Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Supawan’s Colorful World
•
ติดตาม
23 เม.ย. 2023 เวลา 04:41 • ท่องเที่ยว
สิกขิม .. ดินแดนปลายขอบฟ้าหิมาลัย 2023
สิกขิม .. ดินแดนปลายขอบฟ้า 2023
สิกขิม .. ดินแดนที่เมื่อเอ่ยนาม มักจะมีน้อยคนที่รู้จักว่าอยู่หนแห่งใดในพิภพนี้ .. แต่ดินแดนแห่งนี้เป็นเป้าหมายของความตั้งใจที่จะเดินทางไปเยือนให้ได้สักครั้งในชีวิตของฉันมานานมาก
การเดินทางครั้งนี้ฉันไม่ได้คาดหวังมาก่อนว่าจะได้พบดินแดนที่วิจิตร เต็มไปด้วยทิวทัศน์หลากหลายที่แตกต่างเหมือนไม่รู้จบ
.. จากลำธารลี้ลับงามแปลกตาในหุบโตรกลึกชัน บางช่วงปรากฏสายน้ำทิ้งตัวพุ่งดิ่งผ่านผาสูงลิบลิ่ว .. ไปจนถึงภูมิประเทศที่เป็นภูเขารกร้างห่างไกล .. ทุกๆกิโลเมตรที่ผ่านไป มันคือการเปลี่ยนพบกับฉากแห่งความงามที่ไม่ซ้ำมุมมอง
บนเส้นทางของการท่องเที่ยวธรรมดา บางทีกลับเปี่ยมล้นไปด้วยเรื่องราวที่น่าสนใจ เหมือนดั่งเป็นกระจกเงาที่สาดส่องให้เราเห็นบางแง่มุมของชีวิตที่ล้วนให้ความหมายในการเรียนรู้ ขึ้นอยู่กับว่าเราจะสามารถอ่ารนความหมายของมันมากน้อยเพียงใด
เราเดินทางจากกรุงเทพมหานคร มุ่งหน้าสู่เมือง กัลกัตตา โดยสายการบิน Indigo Airlines ใช้เวลาราว 4 ชั่วโมง .. จากนั้นเปลี่ยนเครื่องเป็นสายการบินภายในประเทศ จากเมืองกัลกัตตา ฝ่าทะลวงทะเลหมอกลงจอดที่สนามบิน Bagdogra เมืองสิลิกูรี (Siliguri) เพื่อที่เราเดินทางต่อไปที่เมืองดาร์จิลิ่ง ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากสิลิกูรีราว 90 กม.
.. สายใยแห่งความรู้สึกในภาพฝันที่ฉันทีต่อดาร์จิลิ่งกำลังจะเริ่มถูกถักทอสร้างเป็นภาพ ผ่านมุมมองของนักเดินทางช่างฝัน
จากเมืองสิลิกูรี (Siliguri) .. เราเดินทางผ่านเขา ผ่านโค้งเล็กโค้งน้อยนับพัน ไต่ความสูงขึ้นมาเรื่อยๆ
ดาร์จิลิ่ง .. ตั้งอยู่ชายขอบของเทือกเขาหิมาลัยด้านตะวันออก อยู่บนความสูง 2,134 เมตร
.. ในอดีตเมื่อครั้งอินเดียตกอยู่ภายใต้อาณานิคมของอังกฤษ ชาวอังกฤษได้เข้ามาพัฒนาให้เมืองนี้เป็นเมืองที่พักตากอากาศบนภูเขาที่สวยงาม จนได้ชื่อว่า เป็นเมือง “ราชินีแห่งภูเขา”
.. โดยมีเกร็ดเรื่องราวที่น่าสนใจคือ .. เดิมดาร์จิลิ่งเป็นส่วนหนึ่งของรัฐสิกขิม แต่กษัตริย์แห่งสิกขิมได้มอบดาร์จิลิ่งให้กับอังกฤษเพื่อเป็นการตอบแทนที่อังกฤษได้ช่วยทำสงครามยึดเอาดินแดนบางส่วนคืนมาจากเนปาล
จากการสังเกต .. เมืองดาร์จิลิ่งแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ..
