19 เม.ย. 2023 เวลา 09:02 • การศึกษา
สิงคโปร์

ประสบการณ์ข้าราชการแรกเข้าเยือนสิงคโปร์ ๒๕๖๖

โลกของเรามีการเปลี่ยนแปลงมากแค่ไหน ภารกิจของนักการทูตก็เปลี่ยนไปมากเท่านั้น… ภารกิจของนักการทูตและกระทรวงการต่างประเทศมีพลวัตและการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ด้วยเหตุนี้นักการทูตจึงต้องพัฒนาตนเองและศึกษาเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ อย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้สามารถปฏิบัติงานส่งเสริมผลประโยชน์ของไทยโดยสอดรับและสอดประสานกับบริบทของโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทุกวันภายในเวลาอันจำกัดได้อย่างมีประสิทธิภาพ
3
ในบทความนี้ ผมจะพาผู้อ่านทุกท่านไปรู้จักกับโครงการดี ๆ ที่เป็นความร่วมมือระหว่างหน่วยงานราชการไทย – สิงคโปร์ (Civil Service Exchange Programme: CSEP) ซึ่งพาข้าราชการแรกเข้าของกระทรวงการต่างประเทศ ๒๐ คน เดินทางไปสิงคโปร์ เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองด้านนโยบายการต่างประเทศสถานการณ์โลก ตลอดจนประสบการณ์ในการทำงานสายการทูต – การต่างประเทศระหว่างทั้งสองประเทศ
1
ผู้เข้าร่วมโครงการถ่ายภาพร่วมกัน ณ เมอร์ไลออน (ที่มา: นายพลภัทร บุญจันทร์ นักการทูตปฏิบัติการ)
ก่อนอื่นเรามารู้จักโครงการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานราชการไทย – สิงคโปร์ (CSEP) กันพอสังเขป โครงการ CSEP จัดตั้งขึ้นเมื่อปี ๒๕๔๐ โดยมีจุดประสงค์ให้ข้าราชการพลเรือนจากสองประเทศได้พบปะสร้างความคุ้นเคย และแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่ดี (best practices) ระหว่างกัน นับตั้งแต่มีโครงการดังกล่าว ฝ่ายไทยได้เยือนสิงคโปร์แล้ว ๘ ครั้ง และฝ่ายสิงคโปร์มาเยือนไทย ๕ ครั้ง
2
ล่าสุด เมื่อวันที่ ๑๓-๑๖ มีนาคม ๒๕๖๖ ที่ผ่านมา สถาบันการต่างประเทศเทวะวงศ์วโรปการ ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงการต่างประเทศ ได้นำคณะข้าราชการแรกเข้าของกระทรวงฯ ไปแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ณ ประเทศสิงคโปร์ ภายใต้โครงการ CSEP
เพื่อให้ผู้อ่านเห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้นเกี่ยวกับโครงการดังกล่าว ผมจึงชวน คุณทยุต มงคลรัตน์ หรือ “วิน” นักการทูตปฏิบัติการ กรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้เข้าร่วมโครงการดังกล่าว มาแบ่งปันประสบการณ์และความประทับใจส่วนตัวจากการเข้าร่วมโครงการนี้ให้แก่ท่านผู้อ่าน Blockdit ของเราครับ
ผู้เข้าร่วมโครงการถ่ายภาพร่วมกัน ณ กระทรวงการต่างประเทศ สิงคโปร์ (ที่มา: นายพลภัทร บุญจันทร์ นักการทูตปฏิบัติการ)
แรงจูงใจในการเข้าร่วมโครงการ
“ผมไม่เคยไปสิงคโปร์เลยนะ” วินเล่าถึงจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาสนใจโครงการนี้ ซึ่งเขาคิดว่าเป็นโอกาสที่ดีสำหรับการเดินทางไปสิงคโปร์ครั้งแรก บวกกับโอกาสที่จะได้เรียนรู้แนวปฏิบัติที่ดีของสิงคโปร์ ซึ่งเป็นประเทศที่ได้ชื่อว่ามีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการประเด็นต่าง ๆ ได้อย่างดี รวมถึงความชื่นชอบด้านวัฒนธรรมที่วินมีอยู่เต็มเปี่ยมเป็นทุนเดิม ทำให้เขามองว่า สังคมที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติและวัฒนธรรมของสิงคโปร์ อันประกอบด้วยเชื้อชาติหลัก ๆ คือ ชาวจีน มาเลย์ และอินเดีย เป็นเสน่ห์ที่น่าค้นหาของประเทศนี้
1
