23 เม.ย. 2023 เวลา 09:02 • หนังสือ

Triptych : ฆ่าเปิดปาก

คือนิยายสืบสวนสอบสวนเล่มแรกในชุด Will Trent Series เรื่องราวเปิดฉากด้วยการพบศพโสเภณีในอพาร์ตเมนต์ซอมซ่อกลางชุมชนแออัดของนครแอตแลนตา โดยตำรวจไม่พบหลักฐานและพยานที่เป็นชิ้นเป็นอันนอกจาก 'ลิ้นของเหยื่อที่ถูกกัดจนขาด' ที่ถูกวางอย่างประณีตอยู่ใกล้ ๆ ศพราวกับจดหมายท้าทายถึงผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ 'จับให้ได้สิถ้านายแน่จริง'
และศพโสเภณีนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการเผยโฉมด้านมืดที่ถูกซุกซ่อนในสังคม
Triptych คือภาพพับสามทบ เป็นผ้าใบสามผืนที่เชื่อมต่อกันด้วยบานพับกลายเป็นภาพต่อเนื่องกันเมื่อคลี่ออกมา และกลายเป็นภาพที่สมบูรณในตัวมันเองเมื่อปิด
ฉากแท่นบูชาเมรอด หรือ ฉากแท่นบูชาการประกาศของเทพ เป็นจิตรกรรมแผง (Triptych) ที่เขียนโดย โรเบิร์ต กัมปิน จิตรกรสมัยศิลปะเนเธอร์แลนด์เริ่มแรก ปัจจุบันตั้งแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์เมโทรโปลิตัน นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา : ที่มา https://en.wikipedia.org/wiki/M%C3%A9rode_Altarpiece
Karin Slaughter ออกแบบนวนิยายเรื่องนี้ได้แบบแปลกแยกและทำลายกฎเกณฑ์ของนวนิยายสืบสวนไปโดยสิ้นเชิง
สำหรับคอนวนิยายเเนวนี้ย่อมรู้ว่าการขับเคลื่อนเนื้อเรื่องไปข้างหน้าได้นั้น ต้องมีหมุดหมายอย่าง 'หลักฐาน และพยาน' ที่เหล่าตัวเอกจะประสบพบเจอเรื่อย ๆ ไประหว่างการดำเนินเรื่อง
แต่สำหรับ Triptych กลับดำเนินเรื่องราวไปข้างหน้าโดยผ่านมุมมองเล่าเรื่องบุคคลที่ 3 ที่จะมอบบทพระเจ้าให้กับผู้อ่านในการเข้าถึงตัวละครหลักทุกตัวในเรื่อง ผสมกับกระแสสำนึกได้อย่างชาญฉลาด (เราจะแทบไม่เห็นความคืบหน้าของพยานและหลักฐานในเรื่องนี้เลย) เพราะมันคือกุญแจที่จะพาผู้อ่านค่อย ๆ ประติดประต่อเรื่องราวไปได้เรื่อย ๆ และยังเป็นสายโซ่คล้องที่จะเชื่อมตัวละครทั้ง 4 คนเข้าไว้ด้วยกันอย่างเหนียวแน่นกว่าที่เราคาดไว้ ดังนี้
บานที่ 1 ชื่อว่า 'ไมเคิล ออร์มวูด' ตำรวจสืบสวนที่ผัวพันกับคดีบ้า ๆ นี่ ทั้ง ๆ ที่ชีวิตครอบครัวกำลังจะพังพินาศ
บานที่ 2 ชื่อว่า 'โจนาธาน วินสตัน เชลลีย์' อดีตนักโทษคดีฆ่าข่มขืนสะเทือนขวัญ เป็นนักโทษผู้เยาว์ที่ถูกตัดสินคดีแบบนักโทษที่บรรลุนิติภาวะ และถูกปล่อยตัวชั่วคราว (แต่ยังโดนคุมประพฤติอยู่) เพราะเป็นนักโทษผู้มีความประพฤติดีในคุกมาร่วมหลายสิบปี
