Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Another Book
•
ติดตาม
23 เม.ย. 2023 เวลา 04:00 • หนังสือ
“ เราไม่ได้ “มี” เวลา แต่เรา “คือ” เวลา”
ANOTHER BOOK ขอนำเสนอ
Four Thousand Weeks
ชีวิตเรามีแค่สี่พันสัปดาห์
โดย Oliver Burkeman
#What_I_Get
เมื่อเรามองมาที่ชีวิตของเราแล้วคิดถึงสิ่งที่ต้องทำให้เสร็จต่าง ๆ ในชีวิตเราอาจพบว่ามีงานมากมายเหลือเกินที่รอให้เราทำให้เสร็จ เพื่อให้เราไปถึงความสำเร็จที่เราอยากได้ คนที่เราอยากเป็น โดยหวังที่จะประสบความสุขสูงสุดที่ปลายทางของชีวิต
แต่ความเป็นจริงชีวิตอาจไม่ได้เป็นอย่างนั้น เมื่อมองถึงอายุไขของมนุษย์เราที่โดยเฉลี่ยแล้วมีอายุแค่ 80 ปี หรือ ประมาณ 4000 สัปดาห์ อาจจะมากหรือน้อยกว่าแล้วแต่บุคคล จะเห็นได้ว่ามนุษย์เรานั้นท้ายที่สุดแล้วก็ต้องตายไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม โดยเวลาที่คุณใช้ได้ก็คือเวลาของชีวิตคุณเพียงเดียวเท่านั้น
ในเมื่อเรามีเวลาอันจำกัด การจัดการเวลาก็เปรียบเสมือนการจัดการชีวิตของเราเอง แต่คำว่า “การจัดการเวลา” ในปัจจุบันกับถูกจำกัดอยู่ภายใต้ การบริหารเวลาเพื่อสร้างผลิตภาพ (productivity) ซึ่งมีความหมายคับแคบกว่าการจัดการชีวิตมาก เพราะการเน้นไปที่ผลิตภาพจะมุ่งเน้นเพียงการตะลุยภารกิจที่ต้องทำให้ได้มากที่สุด หรือแผนการที่เยี่ยมที่สุดในแต่ละวัน ซึ่งถึงแม้จะมีความสำคัญแต่ก็ไม่ใช่ทุกอย่างของชีวิต
บางคนอาจยึดติดกับผลิตภาพจนรีบร้อนทำทุกอย่างเพื่อให้เรารู้สึกดีที่ได้ค่อย ๆ ขีดฆ่ารายการที่ต้องทำไปเรื่อย ๆ แต่เมื่อเราทำไปรายการกลับไม่เคยลดลง กลับกันรายการยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนเราเหนื่อยมากขึ้นแทน พร้อมกับความรู้สึกที่ว่าทำไมยังทำได้ไม่มากพอสักที
หนังสือเล่มนี้จึงอยากช่วยให้คุณพบมุมมองใหม่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ของ “เวลา” และ “ชีวิต” เพื่อปรับสมดุลแนวคิดเกี่ยวกับเวลาชีวิตที่แสนสั้นในช่วง 4000 สัปดาห์ของเรา
บทนำ
สมัยก่อนที่จะมีการประดิษฐ์เครื่องบอกเวลา เวลากับชีวิตมีความสัมพันธ์ในรูปแบบการต่อเนื่องกันของเหตุการณ์ที่ชีวิตค่อย ๆ ทำกิจกรรมร้อยเรียงกันไปตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น แต่เมื่อเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรมที่มีการใช้เครื่องบอกเวลาในการกำหนดให้ทุกคนเข้าทำงานในเวลาเดียวกัน ก็ได้ทำให้เราต้องผูกติดกิจกรรมกับการบอกเวลา และต้องทำสิ่งต่าง ๆ ตามเวลาที่มีอย่างจำกัดมากขึ้น
