21 เม.ย. 2023 เวลา 12:52 • ประวัติศาสตร์

ฉายาของประเทศต่าง ๆ : Northern Europe

หายหน้าหายตากันไปนาน ขอกลับมาต่อกับฉายาของประเทศต่าง ๆ กันนะครับ ครั้งนี้ขอพาทุกคนไปยังดินแดนที่ว่ากันว่ามีสวัสดิการดีที่สุด และผู้คนมีความสุขที่สุดในโลกอย่างยุโรปตอนเหนือ มาดูว่าพวกเค้าจะมีฉายาอะไรที่น่าสนใจกันบ้างครับ
1. นอร์เวย์ Norway : The Land of the Midnight Sun
"ดินแดนพระอาทิตย์เที่ยงคืน" นี่คือฉายาของประเทศนอร์เวย์ที่หลายคนรู้จักกันเป็นอย่างดี ประเทศที่มีราคาค่าครองชีพสุดแพง แต่ก็ได้ชื่อว่ามีสวัสดิการรัฐที่ดีที่สุดเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก
ปรากฎการณ์พระอาทิตย์เที่ยงคืนบนเกาะโลโฟเทน (Source: Pinterest)
ปรากฎการณ์พระอาทิตย์เที่ยงคืน คือการที่พระอาทิตย์จะไม่มีวันตกดินหรือลับขอบฟ้าทั้งวัน ซึ่งจะเกิดขึ้นประมาณ 2-3 สัปดาห์ในฤดูร้อนทางตอนเหนือของพื้นที่ที่อยู่เหนือเส้น Arctic Circle ซึ่งพื้นที่ส่วนหนึ่งของนอร์เวย์ก็อยู่ในบริเวณนี้พอดี
เมือง Ålesund ของนอร์เวย์ (Source: Norway Excursion)
หนึ่งในคนไทยคนแรก ๆ ที่ได้สัมผัสกับเหตุการณ์พระอาทิตย์เที่ยงคืนก็คือ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ท่านเคยเสด็จประพาสมาชมพระอาทิตย์เที่ยงคืนที่บริเวณ North Cave ที่อยู่เหนือสุดของประเทศนอร์เวย์ในปี 1907 ซึ่งพระองค์ได้ลงชื่อพระปรมาภิไทยเอาไว้บนก้อนหินก้อนหนึ่ง และปัจจุบันมีการสร้างพิพิธภัณฑ์ไทยเอาไว้ในบริเวณนี้ เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ระหว่างไทยและนอร์เวย์
รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาส North Cave ในปี 1907 (Source: Matichon)
แม้นอร์เวย์อาจจะไม่ใช่ประเทศแรก ๆ ที่คนไทยนึกถึงเมื่อต้องการจะเดินทางท่องเที่ยว แต่จริง ๆ แล้วนอร์เวย์มีหลายอย่างให้ทุกคนได้ค้นหา โดยเฉพาะธรรมชาติสวยงามที่มีตั้งแต่ภูเขา หน้าผา ฟจอร์ด ธารน้ำแข็ง หรือเกาะแก่งสวยงามต่าง ๆ อย่างหมู่เกาะโลโฟเทน รวมไปถึงแสงเหนือ และแน่นอนปรากฎการณ์พระอาทิตย์เที่ยงคืนที่เป็นฉายาของประเทศแห่งนี้
ธรรมชาติอันสวยงามของประเทศนอร์เวย์ (Source: Tripsavvy)
2. ฟินแลนด์ Finland : The Land of a Thousand Lakes
