22 เม.ย. 2023 เวลา 02:33 • การศึกษา

การลูกเสือของประเทศสยาม

พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตั้งกองลูกเสือขึ้นเมื่อพ.ศ. 2454 โดยมีพระราชประสงค์ที่จะฝึกหัดเด็กไทยให้มีความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ รักความสัตย์ รู้จักเสียสละ และบำเพ็ญประโยชน์เพื่อผู้อื่น  ได้ทรงตราข้อบังคับลักษณะการปกครองลูกเสือ ร.ศ. 130 (พ.ศ. 2454) ขึ้น  บัญญัติให้การลูกเสือเป็นองค์การอยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์  มีสภากรรมการกลางจัด
การลูกเสือแห่งสยาม  เป็นศูนย์กลางบังคับบัญชากิจการลูกเสือทั่วไป ตั้งอยู่ในพระนคร พระองค์ทรงดำรงตำแหน่งสภานายก  แบ่งส่วนบริหารงานออกเป็นภาค เป็นมณฑล ตามราชการบริหารส่วนภูมิภาคในขณะนั้น  มีสภากรรมการจัดการลูกเสือภาค  และมณฑล  ตามปกติโปรดให้อุปราชเป็นสภานายกภาค  สภาสมุหเทศาภิบาลเป็นสภานายกมณฑล
กระทรวงศึกษาธิการได้บรรจุ วิชาลูกเสือ ไว้ในหลักสูตรและมีการให้คะแนนเวลาสอบไล่ด้วย  มีการเปิดกองลูกเสือขึ้นตามโรงเรียนต่างๆทั่วไป  ฉะนั้นกระทรวงศึกษาธิการจึงมีหน้าที่รับผิดชอบในเรื่อง กิจการลูกเสือ เป็นส่วนใหญ่  กิจการของลูกเสือเจริญก้าวหน้ามาตลอดรัชสมัยของพระองค์ท่าน  จนกระทั่งภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง  สภากรรมการกลางจัดการลูกเสือสยามจึงให้ยุบสภากรรมการลูกเสือมณฑล  ให้มีคณะกรรมการจัดการลูกเสือจังหวัดและอำเภอขึ้นแทน
ในพ.ศ. 2477  มีการแบ่งลูกเสือออกเป็น 2 เหล่าคือ ลูกเสือเสนา  และ ลูกเสือสมุทรเสนา  เป็นการแยกเฉพาะทางด้านวิชาการเท่านั้น  ในส่วนหลักการคงเป็นเช่นเดียวกันทั้ง 2 เหล่า เหล่าสมุทรเสนานั้นคือฝึกสอนให้มีความรู้ความสามารถทางทะเล  เพื่อให้เกิดประโยชน์เหมาะสมกับสภาพและภูมิลำเนาของลูกเสือที่อยู่ชายทะเล
กิจการดำเนินมาด้วยดีจนกระทั่งพ.ศ. 2485  จึงมีกิจการยุวชนทหารเกิดซ้อนขึ้นมา ตามนโยบายของรัฐบาลในสมัยนั้น  เรื่องลูกเสือจึงได้ซบเซาไปพักหนึ่งตลอดจนสิ้นสมัยสงคราม  เพิ่งจะมาฟื้นฟูกันขึ้นใหม่เมื่อพ.ศ. 2491
ประมวล/สรุปจาก..พงศ์อินทร์ ศุขขจร(ประวัติการศึกษาไทย, 2512)
Cr. เจ้าของภาพ
โฆษณา