เมื่อเวลากลายเป็นเสมือนสิ่งของที่เราต้องใช้ให้คุ้มค่า เราจึงเริ่มหาวิธีประหยัดเวลาทุกรูปแบบ รีดเค้นผลประโยชน์จากเวลาให้ได้มากที่สุด ทำได้มากขึ้น แต่ก็คาดหวังมากขึ้น หงุดหงิดง่ายขึ้น และถึงแม้คุณจะทำงานได้มากขึ้น แต่คุณกลับยิ่งรู้สึกยุ่งขึ้น ว้าวุ่นใจมากขึ้น และว่างเปล่าอย่างบอกไม่ถูก
เพราะมนุษย์เรามีความสามารถในการหางานให้ตัวเองทำได้อย่างไม่จบสิ้น เมื่อคุณทำงานหนึ่งเสร็จ แม้ว่ามันจะใช้เวลาน้อยลงขนาดไหน เวลาว่างที่เหลือคุณก็จะหางานอื่นมาทำต่อจากทำงานนั้นเสร็จอยู่ดี งานที่เราต้องทำจึงไม่มีทางเสร็จทั้งหมดเท่าที่ใจเราอยากทำ
เราพยายามมีประสิทธิภาพมากขึ้น พร้อมกับความรู้สึกกังวลว่ายังทำได้ไม่ดีพอ คุณอาจทำงานมากขึ้น รายได้มากขึ้น ใช้จ่ายได้มากขึ้น แต่กลับไม่สามารถสร้างความสุข หรือความสบายใจได้อย่างยั่งยืน ทำให้สุดท้ายเราได้อยู่ในยุคที่จิตวิญญาณที่ว่า
“จิตวิญญาณของยุคสมัยนี้ คือ ความเร่งรีบอันไร้สุข
ภาค เลือกที่จะเลือก
ยอมรับว่าชีวิตมีขีดจำกัด
ในช่วงระยะเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ เกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ ขึ้นมากมาย ทำให้ความเป็นได้มากมายเกิดขึ้นกับชีวิตเรา เรามีสิ่งต่าง ๆ ให้รู้มากขึ้น ให้เลือกสรรมากขึ้น ให้เสพมากขึ้น จนเหมือนชีวิตเราไม่ขีดจำกัด แต่ความเป็นจริงไม่เป็นเช่นนั้น เราไม่สามารถทำได้ทุกอย่างแม้เราจะพยายามแค่ไหนก็ตาม
หนึ่งสิ่งที่เราต้องยอมรับ คือ การยอมรับว่าชีวิตเรามีขีดจำกัดด้วยเวลาที่เรามี การยอมรับขีดจำกัดนี้บังคับให้เราต้องเลือกทำแค่บางอย่างเท่านั้น ซึ่งคุณต้องคิดเพื่อตัวเองว่าคุณต้องการที่จะทำสิ่งใดกันแน่ สิ่งใดที่สำคัญต่อคุณมากเพียงพอที่จะทำมัน ยอมรับว่าคุณต้องสละเรื่องอื่น ๆ ที่ไม่สำคัญทิ้งไป อย่างเต็มใจและเป็นคนเลือกเอง
ในด้านกลับกันถ้าคุณพยายามเอาชนะขีดจำกัดของเวลา คุณจะพยายามทำทุกสิ่งให้ได้มากที่สุดในเวลาที่น้อยที่สุด คุณอาจจะรู้สึกดีที่ชนะรายการยิบย่อยเหล่านั้นได้ แต่ชีวิตคุณจะยิ่งเคร่งเครียด ว่างเปล่า และหมดไฟได้ในที่สุด
เมื่อคุณยอมรับว่าเราเลือกทำได้จำกัด เราจะผ่อนคลายขึ้น เลิกเฆี่ยนตีตัวเองที่ยังทำได้ไม่มากพอ และเริ่มมีความพอใจในสิ่งที่ได้เลือกทำมากขึ้น
ศิลปะแห่งการละทิ้งอย่างสร้างสรรค์
เมื่อชีวิตบีบให้คุณต้องเลือกว่าคุณควรทำอะไร บางครั้งก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะตอบกับตัวเองว่าเราควรต้องอะไรถึงจะดีที่สุด คุณต้องค่อย ๆ พูดคุยกับตัวเองถึงความเชื่อ และค่านิยมภายในตัวคุณว่าสิ่งใดที่สำคัญกับคุณ และเลือกทำกิจกรรมที่สอดคล้องกับความเชื่อและค่านิยมนั้น