สำหรับคนไทยเมื่อพูดถึงฟินแลนด์ หลายคนคงจะนึกไปถึงคุณลุงหนวดขาวตัวอ้วน ใส่ชุดสีแดง ที่นำของขวัญมาให้เด็ก ๆ ในวันคริสต์มาสอย่างลุงซานตาคลอส หรือบางคนอาจจะนึกไปถึงตัวการ์ตูนมูมิน หรือประเทศผู้ให้กำเนิดซาวน่า ไม่ก็ยี่ห้อมือถือชื่อดังในสมัยก่อนอย่างโนเกีย
หมู่บ้านซานตาคลอสในเมือง Rovaneimi ของฟินแลนด์ (Source: https://www.insider.com/santa-claus-village-rovaniemi-finland-2016-12)
แต่ฉายา “The Land of a Thousand Lakes : ดินแดนพันทะเลสาบ” เป็นฉายาที่อยู่คู่กับประเทศฟินแลนด์มานานแสนนาน เพราะประเทศแห่งนี้มีทะเลสาบมากถึง 187,888 แห่ง ซึ่งสาเหตุที่ฟินแลนด์มีทะเลสาบมากมายขนาดนี้ นั่นก็เป็นเพราะฟินแลนด์เป็นประเทศที่เป็นที่ราบต่ำ และมีกลาเซียหรือธารน้ำแข็งเป็นจำนวนมาก ประกอบกับการที่ฟินแลนด์มีฤดูหนาวที่ค่อนข้างยาวนาน เมื่อน้ำแข็งเหล่านี้ละลายลงมายังที่ราบต่ำ จึงเกิดการขังตัวกลายเป็นทะเลสาบมากมายขึ้นทั่วประเทศนั่นเอง
The Land of a Thousand Lakes : ดินแดนพันทะเลสาบ (Source: Thrillist)
และไม่รู้ว่าเป็นเพราะทะเลสาบรึป่าวที่ทำให้ประเทศฟินแลนด์ติดอันดับ 1 ประเทศที่ประชากรมีความสุขที่สุดในโลกมา 6 ปีซ้อนแล้ว อีกทั้งฟินแลนด์ยังขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศที่มีการศึกษาดีที่สุดในโลก และมีสวัสดิการดีเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก ดังนั้นจากฉายาดินแดนพันทะเลสาบ ฉายาของฟินแลนด์อาจจะกลายเป็น ดินแดนแห่งความสุขในอนาคตก็เป็นได้
เฮลซิงกิ เมืองหลวงของฟินแลนด์ (Source: https://featuringfinland.com)
3. ไอซ์แลนด์ Iceland : The Land of Fire and Ice
ไอซ์แลนด์ อีกหนึ่งประเทศในแถบสแกนดิเนเวียที่กำลังมาแรงและเป็นที่นิยมสำหรับคนไทย แค่ชื่อประเทศก็บอกอยู่แล้วว่าประเทศนี้มีต้องชื่อเสียงเรื่องน้ำแข็ง แต่ฉายา “The Land of Fire and Ice : ดินแดนแห่งไฟและน้ำแข็ง” มาจากไหน โดยเฉพาะคำว่า “ไฟ”
หลายพื้นที่ของไอซ์แลนด์ ยังคงมีลาวาปะทุขึ้นมาอยู่อย่างต่อเนื่อง (Source: Iceland Monitor)
และก็ไม่ต้องหานานครับ เพราะคำตอบอยู่ที่ลักษณะทางภูมิประเทศและสถานที่ตั้งของเกาะขนาดใหญ่แห่งนี้นั่นเอง ไอซ์แลนด์ประกอบไปด้วยพื้นที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นภูเขาไฟที่ยังไม่ดับหลายลูก ธารน้ำแข็งกลาเซีย ชายหาดสีดำ พื้นที่โล่งกว้างที่เต็มไปด้วยหินภูเขาไฟ รวมไปถึงน้ำพุร้อน และอื่น ๆ อีกมากมาย ซึ่งความลับของเหล่าบรรดาภูมิประเทศที่แสนเป็นเอกลักษณ์เหล่านี้ อยู่ที่ใต้พิภพของประเทศแห่งนี้