สำหรับความคาดหวังจากการร่วมโครงการครั้งนี้ วินบอกว่าตนเองต้องการเห็นถึงวิสัยทัศน์ในภาพรวมของสิงคโปร์ รวมถึงทำความรู้จักกับเพื่อนร่วมอาชีพอย่างนักการทูตแรกเข้าของสิงคโปร์ และเหนือสิ่งอื่นใด ในฐานะนักการทูตรุ่นใหม่ เขายังมองว่าโครงการนี้เป็นโอกาสที่ดีที่ประเทศไทยจะนำเสนอศักยภาพและแนวปฏิบัติที่ดีของไทย เพื่อแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีศักยภาพในด้านต่าง ๆ ที่ทำได้ดีไม่แพ้ประเทศอื่น
1
ได้ไปที่ไหนมาบ้าง
ผู้เขียน และเพื่อนข้าราชการแรกเข้า เยี่ยมชม Sustainable Gallery และ City Gallery (ที่มา: เว็บไซต์กระทรวงการต่างประเทศ)
ตลอดสี่วันของการเข้าร่วมโครงการ วินและเพื่อน ๆ ได้มีโอกาสเดินทางไปยังสถานที่หลายแห่ง ตั้งแต่วันแรกที่ได้เยี่ยมชมสถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์ (สอท. ณ สิงคโปร์) ก็ได้รับเกียรติจากท่านทูตชุตินทร คงศักดิ์ หรือท่านทูตแซม เอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์ กล่าวบรรยายแนะแนวเส้นทางในสายอาชีพนักการทูตให้กับข้าราชการแรกเข้าทุกคน รวมไปถึงบรรยายลักษณะงานที่ สอท. ณ สิงคโปร์ ว่าจะมีภารกิจลักษณะใดบ้าง เนื่องจากงานในสถานทูตแต่ละแห่งทั่วโลกล้วนมีความแตกต่างกันไป
นอกจากนี้ ยังมีโอกาสได้พบปะกับผู้แทนประเทศไทยที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในฝ่ายต่าง ๆ ของ สอท. อาทิ ฝ่ายการค้าและฝ่ายทหาร ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า “ทีมประเทศไทย” ในต่างประเทศมิได้จำกัดอยู่แค่กระทรวงการต่างประเทศเท่านั้น
วันต่อมา เป็นการเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ถึงสองแห่ง ได้แก่ Sustainable Gallery ซึ่งเป็นสถานที่ศึกษาการจัดการเพื่อความยั่งยืนของสิงคโปร์ และ City Gallery ซึ่งเป็นที่จัดแสดงการวางผังเมืองของสิงคโปร์ จากนั้นช่วงบ่าย คณะได้เข้าฟังการบรรยายเกี่ยวกับการทูตดิจิทัลที่ Lee Kuan Yew School of Public Policy และฟังบรรยายเกี่ยวกับการค้าไทย - สิงคโปร์ ที่กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมของสิงคโปร์ โดยเน้นประเด็นความตกลงด้านการค้าดิจิทัล
ผู้เข้าร่วมโครงการถ่ายภาพร่วมกัน ณ บริษัท ปตท. สิงคโปร์ (ที่มา: Instagram กระทรวงการต่างประเทศ)
ในวันที่สาม คณะได้มีโอกาสเยี่ยมชมกระทรวงการต่างประเทศของสิงคโปร์ โดยใช้เวลาตลอดทั้งวัน ซึ่งวินได้ฟังการบรรยายเกี่ยวกับความสำคัญของการจัดทำการค้าเสรีกับประเทศต่าง ๆ ของสิงคโปร์ ได้สร้างเครือข่ายกับนักการทูตแรกเข้าของสิงคโปร์ รวมทั้งได้แลกเปลี่ยนและเรียนรู้เกี่ยวกับแนวปฏิบัติที่ดีด้านการต่างประเทศของทั้งสองฝ่าย
ในวันสุดท้าย ก่อนเดินทางกลับ คณะได้ไปเยี่ยมชมบริษัท ปตท. ที่สิงคโปร์ ซึ่งถือเป็นบริษัทรายใหญ่แห่งหนึ่ง และนับเป็นความภาคภูมิใจของไทยที่มีบริษัทสัญชาติไทยเข้าไปลงทุนในต่างประเทศครับ
สิงคโปร์นำเสนออะไร?
วินเล่าว่า สิงคโปร์นำเสนอแนวปฏิบัติที่ดี เช่น หลักการคิดของสิงคโปร์ที่ครบวงจร มีการวิเคราะห์ผลกระทบในทุกด้าน และนโยบายที่มุ่งเน้นการทำข้อตกลงทางการค้ากับประเทศต่าง ๆ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ประเทศขนาดเล็กอย่างสิงคโปร์เจริญรุ่งเรืองได้ รวมถึงได้แลกเปลี่ยนเกี่ยวกับแนวทางการทำงานในกระทรวงการต่างประเทศของทั้งสองประเทศ ที่มีทั้งส่วนที่คล้ายและแตกต่างกันออกไป เช่น ระยะเวลาในการออกประจำการ หรือการจัดตั้งสถาบันการต่างประเทศ ซึ่งสิงคโปร์เองมีสถาบันการต่างประเทศเหมือนกับไทย
นอกจากนี้ นักการทูตรุ่นใหม่ของทั้งสองประเทศยังได้แลกเปลี่ยนเกี่ยวกับประสบการณ์ส่วนตัว เช่น ภารกิจงานที่ทำ และบรรยากาศของสถานที่ทำงานด้วยเช่นกัน
แล้วฝ่ายไทยนำเสนออะไรต่อฝ่ายสิงคโปร์บ้าง ?