.. ตัวเมืองด้านบน ซึ่งเป็นอาคารแบบยุโรป ซึ่งเคยเป็นถิ่นที่พักอาศัยของชาวยุโรปสมัยอาณานิคม
.. ตัวเมืองด้านล่างมีลักษณะของบ้านเรือนที่สร้างลดหลั่นตามสโลปของภูเขา มองดูเหมือนวิวสวยๆในหลายเมืองชายฝั่งทะเลของยุโรป ต่างกันแค่ไม่มีทะเล แต่เป็นหุบเขาแทน
และเป็นพื้นที่ในการทำมาค้าขาย เป็นตลาดของชาวเมืองที่คึกคัก มีชีวิตชีวามากมาย
Toy Train .. สถานีรถไฟแห่งนี้มีชื่อเต็มๆว่า Darjeeling Himalayan Railway สร้างในปี ค.ศ. 1879-1881 นับเป็นอันซีนอย่างหนึ่งของดาร์จิลิ่ง
เป็นรถไฟขนาดเล็กที่ลากด้วยหัวรถจักรไอน้ำเป็นรถไฟที่วิ่งบนภูเขาสูงในระดับตั้งแต่ 4,000 - 5,000 ฟุต ซึ่งก็ยังเปิดให้บริการรับส่งผู้โดยสารอยู่
และสามารถใช้บริการได้ที่ดาร์จิลิ่งที่เดียวในโลก
รถไฟสายนี้ได้รับการยกย่องจาก UNESCO ให้เป็นเส้นทางรถไฟมรดกโลก
สถานีบาตาเซียลูป (Batasia Loop) .. เป็นสถานีซึ่งรางรถไฟสร้างขึ้นใหม่ให้มีลักษณะเป็นวง ใช้เป็นที่เลี้ยวกลับรถของรถไฟที่มาจาก สถานีดาร์จีลิ่ง มีลักษณะที่สวยงาม อยู่ในชัยภูมิบนเขาสูงที่สามารถมองเห็นทิวทัศฯด้านล่างไก้สวยงาม
War Memorial .. สร้างเมื่อปี ค.ศ. 1994 ในบริเวณ บาตาเซียลูป (Batasia Loop) เป็นอนุสาวรีย์ที่มีลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยม สูง 30 ฟุต เพื่อเป็นเกียรติแก่ทหารชาวดาร์จิลิ่งที่เสียชีวิตในสงคราม .. รอบๆตกแต่งด้วยดอกไม้นานาชนิด และมีกล้องส่องทางไกลชมเมืองดาร์จิลิ่งด้วย
จุดชมวิว Tiger Hill .. ณ ระดับความสูง 2590 เมตรจากระดับน้ำทะเล และจุดสูงที่สุดของเมืองดาร์จิลิ่ง ทำให้กลายเป็นจุดฮ๊อตฮิตในการขึ้นมาชมวิวของพระอาทิตย์ที่กำลังโผล่พ้นขอบฟ้า ส่องแสงทาบทาอาบไล้ยอดเขาคันเชงจุงก้า (Kanchenjunga) ในวันที่ฟ้าเปิด
ยอดเขาคันเชงจุงก้า (Kanchenjunga) .. เป็นยอดเขาที่ๅครองตำแหน่งสูงเป็นอันดับ 3 ของโลกรองลงมาจากยอดเขาเอเวอร์เรสต์และยอดเขาเคทูในประเทศเนปาล
คันเชงจุงก้า ... เป็นยอดเขาที่ชาวสิกขิมเชื่อกันว่าเป็นที่เก็บสมบัติล้ำค่าทั้งห้าแห่งยอดเขาหิมะ เป็นวิหารอันศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้า จากดาร์จิลิ่งสู่สิกขิมสามารถเหลียวมองยอดเขาคันเชงจุงก้าได้เสมอ และไม่เคยมีผู้ใดได้รับอนุญาตให้ขึ้นไปบุกพิชิตจุดสูงสุดแห่งยอดเขาคันเชงจุงก้า
สวนสัตว์ปมาจาร์ นัยดรู .. สัตว์ในสวนสัตว์แห่งนี้จะเป็นสัตว์ในที่อาศัยอยู่ในเขตพื้นที่สูง เช่น ยัค หมีดำหิมาลัย หมีแพนดาแดง เสือไซบีเรีย และสัตว์อื่นอีกหลายชนิด
