18 พ.ค. 2023 เวลา 11:00 • ประวัติศาสตร์

Manuel de Falla ผู้บรรเลงกีตาร์ผ่านวงออเคสตรา

กว่าดนตรีสเปนจะทรงอิทธิพลต่อโลกดนตรีคลาสสิกได้เหมือนปัจจุบัน ต้องขอบคุณเหล่านักประพันธ์ชาวสเปนในอดีต ที่เผยแพร่อัตลักษณ์ประจำชาติผ่านงานประพันธ์จนกลายเป็นที่ยอมรับในระดับสากล และหากยกตัวอย่างนักประพันธ์ผู้มีบทบาทต่อการฟื้นฟูดนตรีพื้นเมืองสเปน ‘มานูเอล เดอ ฟายยา’ (Manuel de Falla, 1876-1946) ถือเป็นชื่อที่ควรกล่าวถึง
แม้จะเป็นนักประพันธ์ที่มีผลงานเพลงเพียงหยิบมือ แต่การมีใบหน้าปรากฏบนธนบัตรสเปนในปี 1970 ถือเป็นภาพสะท้อนถึงความสำคัญที่เขามีต่อการสร้างชาติในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 และการเคลื่อนไหวของเขายังมีส่วนทำให้เกิดกระแสนิยมในกีตาร์คลาสสิกด้วยเช่นกัน
กาดิช มาดริด ปารีส
ณ ตอนใต้สุดของแคว้นอันดาลูเซีย เมืองกาดิช (Cadiz) เป็นสถานที่เกิดของ ‘มานูเอล ฟายยา’ [ภายหลังเปลี่ยนเป็น มานูเอล เดอ ฟายยา] เปียโนคือเครื่องดนตรีชิ้นแรกที่เขาเริ่มเรียน และการชมคอนเสิร์ตในงานเพลงของคีตกวีชาวนอร์เวย์ ‘เอ็ดหวาด กริกก์’ (Edvard Grieg, 1843-1907) ทำให้เขาตระหนักอย่างรู้ซึ้งได้ว่า ‘อาชีพนักดนตรี คือสิ่งที่เขาต้องการจะเป็น’
เมื่ออายุ 20 ปี ครอบครัวจึงย้ายมายังกรุงมาดริด เมืองหลวงซึ่งทำให้เขาได้เข้าศึกษาในโรงเรียนดนตรี และได้เจอกับอาจารย์ผู้ซึ่งจะมีอิทธิพลต่องานประพันธ์ของเขาในอนาคต ‘เฟลิเป เปเดรล’ (Felipe Pedrell, 1841-1922)
เปเดรล เป็นนักวิชาการที่มีความสนใจด้านดนตรีพื้นเมืองสเปน โดยเป็นผู้นำการฟื้นฟูดนตรีสเปนช่วงศตวรรษที่ 19 และเหล่าลูกศิษย์ของเขา อาทิ ‘ไอแซค อัลเบนิส’ (Isaac Albéniz, 1860-1909) ‘เอนริเก กรานาดอส’ (Enrique Granados, 1867-1916) รวมถึงฟายยา ได้ซึมซับอิทธิพลดนตรี และส่งต่อมายังงานประพันธ์ของเหล่าลูกศิษย์
ราวปี 1904 ฟายยาแจ้งเกิดด้วยผลงานโอเปรา La vida breve (Life is Short) แม้บทเพลงจะได้รางวัลชนะเลิศ แต่กลับไม่มีผู้ใดสนใจนำบทเพลงไปจัดแสดง เมื่อไม่สามารถหางานแสดงได้ ปี 1907 ฟายยาจึงแสวงหาโอกาสโดยการเดินทางไปยังดินแดนอันรุ่งเรืองด้านวัฒนธรรมและดนตรี
7 ปี ณ ปารีส เป็นช่วงเวลาที่นักประพันธ์จากกาดิช ซึมซับอิทธิพลดนตรีอันสดใหม่จากกลุ่มศิลปินแนวหน้า อาทิ ‘อีกอร์ สตราวินสกี’ (Igor Stravinsky) กลุ่มผู้นำอิมเพรสชันนิส (Impressionists) ‘โคลด เดอบุสซี’ (Claude Derbussy) ‘มอริส ราเวล’ (Maurice Ravel) การพบปะกลุ่มคนเหล่านี้ ทำให้ไอเดียการแต่งเพลงของฟายยาถึงจุดสูงสุด เขาเปิดรับทุกแนวดนตรี ขณะเดียวกันยังตระหนักถึงคุณค่าของดนตรีพื้นเมืองสเปนเช่นกัน
ฟายยาได้รับพระราชทานทุนทรัพย์จากกษัตริย์อัลฟองโซที่ 13 แห่งสเปน ทำให้เขาได้อยู่ปารีสต่อจนสามารถเขียนงานประพันธ์จนแล้วเสร็จ ก่อนจะกลับมาดริดในปี 1914 จากการปะทุของสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
กรานาดา และวิกฤตบ้านเมือง
แม้จะอยู่ในภาวะสงคราม แต่ฟายยากลับโด่งดังด้วยผลงาน La vida breve ต่อมาในวัย 45 ปี ฟายยาย้ายมาอาศัยยังเมืองกรานาดา (Granada) โดยเป็นช่วงเวลาที่เขาได้ประพันธ์ผลงานสำคัญ ได้จัดกิจกรรมเพื่ออนุรักษ์ดนตรีพื้นเมือง และได้อยู่ร่วมกับมิตรสหายนักกวี ‘เฟเดริโอ กาเซีย โลคา’ (Federico García Lorca)
