18 เม.ย. 2023 เวลา 10:17 • ธุรกิจ

ส่อง 5 นิสัยนักออกแบบอนาคต เพื่อสร้างทักษะรับมือกับความไม่แน่นอนอย่างมืออาชีพ

เคยได้ยินไหมครับ ที่ว่า อนาคตไม่ใช่มีไว้สำหรับทำนาย แต่มีไว้ให้เราสร้าง
หรือถ้าอย่างที่อดีตประธานาธิบดี Lincoln พูดไว้คล้าย ๆ กันก็คือ "The best way to predict the future is to create it."
วิธีทำนายอนาคตที่ดีที่สุดคือสร้างมันขึ้นมาเอง
แต่ทุกวันนี้ สถานการณ์โลกทำให้เรารู้สึกว่า ถูกอนาคตไล่ล่าบ้าง หรือบางทีอนาคตก็เหวี่ยงเราไปทางซ้ายที ทางขวาที ในแบบที่เรานึกไม่ถึงหรือตั้งตัวไม่ติด
ปัญหานานาชนิดถาโถมเข้ามา ตั้งแต่ปัญหาฝุ่นควัน PM2.5 โรคระบาดโควิด-19 การปฏิวัติรัฐประหาร เงินเฟ้อ ภาวะข้าวยากหมากแพง และกระแสดิจิตัลที่ disrupt วิธีการทำงานและใช้ชีวิตจนถ้วนหน้า
ไม่นับภัยคุกคามที่กำลังเดินเข้ามาหาเราช้า ๆ อย่างโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก
เมื่อเป็นอย่างนี้ หลักคิดในการสร้างอนาคตให้กับตัวเอง องค์กร สังคม หรือประเทศชาติจึงเปลี่ยนไปจากเดิม
แค่ตั้งเป้าหมาย เชื่อมั่นในความฝันของตัวเอง แล้วมุ่งมั่นเดินหน้าสู่เป้าหมายย่อมไม่พอ เพราะสภาพแวดล้อมของเราเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
อนาคตคาดเดาไม่ได้ เพราะว่าเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน แต่อย่างน้อยเราควรมีหลักคิดในการรับมือกับความไม่แน่นอนเหล่านี้
หลักคิดใหม่ของการมองเห็นอนาคต (Foresight) บ่งบอกว่า คนที่มีแนวโน้มจะประคองตัวจนสร้างอนาคตได้สำเร็จ ล้วนเริ่มต้นด้วยการสร้างทัศนคติหรือ mind-set ที่พร้อมที่จะรับมือกับอนาคตที่คาดเดาไม่ได้
ยิ่งไปกว่านั้น ถ้าเราเรียนรู้วิธี "ออกแบบ" อนาคตด้วย นั่นหมายความว่าเรากำลังสร้างอนาคตด้วยท่าทีเชิงรุก มากกว่าการตั้งรับ
ถ้าทำอย่างนี้บ่อย ๆ ก็จะกลายเป็นนิสัยที่คิดเชิงรุกต่อการมองไปในอนาคต
วันนี้จะมาแชร์หลัก 5 ข้อในการสร้างทัศนคติเพื่อปั้นอนาคตครับ หลักการเหล่านี้ใช้ได้กับทั้งชีวิตส่วนตัวและการทำงาน เกิดจากการตกผลึกของตัวผมเอง จากการที่มีโอกาสทำงานด้านอนาคตศึกษา (Future Studies) และการคาดการณ์อนาคต (Foresight) มาอย่างต่อเนื่องยาวนาน
และต่อไปนี้คือ The 5 Principles of the Foresight Mindset
