21 เม.ย. 2023 เวลา 06:40 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี

อยากเขียนโปรแกรมเป็น แต่มีความรู้เป็น 0 ต้องเริ่มอย่างไรดีนะ?🤔

สวัสดีผู้อ่านที่อยากหรือสนใจจะเขียนโปรแกรมทุกท่าน ผม HelloWorld นะครับ😊
ทุกคนที่กดเข้ามาอ่านบทความนี้ส่วนใหญ่คงจะเป็นมือใหม่ที่ไม่เคยเขียนโปรแกรมมาก่อนเลย หรืออาจจะเป็นน้อง ๆ ปี1 ที่พึ่งติดแอดมิชชั่นในสาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์, เทคโนโลยีสารสนเทศ (IT), วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ (ซึ่งก็ยินดีกับน้อง ๆ ทุกคนที่แอดติดด้วยนะครับ✨🎉) แล้วเกิดอยากจะมาปูพื้นฐานการเขียนโปรแกรมนิดนึงเพื่อเป็นการเตรียมตัวก่อนเปิดเทอมมหาลัยสักหน่อย และก็อาจจะมีคนที่เคยเขียนมาบ้างแล้วนิด ๆ แต่ก็ยังไม่มั่นใจในตัวเองสักเท่าไหร่ 3 กลุ่มหลัก ๆ นี้ คงจะมีจุดประสงค์ตรงกันที่ว่า…
หากเราเริ่มต้นที่จะเขียนโปรแกรมเนี่ย…ต้องมีอะไรบ้างเป็นสิ่งสำคัญ?
ซึ่งในบทความนี้ ผมจะช่วยให้กระจ่างขึ้นได้บ้างไม่มากก็น้อย…ซึ่งการสอนในซีรีย์นี้อาจจะไม่อิงกับหลักสูตรหรือตำราจ๋า ๆ มากนัก จะเน้นจากประสบการณ์ตรงเป็นส่วนใหญ่ เพราะอยากจะถ่ายทอดให้ท่านผู้อ่านเห็นภาพแล้วให้ท่านสามารถเข้าใจในเนื้อหามากขึ้นได้นั่นเองครับ😊
อย่างแรกสุดเลยที่เหล่านักพัฒนาโปรแกรมต้องมีคือ “5 สิ่งที่สำคัญในการเขียนโปรแกรม” คือถึงแม้ว่าเราจะไม่เก่งเลยทั้ง 5 ด้านนี้ ก็ไม่เป็นไรครับ ผมเองก็ยอมรับว่ากำลังฝึกฝนพัฒนาเหมือนกัน แต่ผมก็ฝึกฝนพัฒนาในกรอบของ 5 สิ่งนี้เช่นกันครับ✨ ซึ่งมันได้ผลดีมาก ๆ เพราะอย่างน้อยเราก็รู้หลักทั้ง 5 นี้แล้ว เราก็สามารถฝึกฝนพัฒนาเรียนรู้อย่างเป็นระบบครับ ซึ่ง 5 สิ่งนี้นั้นมีอะไรบ้าง เราก็ไปดูกันได้เลยยยย
Programmer The Series EP.0: 5 สิ่งที่สำคัญในการเขียนโปรแกรม
Programmer The Series EP.0: เตือนให้อย่าใช้โทรศัพท์ในการเขียนโปรแกรม หันมาใช้คอมพิวเตอร์ในการเขียนตั้งแต่แรก ๆ เลยจะดีกว่านะ
สิ่งที่ 1 คอมพิวเตอร์/โน้ตบุ๊ค (ไม่นับโทรศัพท์มือถือ): หลังจากที่เราได้รู้ 5 สิ่งนี้ตามภาพแล้ว เดี๋ยวเรามาอธิบายอย่างละเอียดกันเลยดีกว่า..สิ่งแรกนั่นก็คือ “คอมพิวเตอร์หรือโน้ตบุ๊ค” หากไม่มีสิ่งนี้ถือว่าค่อนข้างลำบากมาก ๆ เลยเอาจริง ๆ เพราะโปรแกรมเมอร์หรือนักพัฒนาซอฟท์แวร์ส่วนใหญ่นั้นล้วนจะมีคอมพิวเตอร์/โน้ตบุ๊คเป็นของตัวเองแทบทั้งสิ้นเลย
ถึงแม้คอมพิวเตอร์ของเราจะช้าอืดอาดมาก ๆ แต่มันก็พอที่จะเขียนโปรแกรมได้แน่นอนครับ (ผมยังใช้ CPU Intel Celeron N4020 ใช้เขียนโปรแกรมอยู่เลยครับท่านผู้อ่าน55555🤣) เพราะมันใช้ทรัพยากรน้อยมาก ๆ เมื่อเทียบกับการตัดต่อวีดีโอ การตัดต่อภาพ หรือแม้กระทั่งการออกแบบกราฟิก
ฉะนั้นขอเพียงแค่มีคอมพิวเตอร์หรือโน้ตบุ๊คสักเครื่อง ก็ถือว่าผ่านสิ่งนี้แล้วอย่างสมบูรณ์ครับ😊 ถึงแม้คอมจะอืดอาดขนาดไหน ก็สู้ความตั้งใจของเราที่มีแรงเต็มเปี่ยมไม่ได้หรอกครับ อิอิ
แต่ถ้าท่านผู้อ่านพอมีกำลังทรัพย์ที่จะอยาก upgrade คอมพิวเตอร์ให้สามารถเขียนโปรแกรมได้ดีนั้น ผมก็ได้แนะแนวทางตามภาพด้านล่างนี้เลยครับ ส่วนจะเป็นยี่ห้อหรือรุ่นอะไร ท่านผู้อ่านก็ตัดสินใจกันตามสะดวกเลยนะครับ😊✨
Programming The Series EP.0: แนะนำแนวทางสเปกที่แนะนำในการเขียนโปรแกรมที่ดี (1)
Programming The Series EP.0: แนะนำแนวทางสเปกที่แนะนำในการเขียนโปรแกรมที่ดี (2)
สิ่งที่ 2 จิตใจ/ความมุ่งมั่นในการอยากศึกษา: โอเคครับ หลังจากที่เรามีคอมพิวเตอร์คู่ใจสักเครื่องนึงแล้ว ต่อมาคือเรื่องของจิตใจความมุ่งมั่นในการหมั่นศึกษาในการเขียนโปรแกรมครับ ซึ่ง…อุปสรรคอย่างแรก ๆ เลยที่เราต้องรับให้ได้เลยคือ “การศึกษาหาความรู้ไปตลอดชีวิตหรือ Lifelong learning” เพราะวงการ IT เนี่ยสิ่งที่สำคัญที่สุดคือการตามเทคโนโลยีให้ทันเข้าไว้ ถ้าหากตามเทคโนโลยีไม่ทัน สุดท้ายเราก็ล้าหลังได้เหมือนกันนะ
Programmer The Series EP.0: 3 สิ่งที่ต้องยอมรับหากใจอยากเข้ามาอยู่สายนี้
การเขียนโปรแกรมก็เช่นเดียวกันครับ เราก็ต้องศึกษาหาความรู้ไปตลอดช่วงชีวิตเช่นเดียวกัน เพราะภาษาทางโปรแกรมมิ่งจะมีการอัปเดตอยู่แทบตลอดทุกเดือนทุกปีเลยทีเดียวเชียว ฉะนั้นใครตามไม่ทันก็จะเหนื่อยหน่อยนะ แต่ถ้าตั้งใจพยายามยังไงทุกคนก็ตามทันอย่างแน่นอนครับ ถ้าได้ทำแล้วรู้สึกเป็นตัวของตัวเอง สู้ ๆ นะ✌
สิ่งที่ 3 ตรรกะความคิดตามหลักความเป็นจริง: ถ้าอุปกรณ์พร้อมแล้ว ใจก็พร้อมที่จะลุยแล้ว สิ่งต่อมาที่ขาดไปไม่ได้เลยคือ “ตรรกะตามหลักความเป็นจริง” นั่นเอง… ซึ่งสิ่งนี้ผมเชื่อว่าทุกคนมีอยู่ในตัวทุกคนอยู่แล้วแหละครับ ตรงนี้ผมอยากให้คิดว่า สิ่งนี้คือจุดแข็งของเราเลยครับ ถึงแม้เราจะเริ่มจาก 0 ก็ตาม
เดี๋ยวผมจะยกโจทย์ตัวอย่างมาเช่น “หากเราอยู่ที่กรุงเทพฯ เราจะมีวิธีใดบ้างที่จะเดินทางไปเชียงใหม่ได้ดีที่สุด?” พอทุกคนเห็นโจทย์นี้ขึ้นมา ทุกคนก็จะมีตรรกะการแก้ไขปัญหาขึ้นมาหลากหลายมาก ๆ เลยล่ะครับ… ซึ่งแน่นอนตามตรรกะความเป็นจริง คงไม่มีใครเดินไปจากกรุงเทพฯไปยังเชียงใหม่ใช่มั้ยล่ะครับ🤣🤣 ทุกคนก็พยายามสรรหาแนวคิดวิธีการที่จะไปถึงเชียงใหม่ได้ดีที่สุด
ถึงแม้ว่าทุกตรรกะความคิดจะไปถึงเชียงใหม่ได้สำเร็จ แต่ถ้าถึงได้ไว,เดินทางสะดวกสบายหรือต้นทุนใช้น้อยมากเท่าไหร่ ก็จะลดความลำบากในการเดินทางมากขึ้นเท่านั้นแหละครับ ซึ่งแน่นอนครับ มันไม่ได้ง่ายขนาดนั้นแน่นอน😅 สิ่งนี้ขึ้นอยู่กับตรรกะไหวพริบประสบการณ์ของท่านผู้อ่านเอง
ในทางเขียนโปรแกรมก็เช่นเดียวกันเลยครับ หากเราเขียนโปรแกรมที่มีขนาดใหญ่มาก ๆ และซับซ้อนจัด ๆ เลยเนี่ย ถ้าเราแก้โปรแกรมแล้วทำงานได้ช้า มี error มีข้อผิดพลาดกระจัดกระจายเนี่ย นั่นถือว่าประสิทธิภาพตรรกะการทำงานยังไม่ดีพอ หนำซ้ำอาจจะถูก user หรือลูกค้าของเราบ่นยับเสียอีก เพราะโปรแกรมของเราช้าเสียเหลือเกิน ไม่คุ้มเลยนะครับ ฉะนั้นโปรดจำไว้เลยครับว่า….
