21 พ.ค. 2023 เวลา 11:00 • ประวัติศาสตร์

Leo Brouwer นักประพันธ์คิวบา ผู้พากีตาร์คลาสสิกเข้าสู่ดนตรีคอนเทมโพรารี

สำหรับบทเพลงกีตาร์คลาสสิก เราอาจคุ้นชินกับดนตรีสไตล์ตะวันตกเป็นส่วนใหญ่ แต่หลังจากการเปลี่ยนถ่ายเข้าสู่ยุคร่วมสมัย (Contemporary music) หนึ่งในผู้ขับเคลื่อนกระแสดนตรีร่วมสมัย คือชายหนุ่มจากคิวบาผู้นำเฉดสีที่แตกต่างมาแต่งแต้มให้งานเพลงกีตาร์คลาสสิก ทั้งหมดคือเรื่องราวของลีโอ เบราเวอร์ (Leo Brouwer, 1939)
ณ เมืองฮาวานา ประเทศคิวบา เบราเวอร์เติบโตมาในครอบครัวคนดนตรี ประกอบด้วยแม่ผู้เป็นนักดนตรีมืออาชีพ และพ่อเป็นแพทย์และนักดนตรีสมัครเล่น โดยเป็นความบังเอิญที่อาจมีนัยสำคัญ เมื่อลุงของพ่อคือนักเปียโนผู้ยิ่งใหญ่ เออเนสโต ลาคัวนา (Ernesto Lecuona) ผู้ให้กำเนิดเพลงมาลากีนา (Malagueña) โดยความหลงใหลในกีตาร์คลาสสิกของพ่อส่งต่อมายังเบราเวอร์ผ่านการฟังแผ่นเสียงบรรเลงกีตาร์คลาสสิก
เบราเวอร์ เริ่มฝึกเล่นกีตาร์ด้วยตัวเอง ก่อนจะเรียนอย่างจริงจังกับไอแซค นิโคลา (Isaac Nicola) และเป็นความบังเอิญอีกเช่นกันที่นิโคลาเป็นลูกศิษย์ของเอมิลิโอ ปูโยล (Emilio Pujol) หนึ่งในลูกศิษย์สายตรงของฟรานซิสโก ทาร์เรกา (Francisco Tárrega) โดยอาจกล่าวได้ว่าเบราเวอร์เป็นผู้สืบทอดอิทธิพลจากทาร์เรกา นอกจากเทคนิคการบรรเลง
นิโคลายังเปิดโลกของเบราเวอร์ด้วยการแนะนำให้รู้จักดนตรียุคฟื้นฟูศิลปวิทยาและยุคบาโรก หลังเรียนกับนิโคลา เบราเวอร์เดินทางไปศึกษาต่อยังวิทยาลัยดนตรีฮาร์ท (Hartt College of Music) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัยฮาร์ตฟอร์ด ก่อนจะเดินทางไปศึกษาต่อยังโรงเรียนดนตรีจูลลิอาร์ด (Julliard School of Music)
เบราเวอร์ มีความสนใจในดนตรีพื้นเมืองคิวบา ซึ่งสะท้อนผ่านงานเพลงในช่วงแรกของเขา แต่หลังจากนั้น บราวเวอร์เริ่มศึกษาดนตรีแนวล้ำยุคและมินิมัลลิสต์ (Minimalism) โดยเน้นศึกษาไปที่สองศิลปินหัวก้าวหน้าอย่าง ลุยจิ โนโน (Luigi Nono) และเอียนนิส เซนากิส (Iannis Xenakis)
อิทธิพลดนตรีเหล่านี้ก่อให้เกิดผลงานเพลงกีตาร์คลาสสิกอย่าง Canticum (1968) และ La espiral eterna (1971) งานเพลงที่เต็มไปด้วยการทดลอง ชวนฝัน และแปลกใหม่ ตามด้วยผลงานเพลงอย่าง El Decameron Negro (1981) และ Sonata (1990) บทเพลงซึ่งแต่งให้กับจูเลียน บรีม (Julian Bream)
ราวปี 1980 อาการบาดเจ็บเอ็นนิ้วกลางมือขวา ทำให้เบราเวอร์ต้องเลิกเล่นกีตาร์อย่างจริงจัง และหันมามุ่งมั่นกับงานประพันธ์เป็นหลัก ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสายงานที่สร้างชื่อให้กับเบราเวอร์ไม่แพ้กีตาร์คลาสสิก โดยเฉพาะงานดนตรีประกอบภาพยนตร์ หนึ่งในงานที่สร้างชื่อให้กับเบราเวอร์คือ Un Día de Noviembre (A Day in November) ภาพยนตร์สัญชาติคิวบาในปี 1972 ที่มีเพลงประกอบภาพยนตร์ในชื่อเดียวกัน
หรือจะเป็นภาพยนตร์สายรางวัลอย่าง Like Water for Chocolate (1992) ภาพยนตร์ดัดแปลงจากนวนิยายในชื่อเดียวกัน กำกับโดย อัลฟองโซ อารัว (Alfonso Arau) ซึ่งเบราเวอร์รับหน้าที่ประพันธ์ดนตรีประกอบภาพยนตร์
ชื่อเสียงและผลงานที่ส่งเสริมดนตรีพื้นเมืองคิวบา ทำให้เบราเวอร์กลายเป็นบุคคลสำคัญของประเทศ โดยดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการสถาบันศิลปะและภาพยนตร์แห่งคิวบา (Directorship of the Cinema Institute) ส่วนในระดับนานาชาติ เบราเวอร์ได้รับเลือกเป็นที่ปรึกษาด้านดนตรีขององการณ์ยูเนสโก (UNESCO)
ตลอดเส้นทางดนตรีกว่าห้าทศวรรษ แม้จะมีผลงานหลากหลายแขนง ตั้งแต่ดนตรีประกอบภาพยนตร์ จนถึงการเป็นวาทยกรให้วงซิมโฟนีออเคสตรา แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่ากีตาร์คลาสสิกคือรากฐานที่ก่อให้เกิดสไตล์การประพันธ์อันเป็นเอกลักษณ์ของเบราเวอร์ และเบราเวอร์เองก็ได้แต่งแต้มสีสันให้กับกีตาร์คลาสสิกเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นงานประพันธ์ผสมผสานดนตรีพื้นเมือง งานเพลงร่วมสมัย งานเรียบเรียงเพลงจากศิลปินดัง เช่น The Beatles หรือแบบฝึกหัดที่ท้าทายและมีกลิ่นอายแตกต่างจากแบบฝึกในยุคก่อนอย่าง Estudios Sencillos (Etudes Simples)
บทสัมภาษณ์ในปี 2018 เบราเวอร์แนะนำนักดนตรีรุ่นเยาว์ว่า “ต้องฟังเพลงทุกประเภทและเครื่องดนตรีทุกประเภท” สิ่งนี้จะช่วยให้โลกดนตรีของเราเปิดกว้าง และนำไปสู่การตกผลึกสไตล์ดนตรีของตัวเอง
Writer : Literary Boy
สนใจเรียนกีตาร์ : https://www.facebook.com/ptnoteguitar
โฆษณา