Blue Lagoon บ่อน้ำพุร้อนที่มีชื่อเสียงมากของประเทศไอซ์แลนด์ (Source: Iceland Trippers)
ไอซ์แลนด์เป็นเกาะที่ตั้งอยู่บนแผ่นทวีปสองแผ่นคือ แผ่นทวีปอเมริกาเหนือ และแผ่นทวีปยูเรเซีย ซึ่งแผ่นทวีปทั้งสองจะเคลื่อนตัวออกจากกันตลอดเวลา พูดง่าย ๆ ก็คือภายใต้พื้นดินของไอซ์แลนด์นั้น แผ่นดินจะมีการเสียดสีไปมาตลอดเวลา ซึ่งทำให้เกิดรอยแยก และภูเขาไฟปะทุขึ้นหลายแห่ง ในปัจจุบันรอยแยกเหล่านี้สามารถเห็นได้อย่างชัดเจนที่อุทยานแห่งชาติบางแห่ง รวมถึงถ้าใครใจกล้าพอก็สามารถดำน้ำลงไปในรอยแยกเหล่านี้ได้ด้วย
กิจกรรมว่ายน้ำในรอยแยกของทวีป เป็นกิจกรรมที่หาทำได้เพียงไม่กี่ที่ในโลก (Source: My Travel Fix)
แต่ยังไม่หมดเพียงแค่นั้นครับ เพราะเนื่องจากไอซ์แลนด์ตั้งอยู่ใกล้กับขั้วโลกเหนือที่มีอากาศหนาวเกือบตลอดทั้งปี ทำให้ภูเขาไฟหลายลูกที่ยังไม่ดับ ถูกปกคลุมไปด้วยธารน้ำแข็งด้านบน ในฤดูร้อนธารน้ำแข็งเหล่านี้จะละลายกลายมาเป็นน้ำตกขนาดใหญ่ที่แสนตระการตา นอกจากนี้พื้นที่ที่เป็นช่องอากาศยังกลายมาเป็นถ้ำนำแข็งที่สวยงามเหมือนหลุดมาจากเทพนิยาย
น้ำตก Kirkjefell Foss หนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงของไอซ์แลนด์ (Source: Pinterest)
โดยรวมแม้ไอซ์แลนด์จะอยู่ห่างไกล และยากที่จะไปถึง แต่รับรองว่าถ้าใครได้มีโอกาสไปเยือนจะได้รับแต่ความประทับใจดีดีจากดินแดนแห่งไฟและน้ำแข็งกลับมาอย่างแน่นอน
4. ลิทัวเนีย Lithuania : The Land of Storks
ดินแดนแห่งนกกระสา ฉายาของประเทศนี้อาจจะดูไม่ค่อยคุ้นหูคนไทยเท่าไรนัก เพราะนกกระสาก็ดูจะเป็นนกที่สามารถพบได้ทั่วไปแม้แต่ในประเทศไทยเอง แต่ทำไมประเทศในแถบบอลติกอย่างลิทัวเนีย ถึงได้มีฉายาแบบนี้
Vilnius เมืองหลวงของลิทัวเนีย (Source: Odyssey Traveler)
สาเหตุที่ลิทัวเนียได้ฉายานี้มาครองนั้น มาจากการที่ลิทัวเนียมีภูมิอากาศที่เหมาะกับการเติบโตของนกกระสาเป็นอย่างมาก ทำให้ประเทศนี้มีประชากรนกกระสาที่หนาแน่นที่สุดในโลก ว่ากันว่าลิทัวเนียเป็นบ้านของนกกระสากว่า 50,000 ตัวเลยทีเดียว
White Stork หรือนกกระสาขาว นกประจำชาติของลิทัวเนีย (Source: Facebook)
