22 เม.ย. 2023 เวลา 03:30 • ปรัชญา

" โลกที่มีเสรีภาพ " ส่งผลอย่างไรกับศาสนา ?

โดยพื้นฐานแล้ว “ศาสนา” ถือเป็นสิ่งหนึ่งที่มีความเกี่ยวข้องและมีผลกระทบต่อมนุษย์มาโดยตลอด และมีอิทธิพลอย่างลึกซึ้งต่อวิถีชีวิตของผู้คน ทั้งยังเชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมตลอดตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
ถึงแม้ในยุคปัจจุบันด้วยวิถีชีวิตของมนุษย์ที่เปลี่ยนไป ทำให้บทบาทของศาสนานั้นลดและไม่ได้มีอิทธิพลกับผู้คนเหมือในอดีต แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีผู้คนจำนวนมากยังมีความศรัทธาในศาสนา และยังเห็นความจำเป็นของศาสนาในการดำเนินชีวิต ในบทความนี้เราจะมาพูดถึง “ความหลากหลายของศาสนา” และหาสาเหตุของการเคลื่อนตัวทางศาสนาว่าตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันศาสนาได้มีการเคลื่อนตัวอย่างไรบ้าง
นิยามของคำว่า “ศาสนา” คืออะไร?
คำว่าศาสนาแต่เดิม (Religion) หมายถึง “ลัทธิความเชื่อของมนุษย์” เป็นการอธิบายเกี่ยวกับการใช้ชีวิต,ความหมายของชีวิต หรืออธิบายการกำเนิด ความเป็นไป รวมถึงการสิ้นสุดของโลก นิยามของศาสนาในอดีตนั้นจำเป็นต้องมีศาสดา มีหลักศีลธรรม,คำสอน มีศาสนิก ตลอดจนพิธีกรรมความเชื่อต่างๆ และที่สำคัญ ศาสนายังมีการอธิบายเกี่ยวกับโลกหน้าและโลกหลังความตายอีกด้วย เสมือนว่าศาสนาเป็นที่พึ่งพาทางใจ หรือศาสนาได้ให้คำตอบกับมนุษย์ในสิ่งที่มนุษย์นั้นยังไม่รู้
แต่ด้วยระบบความคิดของโลกนี้ไม่ได้หยุดนิ่ง และมีพัฒนาการมาเป็นลำดับ ทำให้การนิยามความหมายของศาสนาในยุคปัจจุบันนั้นได้มีการเปลี่ยนแปลงไปจากสมัยก่อนมาก และนับวันการนิยามศาสนานั้นยิ่งเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
ซึ่งในปัจจุบันมีศาสนาใหม่ๆเกิดขึ้นอยู่ตลอด และศาสนาทั้งหมดในโลก ณ ปัจจุบัน ที่ค่อนข้างเป็นทางการมีอยู่ราวๆ 4,000 กว่าศาสนา หรืออย่างในต่างประเทศเริ่มมีการพูดกันแล้ว่า “How to create your own religion” หรือแปลเป็นภาษาไทยว่า “จงสร้างศาสนาของคุณ”
.