หลักการ 5 ข้อของการปรับตัวและออกแบบอนาคตด้วยตัวเอง
1. Read the Signals (อ่านสัญญาณ)
เวลาที่เราขับรถ แม้จะมองไปข้างหน้าอย่างเหม่อ ๆ แต่ก็ขับรถไปได้เหมือนกันใช่ไหมครับ เพราะสมองของเรารับรู้ภาพตรงหน้าชัดเจน แต่ขณะเดียวกันตาของเราก็ยังมองเห็นภาพรอบด้านแต่เพียงราง ๆ
ภาพที่เห็นด้านข้างริมชายขอบ หรือบางทีที่เรียกว่า "peripheral vision" คือสิ่งที่มองเห็นแต่ไม่ใช่โฟกัส
ภาพที่ปรากฏต่อสายตาพวกนี้สำคัญ จงกวาดตาดูและอย่ามองข้ามในสิ่งที่คนอื่นมักมองข้าม หากฝึกนิสัยมองสิ่งรอบข้างอย่างใส่ใจ บางทีชีวิตก็เปลี่ยนได้
เราอาจเห็นความเปลี่ยนแปลงหรือสิ่งผิดปกติ เช่น เห็นเด็กที่ทำท่ากำลังจะข้ามถนน เห็นลานจอดรถที่มักเคยเต็มกลับว่างอยู่ หรือเห็นความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจในรูปของร้านค้าหรือตึกรามบ้านช่องที่เปลี่ยนรูปโฉมไปจากเดิม
องค์กรหัวก้าวหน้า มักตั้งทีมขึ้นมาให้มีหน้าที่เฉพาะในการกวาดจับสัญญาณ​ หรือที่เรียกว่าการทำ Environmental Scanning เพื่อค้นหาสัญญาณความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญและมีผลต่ออนาคตขององค์กร
พวกนี้เรียกรวม ๆ ว่า Emering Issues นี่คือสัญญาณความเปลี่ยนแปลงระยะเริ่มต้น การค้นพบสัญญาณที่สำคัญแต่เนิ่น ช่วยให้องค์กรมีเวลาเตรียมตัวรับมือ หรือแสวงโอกาสได้ก่อนคนอื่นครับ
2. Understand Uncertainties (เข้าใจความไม่แน่นอน)
ข้อนี้เป็นทัศนคติหรือท่าทีในการมองโลกที่ดูเหมือนจะเข้าใจง่าย แต่ปฏิบัติจริงไม่ง่ายอย่างที่คิดนะครับ
เพราะโดยวิสัยมนุษย์ย่อมยึดติดกับความเคยชิน ไม่ชอบความเปลี่ยนแปลง และในจิตใต้สำนึกมักคาดหวังว่า สิ่งต่าง ๆ จะคงอยู่เหมือนเดิม ยกเว้นสิ่งที่เราอยากเปลี่ยน
แต่ในโลกความเป็นจริงจะเห็นว่า ความเปลี่ยนแปลงวิ่งเข้าใส่เราอย่างไม่ยั้ง ตลอดเวลา นิสัยเปลี่ยนชีวิตที่สำคัญข้อนี้คือ ให้เข้าใจคำว่า "ความไม่แน่นอน"
ความไม่แน่นอน ก็คือสิ่งใหม่ที่เข้ามาทำลายรูปแบบหรือ pattern เดิมที่เราคุ้นเคย และก็มักจะทำลายความมั่นใจของเราไปเสียด้วย
จงเริ่มจากการยอมรับการเข้ามาถึงของสิ่งที่แตกต่างจากความคุ้นเคยครับ
เช่น ถ้าเคยชอบฟังแต่เพลงลูกกรุง ก็ให้ฟัง hip hop บ้าง ฟังเพลงลูกทุ่งบ้าง หรือฟังเพลงแจ๊สบ้าง ฝึกนิสัยให้ยอมรับความประหลาดใจหรือสิ่งที่ "ผิดคาด"