เราต้องพาลูกค้าหรือ user ใช้งานโปรแกรมของเราให้สะดวกรวดเร็วตรงใจลูกค้าหรือ user ให้ได้มากที่สุด! เพราะอย่างตัวเราเอง ถ้าเข้าเว็บไซต์ที่โหลดตั้ง 2–3 นาที กดอะไรไปก็ค้าง เป็นเราคงจะหงุดหงิดไม่ใช่น้อยเลยล่ะครับ
สิ่งที่ 4 จินตนาการความสร้างสรรค์: หลังจากเราได้ทั้ง 3 สิ่งแล้วท่านยังมีแรงที่จะไปต่อได้่ ก็ขอแสดงความยินดีด้วยนะครับ ท่านผู้อ่านเริ่มมีแววที่จะเป็นนักโปรแกรมเมอร์หรือเขียนโปรแกรมเป็นขึ้นมาบ้างแล้วนะครับ แต่ผมอยากเพิ่มอีก 2 สิ่งหลังนี้ เพื่อจะได้เขียนโปรแกรมได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นนั่นเองครับ🎉😊
ซึ่งสิ่งนี้นั่นก็คือ “จินตนาการความสร้างสรรค์” ครับ สิ่งนี้ถ้าเรามีคอมพิวเตอร์ มีใจหรือ passion และก็ตรรกะความคิดแล้ว แต่ไม่มีไอเดียหรือไม่สามารถมองโปรเจคนั้น ๆ ออกเป็นภาพได้เลย งานของเราก็จะมีประสิทธิภาพด้อยพอสมควรเลยนะครับ ฉะนั้นเราต้องอย่าขาดจินตนาการ ไอเดีย ความสร้างสรรค์โดยเด็ดขาดเลยนะครับ เพราะถ้าเรามองภาพโปรเจค หรือมองภาพความต้องการของลูกค้าไม่ออกเนี่ย ถือว่าทำงานได้ยากพอสมควรเลยนะครับ
ผมอยากจะยกตัวอย่างอย่างนึงให้พอมองเห็นภาพบ้างนะครับ ให้ทุกคนลองอ่านความต้องการของลูกค้าท่านนึงดูนะครับ แล้วพออ่านเสร็จให้ลองหลับตาดูเพื่อให้ท่านผู้อ่านจินตนาการออกมาเป็นภาพนะครับ ถ้ามองเป็นภาพได้แล้วค่อยลืมตานะครับ😊
“คุณครับ ผมอยากให้เว็บไซต์โรงเรียนผมมีแบบฟอร์มลงทะเบียนนักศึกษาด้วยน่ะครับ ช่วยออกแบบให้ผมทีนะครับ”
โอเค..อ่านเสร็จท่านผู้อ่านลองจินตนาการถึง “แบบฟอร์มลงทะเบียนนักศึกษา” ดูนะครับว่ามีลักษณะอย่างไร มีส่วนประกอบอะไรบ้างแบบคร่าว ๆ นะครับ หลับตานึกคิดเลยยย 🙈
Programmer The Series EP.0: แบบฟอร์มลงทะเบียนนักศึกษาแบบคร่าว ๆ (โดยใช้ความคิดของผมเอง 🤣)
แท่นแท๊นนน นี่คือแบบฟอร์มลงทะเบียนนักศึกษาแบบคร่าว ๆ นะครับ ซึ่งไม่มีผิดไม่มีถูกนะครับ จินตนาการของแต่ละท่าน บางท่านจินตนาการเก่งกว่าผมเสียอีกนะเอาจริงซึ่งถ้ามองเห็นภาพได้เนี่ย ท่านผู้อ่านก็สามารถวาดภาพบนที่ไหนก็ได้ ผ่านกระดาษ A4 ก็ได้ครับ แล้วนำภาพที่ท่านผู้อ่านวาดไว้ให้ลูกค้าดูต่อไปครับ
ถ้าลูกค้าโอเค คราวนี้ก็สามารถเขียนโปรแกรมได้อย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพมากขึ้นครับ เพราะเรามีแบบที่เรานึกแล้ววาดขึ้นมาแล้วนั่นเองครับ😊 เวลาจะแก้หรือจะเพิ่มเติมสิ่งที่ลูกค้าต้องการ ก็สามารถเพิ่มได้อย่างสะดวกและยืดหยุ่นมาก ๆ เลยล่ะครับ
สิ่งที่ 5 เรียนรู้ภาษาเพื่อความก้าวหน้า (Soft-Skill): สิ่งนี้ขอเสริมหน่อยนะครับ จริง ๆ เราก็มีทั้ง 4 สิ่งแล้ว และสิ่งตรรกะความคิดเนี่ยผมเปรียบเสมือนความรู้ทางคณิตศาสตร์นะครับ ส่วนสิ่งจินตนาการเนี่ย ผมก็เปรียบเสมือนความรู้ทางศิลปะน่ะแหละครับ แต่สิ่งหนึ่งที่ขาดไปคือเรื่องของ “ภาษา” นั่นเองครับ ถึงแม้จะไม่ได้สำคัญหนักมากเท่า 4 สิ่งแรกที่ว่า แต่ถ้ามีไว้ ท่านก็จะมีชีวิตที่ดีขึ้นมาก ๆ สามารถศึกษาหาความรู้ได้กว้างมากขึ้น มีเพื่อน มีอะไรให้ท่านผู้อ่านเต็มไปหมดเลยล่ะครับ
ซึ่งตัวผมเองก็ยอมรับนะครับว่าค่อนข้างที่จะอ่อนภาษาบ้าง ผมก็ยังต้องเรียนรู้ พัฒนา ฝึกฝนเหมือนท่านผู้อ่านนี่แหละครับ😊 ซึ่งก็ได้วางไว้ประมาณ 4 ภาษาเผื่อท่านผู้อ่านอยากจะสนใจศึกษาเพื่อความก้าวหน้าของตนเองนะครับ
Programmer The Series EP.0: 4 ภาษาที่ผมกำลังฝึกฝนอยู่ + ภาษาที่น่าสนใจ
ซึ่งตามภาพนี้ ผมยอมรับตรง ๆ เลยครับว่าผมอาจต้องใช้เวลาเป็นหลัก 10 ปีเลยครับกว่าจะเข้าใจหลักอย่างเป็นธรรมชาติ55555 ผมเรียนแค่ 4 ตัวนี้ก็มากมายแล้วแหละครับ ส่วนภาษาที่น่าสนใจนั้น เผื่อท่านผู้อ่านจะสนใจแล้วลองฝึกฝนดู ก็ไม่เสียหายนะครับ อีกอย่างเป็นประโยชน์สำหรับตัวท่านเองด้วย อนาคตไม่แน่นะครับ ท่านอาจจะพูดภาษาอย่างคล่องแคล่วก็เป็นได้นะครับ
เอาล่ะครับ! จบสำหรับ 5 สิ่งที่สำคัญในการเขียนโปรแกรมนะครับ ซึ่งน่าจะช่วยไม่มากก็น้อยนะครับในการปูพื้นฐานเริ่มจาก 0 จริง ๆ ก่อนที่จะเริ่มเขียนโปรแกรมกัน เพราะในบทความนี้ผมไม่ได้กล่าวถึงโค้ดแม้แต่ตัวเดียวเลย เพราะอยากให้ท่านเข้าใจพื้นฐานหลักของ “การคิด” ให้ได้ก่อนนะครับ ซึ่งถ้าท่านได้ทั้ง 5 สิ่งนี้บ้าง ท่านก็ถือว่าไปต่อได้แล้วนั่นเองครับ
ส่วนใครที่ยังไม่ครบทั้ง 5 ข้อนี้ ไม่ต้องเสียใจไปครับ พยายามค้นคว้าฝึกฝนพยายามเข้าไว้ครับ เพราะอย่างน้อยคุณได้สิ่งหนึ่งไปแล้วคือ “จิตใจความมุ่งมั่นในการศึกษา” แล้วนั่นเองครับ ทำตามทั้ง 5 สิ่งนี้ไปให้ได้ ผมเชื่อว่าถ้าทำได้ คุณก็สามารถเขียนโปรแกรมได้ดีขึ้นครับ✌️😊
ผมขอจบแต่เพียงเท่านี้นะครับ ถ้าเนื้อหาผิดพลาดหรือเสียหายอย่างไรก็ต้องขออภัยด้วยนะครับ🙏”เพราะผมอยากให้ทุกคนที่อ่านในบทความนี้เขียนโปรแกรมเป็นกันนะครับ” ขอบคุณและสวัสดีครับ
HelloWorld
2
โฆษณา