สถาบันสอนการปีนเขา เมืองดาร์จิลิ่ง ... พิพิธภัณฑ์ และสถาบันการปีนเขาแห่งนี้ ก่อตั้งโดย เซอร์เอ็ดมันด์ ฮิลลารี่ จากประเทศนิวซีแลนด์ และ เทนซิงก์ นอร์เกย์ ชาวซาปา จากดาร์จิลิ่ง .. ซึ่งได้ปีนขึ้นไปถึงยอดเขา เอเวอร์เรสได้สำเร็จเป็นคนแรก
.. หลังจากนั้นเพียงปีเดียว เทนซิงก์ ได้กลับมาก่อตั้งสถาบันนักปีนเทือกเขาหิมาลัย ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1954 เพื่อฝึกฝนชาวอินเดียที่จะเป็นผู้นำทางการปีนเขา .. ซึ่งปัจจุบันคือ พิพิธภัณฑ์ของการปันเขา
.. ที่นี่จะมีแบบจำลองของเทือกเขาหิมาลัย ประวัติการปันเขา รูปภาพและประวัติของผู้พิชิตยอดเขาต่างๆ โมเดลของเทิอกเขาสูงในแต่ละทวีป อุปกรณ์การปีนเขาในยุคแรกๆ รวมถึงการตั้งแคมป์บนพื้นที่ ตลอดจนตัวอย่างพรรณไม้และพันธุ์สัตว์ของเทือกเขาหิมาลัย
Darjeeling Tea .. กิตติศัพท์ที่โด่งดังระดับโลกอีกอย่างหนึ่งของดาร์จิลิ่งก็คือ ที่นี่เป็นแหล่งผลิต"ชา"ที่มีชื่อเสียงซึ่งได้รับมติเป็นเอกฉันท์จากผู้เชี่ยวชาญด้านชาจากมุมโลกว่าชาดาร์จิลิ่งมีความโดดเด่นต่างจากชาที่อื่น
.. มนต์เสน่ห์แห่งไร่ชาที่เป็นสีเขียวกว้างไกลสุดปลายสายตา The beauty and serenity of tea plantation Sooth both your eyes and your soul!
สิกขิม (Sikkim) .. ตั้งอยู่ทางทิศเหนือเฉียงไปทางตะวันออกของประเทศอินเดีย เดิมเป็นรัฐเอกราช มีขนาดใหญ่กว่ากรุงเดลลี เมืองหลวงของอินเดียเล็กน้อย ปกครองโดยราชวงศ์นัมเยล แต่ด้วยการที่เป็นรัฐเล็กๆที่อาจจะถูกบั่นทอนจากจีนซึ่งยึดทิเบตได้แล้วในขณะนั้น เมื่ออินเดียได้รับเอกราชจากอังกฤษ .. รัฐสิกขิม จึงยอมอยู่ใต้เอกราชเดียวกับอินเดีย
.. จัดเป็นรัฐที่ 22 ซึ่งถือเป็นรัฐสุดท้ายที่ถูกผนวกรวมเข้ากับอินเดียในปีพ.ศ. 2518 เป็นรัฐเล็กๆที่งดงาม หลบเร้นอยู่ปลายแทบแนวเทือกเขาหิมาลัย .. ปัจจุบันเป็นพื้นที่หนึ่งที่มีความอ่อนไหวทางการเมือง การเดินทางเข้าสู่สิกขิมจึงยากเย็นราวกับเป็นการเดินทางเข้าสู่อีกประเทศหนึ่ง
"กังต็อก" (Gangtok) .. เป็นเมืองหลวงของรัฐสิกขิม ซึ่งเป็นรัฐทางเหนือของประเทศอินเดีย มีพื้นที่เป็นที่ราบสูงบนเทือกเขาหิมาลัย มีพรมแดนติดกับหลายประเทศ เช่น เขตปกครองตนเองทิเบต เนป่าล และภูฏาน อยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเล 1,768 เมตร
