9 พ.ค. 2023 เวลา 11:00 • ประวัติศาสตร์

A discussion between the Carullists and the Molinists

เมื่อนักกีตาร์ทะเลาะกันเพราะเรื่อง 'นิ้วโป้ง' ?
‘การใช้นิ้วโป้งซ้ายกดโน้ตบนคอกีตาร์’ คือเทคนิคที่พบเห็นในเหล่าผู้เล่นกีตาร์ไฟฟ้าและโปร่ง เนื่องด้วยสรีระคอที่เล็ก จึงง่ายต่อการใช้นิ้วโป้งเอื้อมข้ามหลังคอกีตาร์มาจับสายด้านบน แต่สำหรับกีตาร์คลาสสิกที่มีคออันกว้างใหญ่ นอกจากสามารถทำได้ยากแล้ว ยังเสี่ยงต่ออาการบาดเจ็บตามมา ตำรากีตาร์คลาสสิกส่วนใหญ่ในปัจจุบัน จึงลงความเห็นในทิศทางเดียวกันว่า ’ไม่ใช้นิ้วโป้งซ้าย’
แต่ในศตวรรษที่ 19’ หรือยุคโรแมนติก ได้เกิดการถกเถียงอย่างเข้มข้นเกี่ยวกับประเด็นการใช้นิ้วเจ้าปัญหานี้ ความดุเดือดถึงขั้นเกิดการวาดภาพล้อเลียน ซึ่งได้กลายเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์กีตาร์คลาสสิก นั่นคือภาพ ‘A discussion between the Carullists and the Molinists’
‘การถกเถียงกันระหว่างคารูลิสส์และโมลินิสส์’ คือหนึ่งในหกภาพประกอบจากหนังสือ ‘La Guitaromanie’ วางจำหน่ายในปี 1829 เรียบเรียงโดย ชาร์ลส์ เดอ โมริสโกต (Charles de Marescot) หนังสือขนาดเล็กที่รวบรวมโน้ตเพลงกีตาร์จากเหล่านักประพันธ์ในยุคสมัยดังกล่าว
ภาพวาดปรากฏรูปของเหล่านักกีตาร์ที่กำลังใช้กีตาร์ลากอต (Lacote) ฟาดใส่กันอย่างชุลมุน โดยเป็นการล้อเลียนถึงประเด็นการถกเถียงกันระหว่างกลุ่มนักกีตาร์ที่เห็นต่างในเรื่อง ‘การใช้นิ้วโป้งซ้าย’ ซึ่งแบ่งได้สองฝั่ง ‘คารูลิสส์’ (Carullists) คือฝั่งที่เชื่อว่าการเล่นกีตาร์จำเป็นต้องใช้นิ้วโป้งซ้าย ส่วน ‘โมลินิสส์’ (Molinists) คือฝั่งที่เชื่อว่าไม่จำเป็นต้องใช้นิ้วโป้งซ้าย
การถกเถียงในครั้งนี้ มีที่มาจากตำราซึ่งเขียนโดยสองปรมจารย์กีตาร์ผู้เชื่อในแนวทางการเล่นที่ต่างกัน สองคนนั้นคือ เฟอร์ดินานโด คาลูลลี (Ferdinando Carulli) และ ฟรานซิสโก โมลิโน (Francisco Molino)
ต้นกำเนิด และการโคจรมาพบกันในยุครุ่งเรือง
เฟอร์ดินานโด คาลูลลี (Ferdinando Carulli, 1770-1841) ชาวอิตาลีผู้เกิดในเมืองเนเปิลส์ (นาโปลี) เริ่มเล่นเครื่องดนตรีชิ้นแรกคือ เชลโล่ ก่อนจะหันมาสนใจเครื่องสายอย่างกีตาร์ คาลูลลี ต้องศึกษาการเล่นด้วยตัวเอง เนื่องจากเมืองเนเปิลส์ไม่มีครูสอนกีตาร์ แต่ด้วยฝีมือการบรรเลงระดับพรสวรรค์ ทำให้ คาลูลลี มีโอกาสทัวร์รอบยุโรปในปี 1801 และประสบความสำเร็จจนมีชื่อเสียงโด่งดัง ในปี 1809 คาลูลลี มาลงหลักปักฐานเมืองที่ ณ เวลานั้นได้ชื่อว่าเป็น ‘เมืองหลวงของดนตรี’ นั่นคือ ปารีส
คาลูลลี ได้สร้างวัฒนธรรมกีตาร์ที่ปารีส วางรากฐานการเล่น เชื้อเชิญเหล่าชนชั้นสูง และตีพิมพ์ตำรากีตาร์ ซึ่งทำให้ผู้คนจากทั่วยุโรป ต่างเดินทางมายังปารีสเพื่อร่ำเรียนกับเขา ทั้งหมดคือช่วงเวลาอันรุ่งโรจน์ของ คาลูลลี ก่อนที่ความนิยมจะเริ่มสั่นคลอนหลังจากการมาเยือนของเหล่านักกีตาร์ระดับ Maestro ทั้ง มัตเตโอ คาคาซซี (Matteo Carcassi, 1792-1853) เฟอร์นานโด ซอร์ (Fernando Sor, 1778-1839) และชาวอิตาลีอีกคนที่เกิดก่อนเขา 2 ปี แต่อยู่คนละเมือง นั่นคือ
ฟรานซิสโก โมลิโน (Francisco Molino, 1768-1847) ชาวอิตาลีผู้เกิดในเมืองอีวรี (Ivrea) พื้นที่เขตปกครองในตูริน (Turin) โมลิโน เริ่มต้นเส้นทางดนตรีด้วยการตามพ่อผู้เป็นนักโอโบของกองทัพ ในช่วงวัย 15 - 18 ปี โมลิโน เข้าเป็นอาสาสมัครและเรียนรู้พื้นฐานทางดนตรีจากกองทัพ จนกลายเป็นนักไวโอลินประจำวงออเคสตรา
ปี 1818 โมลิโน เดินทางมายังกรุงปารีสในฐานะนักดนตรีเครื่องสาย ก่อนที่เขาจะค้นพบเครื่องสายอีกชนิดที่ไม่ได้ ‘สี’ แต่ ‘ดีด’ นั่นคือ ‘กีตาร์’ โมลิโน เริ่มต้นเส้นทางนักกีตาร์ภายใต้อิทธิพลของรุ่นน้องอย่าง คาลูลลี ผู้มาเยือนปารีสก่อนในปี 1809 (มาก่อน 10 ปี) และรวมถึงเหล่านักกีตาร์ในยุคก่อนหน้า ที่ได้ปูพรมวัฒนธรรมกีตาร์ไว้แล้ว แต่ที่กล่าวมาก็ไม่ได้ส่งผลอะไร โมลิโน ยังคงประสบความสำเร็จ กลายเป็นดาวเด่นในหมู่นักกีตาร์ และดึงดูดเหล่าชนชั้นสูงเข้ามาเป็นลูกศิษย์ได้หลายคน
คาลูลลี และ โมลิโน ต่างประสบความสำเร็จทั้งในฐานะนักดนตรีและอาจารย์ ความโด่งดังจากการเขียนตำรากีตาร์ ทำให้เกิดเหล่าลูกศิษย์ลูกหาจำนวนมาก แต่ได้นำมาซึ่งข้อพิพาทในแนวทางการเล่นที่แตกต่างกัน ซึ่งรวมไปถึงประเด็น ‘นิ้วโป้งซ้าย’ ด้วยเช่นกัน
‘ใช้’ ปะทะ ‘ไม่ใช้’
เรื่องราวอาจเริ่มต้นจากการเขียนตำรากีตาร์ของ โมลิโน ที่นำเสนอแนวทางการเล่นซึ่งแตกต่างจากตำราเล่มอื่นหลายด้าน หนึ่งในนั้นคือการไม่ใช้นิ้วโป้งซ้าย จนนำไปสู่ความไม่พอใจในเหล่าผู้เขียนตำราและนักกีตาร์ ซึ่งคู่กรณีที่ชัดเจนในเรื่องนิ้วโป้งซ้ายคือ คาลูลลี โดยได้พูดถึงประเด็นดังกล่าวว่า :
“ในบางตำรา มีการห้ามไม่ให้ผู้เล่นใช้นิ้วโป้งซ้าย ทั้งในกีตาร์หกสายและห้าสาย แต่ทว่าดนตรีจะมีความไพเราะนั้น ขึ้นอยู่กับความครบถ้วนสมบูรณ์ของเสียงประสาน (Harmony) ดังนั้นแล้วนิ้วมือซ้ายทั้ง 4 [ชี้ กลาง นาง ก้อย] จึงไม่เพียงพอ และในขณะเดียวกัน ทำนองเพลง (Melody) ยังต้องใช้โน้ตเบสในคีย์ที่ต่างกัน ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า เราจำเป็นต้องใช้นิ้วโป้งซ้ายอย่างยิ่ง ผมขอเชิญชวนให้ทุกท่านที่อยากเล่นกีตาร์ได้คล่องแคล่วขึ้น…จงใช้นิ้วโป้งซ้าย”
ส่วน โมลิโน ยังยืนยันว่า ดนตรีที่สมบูรณ์นั้นอยู่ใกล้แค่เอื้อมโดยไม่ต้องใช้นิ้วโป้งซ้าย เขากล่าวว่า :