หลายองค์กรมักใช้การวาดภาพฉากทัศน์อนาคต (scenarios) เพื่อคลี่ความไม่แน่นอนออกมาให้เห็นเป็นภาพที่ชัดขึ้น ทำให้บอกได้ว่าอาจเกิดอนาคตได้กี่แบบ ภาพเหล่านี้ใช้สำหรับสื่อสารและช่วยในการตัดสินใจในเรื่องที่อาจคาดคิดไม่ถึง
3. Accept Influences (ยอมรับอิทธิพลจากภายนอก)
ถ้าหวนคิดให้ดี ชีวิตมักจะเปลี่ยนแปลงจากเหตุที่ไม่ได้วางแผน มากกว่าจะดำเนินไปตามที่ตั้งใจเสียทุกอย่าง เพราะว่ามีส่ิงที่ส่งอิทธิพลต่อชีวิตของคุณอยู่รอบตัวมากมาย ที่คุณควบคุมไม่ได้ ในที่นี้ขอเรียกรวม ๆ ว่า "กระแสพลังงาน"
1
นอกจากกระแสพลังงานของพ่อแม่และบุคคลรอบตัวแล้ว ยังมีปัจจัยที่ประกอบกันขึ้นมาเป็น "ระบบนิเวศ" ที่คุณอาศัยอยู่ ไม่ว่าจะเป็นระบบในธรรมชาติ ส่ิงแวดล้อม สังคม เศรษฐกิจ การเมือง และเทคโนโลยี ที่เป็นบ่อเกิดของพลังงาน ถาโถมเข้ามากระทบและมีอิทธิพลต่อเส้นทางอนาคตของคุณและองค์กร
ควรสร้างนิสัยที่หมั่นสังเกตกระแสพลังงานในระบบเหล่านี้ และ "โหนกระแส" เมื่อถึงคราวจำเป็น การเป็นเรือขวางลำเวลาที่น้ำไหลเชี่ยวย่อมไม่มีประโยชน์ ท่าทีที่ฉลาดกว่าคือการยอมรับอิทธิพลของพลังงานรอบตัว
รวมทั้งประการสำคัญคือ จงมองหาและเลือกแหล่งพลังงานที่จะนำคุณไปสู่อนาคตให้เจอ แหล่งพลังงานที่ว่านี้อาจจะเป็นบุคคล สิ่งของ สภาพแวดล้อมก็ได้
หลักข้อนี้ไม่ได้สอนให้เป็นคนตามกระแสอย่างเดียว แต่คนที่จะปั้นอนาคตให้ตัวเองได้สำเร็จ คือคนที่นอกจากรู้จักตั้งเป้าหมาย ยังรู้จักสังเกตทิศทางของพลังงานและใช้ประโยชน์จาก "ระบบนิเวศ" ให้มากที่สุด เปรียบเหมือนนักเดินเรือที่รู้จักหันใบเรือให้รับลมและบังคับควบคุมเรือจนไปถึงจุดหมายได้
4. Be An Explorer (เป็นนักสำรวจ)
นอกจากมีนิสัยในการมองเห็นกระแสพลังงานและเลือกหันใบเรือให้ถูกทิศแล้ว คุณสมบัติสำคัญของนักปั้นอนาคตที่ประสบความสำเร็จคือ การมีจิตวิญญาณของนักสำรวจครับ
ผมพบว่านักสำรวจที่มีชื่อเสียงในอดีต หลายครั้งก็ไม่แน่ใจว่า จุดหมายปลายทางอยู่ที่ไหน จะไปถึงเมื่อไหร่ คนพวกนี้จึงต้องทำใจให้กว้างเข้าไว้ พวกเขามีความกล้าที่จะจินตนาการถึงอนาคตที่เป็นไปได้หลาย ๆ แบบ
บ่อยครั้งก็เลยต้องมีนิสัยกล้าเสี่ยงหรือมีความกระหายที่จะเสี่ยง แต่ควรเป็นการยอมเสี่ยงแบบที่คาดหมายผลกระทบไว้ล่วงหน้า (make calculated risks)
แน่นอนที่ว่า เมื่อกล้าเสี่ยงแล้ว ก็ย่อมต้องกล้ายอมรับในความผิดพลาดและความล้มเหลวของตัวเองด้วย
สังเกตไหมครับว่า คนที่เป็นนักสำรวจ หรือองค์กรที่มีความเป็นนักสำรวจ จะมีนิสัยชอบตั้งคำถาม แต่ถ้าจะให้สมดุลและประสบความสำเร็จได้ดี ก็ควรหมั่นตั้งคำถามต่อตัวเอง และให้เวลากับการทบทวนตัวเองให้มาก ๆ
การหมั่นตั้งคำถาม เป็นจุดเร่ิมต้นของการออกแบบอนาคตครับ
5. Leapfrogging (คิดใหญ่แล้วกระโดดข้ามกำแพง)
คนที่จะปั้นอนาคตตัวเองได้ดี หรือพาองค์กรฝ่าฟันไปสู่อนาคตที่ดีได้ จะมีนิสัยในการกล้าคิด กล้ามองไกล กล้าฝันเห็นอนาคตที่แตกต่างจากวันนี้ และมุ่งสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่
แต่ว่าจะสร้างความเปลี่ยนแปลงขนาดนั้นได้ ก็ต้องมองข้ามบรรดาปัญหาในปัจจุบัน และวางแผนกระโดดข้ามไปถึงอนาคตให้ได้เร็ว ไม่ใช่ค่อย ๆ เดินไปทีละก้าว
1
ช้าเกินไปก็มักจะไม่ทันการ เพราะชีวิตของคนนั้นสั้น
เพราะแต่ละย่างก้าวมีกำแพงที่มองไม่เห็นขวางอยู่ตลอดทาง
เมื่อคิดจะไปถึงอนาคตให้ได้เร็วแล้ว คราวนี้ก็หมั่นการสังเกตความเปลี่ยนแปลงในสภาพแวดล้อม ดึงกระแสพลังงานรอบตัวมาใช้ประโยชน์ และหาทางกระตุ้นระบบนิเวศให้เปลี่ยนไปในทางที่เอื้อต่ออนาคตที่ตัวเองต้องการเดินทางไป ในเส้นทางที่สั้นที่สุด
นักธุรกิจหรือบริษัทที่ประสบความสำเร็จจำนวนมาก ไม่ได้ใช้การเติบโตแบบค่อย ๆ โตไป แต่อาศัยการกระโดดข้ามไปสู่อนาคต
ประเทศกำลังพัฒนาหลายแห่งก็ใช้วิธีกระโดดข้ามกำแพง โดยหลีกเลี่ยงการเดินซ้ำรอยประเทศที่พัฒนาแล้ว ตัวอย่างเช่น ประเทศเกิดใหม่ที่ไม่มีเครือข่ายโทรศัพท์ ก็จะกระโดดข้ามจากระบบสื่อสารโทรคมนาคมแบบเดิม (โทรศัพท์บ้าน) ไปสู่ระบบใหม่โดยทันที (โทรศัพท์มือถือ)
เรื่องการคิดใหญ่แล้วกระโดดข้ามกำแพงนี้ ทำคนเดียวไม่ได้ครับ ต้องพาคนอื่นเดินไปด้วยกัน ถ้าเมื่อไหร่ที่สามารถจัดระบบความสัมพันธ์ในระบบนิเวศได้ใหม่ ระบบนิเวศใหม่นี้ก็จะเป็นตัวที่เปลี่ยนโลก และนำพาเราไปสู่อนาคตนั้นเอง
บทเรียนทั้ง 5 ข้อนี้คือพื้นฐานเบื้องต้นของทัศนคติหรือ mindset ที่จำเป็นต่อการรับมือและออกแบบอนาคต หวังว่าจะมีประโยชน์ต่อการสร้างอนาคตของทุกท่านครับ
โฆษณา