21 เม.ย. 2023 เวลา 15:11 • การศึกษา

ปัญหาใหญ่ของสำนักงานสอบบัญชี

ใครที่ทำงานอยู่ในสำนักงานสอบบัญชี โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำนักงานฯ ทั่วไป (Local firms) ไม่ว่าจะเป็นในบทบาทของเจ้าของสำนักงาน หรือพนักงานในสำนักงานเองก็ตาม มาดูกันสิว่ามีปัญหาข้อไหนที่ตรงอกตรงใจ และเราจะมีแนวทางที่จะแก้ไขได้ด้วยวิธีไหนกันบ้าง ตามมาดูกันครับ👋
สำนักงาน ก.ล.ต. ได้จัดทำรายงานสรุปกิจกรรมการตรวจคุณภาพงานสอบบัญชี ซึ่งในบทความนี้ผมจะขอหยิบยกเอาฉบับที่เผยแพร่ในปี 2564 มาสรุปให้อ่านกัน
โดยจากการทำการวิเคราะห์เชิงลึกถึงสาเหตุของข้อสังเกตที่ควรปรับปรุง (root cause analysis) พบว่าสามารถแบ่งสาเหตุของปัญหาออกเป็นหัวข้อต่าง ๆ ได้ดังนี้
 
1. การจ่ายค่าตอบแทนผู้สอบบัญชี💸
"ให้ความสำคัญเชิงธุรกิจมากกว่าคุณภาพงาน" สำนักงานฯ บางแห่งยังคงใช้ปริมาณงานและค่าสอบบัญชีของกิจการลูกค้าที่ผู้สอบบัญชีเซ็นงบฯนั้นเป็นเกณฑ์ในการกำหนดค่าตอบแทนแก่ผู้สอบบัญชี ส่งผลให้ผู้สอบบัญชีที่เป็นพนักงานหรือรับงานต่อจากสำนักงานฯ รับงานสอบบัญชีในปริมาณมากเกินที่จะปฏิบัติงานได้อย่างมีคุณภาพ เพราะเน้นสร้างรายได้และผลกำไรเท่านั้น และขาดแรงจูงใจที่จะให้เวลาและความสำคัญกับงานกับงานพัฒนาระบบควบคุมคุณภาพและการติดตามผล เพราะแค่ต้องปฏิบัติงานที่รับผิดชอบให้ทันเวลาก็แทบจะไม่ทันแล้ว
สิ่งนี้ส่งผลไปถึงตัวกิจการลูกค้าเองด้วยครับ แม้จะจ่ายค่าบริการงานสอบบัญชีที่ราคาถูก แต่นั้นอาจหมายถึงความเสี่ยงที่ต้องแลกกับปัญหามากมายที่ตามมาและคุณภาพงานสอบบัญชีที่อยู่ในระดับต่ำ เช่น ได้รับข้อมูลงบการเงินที่แสดงข้อมูลขัดต่อข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญ หรือการถูกหน่วยงานรัฐเรียกตรวจสอบความผิดปกติของข้อมูลงบการเงินและถูกปรับย้อนหลังได้
.
2. ความเหมาะสมของโครงสร้างการถือหุ้นของสำนักงานสอบบัญชี👥
ยิ่งเป็นสำนักงานฯ ที่เป็นธุรกิจครอบครัวแล้ว ก็ไม่อยากจะเสียสิ่งที่ตนก่อร่างสร้างชื่อเสียงมาเองกับมือไป ส่งผลให้แต่งตั้งคนในครอบครัวที่ไม่ได้เป็นผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีเป็นผู้ถือหุ้น ซึ่งอาจไม่เข้าใจความสำคัญของจรรยาบรรณวิชาชีพบัญชี เสี่ยงที่จะเกิดข้อบกพร่องในข้อกฎหมายได้
อีกทั้งผู้สอบบัญชีรุ่นก่อตั้งสำนักงาน (founding partner) ไม่เปิดโอกาสให้ผู้สอบบัญชีรุ่นใหม่ในสำนักงานฯตน มีส่วนร่วมเป็นหุ้นส่วนของสำนักงานฯ (equity partner) ส่งผลให้พนักงานไม่เกิดความผูกพันกับสำนักงานฯ มองเพียงผลตอบแทนระยะสั้น และความสนใจที่จะพัฒนาระบบควบคุมงานสอบบัญชีให้มีคุณภาพในระยะยาว
.
3. ปริมาณงานและความซับซ้อนของงานสอบบัญชี🧾
การรับงานสอบบัญชีในปริมาณที่มากขึ้นเพื่อการขยายและเติบโตของสำนักงานฯ นั้นเป็นเรื่องที่ดี แต่หากขาดการวางแผนและประเมินทรัพยากรที่มีอยู่นั้น อาจสร้างความเสียหายต่อตัวสำนักงานฯ เองได้เช่นกัน
หากมีการประเมินความเสี่ยงบริษัทลูกค้าต่ำเกินไป เมื่อถึงขั้นตอนการปฏิบัติงานแล้ว จะส่งผลให้เกิดความยากลำบากและความเสี่ยงกับผู้สอบบัญชีได้ และ
การจัดสรรปันส่วนงานให้กับทีมผู้ปฏิบัติงานบางคนหรือแต่ละคนที่มากเกินกว่าที่จะปฏิบัติได้ อาจทำให้เกิดความเคลือบแคลงใจต่อพนักงานเอง ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมานี้ส่งผลให้คุณภาพงานสอบบัญชีลดลงอย่างแน่นอน
.
4. การปรับตัวของสำนักงานสอบบัญชียุคที่รูปแบบการดำเนินชีวิตเปลี่ยนไป (new normal)🔄
เพราะการเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องที่ท้าทายและต้องใช้เวลา การที่สำนักงานฯ ไม่ได้นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยลดงานและเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของพนักงานงาน การไม่รับฟังความต้องการของบุคลากรรุ่นใหม่ และการไม่มีเส้นทางในสายงาน (career path) ที่ชัดเจนนั้น ส่งผลให้ไม่สามารถดึงดูดบุคคลที่มีความรู้ ความสามารถไว้กับองค์กรได้ รวมถึงการที่ไม่มีความสมดุลในชีวิต (Work life harmony) ที่ดีในการทำงาน ส่งผลให้อัตราการลาออก (turn over) ค่อนข้างสูง
.
 
5. ความเพียงพอของบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถและประสบการณ์👨‍💼
บางอย่างก็ต้องใช้ประสบการณ์ การที่พนักงานขาดความสงสัยเยี่ยงผู้ประกอบวิชาชีพ (professional skepticism) ส่งผลให้ไม่สามารถตรวจพบรายการที่ผิดปกติและข้อผิดพลาดที่มีสาระสำคัญในงบการเงินได้
.
 
6. การปรับตัวให้ทันกับพัฒนาการทางเทคโนโลยีและการเปลี่ยนแปลงของมาตรฐานวิชาชีพ💻
เป็นเรื่องที่น่าหนักใจสำหรับสำนักงานฯ ขนาดเล็กถึงกลาง เนื่องจากต้นทุนในการเข้าถึงเทคโนโลยีและการว่าจ้างบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเพื่อทำหน้าที่ปรับปรุงคู่มือการปฏิบัติงานให้เป็นไปตามมาตรฐานวิชาชีพที่ออกใหม่ค่อนข้างสูง จึงขาดเครื่องไม้เครื่องมือเพื่อที่จะเสริมประสิทธิภาพและประสิทธิผลของงานสอบบัญชีให้มากขึ้นได้
.
 
7. ผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholders) ไม่เห็นคุณค่าของงานสอบบัญชี😔
ข้อนี้ถือเป็นหัวใจสำคัญเลยก็ว่าได้ จากการวิเคราะห์ปัญหาในอุตสาหกรรมงานสอบบัญชีของไทย พบว่าผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องกับระบบรายงานทางการเงินยังไม่เห็นคุณค่าของงานสอบบัญชีเท่าที่ควร จึงเป็นเหตุผลให้ค่าสอบฯ เกิดการกดดันราคา (audit fee pressure) ผู้สอบบัญชีจึงไม่มีงบเพียงพอที่จะนำมาดูแลและพัฒนาระบบควบคุมคุณภาพให้มีมาตรฐานอย่างต่อเนื่อง และเมื่อเทียบค่าตอบแทนกับปริมาณงานและความเสี่ยงที่ต้องเผชิญแล้ว ก็อาจจะไม่คุ้มเสี่ยงได้
.
จากสาเหตุของปัญหาต่าง ๆ ข้างต้นนี้ ก็พอจะมีแนวทางแก้ไขปัญหา (remediation plan) ต่าง ๆ ได้บ้างดังต่อไปนี้💪
1. นำปัจจัยเชิงคุณภาพมาเป็นเกณฑ์ในการประเมินผลและจ่ายค่าตอบแทนแก่ผู้สอบบัญชีที่เซ็นงบฯ รวมถึงควรจัดให้มีและให้ความสำคัญกับผู้ที่เป็นส่วนกลางในการพัฒนาและติดตามประเมินผลระบบการควมคุมคุณภาพ เพื่อผลักดันให้เกิดคุณภาพงานที่ดี ทั้งในระดับงานสอบบัญชีและในระดับสำนักงานสอบบัญชี
.
2. จัดทำ partnership agreement เพื่อให้ผู้สอบบัญชีที่เกษียณแล้วหรือลาออก ขายหุ้นให้กับผู้สอบบัญชีที่ยังคงปฏิบัติงานอยู่ และส่งเสริมให้พนักงานที่เป็นผู้สอบบัญชีซึ่งเซ็นงบฯนั้น มีส่วนร่วมเป็นหุ้นส่วนของสำนักงานฯ เพื่อเสริมสร้างความภาคภูมิใจและความผูกพันธ์กับสำนักงานฯ ในระยะยาว
.
3. ต้องมีการประเมินความเสี่ยง ปริมาณงาน และความซับซ้อนของธุรกิจลูกค้าก่อนรับงาน ว่าสำนักงานฯ มีความสามารถเพียงพอที่จะปฏิบัติงานได้ และจัดสรรปันส่วนงานให้กับผู้ปฏิบัติงานแต่ละคน แต่ละตำแหน่งงานอย่างเป็นธรรมและเหมาะสม
.
4. รับฟังความคิดเห็นจากผู้สอบบัญชีรุ่นใหม่ที่มีความรู้ ความสามารถ เพื่อพัฒนาปรับปรุงระบบสำนักงานฯ ให้สามารถดึงดูดพวกเขาเหล่านั้นไว้ได้ และให้ความสำคัญกับสมดุลการทำงาน
.
 
5. ผู้ควบคุมดูแลงานต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถและมีประสบการณ์ในการทำงาน เพื่อส่งต่อองค์ความรู้และชี้แนะแนวทางแก่ผู้สอบบัญชีรุ่นใหม่ ให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีคุณภาพ
.
แต่อย่างไรก็ตาม บางอย่างก็ต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้องและภาครัฐในการส่งเสริมให้อุตสาหกรรมงานสอบบัญชีนี้มีคุณภาพที่ดีขึ้นได้ เบื้องต้นทาง ก.ล.ต. จึงได้ร่วมมือกับสภาวิชาชีพฯ ดำเนินโครงการ value of audit เพื่อให้สภาวิชาชีพฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถนำแผนงานดังกล่าวไปดำเนินการผลักดันให้ stakeholders เห็นถึงคุณค่างานสอบบัญชี
เพื่อน ๆ มีความคิดเห็นอย่างไรกันบ้างครับ สามารถแชร์ประสบการณ์หรือแลกเปลี่ยนมุมมองกันได้ที่ใต้คอมเมนต์เลยครับ
สามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ลิงค์ด้านล่างครับ 😁
#สอบบัญชี #งบการเงิน #ผู้ประกอบการ #ออดิท
โฆษณา