"ผมแนะนำเหล่าลูกศิษย์ ไม่ให้ใช้นิ้วโป้งซ้าย เพราะยังไงก็สามารถสร้างเสียงประสานบนกีตาร์ได้อยู่แล้ว เพราะในการใช้งานจริง [นิ้วโป้งซ้าย] มันจะรบกวนตำแหน่งนิ้วทั้งหมดบนคอกีตาร์ นอกจากนี้ การใช้นิ้วโป้งซ้ายยังสร้างความลำบากให้คนมือเล็ก ลองนึกถึงงานเพลงของคุณซอร์ (Fernando Sor) ที่เต็มไปด้วยเสียงประสานจนแทบยกไปเล่นบนเปียโนได้ แต่ก็กลับสามารถบรรเลงบนกีตาร์ได้โดยไม่ต้องใช้นิ้วโป้งซ้ายด้วยซ้ำ”
หลังจากประเด็นการถกเถียงในครั้งนี้ ทั้งสองก็ยังคงแข่งขันกันผ่านผลงาน ทั้งตำราและบทประพันธ์ จนย่างเข้าสู่ขาลงของกีตาร์ในราวปี 1840 ก่อนจะฟื้นคืนชีพอีกครั้งในยุคของอังเดรส เซโกเวีย (Andrés Segovia, 1909-1987)
ขาลง และมรดกที่ตกทอดไว้
ความนิยมของ คาลูลลี ค่อยๆลดลงตั้งแต่การมาถึงของเหล่านักกีตาร์รุ่นใหม่ คาลูลลี ใช้ชีวิตที่เหลือต่อในปารีสจนกระทั่งเสียชีวิตในปี 1841 ส่วน โมลิโน เมื่อกีตาร์เข้าสู่ขาลง เขาต้องเอาตัวรอดด้วยการหันมาเขียนเพลงสำหรับไวโอลินอีกครั้ง จนเสียชีวิตไปในปี 1847
สำหรับ คาลูลลี นอกจากงานประพันธ์แล้ว ยังมีส่วนสำคัญในการพัฒนากีตาร์ร่วมกับ เรเน ลาคอต (Rene Lacote) โดยเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกกีตาร์หกสาย และเปลี่ยนกีตาร์จากเครื่องดนตรีประกอบการร้อง เป็นเครื่องดนตรีที่สามารถแสดงเดี่ยวได้สมบูรณ์มากขึ้น ส่วน โมลิโน การลุกขึ้นมาตั้งคำถามกับตำรากีตาร์ยุคก่อน และสร้างแนวทางการเล่นใหม่ ถือเป็นหนึ่งในส่วนสำคัญที่ต่อมาจะตกผลึกเป็นตำรากีตาร์คลาสสิกในยุคปัจจุบัน
นิ้วโป้งซ้าย ในปัจจุบัน
แม้จะเป็นเอกฉันท์สำหรับการใช้นิ้วโป้งซ้ายในกีตาร์คลาสสิก แต่คงไม่อาจสรุปได้ว่า โมลิโน เป็นฝ่ายถูก เพราะบริบทที่ทั้งสองถกเถียงกันอยู่ในช่วงการเปลี่ยนถ่ายระหว่างกีตาร์ ’ห้าสาย’ มาเป็น ‘หกสาย’ และกีตาร์ยังมีคอกับลำตัวที่เล็ก (ดั่งในภาพวาด) ในยุคนั้นจึงง่ายต่อการใช้นิ้วโป้งซ้ายกดโน้ต
แต่ในปัจจุบัน การใช้นิ้วโป้งซ้ายในกีตาร์คลาสสิก ไม่ได้เป็นข้อห้ามแต่อย่างใด เรายังคงเห็น เอริค แคลปตัน (Eric Clapton) บรรเลง Tears In Heaven บนกีตาร์คลาสสิกด้วยการใช้นิ้วโป้งซ้ายกดสายเบสด้านบน หากผู้เล่นสามารถทำได้และเกิดประโยชน์ต่อการเล่น คงไม่อาจมีผู้ใดห้าม
สำหรับ ‘A discussion between the Carullists and the Molinists’ ยังมีแง่มุมอีกมากมาย ทั้งความเห็นจาก เฟอร์นานโด ซอร์ และเหล่าผู้เขียนตำราคนอื่นๆ แต่หนึ่งสิ่งที่เห็นได้จากเหตุการณ์นี้ คือภาพสะท้อนให้เห็นถึงบริบทในยุคเฟี่องฟูของกีตาร์ ที่ผู้คนต่างให้ความสำคัญและลึกซึ้งกับเครื่องดนตรีชิ้นนี้อย่างจริงจัง
Writer : Literary Boy
สนใจเรียนกีตาร์ : https://www.facebook.com/ptnoteguitar
โฆษณา