17 เม.ย. 2023 เวลา 12:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

Universal Basic Income จะเกิดขึ้นในไทยไหม?

ช่วงนี้ก็ใกล้จะเลือกตั้งใหญ่ของไทยแล้ว หลายๆ พรรคก็ต่างแข่งขันลงพื้นที่หาเสียงโปรโมทนโยบายเรียกคะแนนเสียงกันอยู่ทุกวัน แต่นโยบายที่ดูจะดึงความสนใจของสื่อและประชาชนได้ก็หนีไม่พ้นเรื่องปากท้อง การประกันรายได้ การแจกเงินอุดหนุนต่างๆ
แน่นอนว่านโยบายในลักษณะนี้ย่อมถูกใจประชาชนส่วนหนึ่ง และสร้างความกังวลใจแก่ประชาชนอีกส่วนหนึ่งเสมอ ในบทความนี้ Bnomics ก็เลยอยากพาทุกคนไปรู้จักกับคอนเซ็ปของ Universal Basic Income (UBI) จะเป็นอย่างไรเมื่อประชาชนทุกคนได้รับเงินรายได้จากรัฐบาล
1
📌 Universal Basic Income (UBI) คืออะไร?
Universal Basic Income (UBI) คือ หลักประกันรายได้พื้นฐานถ้วนหน้า หรือพูดง่ายๆ ก็คือการที่รัฐแจกเงินให้แก่ทุกคน เป้าหมายของหลักประกันรายได้ถ้วนหน้าก็คือ ช่วยบรรเทาความยากจนโดยไม่ต้องผ่านนโยบายภาครัฐที่มีขั้นตอนราชการยุ่งยากเข้ามาเกี่ยว ประชาชนเองก็ไม่ต้องมาพิสูจน์ความยากจนเพื่อให้ได้เงิน
2
ไอเดียของหลักประกันรายได้ถ้วนหน้า มีมาตั้งแต่สมัยศตวรรษที่ 16 ในหนังสือ “Utopia” หนังสื่อชื่อดังของคุณ Thomas More นักปรัชญาชาวอังกฤษ
2
ในเวลาต่อมา และคุณ Martin Luther King, Jr. ก็เคยได้เสนอแนวคิดการประกันรายได้ ไว้ในหนังสือของเขาที่ชื่อว่า “Where Do We Go from Here: Chaos or Community?” ที่ตีพิมพ์ในปี 1967 เช่นกัน
📌 ทำไมถึงควรมีหลักประกันรายได้พื้นฐานถ้วนหน้า?
ฝั่งผู้ที่สนับสนุนแนวคิดหลักประกันรายได้ถ้วนหน้ามองว่า แนวคิดนี้จะช่วยการันตีการจ่ายเงินจากรัฐบาล สามารถช่วยคนที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลังที่ปรับตัวไม่ทันจากภาวะเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ช่วยบรรเทาความยากจน เพิ่มความมั่นคงทางรายได้และความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนที่มีรายได้น้อย
นโยบายนี้ช่วยแก้ปัญหาความไม่มั่นคงในตลาดแรงงาน โดยเฉพาะงานที่ค่าจ้างต่ำ ซึ่งมักจะไม่ค่อยมีความมั่นคง แรงงานไม่รู้เลยว่าจะมีงานให้ทำถึงเมื่อไหร่ ทำให้รายได้ของคนเหล่านี้ไม่ค่อยแน่นอน ขึ้นอยู่กับนายจ้างในเวลานั้นๆ
งานวิจัยคาดว่าการมีหลักประกันรายได้ขั้นพื้นฐานจะช่วยให้คนมีแรงจูงใจในการทำงานมากขึ้น และยังทำให้คนมีสิทธิที่จะเลือกทำงาน หรือเลือกออกมาดูแลคนในครอบครัวได้ หรืออาจจะไปฝึกทักษะ ไปทำกิจกรรมอะไรที่อาจก่อให้เกิดประโยชน์แก่สังคมได้ ทำให้ในระยะยาว คนเหล่านั้นก็จะมีทักษะที่ดีขึ้น สามารถทำงานที่ดี มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
นอกจากนี้วิธีนี้ยังง่ายสำหรับประชาชนที่ได้รับเงิน และลดขั้นตอนความยุ่งยากที่ต้องไปเกี่ยวข้องกับหน่วยงานราชการ เพราะไม่จำเป็นต้องพิสูจน์คุณสมบัติเพื่อรับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลแต่อย่างใด
📌 ดาบสองคมของการมีหลักประกันรายได้ถ้วนหน้า
แต่แน่นอนว่านโยบายนี้แลกมาด้วยต้นทุนมหาศาล และต้องมีการเก็บภาษีในอัตราที่มากขึ้น ซึ่งยากที่คนส่วนใหญ่จะยอมรับในจุดนี้ได้ ทำให้นโยบายในลักษณะนี้จึงมีกระแสฝั่งที่ต่อต้านอยู่เสมอ
1
ในด้านของเศรษฐกิจ เมื่อคนได้รับเงินโดยไม่มีเงื่อนไขจากรัฐบาล เงินนั้นถูกใช้หมุนเวียนในระบบทำให้อุปทานเงินในประเทศเพิ่มขึ้น และอุปสงค์ในสินค้าและบริการก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน ส่งผลให้เกิดแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ ทำให้ค่าครองชีพสูงขึ้น
นอกจากนี้ยังมีความกังวลว่าคนที่ได้รับเงิน อาจจะรู้สึกขาดแรงจูงใจที่จะทำงาน เนื่องจากอยู่เฉยๆ ก็ได้เงิน ทำให้อัตราการว่างงานในประเทศสูง และมีหลายตำแหน่งที่ขาดคนทำงาน
1
สำหรับโลกในอุดมคติ การมีหลักประกันรายได้ถ้วนหน้าคงจะช่วยให้เราเข้าสู่โลกที่ไม่มีคนจนอีกต่อไป แต่สำหรับในโลกความเป็นจริง ก็คงต้องดูว่าประโยชน์จากการมีหลักประกันรายได้ถ้วนหน้านั้นคุ้มค่าที่จะลงทุนหรือไม่…
ผู้เขียน : ชนาภา มานะเพ็ญศิริ Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
References:
โฆษณา