บานที่ 3 ชื่อว่า 'วิลล์ เทรนต์' เจ้าหน้าที่พิเศษจากกรมตรวจจอร์เจีย ผู้เข้ามาเป็นที่ปรึกษาให้กับคดีนี้ เเละเป็นโรคดิสเล็ก (โรคที่ทำให้มีปัญหาด้านการอ่านและเขียนตัวอักษร ที่ทำให้การสะกดคำมีปัญหาไม่สามารถผสมคำได้) และ 'เเองจี้ โพลาสกี' ตำรวจสายสืบแห่งแผนกไวซ์ คู่รัก? เพื่อนสนิท? เพื่อนคู่คิด? ที่วิลล์ เทรนต์ไว้ใจมากที่สุด และต่างมีปมในอดีตที่คล้ายกัน
ตัวละครแต่ละตัวในเรื่องนี้มีเอกลักษณ์และด้านมืดในแบบฉบับของตัวเองโดยสมบูรณ์ และเมื่อเรานำตัวละครทั้ง 4 มาเปิดเชื่อมโยงเป็นภาพกว้างใบเดียว เราจะพบความจริงที่น่าสะพรึง (ดั่งภาพพับสามทบ : Triptych)
เมื่อเนื้อเรื่องดำเนินโดยการใช้มุมมองเล่าเรื่องแบบบุคคลที่ 3 ผสมกับกระแสสำนึก จึงทำให้ภาคบรรยายจะเยอะเป็นพิเศษซึ่งอาจทำให้บางตอนตกท้องช้างไปบ้าง แต่ในภาพรวมนี่คืออีกหนึ่งนวนิยายสืบสวนที่ผมประทับใจมากอีกเล่มหนึ่ง (โดยเฉพาะเมื่อเราเริ่มหาจุดเชื่อมโยงได้เมื่อไร อาจอ่านแบบลืมเวลาไปเลยก็ได้)
*** ในส่วนหลังจากนี้แอบมีการสปอยเนื้อเรื่องบางส่วน หากใครอยากอ่านและประติดประต่อเรื่องราวด้วยตัวเอง...แนะนำให้ข้ามไปก่อนครับ ***
คนเราไม่ได้มีลักษณะนิสัยจริง ๆ ถ้าลักษณะนิสัยในที่นี้หมายถึงการที่ผู้คนมีแนวโน้มที่แน่นอนและคาดเดาได้ว่าพวกเราจะมีพฤติกรรมหนึ่ง ๆ ตลอดเวลา
นักจิตวิทยา 'วอลเตอร์ มิสเชล'
วอลเตอร์ มิสเชล (Walter Mischel) : เครดิตภาพ https://www.psychologicalscience.org/publications/observer/obsonline/inside-the-psychologists-studio-with-walter-mischel.html
คงไม่มีนวนิยายเรื่องไหนสะท้อนคำพูดของ วอลเตอร์ มิสเชล ได้ดีเท่ากับนวนิยายเรื่องนี้อีกแล้ว
ด้วยการเล่าเรื่องแบบบุคคลที่ 3 ผสมกับกระเเสสำนึก จึงทำให้ผู้อ่านพบเจอทั้งด้านดีที่ทุกตัวละครอยากให้สังคมมองเขาเป็นภาพนั้น ในขณะที่ก็มีด้านมืด และบาดแผลในใจที่พร้อมระเบิดออกมาลับหลังสังคม
หลายคนพร้อมเป็นเทวดาให้กับคนบางกลุ่ม แต่กลับเป็นปีศาจให้กับคนอีกกลุ่มนึง หรือเป็นเทวดาในช่วงเวลาหนึ่งและเป็นซาตานในอีกช่วงเวลาหนึ่ง...คำถามในโลกที่เราเผลอคิดว่ามีแค่ 'ขาว' และ 'ดำ' นั้น คน ๆ นี้คือคนดีหรือไม่นะ?
การใช้ชีวิตบนเทือกเขาได้สอนสิ่งหนึ่งให้กับเขา นั่นคือไม่มีใครดีหรือเลวโดยสมบูรณ์
วิลล์ เทรนต์  จากนวนิยาย ฆ่าเปิดปาก (Triptych) หน้าที่ 265
ตัวละครหลักในเรื่องเป็นแบบนั้น ผู้อ่านจะแทบหาตัวละครที่ผู้อ่านสามารถไว้วางใจได้แบบเต็มร้อยเท่าไรนัก (จนกว่าจะเชื่อมโยงเรื่องราวได้)
และเรื่องนี้ยังแฝงรายละเอียดที่สะท้อนสังคมในอีกประเด็นคือ 'การแปะป้ายคนชั่วและคนดีของผู้คนในสังคม'
"ลูกฉันเป็นคนดี" วินาทีที่เราเห็นหรือได้ยินคำ ๆ นี้ ผู้คนก็พร้อมมีความรู้สึกในแง่ลบทันทีโดยที่ไม่ตั้งคำถามใด ๆ เพิ่มเติม
ผู้เขียนจะพาเราไปพบกับเบื้องหลังอีกมุมหนึ่งที่เกิดขึ้น กับครอบครัวที่พ่อแม่ปลุกปั้นทุกอย่างพร้อม และสร้างบ้านที่เป็นดั่งวิมานบนสวรรค์ให้แก่ลูกผู้เป็นที่รัก แต่ทว่าลูกกลับใจแตกหันไปเสพยา หนีออกจากบ้าน หรือแม้กระทั่งเป็นอาญากร
สังคมหล่อหลอมให้เราคิดว่า พ่อแม่เด็กคือคนที่ผิดเต็มประตูในเรื่องนี้เสมอ และสมควรถูกแปะป้าย 'พ่อแม่เฮงซวย' ไว้บนหน้าผาก (ยิ่งมาบอกว่า "ลูกฉันเป็นคนดี" ก็ยิ่งต้องเฮงซวยแบบโคตร ๆ) จนลืมตั้งคำถามถึงปัจจัยอื่น ๆ เช่น การคบเพื่อนฝูง และค่านิยมของสังคม
ทฤษฎีวัฒนธรรมรองของ อัลเบิร์ต เค.โคเฮน ได้เล่าถึง 'วัฒนธรรมของแก๊งค์ (Delinquent Boys : The Culture of the Gang)' เมื่อปี ค.ศ.1955 อันเป็นหนึ่งในทฤษฎีด้านอาชญาวิทยาที่ได้รับการยอมรับทั่วโลก เด็กคือช่วงเวลาที่กระหายการได้รับการยอมรับในสังคมรอบตัวของเขาโดยเฉพาะสังคมเพื่อนฝูงที่เจ๋ง ๆ
อัลเบิร์ต เค.โคเฮน (Albert K.Cohen) : เครดิตภาพ https://alchetron.com/Albert-K-Cohen
ดังนั้นสิ่งที่เด็กคนดังกล่าวทำคือ 'คือการพัฒนาตัวเอง' ครับ เช่น การเป็นคนที่เรียนเก่ง หรือเล่นกีฬาเก่ง เหมือนเพื่อน ๆ ในกลุ่มนั้น เป็นต้น (อันเป็นค่านิยมที่สังคมส่วนใหญ่ยอมรับ)
แล้วหากเด็กที่ไม่สามารถพาตัวเองไปสู่จุดนั้นได้ล่ะ?