คุณยังควรจัดการเวลาด้วยการ จ่ายเวลาให้ตัวเองก่อน เพื่อให้คุณสามารถใช้เวลานั้นทำสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับคุณก่อนเรื่องอื่น ๆ และควรอดทนกับความยั่วยวนของสิ่งสำคัญระดับปานกลางที่คอยแย่งเวลาของคุณไป แต่ไม่ได้ช่วยให้คุณรู้สึกดีขึ้น
นอกจากนี้ สิ่งสำคัญที่คุณต้องใส่ใจอย่างสูงในแต่ละช่วงเวลา ไม่ควรมีมากกว่า 3 สิ่ง เพราะถ้ามากกว่านี้คุณจะไม่สามารถใส่ใจมันได้มากพอจนได้ผลลัพธ์ที่ดีทั้งหมด
ความน่าอึดอัดของเรื่องสำคัญ
เรื่องสำคัญในชีวิตเราเป็นเรื่องที่เราเลือกมาแล้วว่ามันมีคุณค่าต่อเราไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ฉะนั้นเราย่อมรู้ตัวเองดีว่ามันสำคัญ ทั้งที่เรารู้อยู่แก่ใจว่ามันสำคัญ แต่บางทีเรากลับรู้สึกไม่อยากจะทำมัน อาจเป็นเพราะการที่เราจะต้องใส่ใจกับมันมาก ๆ ทำให้เราต้องใช้พลังงานในการจดจ่อ เคร่งเครียด และไม่สบายใจกับมันได้เหมือนกัน
ถึงแม้เราจะอยากทำสิ่งที่สำคัญแต่เราก็ไขว้เขวได้ง่ายในการไปทำอย่างอื่นที่ง่ายกว่า เพลิดเพลินกว่า และให้รางวัลที่เร็วกว่า เพื่อเลี่ยงความอึดอัดที่เกิดขึ้น
สิ่งที่เราทำได้ในการทำสิ่งสำคัญให้สำเร็จ คือ การตั้งสติ ยอมรับและเผชิญหน้ากับความไม่สบายใจนั้น แล้วค่อย ๆ เดินหน้าต่อไปเท่าที่เราจะทำได้
ภาค เหนือการควบคุม
เราไม่เคยมีเวลาจริง ๆ หรอก
หนึ่งในคุณสมบัติที่ของมนุษย์ที่ส่วนมากทำได้ย่ำแย่ก็คือ การประเมินเวลาที่ต้องใช้ในการทำภารกิจต่าง ๆ ซึ่งเป็นไปตาม กฎของฮอฟสตัดเตอร์ ที่กล่าวไว้ว่า “ ภารกิจใดก็ตามที่คุณวางแผนจะทำ จะใช้เวลานานกว่าที่คุณคาดการณ์ไว้เสมอ ”
การที่คุณวางแผนล่วงหน้าไม่ว่าจะเตรียมพร้อมมากเท่าไรก็ตาม ก็เป็นได้เพียงการป้องกันความเสี่ยงรูปแบบต่าง ๆ เพราะเมื่อถึงเวลาจริงแล้ว เหตุการณ์สามารถเปลี่ยนไปจากที่เคยคิดไว้มากจนไม่อาจคิดล่วงหน้าได้
ทุกขณะในช่วงชีวิตเต็มไปด้วยความบังเอิญที่คุณไม่อาจวางแผนรับมือได้ทั้งหมด ชั่วขณะที่คุณอยู่ คือ เวลาเดียวที่คุณสามารถรู้ได้อย่างแท้จริงว่าต้องเผชิญกับสิ่งใด
การวางแผนและการเตรียมตัวแท้จริงแล้วเป็นสิ่งที่ดี ที่ช่วยให้เรารู้ถึงความเป็นไปได้และการรับมือสิ่งต่าง ๆ แต่คุณไม่ควรคาดหวังที่จะควบคุมเหตุการณ์ในอนาคตได้อย่างสมบูรณ์ ความต้องการที่จะมั่นใจว่าจะไม่มีอะไรผิดพลาดไปจากแผน เป็นความต้องการที่ไม่วันตอบสนองได้จริง
การกังวลกับอนาคตที่ไม่สามารถควบคุมได้มากเกินไปก็เป็นอีกด้านหนึ่งของเหรียญที่ ไม่ได้ช่วยให้เราสามารถรับมือได้ดีขึ้น หรือใช้เวลาของเราได้ดีขึ้น เราควรมองอนาคตในรูปแบบความเป็นไปได้เพื่อให้เราเผื่อพื้นที่ความยืดหยุ่นของสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น และไม่กังวลกับมันมากจนเกินไป
ค้นพบการพักผ่อนอีกครั้ง
