Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Nocturne Story
•
ติดตาม
15 พ.ค. 2023 เวลา 11:00 • ประวัติศาสตร์
Niccolò Paganini นักไวโอลินกับความหลงใหลที่มีต่อกีตาร์
“ไวโอลินคือนายหญิงของฉัน แต่กีตาร์คือเจ้านายของฉัน” เป็นประโยคที่กล่าวโดยหนึ่งในนักไวโอลินผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาล ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความหลงใหลในกีตาร์ เครื่องสายที่แม้จะแตกต่างจากไวโอลิน แต่ก็มีบางสิ่งเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน เหล่านี้คือเรื่องราวอีกด้านหนึ่งของ ‘นิคโคโล ปากานีนี’ (Niccolò Paganini, 1782-1840)
เครื่องดนตรีชิ้นแรกที่ไม่ใช่ไวโอลิน
เครื่องดนตรีชิ้นแรกของปากานีนีในวัย 5 ขวบ คือ แมนโดลิน (Mandolin) โดยเริ่มเล่มตามผู้เป็นพ่อซึ่งประกอบอาชีพในท่าเทียบเรือ และหารายได้เสริมจากการเล่นแมนโดลินตามงานโอกาสต่างๆ เมื่ออายุได้ 7 ปี ไวโอลินเริ่มเข้ามาอยู่ในความสนใจของปากานีนี โดยผู้เป็นพ่อได้สอนวิธีการเล่นเบื้องต้นให้กับเขา แต่ไม่กี่เดือนต่อมา ปากานีนีสามารถบรรเลงบทเพลงไวโอลินได้แบบโน้ต-ต่อ-โน้ต มากกว่านั้นคือการเล่นแบบ ‘Sight Playing’ หรือการมองโน้ตไปเล่นไป
เมื่อความเก่งกาจฉายแวว ผู้เป็นพ่อซึ่งมีฐานะไม่ดี จึงผลักดันลูกชายให้เป็นนักไวโอลินอย่างเต็มตัว เมื่อผ่านการเคี่ยวกรำฝึกซ้อมอย่างหนัก หลังจากนั้นก็ไม่มีผู้ใดหยุดอัฉริยะผู้นี้ได้ ลีลาการบรรเลงบนเวทีทำให้เขาเป็นมากกว่านักประพันธ์ ความผิดปกติทางร่างกาย รูปลักษณ์ที่ผอมเพรียว-ขาวซีด กลายเป็นจุดสนใจและทำให้เขาถูกเชื่อมโยงกับการขายวิญญาณให้ปีศาจ
เหล่านี้คือเรื่องเล่าที่เป็นองค์ประกอบอันทำให้ชื่อของ ‘นิคโคโล ปากานีนี’ กึกก้องไปทั่วยุโรป เหล่างานประพันธ์ของเขากลายเป็นตัวจุดประกายให้ผู้คนเห็นถึงความพิเศษของไวโอลิน ‘Caprice No. 24’ กลายเป็นยอดเขาเอเวอเรสต์ที่เหล่านักดนตรีต้องการพิสูจน์ตัวเอง
ความหลงใหลในกีตาร์
ก่อนที่กีตาร์คลาสสิกจะวิวัฒนาการมามีรูปทรงเหมือนในปัจจุบัน ย้อนกลับไปในศตวรรษที่ 19 อีกหนึ่งวิวัฒนาการอย่าง ‘โรแมนติกกีตาร์’ (Romantic Guitar) เริ่มได้รับความนิยมในหมู่นายทุนและชนชั้นสูง ด้วยเสียงที่ไม่ได้ดังมาก ทำให้กีตาร์มักนิยมบรรเลงในพื้นที่ขนาดเล็กและเป็นส่วนตัว สวนทางกับไวโอลินที่ให้เสียงดังกังวาน สามารถบรรเลงในโรงละครได้อย่างเต็มอิ่ม ทำให้บทบาทของสองเครื่องสายอยู่ห่างกันอย่างชัดเจน ซึ่งแม้จะมีขนาดเล็กและให้เสียงไม่ดังมาก แต่ก็มากพอจะทำให้ปากานีนีหลงใหลในเครื่องสายชิ้นนี้
ไม่มีหลักฐานยืนยันว่าปากานีนีเคยเรียนกีตาร์ แต่ด้วยลีลาการประพันธ์ที่สะท้อนให้เห็นถึงความเข้าใจในศักยภาพของเครื่องดนตรี ทำให้เชื่อได้ว่าปากานีนีต้องมีฝีมือการบรรเลงกีตาร์เก่งกาจไม่แพ้ไวโอลินอย่างแน่นอน
แม้จะไม่เคยบรรเลงกีตาร์ต่อหน้าสาธารณชน แต่ปากานีนีก็ไม่เคยปิดบังในความชื่นชอบของเขา “ฉันชอบกีตาร์เพราะฮาร์โมนีของมัน กีตาร์มักเป็นเพื่อนร่วมทางของฉันตลอดการเดินทาง” ซึ่งก็มีบางครั้งที่ปากานีนี กล่าวว่าเขาไม่ได้ชอบกีตาร์ขนาดนั้น "ฉันไม่ชอบกีตาร์ แต่ต้องยอมรับว่ามันเป็นตัวช่วยให้ฉันคิดได้ง่ายขึ้น” ซึ่งแม้จะบอกว่าไม่ชอบ แต่ก็ดูจะเป็นคำพูดที่สวนทางกับจำนวนกีตาร์ที่เขาเคยครอบครอง และในครั้งหนึ่งที่ปากานีนีประสบปัญหาการเงินอย่างหนัก กีตาร์ก็เป็นหนึ่งในสิ่งของที่เขาไม่ยอมขาย
มิตรสหายผู้เป็นแรงบันดาลใจ
‘ลุยจิ เลกนานี’ (Luigi Legnani, 1790-1877) คือหนึ่งในยอดนักกีตาร์แห่งยุคโรแมนติก และเป็นเพื่อนสนิทกับปากานีนี ทั้งสองพบกันที่เจนัวในปี 1835 น่าเสียดายที่ไม่ได้มีโอกาสเห็นทั้งสองบรรเลงร่วมกัน เนื่องจากคอนเสิร์ตของพวกเขาถูกยกเลิกเพราะสุขภาพที่ไม่ดีของปากานีนี
เลกนานีชื่นชมสหายไวโอลินอย่างมาก ‘24 Caprices’ ของปากานีนี กลายเป็นแรงบันดาลใจให้เกิด ‘36 Caprices’ ชุดเพลงที่เหล่านักกีตาร์คลาสสิกยังคงนิยมเล่นจนถึงปัจจุบัน ขณะเดียวกันยอดนักไวโอลินก็ชื่นชมเลกนานีเช่นกัน ‘Grand Sonata (MS 3)’ กลายเป็นงานประพันธ์ที่อุทิศแด่มิตรสหายกีตาร์ของเขา
แรงบันดาลใจจากกีตาร์
ในยุคสมัยที่กีตาร์ยังไม่ได้โดดเด่นในสายตาเหล่านักประพันธ์ ปากานีนีคือหนึ่งในนักดนตรีระดับแนวหน้าที่หยิบยกเครื่องสายชิ้นนี้ ขึ้นมามีบทบาทในหลากหลายงานประพันธ์ของเขา โดยนอกจากจะเป็นนักไวโอลินผู้สร้างคุณงามความดีให้กับกีตาร์แล้ว อีกด้านหนึ่งปากานีนียังนำไอเดียจากการเล่นกีตาร์มาพัฒนาเทคนิคการเล่นไวโอลินด้วยเช่นกัน
หนึ่งในเทคนิคที่เชื่อว่าได้รับแรงบันดาลใจจากกีตาร์คือ การใช้นิ้วมือซ้ายเกี่ยวสาย และการใช้นิ้วมือขวาดีดไปที่สายไวโอลิน แม้จะไม่มีการยืนยัน แต่เหล่านี้ได้สะท้อนให้เห็นว่าแม้กีตาร์และไวโอลินจะเป็นเครื่องสายที่มีวิธีการเล่นต่างกัน แต่ก็มีความสัมพันธ์บางอย่างเชื่อมโยงซึ่งกันและกันอยู่
Fun Fact : ด้วยลีลาการประพันธ์ที่รวดเร็วและเร้าใจ ทำให้เลกนานีถูกขนานนามว่าเป็น ‘Paganini of the Guitar’
Writer : Literary Boy
สนใจเรียนกีตาร์ :
https://www.facebook.com/ptnoteguitar
References :
[1]
https://interlude.hk/on-this-day-27-october-niccolo
...
[2]
https://www.stringsbymail.com/.../niccolo-paganini-1782
...
[3]
https://www.yamaha.com/.../classica.../trivia/trivia003.html
[4]
http://www.maestros-of-the-guitar.com/luigilegnani.html
เยี่ยมชม
facebook.com
PTNote Guitar
PTNote Guitar. 1,660 次赞 · 1 人在谈论. #พื้นที่สำหรับคนรักกีตาร์
ความรู้
เกร็ดความรู้
บันทึก
1
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย