22 เม.ย. 2023 เวลา 04:57 • สัตว์เลี้ยง
SILVERSQUAD BENGALS CATTERY BANGKOK ฟาร์มแมวเบงกอล

Heat stroke🔥🔥 ฮีทสโตรก สัญญาณอันตรายในหมาแมว

ฮีทสโตรก (Heat Stroke) เป็นภาวะที่ร่างกายของสัตว์ไม่สามารถระบายความร้อนออกจากร่างกายได้ทันท่วงที ทำให้อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้นผิดปกติ โดยอุณหภูมิความร้อนในร่างกายที่สูงขึ้นจะส่งผลกระทบต่ออวัยวะภายในให้ทำงานผิดปกติและล้มเหลวในที่สุด (ลองนึกภาพว่าร่างกายของสัตว์เปรียบเหมือนหม้อต้มน้ำที่เดือดปุดๆและอวัยวะภายในที่ถูกต้มสุกดูสิ)
ภาวะฮีทสโตรกเกิดขึ้นได้กับสัตว์ทุกชนิด โดยเฉพาะกับน้องหมาและแมวเนื่องจากลักษณะทางกายภาพของน้องมีต่อมเหงื่อเฉพาะบริเวณจมูกและฝ่าเท้า ไม่ได้ระบายความร้อนออกทางต่อมเหงื่อที่ผิวหนังเหมือนมนุษย์ เลยต้องอาศัยการหอบและหายใจเป็นหลัก ดังนั้นในกรณีที่ร่างกายระบายความร้อนไม่ทัน น้องก็จะเกิดภาวะฮีทสโตรก
ฮีทสโตรกไม่ใช่ภาวะที่เกิดขึ้นปุบปับฉับพลัน แต่เกิดจากการที่ร่างกายของสัตว์มีการสะสมความร้อนอย่างต่อเนื่องและระบายออกไม่ทันและร่างกายเริ่มแสดงอาการออกมา (Heat exhaustion) ซึ่งหากไม่ได้รับการคูลดาวน์อุณหภูมิร่างกายโดยเร็วและปฐมพยาบาล อวัยวะภายในจะเริ่มล้มเหลวและเสียชีวิต
อาการฮีทสโตรกในหมาแมว:
หอบ หายใจถี่
ลิ้นและปากเป็นสีชมพูเข้ม/แดง
อาเจียน
น้ำลายไหล
ร่างกายอ่อนแรง ไม่มีแรงลุกหรือนั่ง
รูม่านตาขยายกว้าง
ชัก หมดสติ
**อุณหภูมิร่างกายปกติของหมาและแมวคือ 38.3-39.2° C และมีความเสี่ยงเกิดภาวะฮีทสโตรกเมื่ออุณหภูมิร่างกายแตะระดับ 40° C (เมื่ออุณหูมิร่างกายสูงถึงจุดหนึ่ง แมวจะชักและหมดสติเข้าสู่อาการโคม่า ร่างกายแมวแต่ละตัวสามารถทนอุณหภูมิสูงได้ไม่เท่ากัน)
การปฐมพยาบาลเบื้องต้น:
พาน้องมาอยู่ในพื้นที่ร่ม ที่มีอากาศถ่ายเท
เปิดพัดลมเป่า
ใช้ผ้าชุบน้ำธรรมดาเช็ดตามลำตัว อุ้งเท้า ท้อง ใบหู ขาหนีบ รักแร้ หรือแช่บริเวณลำตัวลงในอ่างน้ำเพื่อช่วยลดอุณหภูมิร่างกาย
รีบพาน้องไปคลินิกหรือโรงพยาบาลสัตว์ใกล้บ้านเพื่อให้สัตวแพทย์รักษาในขั้นต่อไป
**ห้ามใช้น้ำแข็งหรือน้ำเย็นจัดมาอาบ เช็ด หรือจุ่มตัวเพื่อระบายความร้อน เพราะจะทำให้หลอดเลือดหดตัว ร่างกายระบายความร้อนได้แย่ลง อุณหภูมิที่ลดลงไวไปส่งผลทำให้ช็อคได้ แค่ให้กินพอ (ส.พญ.วรางคณา สังข์พิชัย, 2566)
การป้องกัน:
ตรวจสอบบริเวณพื้นที่อยู่อาศัยของสัตว์เลี้ยงว่ามีร่มเงาและอากาศถ่ายเทสะดวก
หลีกเลี่ยงพาน้องหมาน้องแมวออกกำลังกายหรือเดินเล่นในวันที่อากาศร้อน
พึงระวัง! อาการเท้าพอง ที่เกิดจากการเดินสัมผัสพื้นทางเดิน
ไม่ปล่อยน้องทิ้งไว้ในห้องทึบหรือบนรถ
หมั่นสำรวจน้ำดื่มของสัตว์เลี้ยงให้มีเพียงพอตลอดเวลา สามารถใส่น้ำแข็งเพื่อช่วยให้น้ำเย็นนานขึ้น
อ้างอิง:
Royal Veterinary College University of London
PetMD Editorial
ส.พญ.วรางคณา สังข์พิชัย
รศ.น.สพ.ปานเทพ รัตนากร
โฆษณา