ยุคปัจจุบันเป็นยุคที่ความเพลิดเพลินเสื่อมถอยลง ถึงแม้มีกิจกรรมความบันเทิงมากมายให้เราได้เลือกสรรค์อย่างไม่จบสิ้น แต่น้อยเหลือเกินที่เราจะรู้สึกถึงการพักผ่อนและเพลิดเพลินกับกิจกรรมนั้นอย่างแท้จริง
เนื่องจากความกดดันของสังคมสมัยใหม่ที่ผลักดันให้เราต้องใช้เวลาว่างอย่างมีประสิทธิภาพ ลงทุนในกิจกรรมที่ดีต่ออนาคต หรือถูกสังคมตราหน้าว่าล้มเหลวหากไม่ได้ทำกิจกรรมบางอย่าง ไปจนถึงคำแก้ตัวที่ว่า “ ผ่อนคลายซะ จะได้มีประสิทธิภาพขึ้น ”
จะเห็นได้ว่า การพักผ่อนถูกใช้เป็นเครื่องมือในการแสดงตัวตน การลงทุนเพื่ออนาคต หรือแม้กระทั้งการทำเพื่อสร้างประสิทธิภาพที่มากขึ้น ทำให้การพักผ่อนเหล่านั้นเสมือนเป็นงานที่เราต้องทำเพื่อไปให้ถึงจุดหมายอื่น ๆ ที่ไม่ได้เน้นที่ความรู้สึกได้พักผ่อน หรือความเพลิดเพลินที่เกิดขึ้นจริงต่อตัวเรา
เราจึงควรทวงคืนความชอบธรรมให้กับการพักผ่อน โดยพักผ่อนด้วยกิจกรรมที่เรามีความสุขอย่างแท้จริง เป็นกิจกรรมที่อยากทำ เพราะเราทำแล้วรู้สึกดีก็เพียงพอ ไม่ต้องมีจุดหมาย ไม่ต้องยึดติดกับผลลัพธ์ในการทำ แค่ได้ทำแล้วสุขใจก็พอแล้ว
เครื่องมือเปิดใจรับขีดจำกัดของคุณ 10 ข้อ
1. ใช้วิธี “กำหนดปริมาณที่แน่นอน” สู่การมีผลิตภาพ – สร้างชุดโครงการที่คุณกำลังทำอยู่ โดยจำกัดอยู่ที่ไม่เกิน 10 รายการ ให้คุณทำสิ่งที่อยู่ในรายการนี้ก่อนเสมอ โดยกำหนดขอบเขตเวลาเพื่อทำรายการเหล่านี้ในทุกวัน เมื่อรายการใดเสร็จให้ขีดออกแล้วจึงนำรายการอื่น ๆ เข้ามาเพิ่มได้
2. จัดลำดับ จัดลำดับ จัดลำดับ - มุ่งความสนใจไปที่โครงการใหญ่ครั้งละหนึ่งโครงการ ( หรืออย่างมากเป็น เรื่องงานหนึ่งโครงการ และ นอกเหนือจากเรื่องงานหนึ่งโครงการ)
3. ตัดสินใจล่วงหน้าว่าจะล้มเหลวเรื่องอะไร - การล้มเหลวเชิงกลยุทธ์ คือ การเลือกที่จะล้มเหลวในบางเรื่องไว้ล่วงหน้า เนื่องจากในแต่ละช่วงเวลาเราเลือกที่จะสนใจกับโครงการใหญ่ของเรา โครงการอื่น ๆ อาจต้องล้มเหลวบ้างในช่วงเวลานั้น
4. มุ่งเน้นไปยังสิ่งที่ทำเสร็จแล้ว ไม่ใช่สิ่งที่ต้องทำให้เสร็จ – ถ้าคุณใส่ใจกับสิ่งที่ต้องทำให้เสร็จคุณจะท้อแท้เพราะมันมีมากมายเหลือเกิน แต่รายการสิ่งที่ทำเสร็จแล้วจะช่วยให้กำลังใจคุณว่ามีความคืบหน้าเกิดขึ้นไม่มากก็น้อย
5. รวบยอดความใส่ใจของคุณ - ความใส่ใจของคุณมีปริมาณที่จำกัด แต่โลกทุกวันนี้มีเรื่องราวให้ใส่มากมายเหลือเกิน คุณควรคิดและเลือกว่าจะใส่สิ่งใดบ้าง เพื่อตัดสิ่งที่เหลือออกจากการใส่ใจ เพราะคุณแคร์ทุกคนบนโลกไม่ได้
6. โอบรับเทคโนโลยีที่น่าเบื่อและมีวัตถุประสงค์เดียว - ให้เลือกอุปกรณ์ที่มีจุดประสงค์เดียวให้มากที่สุด เพื่อป้องกันสิ่งเร้าอื่น ๆ ที่ไม่จำเป็นในการทำกิจกรรมที่คุณต้องการ
7. แสวงหาความแปลกใหม่ในความจำเจ - ให้ความสนใจกับทุกช่วงเวลามากขึ้น คุณจะพบว่าแม้กิจกรรมที่ต้องทำทุกวันก็ยังมีความแปลกใหม่เกิดขึ้นเสมอเมื่อเราพิจารมองให้ดี คุณจะมีความอิ่มเอมจากกิจกรรมนั้นมากขึ้นกว่าปกติ
8. เป็น “นักวิจัย” ในความสัมพันธ์ – ลองตั้งใจที่จะมีทัศนคติใฝ่รู้ เพื่อพยายามเข้าใจคนอื่น ๆ มากขึ้น
9. บ่มเพาะการทำความดีโดยไม่รั้งรอ - คนเรามักหลงลืมได้ง่าย ดังนั้นทุกครั้งที่คุณนึกถึงการทำสิ่งดี ๆ ที่ช่วยให้คนอื่นรู้สึกดี โดยที่มันใช้เวลาไม่มากให้คุณทำมันทันที คุณจะรู้สึกได้ถึงความสุขจากการเป็นผู้ให้
10. ฝึกที่จะอยู่เฉย ๆ - ลองการทำสมาธิแบบ “ไม่ทำอะไรเลย” ไม่ต้องใส่ใจอะไรทั้งนั้น แค่อยู่ตรงนั้นเฉย ๆ แม้คุณจะมีงานรอคุณอีกมากมายเท่าไรก็ตาม ให้คุณลองสงบจิตใจและนั่งนิ่ง ๆ แค่นั้น คุณจะพบว่าแม้คุณหยุดทำทุกอย่างไปช่วงเวลาหนึ่งโลกก็ไม่ได้แตก ดังนั้นคุณไม่จำเป็นต้องทุกอย่างอย่างเร่งรีบตลอดเวลา
#How_I_Feel
หนังสือเล่มนี้ทำให้เรามองยุคสมัยปัจจุบันในมุมที่ต่างจากเดิม ยุคสมัยที่เต็มไปด้วยนวัตกรรม ยุคสมัยที่เต็มไปด้วยกิจกรรมน่าตื่นตาตื่นใจให้เราทำจนไม่มีวันทำได้ครบ เป็นโลกที่สร้างความเชื่อที่ว่า “เราสามารถเป็นได้ทุกอย่างถ้าเราทำมากพอ”
ความเป็นจริงมนุษย์ไม่ได้ถูกสร้างมาเพื่อให้ทำได้ทุกอย่าง ด้วยอายุไขราว 4000 สัปดาห์ของเรา ช่างเป็นช่วงเวลาเพียงน้อยนิด การสร้างผลิตภาพเพื่อให้ทำได้มากที่สุดจึงเป็นหนึ่งในหมุดหมายของยุคนี้ แต่กลับนำมาซึ่งความยุ่งอันไร้ที่สิ้นสุด เพราะมีสิ่งที่เราต้องทำต่อไปไม่จบสิ้น และไม่ได้รับความสุขมากมายอย่างที่เราคิดไว้
การปรับสมดุลการใช้เวลาจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่จะช่วยให้เรารู้สึกถึงการมีชีวิตมากขึ้น และมีความสุขมากขึ้น โดยที่ไม่ต้องต่อว่าตัวเองที่ยังทำได้ไม่มากพอ ด้วยการยอมรับขีดจำกัด ว่าสิ่งที่เราทำได้นั้นมีจำกัด
และเลือกทำสิ่งที่สำคัญต่อตัวเราอย่างแท้จริง พร้อมเลือกที่จะสละสิ่งอื่นไปด้วยตัวเอง ซึ่งเป็นหนทางให้เราได้หลีกหนีออกจากความยุ่ง อันเร่งรีบที่ไรสุขได้
#Who_Should_Read
- คนที่ยึดติดกับการมีผลิตภาพ
- คนที่ Burnout หรือ มีภาวะ Imposter Syndrome
- คนที่อยากเข้าใจความสัมพันธ์ของเวลาและชีวิต
Review by Another Book
ถ้าชอบบทความ กดไลค์เป็นกำลังใจให้กันด้วยนะครับ ขอบคุณมากครับ
..........
ช่องทางการติดตาม
Facebook Page : Another Book
https://www.facebook.com/AnotherBookReview
IG :
https://www.instagram.com/another_book_review
Blockdit : Another Book
https://www.blockdit.com/another_book
1 บันทึก
4
1
4
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย