20 เม.ย. 2023 เวลา 11:57 • ธุรกิจ

รู้จัก Employer Branding เทคนิคดึงดูดคนทำงานด้วยการสร้างแบรนด์องค์กร

นอกจากตำแหน่งงานแล้ว ภาพลักษณ์และชื่อเสียงขององค์กรก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่แคนดิเดตใช้ในการพิจารณาและตัดสินใจว่าจะสมัครงานกับบริษัทใดบริษัทหนึ่งดีหรือไม่ การทำ Employer Branding จึงเป็นสิ่งที่ทุกองค์กรควรใส่ใจและลงทุนทำ เพราะถ้าเราสามารถสร้างแบรนด์ขององค์กรให้เป็นที่รู้จักได้ ก็จะทำให้คนอยากร่วมงานกับเรามากขึ้น ใครที่สงสัยว่า Employer Branding คืออะไร และมีส่วนช่วยในการดึงดูดแคนดิเดตยังไงบ้าง JobThai จะมาแนะนำให้ได้รู้จักกันในบทความนี้
👉Employer Branding คืออะไร
Employer Branding คือการสร้างแบรนด์องค์กรผ่านการนำเสนอเป้าหมาย ค่านิยมและวัฒนธรรมองค์กรให้กับพนักงานในองค์กรและคนภายนอก เพื่อสร้างภาพลักษณ์ให้เป็นที่จดจำ ยิ่งองค์กรของเรามี Branding ที่ดี มีภาพจำในเชิงบวก ก็ยิ่งดึงดูดให้คนอยากเข้ามาทำงานด้วย
👉ทำไมองค์กรต้องให้ความสำคัญกับ Employer Branding
การสร้าง Employer Branding อาจเป็นสิ่งที่หลายองค์กรมองข้าม แต่จริง ๆ แล้วชื่อเสียงและภาพลักษณ์ขององค์กรมีอิทธิผลกับการตัดสินใจของแคนดิเดตในการเลือกองค์กรที่จะทำงานด้วยมากกว่าที่คิด ยกตัวอย่างง่าย ๆ ว่าถ้าต้องเลือกระหว่างบริษัท 2 แห่งที่มีผลิตภัณฑ์เป็นที่รู้จักมากพอ ๆ กัน แต่บริษัทนึงไม่ทำ Branding เลย ไม่มีใครรู้ว่าวัฒนธรรมขององค์กรนั้นเป็นยังไง บริษัทมีวิสัยทัศน์และค่านิยมแบบไหน เข้าไปทำงานแล้วจะเจอกับอะไรบ้าง
ในขณะที่อีกบริษัทนึงทำ Branding อยู่ตลอด สามารถเข้าไปดูกิจกรรมหรือข่าวสารเกี่ยวกับบริษัทได้ทางโซเชียลมีเดียและเว็บไซต์ของบริษัท แคนดิเดตรู้ว่าบรรยากาศในการทำงานเป็นยังไง วัฒนธรรมองค์กรเป็นแบบไหน การพิจารณาเลือกองค์กรก็มีแนวโน้มไปทางบริษัทที่มีการทำ Employer Branding มากกว่า เพราะอย่างน้อยก็ได้เห็นภาพคร่าว ๆ ว่ากำลังจะเข้าไปทำงานในองค์กรแบบไหน
นอกจากนี้การทำ Employer Branding ยังมีข้อดีอื่น ๆ อีก ไม่ว่าจะเป็น
🔸ดึงดูดคนมีความสามารถให้เข้ามาทำงานด้วย
ไม่ว่าองค์กรไหนก็ต้องการคนมีความสามารถเข้ามาทำงานด้วย แต่จำนวนคนที่มีคุณสมบัติและทักษะอย่างที่ต้องการอาจไม่ได้มีเพียงพอสำหรับทุกองค์กร โดยเฉพาะตำแหน่งที่เป็นที่ต้องการของตลาดที่อาจมีสงครามแย่งชิงตัวแคนดิเดตเก่ง ๆ ระหว่างบริษัท
ดังนั้นการทำ Employer Branding จึงช่วยให้องค์กรได้เปรียบอย่างมากในการสรรหาพนักงาน เพราะถ้าองค์กรมี Branding ที่โดดเด่น เป็นที่พูดถึงในเชิงบวก ก็ย่อมกลายเป็นตัวเลือกในใจของใครหลาย ๆ คน และดึงดูดให้แคนดิเดตที่มีความสามารถอยากเข้ามาทำงานด้วย
🔸ช่วยลดอัตราการลาออก (Turnover Rate) ทำให้พนักงานอยู่กับองค์กรนานขึ้น