ความสัมพันธ์ต่างๆของศาสนาในปัจจุบัน ได้ก่อให้เกิดคำถามมากมายต่อศาสนาในโลกสมัยใหม่ ที่ไร้ซึ่งความจริงและความดีสูงสุดอีกต่อไป มันคือการปะทะกันอย่างหนักหน่วงระหว่างความเชื่อสองชุด เสรีภาพ-ศรัทธา คำถามที่ท้าทายคือศาสนาจะอยู่ในโลกใบนี้ต่อไปอย่างไร เมื่อคนจำนวนมากขึ้นเรื่องๆ เชื่อว่าพระเจ้าหรือเรื่องเหนือธรรมชาติต่างๆไม่มีอยู่จริง
ในทุกวันนี้เริ่มมีการกล่าวกันแล้วว่า “ศาสนาของฉันคือฟุตบอล” หรือ “ศาสนาของฉันคือดนตรี” หรืออะไรก็ตามทำนองนี้ แสดงให้เห็นว่าการนิยามศาสนานั้นได้แปรเปลี่ยนไปจากเดิมและนับวันยิ่งไม่เป็นอย่างนั้น หรือเป็นแนวคิดที่เรียกว่า “Religious freedom” หรือเสรีภาพทางศาสนา
จึงทำให้ศาสนาถือเป็นสิทธิ,เสรีภาพอย่างหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นเสรีภาพในความเชื่อหรือเสรีภาพในการตีความต่างไปจากเดิมก็ตาม ซึ่งเป็นแนวคิดที่มาจากหลักโลกวิสัยที่ให้ถือว่าความเชื่อเป็นเรื่องส่วนตัว ถ้าความเชื่อนั้นไม่ไปละเมิดสิทธิผู้อื่นความเชื่อนั้นก็ย่อมถือเป็นสิทธิ์ของเขา100%
.
อย่างการเกิดขึ้น “ลัทธิเบคอน” ศาสนาเช่นนี้เป็นศาสนาที่เรียกว่า “parody religion” หรือเรียกว่าศาสนาล้อเลียน เพื่อนำมาสู้กับศาสนาหลัก ไม่ได้มีความเชื่อ,ศรัทธาในแนวคิดแบบศาสนาอย่างแท้จริง เพียงแต่เป็นการแสดงออกว่าฉันก็มีสิทธิ์นับถือได้เหมือนเธอนั่นแหละ ซึ่งเป็นการแสดงออกถึงการให้สิทธิ์ในศาสนาของกันและกัน หรือเรียกได้ว่าเป็นโลกเสรีที่เป็นความก้าวหน้าไม่จำกัดกรอบที่แบ่งแยกผู้คนด้วยศาสนา
.
ลัทธิเบคอนมีลักษณะเป็นอย่างไร?
ถึงแม้ลัทธิเบคอนจะเสมือนเป็นศาสนาล้อเลียน แต่ลัทธิเบคอนก็ไม่ใช่ตั้งขึ้นมาเล่นเฉยๆเพียงเท่านั้น ซึ่งยังมีเป้าหมายหลักคือความก้าวหน้าทางสังคม และยังมีเป้าหมายเป็นการหาเงินบริจาคเพื่อการกุศล ลัทธิเบคอนนั้นก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ 2010 โดย John Whiteside และกลุ่มเพื่อน และทางลัทธิก็ได้ให้บริการเป็นพิธีกรรมทางศาสนา ไม่ว่าจะเป็นวันเกิด พิธีแต่งงาน รวมไปจนถึงงานศพ
ทางผู้ก่อตั้งลัทธิได้เลือกชื่อแปลกๆ รวมถึงความเชื่อในเบคอน เป็นคำวิจารณ์ทางสังคม ที่โบสถ์ทุกแห่งมีความเชื่อแปลกๆจากการมองคนนอก และสัญลักษณ์อย่างเป็นทางการของลัทธิเบคอนคือ เบคอนสองแผ่นสวดมนต์พร้อมกับดวงอาทิตย์ด้านหลัง
สัญลักษณ์ของลัทธิเบคอน
ส่วนในประเทศไทยก็เคยมีคนที่นับถือลัทธิเบคอนอย่างเป็นทางการแล้ว ซึ่งได้มีการระบุนับถือศาสนาในบัตรประชาชนไว้ว่าเป็นลัทธิเบคอนอย่างเป็นจริงเป็นจัง ท่านนั้นคือ รศ. ชนินทร์ มณีดำ เป็นอาจารย์ประจำสาขาวิชานิติศาสตร์ ม.ราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา แต่เมื่อรัฐธรรมนูญฉบับ60ประกาศใช้ กฎหมายก็ไม่สามารถให้ระบุศาสนาที่นอกเหนือจาก 5 ศาสนาที่รัฐรับรองได้
ซึ่งอาจารย์ท่านนี้ได้กล่าวไว้ว่า “ในการทำบัตรประชาชนครั้งหน้านั้นคงไม่ได้สิทธิในการนับถือลัทธิเบคอนแล้ว เพราะภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 ที่ต้องยึดเกณฑ์ศาสนาตามกรมศาสนาที่ให้มีเพียงห้าศาสนาหลัก พุทธ คริสต์ อิสลาม พราหมณ์ฮินดู และซิกข์”
โดยส่วนตัวแล้วผมคิดว่าการระบุศาสนาในบัตรประชาชนนั้น รัฐธรรมนูญควรให้สิทธิรับรองการนับถือศาสนาที่มากกว่าเพียงแค่ 5 ศาสนา เพราะว่าในโลกใบนี้มีศาสนาอยู่หลายพันศาสนา แสดงให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงเรื่องศาสนาในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ กำลังบอกอะไรกับเรา…
.
ซึ่งศาสนาประเภทล้อเลียน (parody religion) ในทางตะวันตกยังมีอีกหลายศาสนายังรวมถึง “ศาสนาเจได” (Jediism) อีกด้วย
ศาสนาเจไดเป็นลัทธิที่ได้แนวคิดมาจาก Star Wars ผู้ศรัทธาแนวคิดหรือศาสนาเจไดบางส่วนมองว่า ความเชื่อของพวกเขาก็ถือเป็นศาสนาหนึ่ง ขณะที่บางพวกมองว่า เจได คือหลักปรัชญา ไลฟ์สไตล์ และวิธีพัฒนาตนเองที่ได้ผลสำหรับพวกเขาศาสนาเจได หรือ ลัทธิเจได (Jediism) มีแก่นกลางความเชื่อคือ “พลัง” ซึ่งอาจเปรียบเทียบได้กับ “ปราณ” ตามความเชื่อของอินเดีย “พลังชี่” ของจีน “มรรคา” ของลัทธิเต๋า หรือ “พระจิต” ของคริสต์ศาสนา
ศาสนาเจไดนั้นไม่มีความเชื่อเรื่องพระเจ้า แต่เชื่อในศรัทธาแห่งพลัง และธรรมชาติของทุกสิ่งที่เคลื่อนไหวในจักรวาล ทั้งศาสนาเจไดยังเชื่อในชีวิตนิรันดร์ แม้ร่างจะหมดอายุขัยแต่พลังยังคงอยู่ตลอดไป และศาสนาเจไดยังมุ่งทำงานเพื่อการกุศลอีกด้วย
ในปี 2001 ศาสนาเจไดถึงจุดพีคเมื่อมีผู้นิยามตนเองว่าเป็นผู้นับถือศาสนาใดกว่า 390,000 คนในอังกฤษ ทำให้นิกายเจไดเป็นศาสนาที่ได้รับความนิยมอันดับ 7 เลยทีเดียว ซึ่งผู้นำนิกายเจไดแห่งประเทศอังกฤษชื่อว่า Daniel Jones
ศาสนา "เจได" หรือ ลัทธิเจได
สิ่งที่แสดงให้เห็นถึงการตีความที่หลากหลายของศาสนาอย่างหนึ่งคือ “การกำเนิดขึ้นของนิกาย”
ถ้าไปดูแต่ละศาสนาเราก็จะพบว่าทุกศาสนานั้นล้วนมีการแตกนิกายด้วยกันทั้งสิ้น แล้วในแต่ละนิกายก็ได้มีการแตกเป็นนิกายย่อยและสำนักยิบย่อยมากมาย เช่น พุทธศาสนาแตกเป็น 18 นิกาย โดยเริ่มแตกมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 2 ศาสนาอิสลามแตกเป็น 9 นิกาย (เป็นอย่างต่ำ) และแต่ละนิกายก็แบ่งเป็นกลุ่มย่อยอีกมากมาย ส่วนคริสตศาสนาแตกเป็น 3 นิกาย และแต่ละนิกายก็แบ่งเป็นกลุ่มย่อยอีกมากมาย มีรายงานว่าโปรเตสแต๊นท์แบ่งออกมากที่สุดเป็นกว่า 37,000 กลุ่มหรือนิกายย่อย
การแตกนิกายนั้นบ่งชี้ว่าอะไร? อาจบ่งชี้หลายอย่างด้วยกัน แต่เรื่องหนึ่งที่แน่ๆก็คือ อย่างน้อยก็บ่งชี้ว่าในทางศาสนานั้นเป็นเรื่องที่ยากมากหรืออาจเป็นไปไม่ได้เลยที่จะหาสิ่งที่ “ถูกต้องแท้จริงแบบที่ไม่อาจโต้แย้งได้อย่างสิ้นเชิง” หรือ ที่เรียกว่า “the absolute truth”
เพราะฉะนั้นการที่หลายคนมักคิดว่าศาสนาของตนเองคือของแท้หรือที่เรียกว่าศาสนาบริสุทธิ์ นั้นย่อมมีปัญหาขัดแย้งไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เพราะว่าความเชื่อทางศาสนาเป็นสิ่งที่ไม่สามารถพิสูจน์จนสิ้นสงสัยได้ ซึ่งการบอกว่าศาสนาของตนนิกายของตนเป็นของแท้หรือเป็นศาสนาหนึ่งเดียวที่ถูกต้องนั้น ส่งผลให้ความเชื่อศาสนาในแบบอื่นนั้นมีความหมายว่าเป็นศาสนาที่ไม่ใช่สิ่งที่แท้จริงไปด้วย
.
แนวคิดเรื่องเสรีภาพกับการเคลื่อนตัวทางศาสนา
โดยทั่วไปมนุษย์ย่อมมีเสรีภาพทางความคิดและความเชื่อ ซึ่งเป็นสิทธิธรรมชาติที่มนุษย์มีติดตัวมาแต่กำเนิด โดยเสรีภาพในทางศาสนาและความเชื่อก็เป็นเสรีภาพที่สำคัญอย่างหนึ่ง
ต้องยอมรับว่าศาสนาที่ถือว่าเคลื่อนตัวไปได้มากคือศาสนาที่อยู่ประเทศทางตะวันตกอย่าง “คริสต์ศาสนา” เพราะว่าเขาให้สิทธิเสรีภาพในการนับถือศาสนาเป็นอย่างมาก แต่ก็ไม่ใช่ว่าเป็นเช่นนั้นมาตั้งแต่แรก ที่ศาสนาทางตะวันตกสามารถวิวัฒน์ไปได้ไกลก็เพราะว่า ทางตะวันตกเขาทะเลาะกันมามาก ต่อสู้เรื่องสิทธิเสรีภาพทางศาสนากันมามาก หลายครั้งทำให้เกิดความขัดแย้งเพราะเหตุทางศาสนาในหลายระดับ ไม่ว่าเป็นความขัดแย้งระหว่างศาสนา ศาสนาเดียวกัน หรือความขัดแย้งระดับชาติ
ซึ่งการที่เขาต่อสู้กันมามากทำให้ผู้คนเห็นปัญหาและข้อเสียได้มากเช่นเดียวกัน และทางตะวันตกยังทำให้เกิดแนวคิดสำคัญที่เรียกว่า รัฐโลกวิสัย (Secular state) ซึ่งเป็นการแยกศาสนาออกจากรัฐ ให้ถือเป็นเรื่องส่วนตัวของประชาชน และให้สิทธิเสรีภาพกับทุกศาสนารวมถึงการไม่นับถือศาสนาอีกด้วย หรือเรียกง่ายๆว่าเป็น “รัฐที่ปราศจากอิทธิพลของศาสนา”
การให้เสรีภาพในการตีความทางศาสนาในตะวันตกที่เห็นเป็นรูปธรรมเลยคือ การเกิดของนิกาย “โปรเตสแต๊นท์” ซึ่งมีการแตกเป็นหลายหมื่นนิกาย แสดงให้เห็นว่าเรื่องสิทธิเสรีภาพเป็นเรื่องที่สำคัญโดยเฉพาะศาสนา ไม่ว่าเป็นเสรีภาพในความเชื่อต่าง รวมถึงเสรีภาพในการตีความต่าง และศาสนากับเสรีภาพนั้นจะแยกขาดไปจากกันไม่ได้
