23 เม.ย. 2023 เวลา 06:12 • ประวัติศาสตร์

ปริศนา “อารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุ (Indus Civilization)”

ย้อนกลับไปเมื่อศตวรรษก่อน การค้นพบร่องรอย “อารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุ (Indus Civilization)” ในแถบอินเดีย นับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในประวัติศาสตร์ และทำให้เกิดการศึกษาว่าอารยธรรมในอินเดียมีพัฒนาการอย่างไร
“อารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุ (Indus Civilization)” เป็นอารยธรรมในช่วงระหว่าง 3,300-1,900 ปีก่อนคริสตกาล และก็แตกต่างจากการค้นพบทางโบราณคดีอื่นๆ ในอินเดียที่ผ่านมา
เมืองในอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุ มีระบบต่างๆ ที่ก้าวหน้า ทั้งระบบการระบายน้ำ มีการสร้างส้วมไว้ในบ้าน การวางผังเมืองที่ซับซ้อน และเครือข่ายการค้าที่กว้างไกล
1
จากการสำรวจทางโบราณคดี ทำให้ค้นพบท่าเรือที่เก่าแก่ที่สุดในโลก รวมทั้งแท่นไฟ ห้องอาบน้ำ และยุ้งฉางสมัยโบราณอีกด้วย
2
นอกจากนั้นยังมีการค้นพบโบราณวัตถุที่ทำจากสัมฤทธิ์ ทองแดง และดินเหนียวอีกจำนวนมาก
แต่ถึงจะมีการค้นพบทางโบราณคดี แต่ก็ยังมีข้อสงสัยมากมายเกี่ยวกับอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุ
ถึงแม้อารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุจะเป็นอารยธรรมสำคัญในยุคโบราณ หากแต่ก็ไม่มีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรดังเช่นอารยธรรมจีนหรืออารยธรรมอื่นในตะวันออก จึงนำไปสู่คำถามต่างๆ มากมาย
“กลุ่มคนที่สร้างอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุเป็นใคร?” “วิถีชีวิตของบุคคลเหล่านี้เป็นอย่างไร?”
1
นี่เป็นเพียงตัวอย่างคำถามเท่านั้น
เราลองมาไล่ไปทีละข้อสงสัยกันนะครับ
อารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุมีกองทัพหรือไม่?
นักโบราณคดีต่างลงความเห็นว่าอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุเป็นอารยธรรมที่สงบ มีสันติภาพ แตกต่างจากอารยธรรมอื่นๆ
จากการค้นพบทางโบราณคดี ไม่พบอาวุธที่ใช้ในการต่อสู้จริงๆ สิ่งที่พบโดยมากก็คืออุปกรณ์ที่ใช้ในการล่าสัตว์และตกปลา ทำให้คาดเดาได้ว่าอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุอาจจะไม่มีกองทัพของตนเอง
1
บนเครื่องปั้นต่างๆ ก็ไม่มีรูปวาดหรือรูปสลักนักรบ ไม่มีแม้แต่รูปอาวุธ
ด้วยเหตุผลเหล่านี้ ทำให้คิดได้ว่าอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุน่าจะเป็นอารยธรรมที่มีแต่สันติภาพ
3
หากแต่ความเป็นจริงก็อาจจะไม่ได้เป็นเช่นนั้นเสมอไป
มีหลักฐานอยู่ชิ้นหนึ่งที่เป็นข้อพิสูจน์ว่าชาวอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุอาจจะไม่ได้เป็นพ่อค้าที่หาเลี้ยงชีพอย่างสุขสงบเสมอไป หลักฐานชิ้นนั้น ก็คือตราประทับจากเมโสโปเตเมีย ซึ่งปัจจุบันถูกเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ (Louvre Museum) ประเทศฝรั่งเศส
ตราประทับนี้มีเรื่องราวของสงคราม มีบทบรรยายเรื่องราวของ “ริมัช (Rimush)” พระราชโอรสใน “พระเจ้าซาร์กอนแห่งแอกคาด (Sargon of Akkad)” ผู้ปกครองชาวแอคคาเดีย
1
ริมัช (Rimush)
ริมัชได้บรรยายถึงสงครามระหว่างกษัตริย์องค์หนึ่ง พระนามว่า “อาบาลกาแมช (Abalgamash)” ซึ่งทำสงครามกับกองทัพฝ่ายตรงข้าม และชาวอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุ ก็คือส่วนหนึ่งของกองทัพศัตรู
เรื่องราวของริมัชทำให้ความเชื่อเดิมๆ ว่าอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุเป็นอารยธรรมที่สงบ ปราศจากสงคราม เริ่มเปลี่ยนไป หากแต่ก็ไม่มีบันทึกที่แน่ชัดว่าอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุมีชนชั้นนักรบหรือไม่
เมื่อปราศจากหลักฐาน จึงไม่อาจสรุปได้ว่าอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุมีกองทัพเป็นของตนเองจริงๆ หรือไม่ หากแต่ความเชื่อเดิมๆ เรื่องความรักสงบของอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุ ก็เริ่มจะสั่นคลอนและทำให้คิดได้ว่า บางที อารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุก็อาจจะรบเป็น
2
แต่เมืองทุกเมืองนั้นมีการพร้อมรบหรือไม่? หรือภูมิภาคต่างๆ มีความแตกต่างกันออกไป? ซึ่งคำถามนี้ก็นำมาสู่ปริศนาต่อไป
เหตุใดวัฒนธรรมในแต่ละเมืองของอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุจึงมีความแตกต่างกัน?