Employer Branding ไม่ใช่การนำเสนอวัฒนธรรมและค่านิยมให้คนภายนอกรับรู้เท่านั้น แต่เป็นการส่งมอบสิ่งเหล่านี้กับพนักงานปัจจุบันในองค์กรด้วย เมื่อองค์กรมี Branding ที่แข็งแกร่งก็ทำให้พนักงานรู้สึกภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งและอยากทำงานให้กับองค์กรต่อไปอีกนาน ๆ
🔸ลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายให้กับบริษัท
แน่นอนว่าการรับสมัครพนักงานนั้นมีต้นทุนและค่าใช้จ่าย เช่น ค่าใช้จ่ายในการลงประกาศงาน ต้นทุนด้านเวลาในการสอนงานพนักงานใหม่ ซึ่งถ้าองค์กรลงทุนกับการสร้าง Employer Branding เพื่อดึงดูดให้คนอยากเข้ามาทำงานด้วยและช่วยในการรักษาพนักงานเดิมเอาไว้ ต้นทุนและค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ก็ย่อมลดลงตามเช่นกัน
🔸ช่วยให้ลูกค้าอยากสนับสนุนองค์กรต่อ
นอกจาก Employer Branding จะช่วยให้พนักงานอยากทำงานกับองค์กรนานขึ้นแล้ว ยังช่วยให้ลูกค้าขององค์กรอยากสนับสนุนสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ของเราต่ออีกด้วย
สังเกตว่าเมื่อมีข่าวว่าบริษัทไหนปฏิบัติกับพนักงานไม่เป็นธรรม หรือมีวัฒนธรรมในการทำงานที่ไม่ดี ก็อาจเกิดเป็นประเด็นร้อนในสังคมและนำไปสู่การแบนสินค้าและบริการ หรือต่อต้านผลิตภัณฑ์จากองค์กรนั้น ๆ ได้ เช่นเดียวกับเมื่อมีข่าวว่าบริษัทไหนปฏิบัติกับพนักงานอย่างเท่าเทียม มีวัฒนธรรมการทำงานดี ก็อาจเกิดการบอกต่อ ๆ กันและเชิญชวนให้คนสนับสนุนสินค้าขององค์กรนั้นด้วย
👉องค์กรที่ประสบความสำเร็จกับการทำ Employer Branding
ได้รู้ข้อดีของการทำ Employer Branding กันไปแล้ว มาดู 2 องค์กรที่ทำ Employer Branding จนประสบความสำเร็จกันบ้างว่าแต่ละองค์กรสร้างแบรนด์ยังไงและใช้วิธีไหน
🔸Google กับสวัสดิการที่เป็นมิตรกับพนักงาน
ถ้าพูดถึง Tech Company คงไม่มีใครไม่รู้จัก Google องค์กรยักษ์ใหญ่ที่ขึ้นชื่อเรื่องสวัสดิการและบรรยากาศในการทำงานที่ดี โดยสวัสดิการที่มอบให้กับ Googler หรือพนักงานบริษัทของ Google ก็มีมากมาย
ไม่ว่าจะเป็นสิทธิในการลาเพื่อเลี้ยงดูบุตร (Parental Leaves) มากถึง 18 สัปดาห์สำหรับพนักงานที่เป็นคุณพ่อคุณแม่ สวัสดิการน้ำและขนมให้กินได้ไม่อั้นที่บริษัท สวัสดิการด้านสุขภาพ เช่น สวัสดิการฟิตเนส โปรแกรมช่วยเหลือและให้คำปรึกษาเกี่ยวกับสุขภาพจิต สิทธิในการเข้าถึงแอปพลิเคชันสุขภาพจิตต่าง ๆ
นอกจากนี้ชาว Googler ยังมีอิสระในการทำงานเพราะ Google มีนโยบายการทำงานที่ยืดหยุ่นมาก ด้วยรูปแบบการทำงานแบบ Hybrid ที่ให้พนักงานทำงานจากบ้านได้ 2 วันต่อสัปดาห์ แถมยังสามารถใช้สิทธิ์ Work from Anywhere ได้ 4 สัปดาห์ต่อปีอีกด้วย
หลายคนอาจสงสัยว่าการมีสวัสดิการต่าง ๆ ให้กับพนักงานเกี่ยวข้องกับ Employer Branding ยังไง จริง ๆ แล้วการนำเสนอสวัสดิการและบรรยากาศในการทำงานนั้นเป็นส่วนสำคัญในการทำ Employer Branding เพราะสวัสดิการทุกอย่างล้วนสะท้อนกลับไปยังมุมมองและวิสัยทัศน์ขององค์กรว่าใส่ใจในความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงานหรือไม่ และให้ความสำคัญกับพนักงานในด้านไหนบ้าง
อย่างที่เห็นได้จากการทำ Branding ในด้านนี้ของ Google เพียงแค่อ่านสวัสดิการต่าง ๆ ที่บริษัทมอบให้พนักงาน เท่านี้ก็รู้แล้วว่า Google ให้ความสำคัญกับ Work-life Balance และ Well-being ของพนักงานมาก ทำให้ใคร ๆ ต่างก็อยากสมัครงานที่ Google และเข้าไปเป็นชาว Googler ด้ว
🔸Starbucks กับเทคนิคการสร้างแบรนด์ผ่านโซเชียลมีเดีย
อีกหนึ่งองค์กรที่ประสบความสำเร็จกับการทำ Employer Branding จนกลายเป็นกรณีศึกษาให้กับอีกหลายบริษัทคือ Starbucks เจ้าของธุรกิจร้านกาแฟที่เราคุ้นหูคุ้นตานั่นเอง
โดยกลยุทธ์การสร้างแบรนด์องค์กรของ Starbucks คือการบอกเล่าเรื่องราวและความสำเร็จของพนักงานผ่านโซเชียลมีเดียองค์กร ไม่ว่าจะเป็นการโพสต์รูปภาพพนักงานพร้อมข้อความแชร์ความรู้สึกและประสบการณ์ในการทำงานที่ Starbucks ลง Instagram หรือการสร้างเพลย์ลิสต์ Starbucks Jobs ในช่อง YouTube ขององค์กรเพื่อลงวิดีโอสัมภาษณ์พนักงาน นำเสนอบรรยากาศในการทำงานจริง รวมถึงเชิญชวนให้คนมาสมัครงานกับ Starbucks อีกด้วย
การนำเสนอเรื่องราวของพนักงานในองค์กรผ่านโซเชียลมีเดียนอกจากจะได้แสดงให้คนภายนอกเห็นถึงแนวทางการทำงาน สภาพแวดล้อม และสวัสดิการที่พนักงานจะได้รับแล้ว ยังทำให้พนักงานปัจจุบันในองค์กรรู้สึกมีตัวตน เป็นที่มองเห็น และรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งกับองค์กรมากขึ้นด้วย
โดย Starbucks นั้นพยายามนำเสนอเรื่องราวของพนักงานทุกเพศ ทุกวัย ทุกชาติพันธุ์ เพื่อแสดงจุดยืนในเรื่องความหลากหลาย (Diversity) ทำให้ไม่ว่าใครก็รู้สึกอุ่นใจที่ได้ทำงานที่นี่ แถมยังดึงดูดให้คนอื่น ๆ อยากมาร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับองค์กรด้วย เพราะไม่ต้องกลัวว่าตัวเองจะถูกเลือกปฏิบัติหรือกีดกันด้วยอคติ
นอกจากนี้ Starbucks ยังเป็นองค์กรที่ขึ้นชื่อในเรื่องการให้เกียรติพนักงานมาก เพราะที่นี่ไม่ได้เรียกพนักงานในองค์กรว่าพนักงาน แต่เรียกว่าเป็น Partner ของบริษัท
การทำ Employer Branding เป็นกลยุทธ์ที่ช่วยให้คนสนใจองค์กรของเรามากขึ้นและเป็นฝ่ายอยากสมัครงานเข้ามาร่วมงานกับเรา แถมยังช่วยเพิ่มการมีส่วนร่วมของพนักงาน ลดอัตราการลาออกของพนักงานเดิมลงด้วย ซึ่งการทำ Employer Branding นั้นก็สามารถทำได้หลากหลายวิธี ขึ้นอยู่กับว่าองค์กรของเราต้องการสร้างภาพลักษณ์แบบไหน อยากถูกมองเห็นแบบใด ต้องการดึงดูดคนประเภทไหนเข้ามา และต้องการส่งมอบความรู้สึกแบบไหนให้กับพนักงานปัจจุบันในองค์กร
อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่
👉https://blog.jobthai.com/hr/id/4934
อ่านบทความอื่น ๆ ของ JobThai
คลิกเลย 👉 https://blog.jobthai.com
ตามไปดูสาระดีๆ สนุกๆ จากคลิป TikTok ของ JobThai
คลิกเลย 👉 http://www.jobthai.com/r9ucBG
โฆษณา