17 พ.ค. 2023 เวลา 11:00 • ประวัติศาสตร์

Nikita Koshkin นักกีตาร์คลาสสิกผู้ทะเยอทะยาน กับดนตรีที่ดุดันไม่เกรงใจใคร

หากกล่าวถึงนักกีตาร์คลาสสิกยุคร่วมสมัย (Contemporary Music) มีหลายชื่อที่โด่งดังและมีสไตล์การประพันธ์เป็นของตัวเอง เช่น ลีโอ บราวเวอร์ (Leo Brouwer, 1939) โรแลน ดีเยนส์ (Roland Dyens, 1955-2016) โดยมีอีกหนึ่งคนที่ผลงานเด่นของเขาขึ้นชื่อเรื่องความดุดัน ฉูดฉาดราวกับสีที่สาดไปยังเฟรมผ้าใบอย่างเร้าใจ ทั้งหมดคือเรื่องราวของ ‘นิคิตา คอชคิน’ (Nikita Koshkin, 1956)
รัสเซียนคอมโพสเซอร์ และดนตรีร็อค
แม้ครอบครัวจะปูทางให้เป็นนักการฑูต แต่เมื่อคอชคินได้รับของขวัญวันเกิดจากคุณปู่ในวัย 14 ปี เป็นกีตาร์และแผ่นเสียงของอังเดรส เซโกเวีย (Andrés Segovia, 1893-1987) ทำให้คอชคินเริ่มศึกษากีตาร์คลาสสิกอย่างจริงจัง และเหล่าอิทธิพลทางดนตรีจาก สตราวินสกี (Stravinsky) ชอสตาโควิช (Shostakovich) โพรโคเฟียฟ (Prokofiev) และเพลงร็อค เหล่านี้ได้บ่มเพาะให้เด็กหนุ่มจากมอสโกว เติบโตมามีสไตล์การประพันธ์เพลงที่ดุดัน เร้าใจ และเต็มไปด้วยจินตนาการ
บทประพันธ์เปิดตัวสุดเร้าใจ
‘เดอะพรินส์ ทอยส์ สวีท’ (The Prince’s Toys Suite, 1980) ถูกบรรเลงครั้งแรกโดยนักกีตาร์คลาสสิกชาวเช็ก วลาดิเมียร์ มิคูลคา (Vladimir Mikulka) ในเทศกาลคานนิงตัน (Cannington Festival) ประเทศอังกฤษ ซึ่งผู้จัดงานรู้สึกประทับใจในงานเพลงชิ้นนี้ จึงพยายามผลักดันให้ผลงานเป็นที่รู้จักในวงกว้าง ซึ่งทำให้ชื่อของ นิคิตา คอชคิน เริ่มเป็นที่รู้จักในฐานะคอมโพสเซอร์ร่วมสมัยที่มีสไตล์การประพันธ์อันโดดเด่น
ดนตรีส่วนใหญ่ในงานประพันธ์ The Prince’s Toys Suite มักเต็มไปด้วยเสียงประสานที่ขัดกันอย่างตั้งใจ ให้ความรู้สึกกระชาก เว้าแหว่ง โกลาหล ขณะเดียวกันยังประคองไว้ซึ่งธีมเพลงอันว่าด้วยเรื่องของโลกเทพนิยายที่เหล่าของเล่นมีชีวิต และการเดินทางข้ามไปยังอีกมิติหนึ่ง ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจมาจาก Nutcracker และ Swan Lake ของไชคอฟสกี (Tchaikovsky) ทั้งหมดนำมาซึ่งความรู้สึกสะเทือนอารมณ์ที่ส่งมายังผู้ฟังอย่างตราตรึงใจ
แม้เหล่าเทคนิคพิเศษที่ปรากฏในบทเพลง คอชคินอาจไม่ใช่ผู้คิดค้น แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าการประยุกต์ใช้เทคนิคพิเศษในงานชิ้นนี้ ได้เปิดจินตนาการและขยายขอบเขตความเป็นไปได้ในงานประพันธ์เพลงกีตาร์คลาสสิก ซึ่งมีผลต่อนักประพันธ์ยุคหลังนำเทคนิคเหล่านี้มาประยุกต์ใช้มากขึ้น
การนำสาย 5 กับ 6 (A กับ E-low) มาเกี่ยวกันเพื่อสร้างเสียงกลองสแนร์ เราอาจเคยเห็นมาแล้วในเพลง Gran Jota ของทาร์เรกา (Francisco Tárrega, 1852-1909) แต่คอชคินไปไกลกว่านั้นโดยการเกี่ยวสาย 1 กับ 2 และ 2 กับ 3 ซึ่งยังมีอีกหลายเทคนิคที่ปรากฏในบทเพลง เช่น การใช้เล็บขูดสาย การดีดสายบริเวณหัวกีตาร์หลังนัต (Nut) หรือการใช้มือขวาตบไปที่สะพานสาย (Bridge)
การล่มสลายของบ้านอัชเชอร์
แน่นอนว่าหากกล่าวถึงคอชคิน ต้องไม่ลืมผลงานมาสเตอร์พีชที่ทำให้ชื่อของคอชคิน บรรจุอยู่ในทามไลน์ประวัติศาสตร์กีตาร์คลาสสิก ‘อัชเชอร์-วอลทซ์’ (Usher-Waltz หรือ Usher-Valse, 1984) งานประพันธ์ซึ่งแต่งให้กับวลาดิสลาฟ บลาฮา (Vladislav Blaha) นักกีตาร์คลาสสิกชาวเช็ก บทเพลงได้รับแรงบันดาลใจจาก The Fall of the House of Usher (1839) เรื่องสั้นของนักเขียนชาวอเมริกา เอ็ดการ์ อัลลัน โพ (Edgar Allan Poe, 1809-1849)
จังหวะเพลงวอลทซ์เนิบๆ ทำนองเพลงที่วิ่งไปอย่างน่าหลงใหล และเสียงประสานชวนพิศวง เมื่อเข้าช่วงไคลแมกซ์ ดนตรีเริ่มหนักหน่วงขึ้นด้วยการสตรัมคอร์ดอย่างรุนแรง ต่อด้วยเสียงกระแทกชวนขนลุกด้วยเทคนิค ‘บาร์ตอก พิซซิคาโต’ (Bartok pizzicato) หรือการใช้มือขวาดึงสายขึ้นเหนือฟิงเกอร์บอร์ดเล็กน้อย ก่อนจะปล่อยสายเด้งไปตีกับเฟรต (Fret)
ความโด่งดังของบทเพลงมาเติบโตอย่างก้าวกระโดดในปี 1993 เมื่อจอห์น วิลเลียมส์ (John Williams) ออสเตรเลียนกีตาร์คลาสสิกเบอร์ใหญ่แห่งเกาะอังกฤษ นำเพลงมาบันทึกการแสดงคอนเสิร์ตในเมืองเซบียา ประเทศสเปน
ดุดันไม่เกรงใจใคร
ยังมีบทเพลงที่ยังไม่ได้กล่าวถึงอีกมากมาย เช่น The Fall of Birds (1978), The Porcelain Tower (1981) หรือเหล่างานเพลงสำหรับบรรเลงคู่ บรรเลงกลุ่ม และคอนแชร์โต ปัจจุบันในวัย 67 ปี แม้จะอยู่ในสถานการณ์ตึงเครียดระหว่างรัสเซีย-ยูเครน แต่คอชคินยังคงเคลื่อนไหวกิจกรรมทางดนตรีผ่านโซเชียลมีเดียอยู่เป็นครั้งคราว
คอชคินไม่เพียงแต่มุ่นเน้นสร้างงานเพลงที่เร้าอารมณ์ หรือใช้เสียงประสานในแบบที่เราไม่คุ้นเคย แต่คอชคินยังพยายามแสวงหาสุ้มเสียงที่เหนือจินตนาการ หรือเกินขอบเขตที่ไม่คิดว่าศักยภาพของกีตาร์คลาสสิกจะไปถึงได้
Writer : Literary Boy
สนใจเรียนกีตาร์ : https://www.facebook.com/ptnoteguitar
โฆษณา