างหัวปะไร มันก็แค่ตึกหรือสถานที่ธรรมดาเท่านั้นเอง
บางทีเรื่องราวของเจน เจคอป์สที่ถูกเขียนผ่านหนังสือเล่มนี้อาจจะพอช่วยให้ผู้อ่านได้ลองนำแนวคิดหรือทัศนคติของเจนไปปรับใช้ได้ หรืออาจพอจะทำให้คุณได้กล้าที่จะต่อสู้เพื่อบางสิ่ง ที่มันอาจจะเป็นเรื่องเล็กๆ มาก แต่แค่มีความกล้ามันก็เพียงพอ
“ความกล้าแบบเจน เจคอป์สน่ะ”
เจน เจคอบส์ (Jane Jacob) 1916 - 2004
หนังสือ “เจน เจคอบส์ นักคิดผู้ผลิตชีวิตเมือง” ธันวาคม 2564
เขียนโดย Glenna Lang และ Majory Wunuch
แปลโดย ณัฐธีร์ ฤทธิเดชเกรียงไกร
จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์สำนักนิสิตสามย่าน
พรรณนาไปเรื่อย โดย ศรายุทธ อาตวงษ์
โฆษณา