• Pupillary Distance ระยะห่างระหว่างรูม่านตา

Pupillary Distance หรือ PD เป็นหนึ่งสิ่งที่วิชาชีพทางทัศนมาตรและบุคคลากรที่ประกอบแว่นควรให้ความสำคัญเป็นลำดับต้นๆ ในการทำแว่นตาออกมาในแต่ละคู่ ไม่ว่าจะเป็น Single lens เลนส์ชั้นเดียว , Bifocal lens เลนส์ 2 ระยะ หรือ Progressive lens เลนส์ไร้รอยต่อมองหลายระยะ
ถ้าถามว่ามันสำคัญแค่ไหน ก็เปรียบเทียบให้เห็นภาพกันง่ายๆก็คือ
การเลือกซื้อรองเท้าผ้าใบสักครู่หนึ่ง หลังจากที่เราเลือกรูปแบบของรองเท้าและตัดสินใจแล้วว่าคู่นี้แหละคือรองเท้าที่เหมาะกับการใช้งานของเราที่สุด เราจะต้องคำนึงถึง ขนาดความยาวเท้าของเรา และไซส์ของรองเท้า
แน่นอนว่า เราจะต้องเลือกซื้อรองเท้าที่เหมาะและพอดีกับเท้าเรา เพื่อการใช้งานที่คุ้มค่า สะดวก สบาย ทะมัดทะแมง เดิน วิ่ง ได้อย่างรู้สึกไร้กังวล ใช้ด้วยความสุขที่ได้ใช้มัน แต่ถ้าเราเลือกไซต์ของรองเท้าผิดไป เลือกไซต์ที่ใหญ่เกินขนาดของเท้าเรา
ในความเป็นจริงแล้วเราก็สามารถที่จะใส่รองเท้าคู่นั้นได้อยู่ แต่แค่เวลาที่เราใส่ไปนานๆมันจะรู้สึกไม่สบาย เดินหรือวิ่งที่ก็คอยแต่จะหลุด หงุดหงิด ต้องกังวลอยู่กับการจัดระเบียบเท้าและรองเท้าอยู่ตลอดเวลา หรือบางทีก็อาจจะถูส้นเท้าของเราจนเป็นแผลได้ จนในที่สุดก็อาจจะทนไม่ไหว และต้องซื้อรองเท้าคู่ใหม่เป็นไซต์ที่พอดีกับขนาดเท้าของเรา
การทำแว่นก็เช่นกัน …..
• Pupillary Distance คืออะไร ?
Pupillary Distance ( PD ) คือ ระยะห่างระหว่างกึ่งกลางรูม่านตาของดวงตา
Pupillary Distance มีทั้ง Monocular Pupillary Distance หรือMPD และ Binocular Pupillary Distance หรือ BPD ซึ่งมีวิธีการวัดที่แตกต่างกัน
การวัด Pupillary Distance ที่ถูกต้องระนาบตาของคนไข้และผู้ตรวจจะต้องอยู่ในระนาบเดียวกัน
- Monocular Pupillary Distance หรือ MPD คือระยะห่างของกึ่งกลางรูม่านตาของตาข้างเดียว ซึ่งวัดจาก กึ่งกลางรูม่านตาไปจนถึงกึ่งกลางของบริเวณดั้งจมูก โดยให้คนไข้มองตรงไปข้างหน้า โดยวางเลข 0 ไว้บริเวณกึ่งกลางของรูม่านตา และนับสเกลมาทางด้านจมูก หน่วยของการวัด Pupillary Distance จะได้ออกมาในหน่วย มิลลิเมตร
- Binocular Pupillary Distance หรือ BPD คือ ระยะห่างของกึ่งกลางรูม่านตาของตาทั้งสองข้าง ในการวัด BPD ถ้าต้องการวัดจุดกึ่งกลางรูม่านตาของตาขวา จะให้คนไข้มองมาที่ตาซ้ายของผู้ตรวจ
วางเลข 0 อยู่ในตำแหน่งของจุดกึ่งกลางรูม่านตาข้างขวา หลังจากนั้นวัดจุดกึ่งกลางของรูม่านตาข้างซ้ายของคนไข้ โดยให้คนไข้มองมาที่ตาข้างขวาของผู้ตรวจ และอ่านสเกลออกมาในหน่วย มิลลิเมตร ตามรูปที่ได้ใส่ไว้ให้ค่ะ
อีกวิธีหนึ่งในการวัด Binocular Pupillary Distance ก็คือ วัดจากขอบของกระจกตาดำทางด้านจมูกของตาข้างหนึ่ง ไปยังขอบกระจกตาดำทางด้านหูของตาอีกข้างหนึ่ง ในระนาบเดียวกัน และอ่านสเกลออกมาในหน่วย มิลลิเมตร ตามรูปค่ะ
โดยวิธีการวัดข้างต้นนี้ เป็นการวัดโดยใช้ไม้วัด Pupillary Distance หรือไม้ PD ซึ่งมีหน้าตาคล้ายๆกับไม้บรรทัดที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบันนั่นเอง
• ทำไมถึงต้องวัด PD ?
เช่นเดียวกับที่ขิงได้ยกตัวอย่างไว้ข้างต้น ว่าหากเราเลือกรูปแบบของรองเท้าที่เหมาะสมกับการใช้งานของเราได้แล้ว สิ่งต่อมาที่เป็นความสำคัญก็คือ ขนาดของเท้า และขนาดของไซต์รองเท้า ถ้าเลือกไซต์รองเท้าที่พอดีกับขนาดของเท้าก็จะสามารถใช้งานได้อย่างคุ้มค่าและมีความสุขที่ได้ใช้มัน แต่ถ้าเราเลือกไซต์ผิด เลือกไซต์ใหญ่เกินไป ถึงแม้จะยังคงใส่ได้อยู่แต่ก็อาจจะไม่ได้รู้สึกว่าใส่สบาย หรืออาจจะเกิดปัญหาตามมาได้
ค่าสายตาและเลนส์ที่เหมาะสม เปรียบเสมือน การเลือกรูปแบบของรองเท้าที่เราต้องการ
PD หรือ Pupillary Distance ก็เหมือนกับขนาดของเท้า
Optical Center ของเลนส์ เปรียบเสมือนไซต์รองเท้า
เมื่อเรานำเลนส์ที่เราเลือกแล้วว่ามีค่าสายตาที่ถูกต้องและเหมาะสมกับคนไข้ ไปหาตำแหน่งของ Optical Center ของเลนส์ และนำไปวางในตำแหน่งที่ตรงกับตำแหน่ง Pupillary Distance ของคนไข้พอดี เปรียบกับว่าเราเลือกไซต์ของรองเท้าที่พอดีกับขนาดเท้าเราพอดี ก็จะสามารถใช้ประโยชน์จากเลนส์นั้นให้เกิดประโยชน์สูงสุดและมองเห็นภาพแบบมีคุณภาพได้
แต่หากเราเลือกค่าสายตาและเลนส์ที่ดีแล้วแต่ทำตำแหน่งของ Optical lens และ Pupillary Distance ไม่ตรงกัน เหมือนกับเลือกไซต์รองเท้าผิดไป ก็อาจจะทำให้คนไข้เจอกับภาพบิดเบือน จาก Aberration ของเลนส์ได้ พอใช้งานไปเรื่อยๆก็อาจจะมีปัญหา ไม่สบายตา ปวดตา มึนหัว หรือเราเรียกว่าอาการ Asthenopia ตามมาได้
ดังนั้นเราจึงต้องทำตำแหน่ง Optical Center ของเลนส์ ให้ตรงกับ Pupillary Distance ของตาแต่ละข้าง เพื่อให้ visual axis หรือแนวการมองของคนไข้ กับแนว Optical axis ซึ่งเป็นแนวเส้นตรงที่ลากผ่าน Optical center และตั้งฉากกับเลนส์ เพื่อให้แสงเกิดการโฟกัสที่แนวเดียวกัน และเกิดเป็นภาพที่มีคุณภาพ
แต่เมื่อเรามองไปที่บริเวณอื่นที่ไม่ใช่ตำแหน่ง Optcal Center ของเลนส์ หรือ visual axis วิ่งผ่านเลนส์แบบทำมุม จะทำให้เกิด Aberration หรือความคลาดเคลื่อนของภาพได้และจะทำให้ภาพที่มองเห็นนั้นมีคุณภาพที่ไม่ดีเท่าที่ควร
หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ให้กับน้องๆทัศนมาตร และทุกๆคนที่สนใจไม่มากก็น้อยนะคะ ขอขอบคุณที่ติดตามอ่านมาจนจบ แล้วพบกันในบทความต่อไปค่ะ
Content by : Worada Saraburin ,O.D.
Facebook Page : Vorada Optometry
Phone : 065-949-9550
โฆษณา