… ในปี ค.ศ. 1840 กังต๊อกกลายเป็นศูนย์กลางของการแสวงบุญ .. ต่อมาในปี ค.ศ. 1894 ธูทอบ นัมเกล (Thutob Namgyall) กษัตริย์ผู้ปกครองสิกขิม ซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษอีกที ได้ย้ายเมืองหลวงจากเมือง ทุมลอง (Tumlong) มาอยู่ที่เมือง กังต๊อก (Gangtok) .. ตั้งแต่นั้นมา กังต๊อก จึงมีบทบาทมาก ในฐานะเมืองหลวงแห่งสิกขิม
.. กังต็อกในความคิดของฉัน .. เป็นภาพของบ้านเมืองในรูปแบบทรงศิลปะพื้นเมืองดั้งเดิม แต่ความจริงที่เห็นนั้นต่างออกไป บ้านเรือนของชาวกังต๊อกสร้างในแบบตึกที่ผุดขึ้นสูงๆต่ำๆ ไปตามลักษณะการลดหลั่นของภูเขาสูง แต่ก็จัดเป็นเสน่ห์อีกแบบหนึ่ง
วัดเอนเซย์ (Enchey Monastery) .. เป็นวัดใหญ่ตั้งอยู่บนยอดเมืองกังต๊อก
เป็นอีกที่หนึ่งที่มีความงดงามด้านศิลปะและสถาปัตยกรรม แม้จะไม่เก่าแก่เท่าวัดรุมเต็ก เพราะเพิ่งสร้างในสมัยกษัตริย์องค์ที่แปดของสิกขิม
แต่ก็สามารถทำให้เราได้เห็นฝีมือและความคิดของชาวสิกขิมที่ถ่ายทอดออกมาได้
North Sikkim Highway .. เส้นทางสู่หมู่บ้านลาซุง
มีน้ำตกสวยๆให้เราแวะอยู่หลายที่ แต่เราคุ้นชินกับน้ำตกในเมืองไทย เลยดูว่าออกจะธรรมดาๆเมื่อเทียบกับความยิ่งใหญ่ของภูเขา หิมะ แม่น้ำและทะเลสาบในแถบสิกขิม ที่หาชมได้ตลอดทาง
หมู่บ้านลาซุง (Lachung) .. ใช้เวลาเดินทางราว 4:30 ชั่วโมง .. ในอดีตเป็นศูนย์กลางการค้าระหว่าง สิกขิม และ ทิเบต ที่มี่ “หุบเขายุมถัง” และวัดลาซุง (แปลว่า ภูเขาขนาดเล็ก) มีอาณาเขตติดต่อกับจีน ..
หมู่บ้านนี้โอบล้อมด้วยเทือกเขาหิมาลัย มีภูมิประเทศและบรรยากาศที่เป็นธรรมชาติ สวยงาม
ตื่นเช้าพร้อมกับวิวและบรรยากาศของหมู่บ้านเล็กๆที่สวยงาม ในอ้อมกอดของภูเขา สายน้ำ สะพาน และความเรืองรองของแสงแรกของดวงสุริยา
สดชื่นยามเช้า
หุบเขายุมถัง (Yumthang Valley) .. คือหุบเขากว้างที่จัดได้ว่ามีความงามทางธรรมชาติที่สุดในสิกขิม จนได้รับสมญานามว่า สวิตเซอร์แลนด์แห่งดินแดนตะวันออก เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีทหารดูแล ใช้เวลาเดินทางราว 1 ชั่วโมงจากหมู่บ้านลาซุงเพื่อมายังสถานที่ท่องเที่ยวงดงามแห่งนี้
ที่นี่ เป็นเหมือนดินแดนแห่งตำนาน และความฝัน .. เป็นเหมือนสวนสวรรค์ที่งดงามที่สองข้างทางมียอดเขาหิมะของหิมาลัยตั้งตระหง่าน ผ่านธารน้ำแข็งใหญ่น้อย และป่าสนกับยอดเขาสูงเสียดฟ้า
ปกติ .. ในช่วงเดือนเมษายนและพฤษภาคม ในฤดูใบไม้ผลิ จะเห็นป่ากุหลาบพันปี ซึ่งมีมากกว่า 36 สายพันธุ์ ผลิดอกบานสะพรั่งทั้งหุบเขา
.. ในช่วงปลายปี จะเห็นความงดงามของหิมะที่ปกคลุมยอดเขา แบบเดียวกับสวิสเขอร์แลนด์.. แต่ในปี 2023 เป็นปีที่ฤดูหนาวของสิกขิมยาวนานกว่าปกติ ในช่วงที่เราไปเยือนจึงไม่มีทุ่งดอกไม้ให้ชม