จนกระทั่งช่วงเวลาแห่งความยากลำบากได้มาถึง เมื่อไฟสงครามกลางเมืองสเปนปะทุขึ้นราวปี 1936 โลคาผู้มีแนวคิดเสรีนิยม ถูกประหารชีวิตโดยกลุ่มเผด็จการ และเมื่อสงครามสิ้นสุดในปี 1939 ฟายยาจึงลี้ภัยไปยังอาร์เจนตินาในปีเดียวกัน
เครื่องมือทางการเมือง และบั้นปลายชีวิตในต่างแดน
มีความพยายามจากจอมเผด็จการ ‘ฟรานซิสโก ฟรังโก’ (Francisco Franco) ในการหว่านล้อมเพื่อนำตัวฟายยากลับสเปน ในฐานะนักประพันธ์เพลงแนวชาตินิยม ฟายยาถูกนำชื่อไปใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองหลายครั้ง ซึ่งตรงข้ามกับอุดมการณ์ของเขา ที่ดนตรีต้องอยู่เหนือการเมือง บทเพลงของฟายยาล้วนไม่ได้มีเจตนาใดแอบแฝงนอกเสียจากการคงไว้ซึ่งความบริสุทธิ์ของดนตรีสเปน อย่างไรก็ตาม แม้จะมีข้อเสนอมากมายทั้งสวัสดิการและยศถาบรรดาศักดิ์ ฟายยาปฏิเสธทุกข้อเสนอและเลือกอยู่ที่อาร์เจนตินาจนวาระสุดท้าย
ฟายยาใช้เวลาช่วงบั้นปลายชีวิตไปกับการสอนหนังสือ ประพันธ์เพลง และอาศัยอยู่ในบ้านพักบนภูเขาโดยมีน้องสาวคอยเคียงข้าง ฟายยาจากไปด้วยภาวะหัวใจหยุดเต้นในปี 1946 อัฐิถูกส่งกลับบ้านเกิดและฝังในมหาวิหารกาดิซ
แม้บทประพันธ์ส่วนใหญ่จะเป็นงานออเคสตราและบรรเลงเดี่ยวเปียโน มีงานเพลงสำหรับกีตาร์เพียงไม่กี่ชิ้น อาทิ Hommage à Debussy แต่สิ่งที่ทำให้จำเป็นต้องกล่าวถึงฟายยา คือบทบาทที่เขามีต่อกีตาร์คลาสสิก ทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งมีส่วนสำคัญทำให้เครื่องดนตรีชิ้นนี้ กลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้งในยุคทองของอังเดรส เซโกเวีย (Andrés Segovia, 1893–1987)
ผู้บรรเลงกีตาร์ผ่านจิตวิญญาณแห่งสเปน
ย้อนกลับไปยังช่วงสามปีที่เรียนกับเปเดรล นอกจากการเป็นนักวิชาการ นักประพันธ์ และอาจารย์ อีกหนึ่งบทบาทของเปเดรลคือ ‘การเป็นนักกีตาร์’ ซึ่งมีส่วนแนะนำให้ฟายยาได้ศึกษางานเพลงของนักดนตรีสเปนยุคเรเนสซองส์ (Renaissance) และบาโรก (Baroque) ทำให้ฟายยาได้รู้จักกับงานของ ‘ลุยส์ มิลาน’ (Luys Milan, 1500–1561) และ ‘กาสปาร์ ซานส์’ (Gaspar Sanz, 1640–1710) สองนักประพันธ์เพลงวิฮูลา (Vihuela) หนึ่งในเครื่องดนตรีบรรพบุรุษของกีตาร์
ด้วยเหตุนี้จึงเป็นไปได้ว่าฟายยา อาจรับอิทธิพลสำเนียงกีตาร์มาจากช่วงเวลาที่เรียนกับเปเดรล ทำให้งานเพลงของเขาแม้จะไม่ได้บรรเลงด้วยกีตาร์ แต่ผู้ฟังสามารถได้ยินสำเนียงของเครื่องดนตรีหกสาย ราวกับฟายยาบรรเลงกีตาร์ผ่านงานประพันธ์ออเคสตราและงานบรรเลงเดี่ยวเปียโนของเขา
ขณะเดียวกัน ความโด่งดังของฟายยาซึ่งถูกขนานนามว่าเป็น 'กระแสชาตินิยมคลื่นลูกที่สอง' ยังได้สร้างความนิยมให้กับดนตรีสเปน และกลายเป็นหนึ่งในผลพลอยได้ที่ทำให้เกิดยุคทองของกีตาร์คลาสสิกด้วยเช่นกัน
หรืออาจสรุปเรื่องราวทั้งหมดได้ทำนองว่า
‘หากไม่มีกีตาร์ อาจไม่มีฟายยา และหากไม่มีฟายยา อาจไม่มีกีตาร์’
Writer : Literary Boy
สนใจเรียนกีตาร์ : https://www.facebook.com/ptnoteguitar
โฆษณา