Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Bangkok Bank SME
•
ติดตาม
24 เม.ย. 2023 เวลา 11:00 • ธุรกิจ
สร้างผลลัพธ์ใหม่! ‘ฟาร์มปลาดุกหนองคาย’ เพิ่ม Productivity ด้วยแนวคิดเกษตรยุคใหม่
เกษตร 4.0 ต้องคิดใหม่ เพื่อสร้างผลลัพธ์ใหม่ ด้วยเหตุผลนี้ การทำเกษตรในยุคนี้จึงต้องให้ความสำคัญต่อหลักการจัดการฟาร์ม (Farm Management) หรือการจัดสรรทรัพยากรอย่างชาญฉลาด เพื่อดำเนินการหรือควบคุมให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งด้านปริมาณผลผลิต คุณภาพ ต้นทุน และยังสามารถเพิ่มมูลค่าผลผลิตได้อีกด้วย
ซึ่งปัจจุบันมีการนำองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ งานวิจัย นวัตกรรม และเทคโนโลยีสมัยใหม่มาปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำเกษตรให้ง่าย สะดวก ลดการสูญเสีย เพิ่ม Productivity และที่สำคัญยังตอบโจทย์เทรนด์ด้านความมั่นคงของอุตสาหกรรมอาหาร รวมถึงการแบ่งปัน ถ่ายทอดองค์ความรู้เพื่อสร้างซัพพลายเชนที่มีคุณภาพ ไม่เพียงแต่ขยายโอกาสการเติบโต แต่ยังสะท้อนมิติด้านการทำเกษตรอย่างยั่งยืน (Sustainability)
เช่นเดียวกับกรณีศึกษาของ ‘ฟาร์มปลาดุกหนองคาย’ ของคุณกฤช มิคาระเศรษฐ เหมะรักษ์ และคุณฐิติมา เหมะรักษ์ เกษตรกรผู้เลี้ยงปลาดุกและปลานิลในจังหวัดหนองคาย เป็นคู่ชีวิตซึ่งแต่เดิมพำนักและทำงานในต่างประเทศ ก่อนตัดสินใจมาสานต่อธุรกิจต่อจากคุณพ่อของคุณฐิติมาที่ประกอบธุรกิจตัวแทนจำหน่ายอาหารสัตว์ในจังหวัดหนองคาย ก่อนจะขยับมาเลี้ยงปลานิล และปลาดุกในบ่อผ้าใบ โดยใช้รูปแบบการเลี้ยงปลาระบบ Biofloc ที่ให้ผลตอบแทนคุ้มค่ากว่าการเลี้ยงในบ่อดิน
📌ความรู้จุดเริ่มต้นสู่เส้นทาง ‘ฟาร์มปลาดุกหนองคาย’
คุณฐิติมา กล่าวว่า เดิมทีตนและสามีไม่ได้มีพื้นฐานความรู้ในด้านการเกษตร หรือเลี้ยงปลามาก่อน แต่มีความสนใจในการเลี้ยงปลาเศรษฐกิจอย่างปลานิลและปลาดุก ซึ่งในท้องถิ่นมีความต้องการสูง
เนื่องจากวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชาวอีสาน จะนิยมนำปลามาประกอบอาหาร ทั้งมีการร่วมกลุ่มกับเกษตรกรผู้เลี้ยงปลานิลกระชังริมแม่น้ำโขงในพื้นที่ ส่งเสริมองค์ความรู้เพื่อให้ได้ปลาที่มีคุณภาพ ผลตอบแทนสูง ปลอดสารเคมีและยาปฏิชีวนะ ตลอดจนรับซื้อปลาจากเกษตรกร
ซึ่งเป็นปลาที่จับได้จากแม่น้ำโขงตามฤดูกาล ปัจจุบันธุรกิจมีตลาดรับซื้ออยู่ใน 5 จังหวัดของภาคอีสานตอนบน คือ หนองคาย อุดรธานี หนองบัวลำภู สกลนคร และบึงกาฬ ทั้งกำลังสร้างโอกาสเพื่อขยับสู่ตลาดส่งออกปลาไปต่างประเทศ
คุณกฤช กล่าวว่า ตลาดปลาดุกเป็นตลาดที่มีความต้องการในปริมาณมาก เพราะเป็นแหล่งโปรตีนที่มีต้นทุนต่ำ และดีต่อสุขภาพ น่าจะพอมีกำไร จึงตัดสินใจเลี้ยงปลาดุก โดยเริ่มจากการซื้อที่ดินเพื่อขุดบ่อทำฟาร์ม เนื้อที่ประมาณ 18 ไร่ ขุดในลักษณะบ่อดินแบบดั้งเดิมที่เกษตรกรในพื้นที่ใช้เลี้ยงปลา
แต่ช่วงแรกประสบปัญหาเรื่องต้นทุนการเลี้ยง ทั้งด้านแรงงานและโครงสร้างพื้นฐานภายในฟาร์ม เช่น ปัญหาการขาดแคลนน้ำจืด ไฟฟ้าไม่เพียงพอ ทำให้ได้ผลผลิตต่อบ่อในปริมาณไม่สูงนัก แต่ต้องใช้แรงงานคนจำนวนมาก
จากปัญหาดังกล่าว จึงเริ่มศึกษารูปแบบและกระบวนการเลี้ยงปลาแบบใหม่ ที่ไม่เพียงแค่ลดต้นทุนในฟาร์ม แต่ต้องมีการจัดการที่ง่ายขึ้น ใช้แรงงานน้อยลง ได้ผลตอบแทนที่คุ้มค่า และมีคุณภาพสูงกว่าผลผลิตทั่วไปด้วย จึงปรับเปลี่ยนจากการเลี้ยงปลาในบ่อดินยกขึ้นมาเลี้ยงในบ่อผ้าใบ
📌‘Biofloc’ เพิ่ม Productivity จากการเลี้ยงปลาในบ่อผ้าใบ
คุณกฤช กล่าวว่า ได้ศึกษาข้อมูลวิธีการเลี้ยงปลาดุกในอินเทอร์เน็ต จนพบกรณีศึกษาจากคนในประเทศอินเดียที่มีการนำปลาดุกมาเลี้ยงในบ่อปูน หรือบ่อผ้าใบที่เลี้ยงปลาในบ่อแบบหนาแน่น
จึงสงสัยว่าเขาเลี้ยงกันได้อย่างไรโดยที่ปลาไม่ตาย ไม่เป็นโรค และมีอาหารเพียงพอ คำตอบที่ได้คือ ใช้รูปแบบการเลี้ยงด้วยระบบ ‘Biofloc’ หรือ การนำจุลินทรีย์มาช่วยย่อยสลายตะกอนของเสียในบ่อปลา และใช้จุลินทรีย์เพื่อช่วยในการบำบัดน้ำ เปลี่ยนของเสียให้กลายเป็นของดีที่มีประโยชน์ต่อสัตว์น้ำ
การเลี้ยงปลาในบ่อดินทั่วไป จะไม่นิยมเลี้ยงปลาให้แน่นบ่อหรือแออัดมากเกินไป เนื่องจากมีความเสี่ยงทั้งในด้านการเกิดโรค ปลากัดกัน กินกันเอง และแย่งอาหารกัน ทำให้ปลาโตช้า แต่การเลี้ยงในบ่อผ้าใบ
ซึ่งคุณสมบัติของผ้าใบจะไม่ดูดซับของเสีย ดังนั้น การจัดการของเสียหรือตะกอน จึงเป็นส่วนสำคัญ โดยใช้จุลินทรีย์ไปช่วยจัดการของเสียในบ่อ หรืออธิบายให้เข้าใจง่าย ๆ คือระบบ ‘Biofloc’ เป็นกระบวนการเปลี่ยนของเสียหรือขี้ปลา ให้เป็นโปรตีนที่เป็นอาหารของปลานั่นเอง
คุณกฤช อธิบายถึงหลักการทำงานของระบบ ‘Biofloc’ ว่า เมื่อเติมสารอาหารจำพวกคาร์โบไฮเดรตลงในบ่อผ้าใบ จุลินทรีย์จะไปกระตุ้นให้แอมโมเนียที่เป็นของเสีย ตกตะตอนที่ก้นบ่อแล้วสร้างเซลล์ใหม่มากขึ้น
เมื่อจำนวนจุลินทรีย์เพิ่มมากขึ้น ปริมาณแอมโมเนียในน้ำจะลดลง ทำให้ไม่ต้องเปลี่ยนน้ำบ่อย ๆ ปลามีสุขภาพดี และเนื้อเซลล์ใหม่ที่ถูกกระตุ้นโดยจุลินทรีย์ คือสารจำพวกโปรตีนที่เป็นอาหารของปลา จึงช่วยลดต้นทุนในส่วนนี้ได้ด้วย
“ข้อดีของการเลี้ยงแบบ ‘Biofloc’ คือสามารถเลี้ยงปลาต่อบ่อได้จำนวนมากกว่าบ่อดิน ราว 7 - 8 เท่าตัว เปรียบเทียบให้เห็นภาพ เช่น ในพื้นที่ 1 ไร่เท่ากัน หากเลี้ยงในบ่อดิน ได้ผลผลิตประมาณ 10 ตัน ขณะที่บ่อผ้าใบได้ผลผลิตประมาณ 70 - 80 แถมใช้แรงงานและน้ำน้อยกว่า ผลตอบแทนจึงสูงกว่ามาก”
📌สร้างซัพพลายเชนคุณภาพ ขยายตลาดสู่ต่างประเทศ
การใช้ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมชีวภาพ เพื่อให้ได้ผลผลิตคุณภาพดี เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค และเพิ่มมูลค่าได้สูงขึ้น เป็นเพียงก้าวเริ่มต้นเท่านั้น
เนื่องจากคุณกฤช มีแนวคิดว่า ถ้าเกษตรกรทุกคนเลี้ยงปลาแบบไม่ใช้ยาหรือสารเคมี สิ่งที่ได้ คือความเชื่อมั่นจากผู้บริโภค
ดังนั้น เมื่อมีองค์ความรู้ที่ได้จากการทดลองจนเกิดผลเป็นรูปธรรม จึงได้ร่วมกับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนและกลุ่มเกษตรผู้เลี้ยงปลาในพื้นที่ภาคอีสานตอนบน เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ และกรรมวิธีเลี้ยงปลาในบ่อผ้าใบ ให้เกษตรกรสามารถยกระดับคุณภาพผลผลิตให้สูงขึ้น
ตลอดจนส่งเสริม ปรับเปลี่ยนวิธีการ และทัศนคติในการเลี้ยงปลา เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ สามารถส่งออกไปต่างประเทศได้
คุณฐิติมา สะท้อนปัญหาว่า ปลาดุกเป็นปลากินเนื้อและซากสัตว์ เกษตรกรบางรายลดต้นทุนอาหารด้วยการนำซากไก่ ซากสุกรมาบดให้ปลากิน
ซึ่งบางครั้งซากสัตว์เหล่านั้นอาจติดเชื้อ หรือมีการฉีดยา เมื่อปลากินอาหารเหล่านั้น จะปนเปื้อนไปด้วย เมื่อนำไปตรวจสอบตามขั้นตอนก่อนการส่งออก
จะพบว่ามีการปนเปื้อนเกือบทุกครั้ง นี่คือปัญหาที่ทำให้ปลาดุกของไทย ส่งออกต่างประเทศค่อนข้างลำบาก
ขณะที่ ‘ฟาร์มปลาดุกหนองคาย’ จะใช้แนวคิดว่า ตลอดระยะเวลาการเลี้ยงปลาต้องปลอดสารเคมี และไม่ให้กินซากสัตว์ทุกประเภท ให้อาหารเม็ดเพียงอย่างเดียวตั้งแต่เป็นลูกพันธุ์จนโต จนจับขาย ถึงมือผู้บริโภค
เนื่องจากในอนาคตต้องการเปิดตลาดส่งออกปลาดุกของตนเองด้วยจึงรักษามาตรฐานในส่วนนี้ไว้
คุณกฤช กล่าวเสริมว่า อีกสาเหตุหนึ่งที่เลือกใช้เฉพาะอาหารเม็ด เนื่องจากการส่งออกปลาไปต่างประเทศได้นั้น กระบวนการเลี้ยงต้องมีระบบตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability System) ได้ทั้งหมด ตั้งแต่ฟาร์มลูกพันธุ์ พ่อแม่พันธุ์ อาหารที่กิน โรงงานที่ผลิต ล็อตนัมเบอร์ไหน ใส่อะไรเข้าไปบ้าง
รวมถึง ฟาร์มตั้งอยู่ที่ไหน ปลาเลี้ยงอย่างไร มีการกำจัดของเสียอย่างไร โดยให้ความสำคัญเรื่องอาหารปลอดภัย (Food Safety) ดังนั้น การนำองค์ความรู้ไปแบ่งปันแก่เกษตรกร ไม่เพียงสร้างรายได้แก่ชุมชน แต่ยังช่วยสร้างซัพพลายเชนคุณภาพ สามารถยกระดับปลาดุกไทย สู่ตลาดต่างประเทศที่มีมูลค่าสูงขึ้น
“คาแรคเตอร์ที่แตกต่าง จะทำให้สินค้าเป็นที่ต้องการของตลาดและมีมูลค่าสูงขึ้น หากคิดจะปรับเปลี่ยนและพัฒนาซัพพลายเชนของปลาดุกทั้งระบบ ไม่เพียงต้องมีต้นแบบให้เกษตรกรเห็นก่อนว่าทำแล้วได้ผลจริง ดังนั้น เราจึงไม่กลัวว่าเกษตรกรจะทำตาม เราให้องค์ความรู้แบบไม่มีค่าใช้จ่าย และหวังด้วยว่าเขาจะทำเหมือนที่เราทำ เพราะเชื่อว่าจะดีสำหรับทุกคนด้วย”
📌Zero West เพิ่มมูลค่าของเหลือทิ้ง
สำหรับการใส่ใจสิ่งแวดล้อม คุณกฤช กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ‘ฟาร์มปลาดุกหนองคาย’ ให้ความสำคัญด้านการจัดการน้ำในฟาร์ม การเลี้ยงปลาในบ่อผ้าใบสามารถนำน้ำกลับมาบำบัดและวนกลับมาใช้ใหม่ได้
โดยการใช้จุลินทรีย์ และผักตบชวาไปทำลายแอมโมเนียที่เป็นสาเหตุทำให้น้ำเน่าเสีย รวมทั้งการสร้างบ่อบำบัดและบ่อพักน้ำ ซึ่งจะมีคันดินกั้นเป็นตัวช่วยกรองโดยไม่ต้องใช้เครื่องกรอง จึงสามารถลดต้นทุนโดยใช้ธรรมชาติบำบัด
ขณะที่น้ำเสียจากการเลี้ยงปลา มีอินทรีย์สารจำพวก ไขมัน แอมโมเนีย สารไนเตรต-ไนไตรต์ (Nitrate-Nitrite) ซึ่งเป็นสารเคมีที่ใช้เป็นสารกันเสียปะปนอยู่มาก
สิ่งเหล่านี้สามารถนำมาทำปุ๋ยได้ ส่วนเหลือทิ้งที่ได้จากโรงแล่ปลา เช่น เกล็ดปลาสามารถนำมาเป็นส่วนประกอบส่วนหนึ่งของการทำคอลลาเจน ก้างนำไปทำเครื่องปรุงรส ส่วนหัวปลานำไปทำอาหารสัตว์เลี้ยง จะเห็นได้ว่าเป็นการเพิ่มมูลค่า ทำให้ไม่มีของเหลือทิ้งอย่างครบวงจร
คุณฐิติมา กล่าวเสริมว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ ‘ฟาร์มปลาดุกหนองคาย’ ได้ร่วมกับสถานศึกษาเพื่อทำวิจัย โดยนำหัวปลาไปตาก อบแห้ง แล้วนำมาผสมแปรรูปเป็นสแน็กสำหรับสัตว์เลี้ยง มีการทดลองนำไปให้สุนัขและแมวกินปรากฏว่าผลตอบรับดี
ทั้งยังมีส่วนเหลือทิ้งของปลาที่นำไปทำเป็นเจลาติน เอาไปใส่กับกัมมี่ (Gummy) เพื่อช่วยในเรื่องข้อกระดูกของสัตว์เลี้ยงได้ด้วย โดยปัจจุบันได้ทำเป็นสินค้าทดลองและคาดว่าจะเป็นโปรเจกต์ต่อไปที่นำของเหลือทิ้งจากปลา มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
“เราไม่เพียงสามารถลดต้นทุนและจัดการของเสียเหลือทิ้ง แต่นำมาใช้ประโยชน์ใหม่ได้ พร้อมทั้งยังแบ่งปันความรู้เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรให้เติบโตไปพร้อม ๆ กัน เพราะธุรกิจของเรา ต้องอยู่เคียงคู่กับเกษตรกรในชุมชน ทุกคนได้ประโยชน์ มีอาชีพที่สามารถสร้างรายได้มั่นคง ชีวิตดีขึ้น นี่จึงเป็นภาพของความยั่งยืนที่แท้จริง”
📌วิเคราะห์โอกาสและการเติบโต
เนื่องจากจังหวัดหนองคายเป็นจุดยุทธศาสตร์ในการขนส่งที่สามารถส่งออกไปตลาดใหญ่อย่างประเทศจีน จึงเป็นโอกาสทางธุรกิจของ 'ฟาร์มปลาดุกหนองคาย' ในการยกระดับคุณภาพการผลิต เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม
โดยใช้หลักการ Farm Management และ ไบโอเทคโนโลยี ตลอดจนการจัดการของเสียอย่างเป็นระบบ พร้อมส่งต่อองค์ความรู้ให้แก่ชุมชนเพื่อสร้างการเติบโตที่ยั่งยืนควบคู่ไปกับมิติด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม
ขณะเดียวกัน ฟาร์มแห่งนี้ยังมุ่งตอบโจทย์เทรนด์เรื่องอาหารและพฤติกรรมการบริโภคปลา อาทิ มีห้องเย็นเพื่อเก็บรักษาปลา ให้สามารถบริหารจัดการปลาที่จับได้ให้มีจำหน่ายอย่างเพียงพอตลอดทั้งปี
คุณกฤช วิเคราะห์ว่า จังหวัดหนองคาย จะเป็นประตูให้ธุรกิจเลี้ยงปลา อาหารแช่แข็ง และห้องเย็น สามารถสร้างรายได้จากการส่งออก และเป็นจุดขนถ่ายหรือจุดพักปลาในพื้นที่ภาคอีสานตอนบนเพื่อส่งออกไปตลาดจีน หรือในกลุ่มประเทศ CLMV (Cambodia-Laos-Myanmar-Vietnam) ดังนั้น การลงทุนธุรกิจโรงแล่ปลาและห้องเย็นในขณะนี้ จึงเป็นการเตรียมความพร้อมเพื่อรอโอกาสที่กำลังจะเกิดขึ้น เพราะเราโตมากับธุรกิจเลี้ยงปลาและโรงแล่ปลา จึงมองว่าเป็นการลงทุนเพิ่มเพื่อให้สามารถเติบโต และครอบคลุมมากขึ้น
📌ฝากข้อคิด การทำเกษตรไทยยุคใหม่จะไปรอดได้อย่างไร
“อีก 10 ปีข้างหน้าเราอาจจะต้องซื้อข้าว ซื้อปลา และเนื้อหมูที่นำเข้าจากต่างประเทศ เพราะเมื่อการทำเกษตรไม่ง่าย ไม่สะดวกสบาย ไม่มีเทคโนโลยีที่ช่วยให้ได้ผลผลิตดีขึ้น คนรุ่นใหม่คงไม่ยอมทำอาชีพที่ต้องลำบากตรากตรำแน่นอน
ดังนั้น ห่วงโซ่การผลิตอาหารของประเทศอาจเกิดการขาดแคลน จึงมองว่ารูปแบบการทำเกษตรในอนาคต ต้องนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาช่วยจัดการเพื่อความสะดวก ง่าย และมีผลิตภาพ (Productivity) สูงขึ้น
หากวันนี้เรายังไม่เปลี่ยน แต่อยากได้ผลลัพธ์ใหม่คงเป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้นจึงต้องปรับเปลี่ยนวิธีใหม่ เพื่อสร้างโอกาสให้ภาคเกษตรมั่นคงและยั่งยืนต่อไปในอนาคต”
ติดตาม ฟาร์มปลาดุกหนองคาย ได้ที่ :
https://www.facebook.com/nongkhaicatfish/
ธุรกิจ
การลงทุน
เทคโนโลยี
บันทึก
1
2
1
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย