24 เม.ย. 2023 เวลา 02:58 • บันเทิง

รายการ "ชิงร้อยชิงล้าน" ทำไมต้อง "ชิงร้อย" ทำไมต้อง "ชิงล้าน" ?

หากพูดถึงรายการเกมโชว์ที่ออกอากาศมายาวนานกว่า 33 ปี อย่าง "ชิงร้อยชิงล้าน" ที่ออกอากาศมาตั้งแต่วันที่ 17 มกราคม 2533 โดยมีพิธีกร คือ "ปัญญา นิรันดร์กุล" และ "มยุรา ธนะบุตร" โดยในรูปแบบแรกนั้น จะเป็นเกมที่เล่นกันง่าย ๆ โดยจะมี 3 เกมหลัก นั่นคือ "ชิงบ๊วย" "ชิงดำ" และ "ชิงล้าน" โดยแต่ละเกมจะมีกติกา ดังนี้
เกมชิงบ๊วย
เกม "ชิงบ๊วย" นั้น ถือว่าเป็นเกมที่คลาสสิคที่สุด และเป็นเกมแรกสุดของรายการ "ชิงร้อยชิงล้าน" ที่จะหาคู่ที่เป็น "บ๊วย" ที่สุดใน 4 คู่ โดยกติกา คือ จะมีลูกบอลคะแนนทั้งหมด 10 ลูก โดยจะมีคะแนนตั้งแต่ 0 - 9 ต่อมาได้ปรับเป็น 12 ลูก จะมี 0 - 9 , ปัญญา และ มยุรา โดยในแต่ละคู่จะต้องเลือกลูกคะแนนมาคู่ละ 1 ลูก โดยจะมี 2 กรณี คือ
  • 1.
    สามารถดูได้ว่า คู่ของตัวเองหยิบมาได้คะแนนเท่าไหร่
  • 2.
    สามารถเปลี่ยนลูกคะแนนของคู่อื่นได้ หากไม่พอใจคะแนนของตัวเองที่เลือกมา หรือไม่เปลี่ยนก็ได้
และจะมีภาพ VTR จากคู่หูปริศนา "อ้วน-ผอม" จาก โน้ส-อุดม แต่พานิช และ หมี ปลื้ม โดยจะต้องทายว่า เหตุการณ์ต่อจากนี้จะเกิดอะไรขึ้นต่อไป เช่น หมีโยนแตงโมให้โน้ส เหตุการณ์ต่อจากนี้ คือ แตงโมที่จะมาหาถึงโน้สนั้น แตกหรือไม่แตก เป็นต้น โดยก่อนตอบนั้น จะต้องบีบลูกขยุ้มให้ไฟติด หากไฟติดที่คู่ไหน คู่นั้นมีสิทธิ์ตอบ ถ้าตอบถูก จะมีสิทธิ์เปลี่ยนลูกคะแนนจากคู่อื่น หรือจะไม่เปลี่ยนก็ได้
สุดท้ายจะต้องมาเปิดดูลูกคะแนนว่า คู่ไหนมีคะแนนเท่าไหร่ หากคู่ไหนมีคะแนนน้อยที่สุด จะต้องตกรอบไป และรับเงิน 10,000 บาทกลับบ้านไป ต่อมาปรับกติกาเล็กน้อย หากคู่ไหนหยิบได้ "ปัญญา" หรือ "มยุรา" จะได้รางวัลพิเศษ 10,000 บาทจากผู้สนับสนุน
และตั้งแต่ปี 2535 ช่วงที่เปลี่ยนรูปแบบจากทายคำจากคู่หูปริศนา "อ้วน-ผอม" มาเป็น "ตัวปริศนา" โดยมี "หม่ำ จ๊กมก" มาเป็นผู้เฉลย ส่วนลูกคะแนนนั้นจะมีการเปลี่ยนเล็กน้อยเป็น 1 - 9 , ปัญญา , มยุรา , หม่ำ โดยผู้ที่สามารถตอบคำปริศนาออกมาได้ จะมีสิทธิ์เลือกลูกคะแนนถึง 2 ลูก ส่วนคู่อื่น ๆ มีสิทธิ์เลือกลูกคะแนนคู่ละ 1 ลูก โดยคู่ที่หยิบได้ 2 ลูก หากหยิบได้ "ปัญญา-มยุรา" คู่กัน ถือว่าตกรอบทันที แต่ได้เงินรางวัล 30,000 บาท
เกมชิงดำ
เกม "ชิงดำ" นั้นเป็นเกมคลาสสิคอีกเกมที่มีมาตั้งแต่ครั้งแรกของ "ชิงร้อยชิงล้าน" โดยจะเป็นเกมตัดสินที่จะหาทีมที่ชนะเข้าไปในรอบสุดท้าย โดยกติกาแบบแรกสุดนั้น ทุกทีมจะมีแท่งเดิมพันทีมละ 4 แท่ง และจะมีคำถามมาแล้วให้ผลัดกันตอบ ภายใน 30 วินาที เช่น ในเมนู "ก๋วยเตี๋ยว" เขาจะใส่อะไรไปบ้าง , มีอะไรบ้างที่อยู่บนฟ้า , จังหวัดในประเทศไทยมีจังหวัดอะไร เป็นต้น
โดยจะผลัดกันตอบ หากนึกไม่ออก ให้พูดคำว่า "ชิงร้อยชิงล้าน" ซึ่งมีความหมายว่า "ข้าม" หากหมดเวลา 30 วินาที ให้ใส่แท่งเดิมพันไป โดยจะใส่กี่แท่งก็ได้ หรือจะ "หมดหน้าตัก" ก็ได้ และทีมตรงข้ามก็ต้องใส่แท่งเดิมพันตามที่คู่ก่อนหน้าได้ใส่ไว้ ถ้าหากว่าทำคะแนนมากกว่าทีมตรงข้าม จะได้แท่งเดิมพันที่ใส่นั้น มาครองไว้ทั้งหมด แต่ถ้าหากทำคะแนนได้น้อยกว่า จะถูกยึดแท่งเดิมพันที่ใส่ไป และจะต้องพักการเล่น ให้อีกทีมลงมาเล่นแทน
หากทีมไหนไม่มีแท่งเดิมพันติดตัวไว้ ทีมนั้นจะต้องตกรอบไป และหากทีมไหนมีแท่งเดิมพันไว้มากกว่า หรือสามารถยึดแท่งเดิมพันได้ถึง 12 แท่ง จะได้เข้าสู่รอบสุดท้าย ส่วนทีมที่ตกรอบ 2 ทีม จะได้เงินรางวัลทีมละ 10,000 บาท ต่อมามีการเปลี่ยนรูปแบบเล็กน้อย โดยจะมีชุดคำถามทั้งหมด 10 ชุดให้เลือกเล่น และทุกทีมจะมีแท่งเดิมพันทีมละ 4 แท่ง ผลัดกันตอบภายใน 30 วินาทีเหมือนเดิม
เกมชิงล้าน
เกม "ชิงล้าน" นั้น ทีมที่เข้ารอบมาจากเกม "ชิงบ๊วย" และเกม "ชิงดำ" จะได้มาเล่นในรอบสุดท้ายนี้ โดยทั้ง 2 คน จะอยู่แยกกัน คนหนึ่งอยู่กับคุณปัญญา อีกคนอยู่กับคุณมยุรา โดยจะแยกไปอีกห้องหนึ่งเพื่อไม่ให้เห็นกัน โดยจะมีคำถามทั้งหมด 4 ข้อ ซึ่งเป็นคำถามรู้ใจของทั้ง 2 คน และใน 1 คำถามจะมีตัวเลือกทั้งหมด 4 ข้อเพื่อให้ง่ายต่อการตอบ และถ้าหากสามารถตอบคำถามถูกติดกัน 4 ข้อ จะได้เงินรางวัล 1,000,000 บาทจากผู้สนับสนุน แต่ถ้าหากตอบคำถามผิดข้อใดข้อหนึ่ง หรือตอบผิดตั้งแต่ข้อแรก จะได้รับเงินรางวัล 100 บาท
ทำไมต้องชิงร้อย ทำไมต้องชิงล้าน
จากคำสันนิษฐานของผม ในฐานะผู้จัดทำเว็บไซต์นะครับ ผมว่าเป็นเพราะ คำตอบมันอยู่ที่เกมชิงล้านเนี่ยแหละ ก็คือถ้าตอบถูก 4 ข้อ จะได้ 1,000,000 แต่ถ้าตอบผิดจะได้แค่ 100 ซึ่งมันเป็นไปได้ 50:50 คือ มันอาจจะตอบถูกหมดเลยก็ได้ หรือผิดตั้งแต่ข้อแรกเลยก็ได้ ผมเชื่อว่ามันเป็นอย่างนั้นนะครับ
แต่ความจริงเป็นอย่างไร ถ้าในอนาคตหากได้ไปฝึกงานที่เวิร์คพอยท์ ผมก็อาจจะไปสอบถามทีมงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับรายการ "ชิงร้อยชิงล้าน" นะครับว่า "ทำไมต้องชิงร้อย ทำไมต้องชิงล้าน" ซึ่งเหตุผลที่กระจ่างที่สุด ผมว่าอยู่ที่คุณปัญญามากกว่า จะได้กระจ่างกันทั้งหมดครับว่า เหตุผลจริง ๆ นั้นคืออะไร
โฆษณา