ทีมข้าราชการแรกเข้าของไทยได้นำเสนอนโยบายต่างประเทศของไทยที่น่าสนใจ เช่น โมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy Model: BCG Economy Model) เขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) รวมถึงด้านวัฒนธรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่วินสนใจเป็นการส่วนตัวอยู่แล้ว
ฝ่ายไทยได้นำเสนอ 5Fs ซึ่งเป็น soft power ของไทย ได้แก่ อาหาร (Food) ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ (Film) การออกแบบไทย (Fashion) ศิลปะการป้องกันตัวแบบไทย (Fighting) และเทศกาลประเพณีไทย (Festival) ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดี เนื่องจากสิงคโปร์มองว่าไทยเป็นประเทศอันดับต้นในอาเซียนที่ประสบความสำเร็จในการเผยแพร่วัฒนธรรม
1
ผู้แทนข้าราชการแรกเข้าจากประเทศไทยให้การบรรยาย แลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่ดี (ที่มา: เว็บไซต์กระทรวงการต่างประเทศ)
วินเสริมด้วยมุมมองส่วนตัวว่า แนวปฏิบัติที่ดีของไทยในการเผยแพร่วัฒนธรรมนั้นเป็นผลมาจากการทำวิจัยที่ “จริงใจ” และ “จริงจัง” โดยอาศัยการสำรวจเทรนด์ว่าทุนในการเผยแพร่ของเรามีอะไรบ้าง รวมถึงพูดคุยทำความเข้าใจกับเจ้าของวัฒนธรรมถึงความพร้อมที่จะเผยแพร่วัฒนธรรมนั้น ๆ ซึ่งทำให้เข้าใจวัฒนธรรมต่าง ๆ อย่างถ่องแท้นั่นเอง
1
ได้รับอะไรจากการฝึกอบรมครั้งนี้?
วินสรุปประโยชน์ที่ได้รับจากการเข้าร่วมโครงการออกเป็นสี่ข้อหลัก คือ (๑) การตอกย้ำและทำให้เห็นภาพเกี่ยวกับภารกิจของนักการทูตและข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศชัดเจนยิ่งขึ้น ซึ่งมุ่งเน้นการทำประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชนอย่างแท้จริง (๒) การสร้างสัมพันธ์ มิตรภาพ และความแน่นแฟ้นกับเพื่อนนักการทูตชาวสิงคโปร์
(๓) โอกาสที่ได้เห็นมุมมองของต่างชาติที่มีต่อประเทศไทย เช่น การที่สิงคโปร์มองว่าประเทศไทยประสบความสำเร็จในการเผยแพร่วัฒนธรรม และ (๔) โอกาสในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวปฏิบัติที่ดีซึ่งกันและกันระหว่างไทยกับสิงคโปร์
วินและเพื่อนข้าราชการแรกเข้าพูดคุยแลกเปลี่ยนกับข้าราชแรกเข้าจากสิงคโปร์ (ที่มา: นายพลภัทร บุญจันทร์ นักการทูตปฏิบัติการ)
สิ่งที่อยากฝากถึงผู้อ่าน
สำหรับผู้ที่สนใจอยากจะเข้ามาเป็นนักการทูต วินมองว่างานของกระทรวงการต่างประเทศทำให้มีโอกาสเดินทางไปต่างประเทศบ่อยครั้ง ซึ่งเป็นการเรียนรู้ แลกเปลี่ยนและสร้างเครือข่าย ยิ่งไปกว่านั้นยังเป็นการเปิดโลกทัศน์ไปในตัวทำให้เข้าใจมุมมองที่ชาวต่างชาติมีต่อประเทศไทย สิ่งที่สำคัญที่วินคิดเสมอคือ แม้จะไปเยือนไปประเทศที่พัฒนาแล้ว ก็ต้องหาโอกาสนำเสนอแนวปฏิบัติที่ดีของประเทศไทยให้แก่ประเทศนั้น ๆ โดยประเทศไทยมีเรื่องที่เป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่ประเทศอื่นได้หลากหลายด้านเช่นกัน
1
สำหรับบุคคลทั่วไป วินคิดว่า คนไทยทุกคนเป็น “ทูตวัฒนธรรม” ได้โดยธรรมชาติ จึงอยากขอเชิญชวนให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการเผยแพร่วัฒนธรรม ทุกครั้งที่มีโอกาสพบปะชาวต่างชาติหรือได้เดินทางไปต่างประเทศ และอย่าลืมเรียนรู้สิ่งดี ๆ จากประเทศต่าง ๆ เพื่อนำมาปรับใช้กับบริบทประเทศไทยกันด้วยนะครับ
1
วินร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่ดีกับฝ่ายสิงคโปร์ (ที่มา: นายพลภัทร บุญจันทร์ นักการทูตปฏิบัติการ)
นายสิรภพ เดชะบุญ
เจ้าหน้าที่ติดตามและวิเคราะห์ข่าว
กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ
โฆษณา