โคเฮน อธิบายว่าเด็กเหล่านี้ก็แค่ปฏิเสธวัฒนธรรมของกลุ่มเหล่านั้นไปเสียเลยไง และก็สร้างค่านิยมใหม่ขึ้นมา ซึ่งค่านิยมใหม่อาจออกมาในรูปแบบของอาชญากรรมก็เป็นได้
และเด็กก็จะได้กลุ่มวัฒนธรรมรองใหม่เจ๋ง ๆ ที่อาจออกมาในรูปแบบของอาชญากรรมเพิ่มขึ้นมา (เช่น การเสพยา หรือการลักขโมยเล็กขโมยน้อย) กล่าวคือ พอเด็กคนหนึ่งไม่สามารถพาตัวเองเข้าสู่วัฒนธรรมหลัก (ที่สังคมยอมรับ) ได้ ก็อาจมีแนวโน้มที่ตัวเองจะสร้าง หรือไปเข้ากลุ่มวัฒนธรรมรองดังกล่าวได้นั้นเอง (เพื่อให้ได้รับการยอมรับจากอีกสังคมหนึ่ง)
จนเกิดคำพูดเด็ดอีกหนึ่งประโยคในเรื่องคือ
คุณไม่สามารถช่วยเหลือ คนที่ไม่ต้องการความช่วยเหลือได้
เป็นประโยคที่สะท้อนถึงการดิ้นรนของผู้เป็นพ่อเป็นแม่บางคนที่พยายามจะดึงลูกของตัวเองให้กลับมา แต่ก็ไม่สามารถทำได้ เพราะเด็กคนนั้นรู้สึกว่าเขา (หรือเธอ) ไม่สามารถกลับเข้ามาในสังคมหลักได้อีกแล้ว เพราะสังคมหลักปิดประตูไม่ให้โอกาสและเปิดใจยอมรับพวกเขา แม้พวกเขาจะยอมกลับเนื้อกลับตัวแล้วก็ตามที
และยังสะท้อน 'การเที่ยวแขวนป้ายคนดีของผู้คนในสังคมแบบง่าย ๆ ไปในที' ในเรื่องนี้มีเคสกระทาชายคนหนึ่งที่ดันได้ทำความดีต่อหน้าผู้คนจำนวนมากครั้งเดียว จนสื่อต่างพากันประโคมข่าวยกย่องและคนในเมืองส่วนใหญ่ก็พร้อมใจเชิดชูยกย่อง และการยกย่องนีเเปรียญเสมือนเหรียญทองที่มีตัวอักษรสลักนูนไว้ว่า 'คนดีที่สังคมต้องการ'
แต่เบื้องหลังที่ดำมืดของกระทาชายคนนั้นคือ เขาเป็นพ่อค้ายาเสพติด เขาคือคนที่คอยเที่ยวล่อลวงเยาวชนให้เป็นเด็กใจแตก และคอยควบคุมให้เด็กเหล่านั้นทำงานสกปรกให้
แค่สูดเข้าไปทีเดียว พวกนั้นก็พร้อมเป็นทาสฉันเเล้ว
กระทาชายคนนั้นกล่าวแบบกระหยิ่มยิ้มย่อง
และป้าย 'คนดีที่สังคมต้องการ' ที่ชาวเมืองต่างยินดีมอบให้ด้วยความปลื้มปิติ กลับกลายเป็นหนังแกะที่ให้หมาป่าได้เอามาห่มคลุมตัวจำแลงกายเข้าถึงตัวเยาวชนได้ง่ายยิ่งขึ้น
สำนวน “a wolf in sheep’s clothing” ที่มาจากเพจเฟสบุ๊ค Business English EAU
สำหรับเยาวชนแล้วจะมีการยอมรับไหนที่เจ๋งไปกว่า การได้รับการยอมรับจากคนที่สังคมและสื่อต่างพากันคล้องป้ายคนดีให้กันล่ะจริงไหม?
แล้วเคสลักษณะนี้ใครคือคนที่ต้องรับผิดชอบ?
  • 1.
    พ่อแม่เด็ก (โดยเฉพาะพ่อแม่ที่บอกว่า "ลูกฉันเป็นคนดี")
  • 2.
    ตัวเด็กเอง
  • 3.
    กระทาชายคนนั้น
  • 4.
    ผู้คนและสื่อในสังคม!
  • 5.
    ถูกทุกข้อ?
เห็นไหมครับ...แค่เคสย่อยตัวผู้เขียนอย่าง Karin Slaughter ก็สามารถทำให้มันเป็นภาพพับสามทบได้แล้ว
เราจะเห็นสภาพปัญหาที่แท้จริงได้ก็ต่อเมื่อเราคลี่ผ้าใบสามผืนที่เชื่อมต่อกันด้วยบานพับให้กลายเป็นภาพที่ต่อเนื่องกัน และเมื่อนั้นเราจะเห็นว่าปีศาจที่หลบเร้นกายอยู่หลังภาพพับสามทบนั้นมีรูปร่างหน้าตาอย่างไร
โฆษณา