Zero Point … ใครบางคนบอกว่า การที่ใครจะได้ขึ้นไปชมทิวทัศน์ที่ Zero Point นั้นต้องพกดวง และบุญเก่ามาด้วย เพื่อให้ทุกอย่างเป็นใจและสมดุล ให้เราได้มาเจอกับวิวข้างทางในแบบที่ฝัน ยอดเขาสูงชัน ต้นไม้ที่มียอดปกคลุมด้วยหิมะสีขาว
.. หรือดงดอกกุหลาบพันปีหลากสี ดงสนเมืองหนาวที่บนพื้นเต็มไปด้วยมอสสีเขียวๆ ซึ่งมีดอกไม้ขนาดเล็กสีหวานขึ้นมาเคลียคลอเหมือนพื้นดินทั้งผืนปูด้วยพรมดอกไม้ โดยมีกองหิมะสีขาวกระจายอยู่เป็นหย่อมๆ .. ทุกอย่างเป็นใจให้เราได้มาเจอสวยงามจนลืมว่าที่นี่คือ อินเดีย
แต่ ... เราจะเจอะเจอภาพฝันอย่างนั้นไม่ได้ง่ายๆ เพราะหลายสาเหตุ
.. นอกจากต้องติดตามสภาพอากาศที่อาจจะแย่มากๆจนไม่สามารถนำรถขึ้นไปได้ ก็ยังมีเรื่องของความมั่นคงที่ทหารอาจจะไม่อนุญาตให้เราขึ้นไปด้วยกรณีใดๆก็ตาม
ไม่ใช่แค่ยิ่งสูงยิ่งหนาว ยิ่งสูงยิ่งสวย .. แต่ที่ Zero Point ณ ความสูงราว 5000 เมตร อาจจะเป็นยิ่งหนาวและอาจจะยิ่งแพ้ความสูง ไปจนถึงจุดที่เป็นอันตรายต่อชีวิตก็ได้
ก่อนจะตัดสินใจไปจึงต้องศึกษาเรื่องสภาพแวดล้อมที่อาจจะส่งผลต่อร่างกายด้วย
Tsomgo Lake .. ทะเลสาบฌางโก อยู่ห่างจากเมืองกังต็อกประมาณ 35 กิโลเมตร อยู่บนถนนสายกังต็อก-นาธูลา (ระหว่างทางอินเดียไปจีน) ตั้งอยู่บนระดับความสูง 3,794 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล
… เป็นทะเลสาบขนาดใหญ่ที่มีภูเขาสูงโอบล้อม ทางภาคตะวันตะวันออกของ สิกขิม มีลักษณะเป็นรูปไข่ยาว 1 กิโลเมตร ลึก 15 เมตร
จัดอยู่ในแหล่งท่องเที่ยวพื้นที่ที่เข้มงวดภายใต้การดูแลของทหารเช่นเดียวกับยุมถัง การมาเที่ยวที่นี่จึงจะต้องมากับไกด์ท้องถิ่น และต้องขอใบอนุญาตแยกต่างหาก แม้จะได้รับอนุญาตให้เข้าสิกขิมแล้วก็ตาม
ทะเลสาบแห่งนี้ เป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำลุงเฌชู ไหลไปบรรจบกับแม่น้ำรังโป ถือกันว่าเป็นต้นน้ำธรรมชาติที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดแห่งหนึ่งของชาวพุทธและชาวฮินดู
.. ในอดีต พระลามะหลวงจะทำนายดวงชตาเมืองจากการเพ่งกสิณ ณ ทะเลสาบแห่งนี้
.. ในช่วงหน้าหนาว น้ำในทะเลสาบจะเป็นน้ำแข็ง แต่จะละลายในช่วงเดือน พฤษภาคม-สิงหาคม .. ในช่วงที่เราไปเยือนยังมีหิมะปกคลุม
.. ว่ากันว่า เมื่อหิมะละลาย รอบๆทะเลสาบจะมีดอกไอริส ป๊อปปี้ และดอกกุหลาบพันปี รวมถึงอ่าจจะเห็นสัตว์หายาก เช่น แพนด้าแดง เป็ด Brahmini รวมถึงนกหลากชนิด