ซึ่งการให้เสรีภาพนั้นทำให้ศาสนามีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น โดยส่วนตัวแล้วมองว่าเรื่องศาสนาเป็นสิ่งควรในการให้สิทธิ์เสรีภาพกับผู้คน รวมไปถึงผู้คนที่ไม่นับถือศาสนาอีกด้วย
Atheist, on a Religious Campus
ในสังคมยุคใหม่ที่ได้มีการตระหนักเรื่องสิทธิ,เสรีภาพ นั้นทำให้สังคมยิ่งมีแนวโน้มที่จะก้าวไปสู่สังคมที่เรียกว่า “พหุวัฒนธรรม” หรือ “พหุศาสนา” คือเป็นสังคมที่มีความหลากหลายทางด้านความเชื่อและวัฒนธรรม
แต่ที่สำคัญคือการอยู่ร่วมกันในสังคมด้วยความหลากหลายทางความเชื่อนั้น ความหลากหลายนี้จำเป็นต้องอยู่บนพื้นฐานของเสรีภาพเสียก่อน ความหลากหลายถึงจะเป็นไปได้อย่างเท่าเทียม
และความหลากหลายไม่สามารถอยู่ภายไต้แนวคิดแบบเผด็จการ พระเจ้าของฉันดีที่สุด ศาสนาของฉันประเสริฐที่สุด ความเชื่อของฉันเท่านั้นที่เป็นศาสนาของแท้ ดีกว่าศาสนาเธอ ฯลฯ เสรีภาพทางศาสนานั้นจะทำให้ศาสนานั้นอยู่ร่วมกันได้และทำให้ความหลากหลายอย่างเท่าเทียมนั้นเป็นไปได้จริง
เพราะฉะนั้นในโลกยุคใหม่ ต้องถือว่าศาสนากับเสรีภาพของมนุษย์เป็นสิ่งที่แยกขาดจากกันไม่ได้ การเกิดขึ้นของแนวคิดเรื่องเสรีภาพ ทำให้ศาสนานั้นโดนท้าทายและตั้งคำถามกับความเชื่อและความศรัทธามากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นศาสนาหรือความเชื่อใดก็แล้วแต่ล้วนถูกการตั้งคำถาม ในแง่หนึ่งศาสนานั้นก็พยายามที่จะรักษาสภาวะที่ศักดิ์สิทธิ์และแตะไม่ได้เอาไว้ แต่ก็หนีไม่พ้นที่จะถูกท้าทายด้วยมนุษย์ที่ยืนยันในหลักการเสรีภาพที่จะตั้งคำถามและวิพากษ์วิจารณ์ได้ทุกเรื่องไม่เว้นแม้แต่เรื่องความเชื่อทางศาสนา
ซึ่งการวิพากษ์วิจารณ์ศาสนานั้นไม่ใช่เรื่องที่ผิดปรกติครับ แต่ศาสนาใดก็ตามที่พูดถึงไม่ได้ ตั้งคำถาม หรือวิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้ต่างหากครับที่ผิดปรกติ ศาสนาหรือความเชื่อใดก็ตามที่แตะต้องไม่ได้ ตั้งคำถามไม่ได้ ศาสนานั้นถือเป็น “ภัยสังคม”
โฆษณา