ทีนี้หลายคนอาจจะเคยได้ยินตำนานเกี่ยวกับนกกระสาที่บอกว่า นกกระสาคาบเด็กมาให้บรรดาครอบครัวต่าง ๆ ใช่มั้ยครับ จริง ๆ แล้วคาดกันว่าตำนานนี้ก็เกิดจากดินแดนในแถบนี้นี่เอง เนื่องจากโดยส่วนมากแล้วคู่แต่งงานในยุโรปเหนือ จะแต่งงานในช่วงฤดูร้อนเพราะเป็นช่วงที่อากาศดี และฤดูร้อนคือตัวแทนของความอุดมสมบูรณ์ ซึ่งเมื่อฤดูร้อนผ่านไป และฤดูหนาวมาเยือน เหล่าบรรดานกกระสาทั้งหลายก็จะบินอพยพลงใต้ไปหาบริเวณที่อากาศอบอุ่น
9 เดือนต่อมา เมื่อฤดูใบไม้ผลิมาเยือน นกกระสาเหล่านี้ก็จะบินอพยพกลับมายังยุโรปเหนือเพื่อผสมพันธุ์ ซึ่งก็เป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่บรรดาคู่รักที่แต่งงานกันในช่วงฤดูร้อนปีที่แล้วมีลูกกันพอดี เป็นที่มาของตำนานนกกระสานำเด็กมาให้กับครอบครัวต่าง ๆ นั่นเอง
ตำนานนกกระสาที่พาเด็กมาให้กับครอบครัวต่าง ๆ (Source: Livescience)
ปัจจุบันนกกระสามีความสำคัญต่อลิทัวเนียเป็นอย่างมาก นอกจากจะเป็นนกประจำชาติแล้ว นกกระสายังเป็นสัญลักษณ์ของครอบครัว และความอุดมสมบูรณ์ ถึงขนาดมีการเฉลิมฉลองวันนกกระสาในวันที่ 25 มีนาคมของทุก ๆ ปี
ในวันนกกระสานั้น จะเป็นวันที่เด็ก ๆ ชาวลิทัวเนียตั้งหน้าตั้งตารอคอย เพราะพวกเขาจะได้ของขวัญจากพ่อแม่ มีการนำผลไม้ ขนม หรือไข่ทาสีมาห้อยตามกิ่งไม้ หรือตามรั้วบ้าน นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมแปลก ๆ อย่างหนึ่งคือจะมีการฆ่างู แล้วนำมาฝังไว้ที่หน้าบ้าน โดยหวังว่านกกระสาจะเข้ามาจิกกิน เพราะถ้าบ้านหลังไหนมีนกกระสาเข้ามาทำรัง บ้านนั้นก็จะประสบพบเจอแต่ความโชคดีและสงบสุขนั่นเอง
ระบำพื้นเมืองของชาวลิทูเนีย (Source: https://lithuanianfoundation.org)
5. เอสโตเนีย Estonia : Mary’s Land
มาถึงประเทศสุดท้ายแล้วนะครับ กับประเทศเอสโตเนียกับฉายา “Mary’s Land : ดินแดนแห่งพระแม่มารี” ฉายานี้อาจจะฟังดูประหลาด ซึ่งที่มาของมันก็ประหลาดไม่แพ้กัน
ในขณะที่ประเทศส่วนมากจะได้รับฉายามาจากสิ่งที่ประเทศนั้นมีชื่อเสียงเช่น ธรรมชาติที่เป็นเอกลักษณ์ หรือสิ่งที่พบได้มากในประเทศนั้น แต่ฉายาของเอสโตเนียกลับได้มาด้วยประวัติที่ฟังแล้วไม่ค่อยจะสู้ดีนัก
Talinn เมืองหลวงของประเทศเอสโตเนีย (Source: Financial Times)