อารยธรรมเมโสโปเตเมียและอารยธรรมอียิปต์ ถึงแม้จะมีความแตกต่างกันทางวัฒนธรรมอยู่บ้าง แต่ก็มีลักษณะเฉพาะที่คล้ายคลึงกัน ทำให้เข้าใจวัฒนธรรมของอารยธรรมแถบนี้ได้ไม่ยากนัก
แต่เมื่อมาถึงอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุ แหล่งโบราณคดีต่างๆ ล้วนแต่มีความแตกต่างกันมาก สร้างความพิศวงให้นักประวัติศาสตร์
2
ยกตัวอย่างก็เช่น แท่นไฟที่พบบริเวณแหล่งโบราณคดีในคาลิบังกัน ซึ่งเป็นแท่นไฟที่มีลักษณะเฉพาะ พบได้แค่ที่คาลิบังกัน
คำถามตามมาก็คือ “แท่นไฟนี้เป็นบริเวณที่ใช้ทำพิธีบูชายัญหรือเปล่า? หรือมีไว้เพื่อเหตุผลอื่น?” ซึ่งก็ยังคงหาคำตอบไม่ได้ หากแต่ในเมืองอื่นๆ ก็ไม่พบแท่นไฟดังกล่าวเลย
1
นอกจากนั้น เมืองอื่นๆ ก็ยังมีข้าวของเครื่องใช้ที่แตกต่างกันออกไป และก็ยังทำให้ปริศนาที่ว่าทำไมแต่ละแห่งจึงมีความต่างกันมากขนาดนี้ ยังไม่สามารถหาคำตอบได้
เรื่องต่อมาที่เป็นที่สนใจของนักประวัติศาสตร์ก็คือ “ภาษา”
เป็นไปได้ว่าชาวอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุในแต่ละพื้นที่พูดภาษาต่างกัน หรืออาจจะพูดภาษาเดียวกัน ก็เป็นไปได้ทังคู่ หากแต่อักขระหรือตัวอักษรนั้น มีเพียงหนึ่งเดียว
เรื่องภาษาพูดของชาวอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุยังคงเป็นเรื่องที่เป็นที่ถกเถียง และภายหลังจากที่อารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุเสื่อมสลาย “ภาษาสันสกฤต” ก็ได้กลายเป็นภาษากลางในดินแดนของอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุ หากแต่ก็ไม่มีหลักฐานที่แน่ชัดว่าภาษาอะไรกันแน่ที่ชาวอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุใช้สื่อสาร
นักโบราณคดีได้ค้นพบอักขระในตราประทับโบราณของอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุ โดยพบที่อินเดีย ปากีสถาน อิหร่าน และอิรัก และพบว่ามีสัญลักษณ์กว่า 417 ตัว พบอยู่ในตราประทับกว่า 3,700 ชิ้น
นักโบราณคดีบางคนเชื่อว่าอักขระเหล่านี้อาจจะมีความเกี่ยวข้องกับอักษรพราหมณ์ หากแต่ก็ไม่มีข้อพิสูจน์ที่แน่ชัด
ดังนั้น เรื่องของภาษา ก็ยังเป็นเรื่องที่คลุมเครือ ไม่แน่ชัดว่าภาษาของอารยธรรมนี้คือภาษาอะไร
เรื่องต่อไปคือ “ศาสนา”
ตั้งแต่สมัยพระเวท ชาวอินเดียก็มีการนับถือศาสนาต่างๆ ซึ่งต่างจากความเชื่อในสมัยยุคสัมฤทธิ์ที่มีการนับถือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชัดเจน เป็นที่รู้จัก หากแต่ศาสนาของอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุนั้น ยังเป็นสิ่งที่ต้องศึกษาและวิเคราะห์
1
มีการพบรูปแกะสลักสตรีในบริเวณดินแดนของอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุ ซึ่งหลายคนคาดเดาว่าน่าจะสื่อถึงเทพเจ้าแห่งความอุดมสมบูรณ์ แต่นักประวัติศาสตร์บางคนก็ไม่เห็นด้วย
1
รูปแกะสลักเหล่านี้อาจจะไม่เกี่ยวข้องกับศาสนา โดยรูปแกะสลักที่พบก็มีขนาดและรูปร่างต่างกันออกไป และโบราณวัตถุชิ้นอื่นๆ ก็มีรูปแกะสลักต่างๆ ซึ่งไม่เหมือนกัน และยังหาคำตอบที่ชัดเจนไม่ได้
นักประวัติศาสตร์เชื่อว่าศาสนาฮินดู อาจจะมีการพัฒนามาจากศาสนาของอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุ และก็มีหลักฐานบางชิ้นที่แสดงถึงการผสมผสานระหว่างอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุและผู้คนในสมัยพระเวท
แต่ด้วยความที่หลักฐานต่างๆ ล้วนแต่ไม่ชัดเจน ทำให้ทฤษฎีต่างๆ ไม่สามารถฟันธงได้แน่ชัด มีเพียงการคาดเดาไปต่างๆ นาๆ
อาจจะเรียกได้ว่าอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุนั้นทิ้งปริศนาต่างๆ เอาไว้มากมาย ซึ่งล้วนแต่รอการหาคำตอบ
1
ก็ต้องดูในอนาคตว่าปริศนาเหล่านี้จะคลี่คลายได้หรือไม่
โฆษณา