14 พ.ค. 2023 เวลา 11:00 • ประวัติศาสตร์

Arpeggione กีตาร์คันชัก เครื่องสายที่เลือนหายไปตามกาลเวลา

จะเป็นอย่างไรหากกีตาร์ไม่ได้เล่นด้วยการดีด แต่เป็นการสีเหมือนไวโอลิน สิ่งนี้เคยเกิดขึ้นแล้วเมื่อ 200 ปีก่อน มีหลากหลายชื่อใช้เรียกเครื่องดนตรีชิ้นนี้ ‘กีตาร์คันชัก’ (Bowed Guitar) ‘กีตาร์วิโอลอนเชลโล’ (Guitar Violoncello) และ ‘กีตาร์ดามัวร์’ (Guitarre d’amore) แต่ชื่อที่นิยมเรียกมากที่สุดคือ ‘อาเพกจิโอเน’ (Arpeggione)
กีตาร์คันชัก และชูเบิร์ต
‘อาเพกจิโอเน’ ถูกประดิษฐ์ขึ้นในปี 1823 โดยช่างชาวออสเตรีย ‘โยฮัน เกออกค์ สตาฟเฟอร์’ (Johann Georg Stauffer) และช่างชาวฮังการี ‘ปีเตอร์ ทอยเฟลส์ดอร์เฟอร์’ (Peter Teufelsdorfer) โดยมีรูปร่างคล้าย ‘วิโอลา ดา กัมบา’ (Viola da Gamba) เครื่องสายโบราณในตระกูลไวโอลิน
อาเพกจิโอเน ส่วนใหญ่มักมีหกสาย มีเฟรต และจูนสายเหมือนกีตาร์ [E A D G B E] สะพานสายจะโค้งตามวิถีของคันชัก (Bow) เพื่อสะดวกต่อการเล่นโน้ตเสียงเดียว ผู้เล่นจำเป็นต้องประคองเครื่องดนตรีโดยการหนีบไว้ระหว่างขา เนื่องจากไม่มีขาตั้งสำหรับค้ำยันกับพื้นเหมือนเชลโลและดับเบิ้ลเบส
หลังจากถูกประดิษฐ์ขึ้นไม่กี่ปี ความนิยมของอาเพกจิโอเน กลับเสื่อมถอยอย่างรวดเร็วด้วยระยะเวลาเพียงสิบปี แต่การกำเนิดของเครื่องดนตรีที่ตรงกับยุคโรแมนติกอันอุดมไปด้วยเหล่ายอดนักประพันธ์ จึงเพียงพอที่จะทำให้คีตกวีชาวออสเตรีย ‘ฟรานซ์ ชูเบิร์ต’ (Franz Schubert, 1797–1828) สนใจแต่งเพลงสำหรับเครื่องดนตรีชิ้นนี้
ชูเบิร์ตต้องการประพันธ์เพลงสำหรับอาเพกจิโอเน เพื่อมอบให้กับ ‘วินเซนซ์ ชูสเตอร์’ (Vincenz Schuster) เพื่อนสนิทของชูเบิร์ตผู้เชี่ยวชาญด้านการบรรเลงอาเพกจิโอเน โดยชูสเตอร์ต้องการสร้างกระแสให้กับนวัตกรรมเครื่องดนตรีชิ้นนี้ ผ่านงานเพลงจากเหล่านักประพันธ์คนอื่นๆที่เขาเป็นผู้ว่าจ้าง ซึ่งต้องยอมรับว่าผลงานเหล่านั้นได้เลือนหายไปจากประวัติศาสตร์ มีเพียงไม่กี่บทเพลงที่หลงเหลือจนถึงปัจจุบัน หนึ่งในนั้นคืองานของชูเบิร์ต
โซนาตา อาเพกจิโอเน
‘Sonata Arpeggione’ (1824) แต่งขึ้นในเดือนพฤศจิกายน ณ กรุงเวียนนา ท่ามกลางการเผชิญกับโรคซิฟิลิสของชูเบิร์ต ซึ่งจะพรากชีวิตเขาไปด้วยวัยเพียง 31 ปี บทประพันธ์มีชื่อเต็มว่า ‘Sonata for Arpeggione and Piano in A minor, D. 821’ มีสามมูฟเม้นท์ ความยาวประมาณ 20 นาที โดยเป็นบทเพลงที่สามารถกล่าวได้ว่าหากไม่มีงานชิ้นนี้ ผู้คนอาจหลงลืมไปแล้วว่าครั้งหนึ่งเคยมีเครื่องดนตรีที่มีชื่อว่า ‘อาเพกจิโอเน’
แม้จะประพันธ์ในปี 1824 แต่กว่าจะถูกเผยแพร่ต่อสาธารณะต้องรอจนถึงปี 1871 หรือหลังจากชูเบิร์ตเสียชีวิตไปแล้ว 43 ปี และอาเพกจิโอเน ณ เวลานั้นได้หมดความนิยมไปแล้ว แต่การเผยแพร่ในปี 1871 บทเพลงกลับเป็นที่นิยมจากการถูกทรานสคริป (Transcribe) โดยนักดนตรีได้แปลงโน้ตจากอาเพกจิโอเน มาบรรเลงในเชลโล ดับเบิ้ลเบส และกีตาร์คลาสสิก
เหตุใดจึงไม่เป็นที่นิยม
สาเหตุที่อาเพกจิโอเนไม่ได้รับความนิยม หรือกลายเป็นเครื่องดนตรีร่วมสมัยเหมือนเครื่องอื่น สามารถแบ่งได้สองปัจจัย ปัจจัยแรกคือคุณภาพเสียง ปฏิเสธไม่ได้ว่ามิติเสียงที่ได้จากอาเพกจิโอเน ไม่ว่าจะเป็น ดัง-เบา แหลม-ทุ้ม ไม่สามารถผลิตเสียงได้สะดวกและเทียบเท่าเครื่องดนตรีอื่น
ปัจจัยที่สองคือโครงสร้างที่ออกแบบมาไม่เอื้ออำนวยต่อการเล่น ‘ปีเตอร์ เยทส์’ (Peter Yates) ศาสตราจารย์ด้านดนตรี ผู้ฝึกเล่นอาเพกจิโอเนกล่าวอย่างน่าสนใจว่า “การหาสายเพื่อเล่นโน้ตที่ถูกต้องเป็นเรื่องยาก และการประคองเครื่องดนตรีระหว่างขาเป็นเรื่องน่ารำคาญใจ” เหล่านี้อาจเป็นปัจจัยที่ทำให้อาเพกจิโอเนหมดความนิยมอย่างรวดเร็ว
อาเพกจิโอเน ในปัจจุบัน
แม้อาเพกจิโอเนจะเลือนหายไปจากประวัติศาสตร์พักใหญ่ ก่อนจะกลับมาอีกครั้งในฐานะเครื่องดนตรีเฉพาะกลุ่ม แต่สำหรับไอเดียการใช้คันชักในกีตาร์ยังคงมีให้เห็นอยู่ตลอด จิมมี เพจ (Jimmy Page) แห่งวง Led Zeppelin และจอร์นนี กรีนวูด (Jonny Greenwood) แห่งวง Radiohead ทั้งสองใช้คันชักสีกับสายกีตาร์ไฟฟ้าเพื่อสร้างเสียงพิเศษให้กับบทเพลงของพวกเขา ซึ่งเป็นภาพสะท้อนที่ชวนตั้งคำถามสนุกๆว่า ‘มีความเป็นไปได้หรือไม่ที่กีตาร์คันชัก จะกลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้ง?’
Writer : Literary Boy
สนใจเรียนกีตาร์ : https://www.facebook.com/ptnoteguitar
โฆษณา