ย้อนกลับไปในช่วงศตวรรษที่ 13 ประมาณปี ค.ศ. 1215 ในตอนนั้นดินแดนในแถบประเทศเอสโตเนียยังคงนับถือลัทธิเพแกน (Paganism) ซึ่งคำว่า "เพแกน" เป็นศัพท์ที่ชาวคริสต์นิยามขึ้นมาเพื่อใช้เรียกกลุ่มคนที่ยังคงนับถือลัทธิหรือศาสนาท้องถิ่น ที่ไม่ใช่ศาสนาคริสต์อยู่ หรือพูดง่าย ๆ คือเป็นศัพท์ที่ใช้เรียกคนนอกศาสนานั่นเอง
ผู้ที่นับถือลัทธิเพแกน มักจะได้รับการมองว่าเป็นคนไม่ดี ไม่มีศีลธรรม และเป็นเป้าหมายของคริสตจักรที่จะต้องทำให้คนเหล่านี้หันมานับถือศาสนาคริสต์ให้ได้ เพื่อปลดปล่อยคนเหล่านั้นจากความเชื่องมงายทั้งปวง
ลัทธิเพแกน (Paganism) คำที่ใช้เรียกศาสนาพื้นถิ่น ที่ไม่ใช่ศาสนาคริสต์ (Source: Adobe)
และในศตวรรษที่ 13 ดินแดนแถบเอสโตเนียเป็นดินแดนไม่กี่แห่งที่ยังไม่หันมานับถือศาสนาคริสต์ ดังนั้นทางพระสันตะปาปาจึงอนุญาตให้มีการทำครูเสด (Crusade) เพื่อ “เปลี่ยน” คนในดินแดนเหล่านี้ ให้หันมานับถือศาสนาคริสต์ซะ โดยใครที่มีส่วนร่วมในครูเสดนี้ จะได้รับการงดเว้นจากบาปที่เคยทำมาทั้งปวงในชีวิต ซึ่งก็เป็นแรงจูงใจที่คริสตจักรใช้ในการชักชวนเหล่าบรรดากษัตริย์และทหารจากดินแดนต่าง ๆ ให้มาเข้าร่วมในการทำครูเสดทุกครั้ง
และไม่นานผู้คนในดินแดนเอสโตเนียก็ถูกเปลี่ยน หรือบังคับให้หันมานับถือศาสนาคริสต์ จนพระสันตะปาปา Innocent ที่ 3 (ใช่ครับ พระสันตะปาปาชื่อ Innocent จริง ๆ) ได้มอบชื่อ Terra Mariana ให้กับดินแดนในแถบนี้ ซึ่ง Terra Mariana แปลตรง ๆ ก็คือดินแดนแห่งพระแม่มารี หรือ Mary’s Land เพื่อเป็นการบ่งบอกถึงความสำเร็จในการเปลี่ยนให้คน "นอกศาสนา" หันมานับถือพระเจ้านั่นเอง
Terra Mariana ดินแดนของเอสโตเนียหลังการทำครูเสด (Source: Wikipedia)
ในปัจจุบันคำว่า Terra Mariana ถูกใช้เป็นชื่อทางวรรณกรรมของประเทศเอสโตเนีย (คล้าย ๆ กับที่เราอาจจะเรียกประเทศไทยว่า สยามประเทศ) และถ้าถามว่าตอนนี้คนเอสโตเนียยังนับถือศาสนาคริสต์อยู่หรือไม่ คำตอบคือมีเพียง 16% เท่านั้นที่ตอบว่าตนเองนับถือศาสนาคริสต์ ในขณะที่ 58% ตอบว่าตนเองไม่นับถือศาสนาใดใดเลย ดังนั้นสุดท้ายแล้วคนเอสโตเนียก็ยังคงแสดงจุดยืนอย่างชัดเจนในเรื่องของการเลือกนับถือศาสนาแม้ว่าประเทศของพวกเขาจะมีฉายาว่าดินแดนแห่งพระแม่มารีก็ตาม
1
ปราสาท Cesis หนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของเอส
จบไปแล้วนะครับกับอีกตอนของฉายาของประเทศต่าง ๆ ครั้งหน้า Kang's Journal จะพาไปเก็บตกฉายาของประเทศอื่น ๆ ในยุโรปกัน อย่าลืมติดตามกันนะครับ
Source:
โฆษณา