นอกจากความงามทางธรรมชาติแล้วยังสามารถร่วมถ่ายภาพประทับใจกับเจ้าจามรีที่ถูกจับแต่งตัวหลากสีหรือจะทดลองขี่แล้วตระเวนชมรอบๆบริเวณทะเลสาบที่สวยงามไม่แพ้ที่ไหนในโลกก็ยังได้
วัดรุมเต๊ก (Rumtek Monastery) .. รู้จักกันนาม ศูนย์ธรรมจักร (Dharmachakra Center) สร้างโดย การ์มาปา วังซุก ดอร์เจ ที่ 9 ในศตวรรษที่ 16 สำหรับใช้เป็นที่พักอาศัยของผู้ที่สืบเชื้อสาย Karma Kagyu ในสิกขิม
.. แต่เมื่อวัดถูกทำลาย พื้นที่แห่งนี้ถูกปล่อยร้าง จนพระสังฆราช การ์มาปา ที่ 6 ซึ่งเป็นชาวทิเบตได้ลี้ภัยมายังสิกขิมเมื่อปี ค.ศ. 1959 เนื่องจากกองทัพจีนบุกเข้ายึดทิเบต .. พระองค์ได้สร้าง วัดรุมเต๊ก อีกครั้ง เพื่อเป็นที่ลี้ภัยจากกองทัพจีน โดยได้รับการช่วยเหลือจากราชวงศ์สิกขิม และรัฐบาลอินเดีย
วัดแห่งนี้เป็นวัดใหญ่ที่สุดและสำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของสิกขิม เป็นวัดของนิกายคาเกียวปะหรือกักยูปา ใช้เวลาสร้างราว 4 ปี สถาปัตยกรรมของวัดเป็นแบบทิเบต ปัจจุบันเป็นวัดที่ใหญ่ที่สุดในสิกขิม และตั้งอยู่ในชัยภูมิที่ดี .. มีลำธาร ภูเขา อยู่ด้านหลัง มีภูเขาหิมะอยู่ด้านหน้า มีแม่น้ำอยู่ด้านล่าง
.. พระสังฆราช การ์มาปา ที่ 6 ได้สถาปนาวัดนี้เป็น ศูนย์ธรรมจักร ในวันขึ้นปีใหม่ของชาวทิเบต ในปี ค.ศ. 1966 .. เพื่อใช้เป็นสถานที่ใช้เรียน ฝึกฝน และปฏิบัติตนของชาวพุทธ รวมถึงเผยแพร่คำสอนของพระพุทธเจ้า
หากจะมีใครสักคนถามฉันว่า เสน่ห์ของอินเดียจริงๆแล้วอะไร ..
“คนอินเดีย” .. จึงเป็นคำตอบที่จริงใจที่สุด ด้วยความหลากหลายทางภาษา ศาสนา และวัฒนธรรม ทำให้เกิดความน่าสนใจที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวมาเยือนอยู่อย่างต่อเนื่อง สำหรับฉันเองแม้จะไปอินเดียครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ก็ยังตั้งเป้าว่าจะไปอีกเรื่อยๆ
สำหรับคนที่ชอบหิมะ ชอบ Road Trip ชอบภูเขา ชอบอากาศเย็น สิกขิมอาจจะเป็นคำตอบที่ใช่เลย สำหรับการเดินทางครั้งต่อไปของคุณค่ะ
NOTE : นักท่องเที่ยวจะเข้าไปสิกขิม ต้องทำใบอนุญาตก่อนและต้องมีไกด์พื้นที่ ถ้าเป็นชาวต่างชาติอย่างน้อยจะต้องเดินทางด้วยกันสองคนขึ้นไป และไม่สามารถรวมกลุ่มกับคนอินเดียได้ .. ดังนั้นห้ามตะลุยไปแบบไม่มีแผนเด็ดขาด เพราะต้องเตรียมเอกสาร รูปถ่าย และการรับรองจากไกด์ท้องถิ่นที่จะพาเราเข้าไปเที่ยวในสิกขิมก่อน
2 บันทึก
5
1
8
2
5
1
8
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย