16 พ.ค. 2023 เวลา 11:00 • ประวัติศาสตร์

Julian Bream กับอุบัติเหตุรถยนตร์ที่เกือบต้องเลิกเล่นกีตาร์ตลอดชีวิต

‘นิ้วมือ’ เปรียบเสมือนสัญลักษณ์แห่งความก้าวหน้าของมนุษย์ การมีนิ้วมือทำให้เราสามารถทำงานขนาดเล็กได้ดีกว่าสิ่งมีชีวิตอื่น เช่นเดียวกับการเล่นดนตรี โดยเฉพาะกีตาร์คลาสสิกที่จำเป็นต้องใช้นิ้วมือในการบรรเลงบทเพลง จึงไม่แปลกหากนิ้วมือจะเป็นสิ่งที่นักกีตาร์หวงแหนมากที่สุด
ทว่าอุบัติเหตุเป็นสิ่งที่คาดเดาไม่ได้ เช่นเดียวกับกรณีของนักกีตาร์คลาสสิกผู้ล่วงลับ ‘จูเลียน บรีม’ (Julian Bream, 1933-2020) ที่ครั้งหนึ่งเคยประสบอุบัติเหตุทางรถยนตร์ อันทำให้นิ้วมือของเขาไม่เหมือนเดิม และจำเป็นต้องฝึกเล่นกีตาร์ใหม่เกือบทั้งหมด
วัยเด็ก แจ๊ส และกีตาร์คลาสสิก
ด้วยสภาพแวดล้อมที่ปกคลุมไปด้วยเสียงเพลงจากพ่อผู้ประกอบอาชีพนักดนตรี จึงไม่แปลกหากครอบครัวบรีมจะหล่อหลอมให้ลูกชายหลงใหลในเสียงดนตรี แม้เส้นทางดนตรีของเด็กน้อยบรีมในช่วงแรกจะไปในทางเล่นเปียโน แต่สังคมดนตรีแจ็สและจังโก ไรน์ฮาร์ดท์ (Django Reinhardt, 1910-1953) กลายเป็นแรงบันดาลใจให้บรีมแอบฝึกเล่นกีตาร์ควบคู่ไปด้วย
เมื่อผู้เป็นพ่อทราบถึงความสนใจของลูกชาย จึงไม่ปิดกั้นโอกาสทางความรู้ บรีมเริ่มเรียนกีตาร์กับพ่อและคลุกคลีกับดนตรีแจ๊สอยู่พักใหญ่ จนกระทั่งวันที่ผู้เป็นพ่อนำแผ่นเสียงกลับบ้าน เมื่อเข็มเริ่มวิ่งไปตามร่องแผ่น เสียงกรอสายกีตาร์คลาสสิกในเพลง ‘Recuerdos de la Alhambra’ เสียงมนต์สะกดจากปลายนิ้วของอันเดรส เซโกเวีย (Andrés Segovia, 1893-1987) ทำให้เส้นทางดนตรีของเด็กหนุ่มบรีมเปลี่ยนไปตลอดกาล
แม้ผู้เป็นพ่อจะมีความกังวลเกี่ยวกับเส้นทางอาชีพนักกีตาร์คลาสสิก แต่ความมุ่งมั่น ทำให้เด็กหนุ่มจากแบตเตอร์ซี เขตตอนใต้ของลอนดอน ไปไกลกว่าที่หลายคนคาดคิด ไกลชนิดที่ทำให้กีตาร์คลาสสิกในยุคสมัยของเขา เปรียบดั่งดอกไม้ที่เบ่งบานทั่วอังกฤษและยุโรป
บรีมมีลีลาการบรรเลงที่โดดเด่น การขยับมือขวาไปเล่นใกล้สะพานสาย ก่อนสลับไปเล่นใกล้คอกีตาร์ สร้างโทนเสียงแหลมตัดนุ่มอย่างฉับพลัน ขณะภาษาดนตรีกำลังบรรยาย ภาษากายของบรีมก็พริ้วไหวไปตามเสียงที่เขาบรรเลง เหล่านี้คือเอกลักษณ์ที่ใครชมใครฟังเป็นอันต้องจำได้
อุบัติเหตุรถยนตร์
ปี 1984 หนังสือพิมพ์ The Times ฉบับวันที่ 24 กรกฎาคม รายงานว่า จูเลียน บรีม นักกีตาร์คลาสสิก ประสบอุบัติเหตุทางรถยนตร์ ณ เมืองดอร์เซ็ต (Dorset) ขณะเดินทางกลับบ้าน โดยได้รับบาดเจ็บ ข้อศอกขวาหักหลายจุด
แฮโรลด์ ชอว์ (Harold Shaw) ผู้จัดการส่วนตัวกล่าวว่า บรีมพยายามหักหลบรถอีกคัน ก่อนที่รถสปอร์ต MG ของเขาจะพุ่งชนเข้ากับด้านข้างของสะพาน บรีมรักษาตัวในโรงพยาบาลออดสต็อก (Odd Stock Hospital) ในเมืองวิลต์เชียร์ (Wiltshire) ผู้จัดการกล่าวต่อ แพทย์วินิจฉัยว่ามือของบรีมไม่ได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ จึงไม่ส่งผลต่อการทัวร์คอนเสิร์ตในอเมริกา-แคนาดาที่กำลังจะมาถึง
แต่บรีมได้ออกมาเปิดเผยในภายหลัง เกี่ยวกับขั้นตอนการฟื้นฟูอาการบาดเจ็บ ซึ่งเต็มไปด้วยความยากลำบากจนเกือบคิดจะเลิกเล่นกีตาร์ โดยได้เล่าผ่านบทสัมภาษณ์ในนิตยสารกีตาร์คลาสสิก ฉบับเดือนกันยายน ปี 1993 โดยสรุปได้ดังนี้
“ผมใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการฝึก ช่วงเดือนแรก ผมเริ่มจากฝึกขยับนิ้ว 15 นาที, 30 นาที, 40-50 นาที ก่อนจะเป็น 1 ชั่วโมง จากนั้นจึงเริ่มวอร์มนิ้วด้วยสเกลง่ายๆ ไดอาโทนิก โครมาติก และเล่นอเปจิโอ ผมพยายามนั่งเล่นอยู่หน้ากระจกเพื่อดูปฏิกิริยาของร่างกาย จากนั้นผมจึงเริ่มวางเทคนิคนิ้วใหม่ เพื่อให้เหมาะสมกับธรรมชาติของผม ผมเปลี่ยนตำแหน่งมือขวาเล็กน้อย และมือซ้ายก็เช่นกัน”
ในส่วนมือขวา บรีมเล่าว่า “ผมเปลี่ยนตำแหน่งนิ้วโป้ง ผมค่อนข้างแฮปปี้ที่ได้เปลี่ยนตำแหน่งของข้อมือด้วย เพราะก่อนหน้านี้ระหว่างแสดง ผมไม่ค่อยขยับตำแหน่งข้อมือมากนัก แต่ตอนนี้ผมพร้อมแล้วที่จะเปลี่ยนมุมไปตามองศาธรรมชาติของตัวเอง มันไม่ใช่เรื่องของเทคนิค แต่เป็นความถนัดที่เหมาะสมกับผม”
ส่วนมือซ้าย บรีมเล่าว่า “ผมพึ่งสังเกตตัวเองผ่านเทปการแสดง ว่าระหว่างเล่นผมมักวางนิ้วแบนราบไปกับฟิงเกอร์บอร์ด ซึ่งผมแทบไม่เชื่อสายตาตัวเอง มันดูผิดแปลก ฝ่ามือผมอยู่ห่างจากฟิงเกอร์บอร์ดมากเกินไป และมันเป็นเรื่องยากมากที่จะแก้ไขทางนิ้วที่ติดมือไปแล้ว”
นอกจากทางกายภาพแล้ว ทางสภาพจิตใจบรีมก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน “แน่นอนว่ามันเป็นประสบการณ์ที่เจ็บปวด มันส่งผลต่อมุมมองชีวิตและสิ่งรอบตัว ผมโชคร้ายที่ต้องพบเจอกับอุบัติเหตุนี้ แต่ผมโชคดีกว่าที่ยังมีชีวิตอยู่ หนึ่งเดือนระหว่างที่ผมหยุดเล่นกีตาร์ มีบางห้วงความคิดหลุดเข้ามาในหัว ”ฉันอาจไม่เล่นมัน [กีตาร์] อีกแล้ว” แต่หลังจากที่ผมเริ่มขยับนิ้วมือได้ ความรู้สึกอยากเล่นกีตาร์ก็กลับมาอีกครั้ง”
ดาวดวงเด่นแห่งศตวรรษที่ 20
เชื่อว่าคนส่วนใหญ่ที่เคยชมการแสดงของบรีม อาจสังเกตไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงอันเล็กน้อยซึ่งมีเบื้องหลังมาจากการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ผู้ที่เล่นกีตาร์มานานจะทราบว่าการเปลี่ยนทางนิ้วเป็นหนึ่งในเรื่องที่ยากที่สุด แต่สำหรับบรีมในวัย 50 ปี ณ ตอนนั้น เขาจำเป็นต้องฝึกเล่นใหม่เกือบทั้งหมด เพื่อให้ตัวเองกลับมาบรรเลงได้อีกครั้ง
เป็นเวลาเกือบสองปีแล้วที่วงการกีตาร์คลาสสิก ได้สูญเสียหนึ่งในบุคลากรคนสำคัญแห่งศตวรรษที่ 20 การสื่อสารผ่านกีตาร์คลาสสิกของบรีม ทำให้มุมมองของผู้คนที่มีต่อเครื่องดนตรีชิ้นนี้เริ่มเปลี่ยนไป อันเป็นตัวผลักดันให้เกิดสังคมกีตาร์คลาสสิกที่มีการศึกษาเชิงวิชาการอย่างจริงจัง เหล่านักประพันธ์แห่งยุคร่วมสมัย ต่างประพันธ์บทเพลงกีตาร์คลาสสิกอันยอดเยี่ยม เพื่อสดุดีแด่ยอดนักกีตาร์คลาสสิกชาวอังกฤษผู้นี้
Writer : Literary Boy
สนใจเรียนกีตาร์ : https://www.facebook.com/ptnoteguitar
โฆษณา