17 เม.ย. 2023 เวลา 11:30 • ธุรกิจ

ทำไมแบรนด์ญี่ปุ่น ที่คนไทยคุ้นเคย และยิ่งใหญ่ในอดีต จึงล้มหายตายจากไป ในยุคนี้

ถ้าใครเป็นคนที่มีอายุมากกว่า 30 ปีขึ้นไป คงรู้กันดีว่าในยุคหนึ่ง แบรนด์สัญชาติ “ญี่ปุ่น” เคยมีอิทธิพลต่อชีวิตประจำวันของคนไทย เป็นอย่างมาก
โดยเฉพาะแบรนด์ญี่ปุ่น ที่ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน ทั้งชิ้นเล็ก และชิ้นใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น ทีวี วิทยุ พัดลม ตู้เย็น และเครื่องซักผ้า
7
ภายใต้แบรนด์ญี่ปุ่นที่เราคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็น Sanyo, Panasonic, Toshiba, Hitachi และ NEC เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันแบรนด์ญี่ปุ่นที่เราคุ้นเคยกันนี้ กลับค่อย ๆ หายหน้าหายตาไปจากบ้านของเรา แล้วทดแทนด้วยแบรนด์สัญชาติเกาหลีใต้ และจีน ที่นับวันจะครองส่วนแบ่งตลาดสินค้าหลาย ๆ ชนิดได้มากขึ้นเรื่อย ๆ
3
ซึ่งนั่นทำให้แบรนด์ญี่ปุ่นหลาย ๆ แบรนด์ ต้องตกอยู่ภายใต้สถานการณ์ที่ยากลำบาก
บ้างก็ประสบกับภาวะขาดทุนอย่างมหาศาล บ้างก็ต้องจำใจ ยอมขายกิจการบางส่วนให้กับกลุ่มทุนจากชาติอื่น ๆ เพื่อรักษาความอยู่รอด
ซึ่งตัวอย่างของแบรนด์ญี่ปุ่น ที่ต้องขายกิจการให้กับชาติอื่น ๆ ก็มีทั้ง
- Toshiba ขายธุรกิจทีวีให้ Hisense และธุรกิจเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านให้ Midea จากจีน
- Hitachi ขายธุรกิจเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน (นอกประเทศญี่ปุ่น) ให้กับ Arçelik จากตุรกี
- Sharp ขายกิจการให้ Foxconn จากไต้หวัน
ในบทความนี้ MarketThink จะพาไปหาคำตอบกันว่า แบรนด์ญี่ปุ่นเหล่านี้ พลาดที่จุดใด และทำไมจึงล้มหายตายจากไป ในยุคปัจจุบัน
3
ก่อนอื่น ต้องบอกก่อนว่า สาเหตุที่ทำให้แบรนด์ญี่ปุ่น อยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก เกิดขึ้นจากเหตุผลหลายเรื่องด้วยกัน
1
เหตุผลข้อแรกก็คือ แบรนด์ญี่ปุ่น เป็นแบรนด์ที่เก่งในเรื่องของ “ฮาร์ดแวร์”
ซึ่งแน่นอนว่าฮาร์ดแวร์ เคยเป็นจุดแข็งสำคัญ ที่ทำให้แบรนด์ญี่ปุ่น มีชื่อเสียงขึ้นมาได้
4
เช่น Sony เก่งเรื่องการทำฮาร์ดแวร์ของทีวี ที่มีคุณภาพสูง ให้สีสันที่สวยงาม มีความคงทน ใช้งานได้อย่างยาวนาน ทีวีจึงกลายเป็นสินค้าที่สร้างชื่อในระดับโลก ให้กับ Sony ในที่สุด
1
หรืออย่างแบรนด์ญี่ปุ่นอื่น ๆ ก็มีความสามารถในการทำฮาร์ดแวร์ได้ดีเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน หรือแม้แต่อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ ก็ตาม
3
แต่ในยุคปัจจุบัน ฮาร์ดแวร์เพียงอย่างเดียว ไม่เพียงพอต่อการพัฒนาสินค้าชนิดหนึ่ง และจูงใจให้ผู้บริโภคซื้อสินค้าจากแบรนด์ อีกต่อไปแล้ว
4
เพราะซอฟต์แวร์ คือสิ่งที่เข้ามาช่วยเติมเต็ม ให้ฮาร์ดแวร์ทำงานได้อย่างสมบูรณ์ และมีลูกเล่น ที่ตอบโจทย์การใช้งานของลูกค้า ได้ดียิ่งขึ้นนั่นเอง
2
แต่อย่างไรก็ตาม แม้ซอฟต์แวร์ จะเป็นสิ่งสำคัญต่อการพัฒนาสินค้าในยุคนี้ ทว่าบริษัทญี่ปุ่น กลับสอบตกในเรื่องนี้อยู่หลายครั้ง
ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุด คงหนีไม่พ้น Sony ที่มีผลิตภัณฑ์ “เซนเซอร์” กล้องถ่ายภาพ ที่ใช้ในโทรศัพท์สมาร์ตโฟนในระดับเรือธง ในหลากหลายแบรนด์
3
ไม่เว้นแม้แต่ iPhone ของ Apple ที่เลือกใช้เซนเซอร์กล้องถ่ายภาพ ของ Sony เช่นเดียวกัน
จน Sony สร้างผลกำไรจากการขายเซนเซอร์กล้องถ่ายภาพนี้ ได้อย่างมหาศาล
1
แต่กลายเป็นว่า เมื่อ Sony นำเซนเซอร์กล้องถ่ายภาพตัวเดียวกัน กับที่ขายให้แบรนด์โทรศัพท์สมาร์ตโฟนรายอื่น ๆ มาใส่ไว้ในโทรศัพท์สมาร์ตโฟนของ Sony เอง
5
กลับให้คุณภาพของภาพ ที่สู้โทรศัพท์สมาร์ตโฟนของแบรนด์อื่น ๆ ไม่ได้เลย ทั้งที่ใช้เซนเซอร์กล้องถ่ายภาพตัวเดียวกัน..
จนกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในกลุ่มคนที่ติดตามข่าวสารด้านเทคโนโลยีอยู่เสมอ
3
ซึ่งนั่นก็เกิดจากปัญหาทางด้านซอฟต์แวร์ ที่ไม่สามารถดึงศักยภาพการทำงานของฮาร์ดแวร์ออกมาได้อย่างเต็มที่
1
อีกเหตุผลที่สำคัญ ก็คือเหตุผลทางด้าน “การตลาด” ที่อาจเรียกได้ว่า เป็นหลุมพรางที่ทำให้แบรนด์ญี่ปุ่น ไม่สามารถนำเสนอสินค้าดี ๆ ของตัวเอง ไปสู่สายตาของลูกค้าทั่วโลกได้
4
แม้ว่าในความจริงแล้ว สินค้าของตัวเอง ก็มีดีไม่แพ้กันเลย..
1
ตัวอย่างที่ชัดเจนมากที่สุด คือในบางครั้งแบรนด์ญี่ปุ่น ไม่เก่งด้านการสื่อสารให้ลูกค้าทั่วโลก เข้าใจถึงตัวสินค้าของตัวเองแบบง่าย ๆ
1
โดยเฉพาะชื่อรุ่นของสินค้า ที่มักเรียกชื่อรุ่นด้วยรหัสยาว ๆ มีทั้งตัวเลข และตัวอักษรภาษาอังกฤษปะปนกัน จนทำให้เกิดความสับสน และที่สำคัญที่สุด คือ ลูกค้าทั่วโลก ไม่สามารถจดจำสินค้าของแบรนด์ญี่ปุ่นได้เลย
6
ในขณะที่แบรนด์สัญชาติอื่น ๆ มักตั้งชื่อของสินค้าด้วยคำที่โดดเด่น แต่จดจำได้ง่าย แม้จะได้ยินชื่อของสินค้านั้นเพียงครั้งเดียว
1
นอกจากนี้ แบรนด์ญี่ปุ่น ยังประสบปัญหาทางด้านการตลาด ที่ไม่สามารถหยิบเอาจุดเด่นด้านเทคโนโลยี มาใช้เพื่อสื่อสารกับลูกค้าได้
2
ตัวอย่างเช่น ในช่วงปี 2004 Sony เป็นบริษัทผู้ผลิตทีวีแบรนด์แรก ที่นำเทคโนโลยีหลอดไฟ LED มาใช้กับหน้าจอ LCD ของตัวเอง
1
แต่ Sony กลับไม่ได้นำเอาเทคโนโลยีหลอดไฟ LED นี้ มาใช้ในการสื่อสารให้ลูกค้า ได้รับรู้ถึงความแตกต่างระหว่างทีวีรุ่นเก่า กับรุ่นใหม่เลย..
2
ในขณะที่ Samsung ที่เปิดตัวทีวีที่ใช้เทคโนโลยีหลอดไฟ LED ตามหลัง Sony ราว 1 ปี กลับเลือกที่จะใช้กลยุทธ์การตลาด โดยเรียกทีวีรุ่นใหม่นี้ว่า ทีวี LED เพื่อบอกให้ลูกค้าได้รับรู้ว่า ทีวีรุ่นนี้ เป็นทีวีรุ่นใหม่
5
ผลลัพธ์ที่ได้ก็คือ Samsung ประสบความสำเร็จกับทีวี LED รุ่นใหม่อย่างมหาศาล ด้วยการใช้กลยุทธ์การตลาดที่สื่อสารถึงเทคโนโลยีใหม่ ให้กับคนทั่วโลกได้รู้ ได้อย่างตรงจุด
3
เหตุผลต่อมาก็คือ “วิธีคิด” หรือ Mindset ในการทำงานของคนญี่ปุ่น ที่กลายเป็นอุปสรรคต่อการสร้างนวัตกรรม
1
โดยตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุด คือ แบรนด์ญี่ปุ่น ยึดติดกับคุณภาพ ความพิถีพิถัน และความคงทนของสินค้า ซึ่งเป็นความสำเร็จเก่า ๆ ที่สร้างชื่อให้กับแบรนด์ญี่ปุ่นในยุคก่อน
1
แต่ความจริงแล้ว ในทุกวันนี้ Product Life Cycle ของสินค้า เปลี่ยนแปลงไปมาก
โดยเฉพาะสินค้า IT ที่คนในยุคปัจจุบัน ไม่ได้คาดหวังสินค้าที่มีอายุการใช้งานยาวนานนับ 10 ปี อีกต่อไป เพราะถึงอย่างไรแล้ว เมื่อสินค้าเหล่านี้ “ตกรุ่น” คนก็ต้องการที่จะซื้อสินค้ารุ่นใหม่ ที่มีความสามารถสูงกว่ามาใช้งานแทนอยู่ดี
3
แถมในหลาย ๆ กรณี ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ก็ทำให้ราคาสินค้ารุ่นใหม่ ๆ มีแนวโน้มลดลง หรือเข้าถึงได้ง่ายขึ้น อีกต่างหาก
1
นอกจากนี้ วิธีการทำงานของคนญี่ปุ่น ยังยึดติดกับกฎระเบียบ และแบบแผน มีขั้นตอนการทำงานอย่างชัดเจน รวมถึง “กลัวความเสี่ยง” จากการทดลองทำอะไรใหม่ ๆ
4
ทำให้การจะออกสินค้า หรือคิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ ขึ้นมาสักชิ้นหนึ่ง เป็นไปได้ยาก..
2
ซึ่งค่อนข้างจะเป็นอุปสรรค และตรงข้ามกับแนวคิดการทำงาน ของบริษัทสตาร์ตอัป หรือบริษัทที่เน้นขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม และความคิดสร้างสรรค์
4
แถมยังไม่นับรวมระบบอาวุโส ที่ยิ่งทำให้การเสนอความคิดเห็นของคนรุ่นใหม่ ทำได้ยากมากขึ้นไปอีก
2
อย่างไรก็ตาม ก็ใช่ว่าแนวคิดและวิธีการทำงานของคนญี่ปุ่น จะมีแต่ข้อเสียเสมอไป
เพราะในบางอุตสาหกรรม บางธุรกิจ แนวคิดแบบฉบับคนญี่ปุ่น ก็เป็นสิ่งจำเป็น และสร้างความได้เปรียบได้เช่นกัน
1
อย่างเช่น ธุรกิจที่เน้นคุณภาพของสินค้า ธุรกิจที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตของผู้คน หรือธุรกิจที่ต้องการความใส่ใจในรายละเอียดมาก ๆ
3
และนี่ก็คือเหตุผลหลัก ๆ ที่ทำให้แบรนด์ญี่ปุ่น ที่เคยยิ่งใหญ่ในอดีต ค่อย ๆ หายไปจากความทรงจำ และชีวิตประจำวันของคน โดยถูกทดแทนด้วยแบรนด์อื่น ๆ ทั้งจากเกาหลีใต้ และจีน
2
ซึ่งสิ่งที่น่าติดตามต่อไปก็คือ แบรนด์ญี่ปุ่นที่ยังหลงเหลืออยู่ จะปรับตัวให้เข้ากับความต้องการของคนในยุคปัจจุบัน และสภาพการแข่งขันที่รุนแรง ได้หรือไม่
หรือเพียงรอนับเวลาถอยหลัง และรอวันหายไป อย่างถาวร..
2
โฆษณา