16 เม.ย. 2023 เวลา 04:29 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี

เจ๋ง! นักวิทย์อิตาลีคิดค้นแบตเตอรี่กินได้ ทำจากอัลมอนด์ ใช้ในวงการแพทย์เท่านั้น

บนโลกนี้ ใครจะไปกินแบตเตอรี่ล่ะจริงไหม? แต่มันจำเป็นสำหรับทางการแพทย์ หลายเคสหลายกรณีทางการแพทย์ ผู้คนหลายแสนคนจำเป็นที่จะต้องฝังอุปกรณ์ไฟฟ้าบางอย่างลงในร่างกาย เพื่อให้ร่างกายสามารถดำเนินต่อไปได้ เช่น เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ เป็นต้น
แต่เรายังอยู่ในศตวรรษที่อุปกรณ์เหล่านี้ยังคงใช้วัสดุแข็งเพียว ๆ ซึ่งไม่สามารถย่อยสลายได้ในร่างกายมนุษย์ ดังนั้น เมื่อเกิดข้อผิดพลาดของอุปกรณ์มีเพียงวิธีเดียวเท่านั้นที่จะซ่อมแซมได้ คือการผ่าตัดและนำเครื่องออกมาซ่อม ซึ่งมันทำให้เสียเวลา เสียเงิน และสร้างความเจ็บปวดเพิ่มให้ทั้งกับคนไข้และแพทย์ผู้ให้การรักษา
สิ่งประดิษฐ์สะเทือนวงการการแพทย์ “แบตเตอรี่กินได้”
ด้วยปัญหานี้ จึงทำให้ Mario Caironi นักวิจัยอาวุโสจาก Istituto Italiano di Tecnologia (IIT-Italian Institute of Technology) และทีมงานของเขาจากมิลาน ในอิตาลี ได้ลองคิดค้นแบตเตอรี่ที่สามารถจ่ายพลังงานและสามารถย่อยสลายได้ โดยจะไม่รบกวนการทำงานของอวัยวะภายในร่างกายมนุษย์ ซึ่งจะทำให้การติดตั้งอุปกรณ์ปลอดภัยมากขึ้น
ผลการศึกษานี้ได้ถูกตีพิมพ์อย่างเป็นทางการลงในวาร Advanced Materials เมื่อเร็ว ๆ นี้ในหัวข้อ แบตเตอรี่กินได้
ทำจากของที่กินได้และย่อยสลายได้ไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย Cr.Newatlas
แบตเตอรี่ทำจากอะไร?
โดยทั่วไปมีอุปกรณ์หลายอย่างที่คนไข้ต้องกลืนลงไป เช่น ไบโอเซนเซอร์ กล้อง และระบบนำส่งยา แต่อุปกรณ์เหล่านี้ไม่สามารถย่อยสลายได้ ผลที่ตามมาอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนระหว่างกระบวนการย่อยอาหารได้ และต้องผ่าตัดเท่านั้น เพื่อนำอุปกรณ์ออก
แต่แบตเตอรี่ที่ถูกผลิตขึ้นใหม่เหล่านี้สามารถผลิตขึ้นได้จากอาหารทั่วไป โดยมีองค์ประกอบหลักคือ “อัลมอนด์” ตามมาด้วย เคเปอร์ ถ่านกัมมันต์ สาหร่าย ทองคำเปลว และขี้ผึ้ง ซึ่งทั้งหมดนี้สามารถย่อยสลายได้โดยไม่มีความเสี่ยงต่อสุขภาพ
การทำงานของแบตเตอรี่
การทำงานของแบตเตอรี่อัลมอนด์ แบตเตอรี่ตัวต้นแบบสามารถให้ไฟฟ้าได้ที่ 0.65 โวลต์ ซึ่งให้ไฟฟ้าที่ต่ำเกินไปที่จะทำให้เกิดปัญหาภายในร่างกายมนุษย์ และสามารถให้กระแสไฟฟ้า 48 ไมโครแอมป์นานสูงสุด 12 นาที อาจดูเหมือนให้พลังงานไม่มาก แต่จากการทดลองมันสามารถจ่ายไฟให้กับไฟ LED ขนาดเล็กหรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ขนาดเล็กอื่น ๆ ได้ด้วย ซึ่งก็เพียงพอในการจ่ายไฟฟ้าให้กับอุปกรณ์ในร่างกายได้
ขั้วบวกของแบตเตอรี่ประกอบด้วย ไรโบฟลาวิน (หรือเรียกอีกอย่างว่า วิตามินบี 2) ในขณะที่แคโทดทำจากเควอซิทิน สารทั้งสองสารนี้สามารถพบได้ทั่วไปตามธรรมชาติในพืชและอาหารอื่น ๆ ส่วนถ่านกัมมันต์จะช่วยในการเพิ่มการนำไฟฟ้า
Cr. EURONEWS
อิเล็กโทรไลต์ใช้น้ำเปล่า และตัวคั่น (ที่แทรกซึมผ่านขั้วบวกและขั้วลบ ป้องกันไฟฟ้าลัดวงจร) ทำจากสาหร่ายโนริ ที่ใช้ในเมนูซูชิทั่วไปนี่แหละ ส่วนหน้าสัมผัสก็ใช้แผ่นเปลวทองคำพร้อมเคลือบขี้ผึ้งไว้บนขั้วบวกและขั้วลบ
ตอนนี้ทางทีมกำลังหาทางทำให้อุปกรณ์เหล่านี้มีขนาดเล็กลงเพื่อสะดวกในการรับประทานและในอนาคตพวกเขาคาดหวังว่าจะสามารถพัฒนาอุปกรณ์อื่น ๆ ที่สามารถกินได้รวมถึงเซ็นเซอร์ในการตรวจสอบสภาวะสุขภาพ เป็นต้น
พวกเขายังทิ้งท้ายอีกว่า แบตเตอรี่นี้ยังสามารถใช้ได้กับของเล่นเด็กที่ใช้ไฟฟ้าไม่มาก ป้องกันความเสี่ยงที่เด็กอาจหยิบจับของและกลืนเข้าไป เพื่อให้มันใช้งานได้สะดวกขึ้นจึงขอพัฒนาอุปกรณ์ต่อไปเรื่อย ๆ
โฆษณา